สาร ส.ส. ฉบับที่ ๘๗ วันที่ ๖-๑๒ กันยายน ๒๕๔๗ (ต่อ)

ข่าวการเมือง Wednesday September 15, 2004 12:36 —รัฐสภา

ต่อมาเป็นการพิจารณามาตรา ๒๓ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผู้สงวนคำแปรญัตติดังนี้
พันโทหญิง ฐิติยา รังสิตพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขบริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและขาดความเสมอภาคทางการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งนี้ ได้ให้ ข้อเสนอแนะในนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคว่า ควรให้อิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาแก่คนไข้และแพทย์ โดยสามารถเลือกสถานพยาบาลเองได้
นางนิภา พริ้งศุลกะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดงบประมาณลง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข มีการ จัดสรรงบประมาณที่ไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค ซึ่งเป็นงบเหมาจ่าย อีกทั้งยังประสบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน เนื่องจากค่าตอบแทนน้อยและ ยังถูกใช้มาตรการที่ ๓ อีกด้วย ทั้งนี้ได้เสนอแนะให้มีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มค่าตอบแทนให้ เหมาะสม ตลอดจนจัดงบลงทุนให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ สำหรับใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงก่อสร้างแทน ของเดิมที่ชำรุด และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
นายปรีชา มุสิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลงร้อยละ ๑๒ โดยได้อภิปรายถึงงบลงทุนเพื่อการทดแทนที่ได้รับน้อยมาก ไม่เพียงพอในการซ่อมแซม ก่อสร้าง และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนจะมีปัญหาในเรื่อง ดังกล่าวมาก รวมถึงปัญหาหนี้สิน ปัญหาการบริหารงานของฝ่ายบริหารโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้ป่วยยังได้รับการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของยาที่ใช้รักษาโรค ทั้งนี้ นายปรีชาได้กล่าวถามกรรมาธิการถึง งบประมาณในปี ๒๕๔๘ นี้ ว่า จะสามารถทำให้การประกันสุขภาพของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ ทั้งในส่วนของ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติขอปรับลดลง ๗,๐๐๐ กว่าล้านบาท เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม โดยจัดสรรให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขไว้เป็นจำนวนมาก และยังไม่โปร่งใสในการจัดสรรและการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณด้านการตลาดในต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจำเป็น และควรจะนำงบประมาณส่วนดังกล่าวไปเพิ่มให้กับกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยที่ได้รับงบประมาณไม่มาก ทั้งที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่า อีกทั้งการใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นป้าย Bill Board การแจกเสื้อ แจกของชำร่วยและการประชา-สัมพันธ์ในสื่ออื่น ๆ นั้น ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเป็นการใช้งบประมาณในส่วนใด นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวไม่ไว้วางใจผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดงบประมาณโดยได้ขอให้กรรมาธิการส่งรายละเอียดของเงินอุดหนุนทั่วไปและค่าใช้จ่ายทั้งหมดอีกด้วย
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๔ ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ปรับลดงบประมาณลงร้อยละ ๑๐ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โครงการการควบคุมวัตถุมีพิษที่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะชุมชนรอบ ๆ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน อาทิ เป็นโรคทางเดินหายใจ น้ำในคูคลอง ไม่สามารถนำมาใช้เกษตรกรรมได้ เพราะเป็นน้ำเสีย สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากนั้น ได้มีการสอบถามไปยัง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่ามีมาตรการในการจัดการกับสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมหรือไม่อย่างไร
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ได้ลงมติ เห็นชอบด้วยคะแนน ๒๙๒ เสียง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๕ ซึ่งเป็นงบประมาณของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในประเด็นดังนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ อภิปรายส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่วิสัยทัศน์ พันธกิจ มุ่งเน้นการป้องกันภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่งบประมาณร้อยละ ๘๐ ของทุกแผนงานกลับเป็นการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ การกำหนดเช่นนี้จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของหน่วยงานได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังตั้งงบเพื่อการจัดซื้อยานพาหนะสำหรับใช้ในกิจการของตำรวจนั้นเป็นการจัดซื้อรถอะไร ถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ราคาถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่ ในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อการสอบสวนคดีอาญานั้นคืออะไร นำไปใช้อย่างไร ด้านงบรายจ่ายอื่น ๆ เพื่อการควบคุมจราจร การจัดสร้างโรงรถนั้น มีเหตุผลความจำเป็นเพียงพอต่อการก่อสร้างแล้วใช่หรือไม่ และขอให้กรรมาธิการฯ ตรวจสอบกรณีการใช้หลักประกันการประมูลก่อสร้างในงบประมาณหมวดนี้เพิ่มเติมด้วย เพราะมีประเด็นส่อเค้าการทุจริตจากการฮั้วการประมูล
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรค
ประชาธิปัตย์ อภิปรายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในมาตรการที่ ๓ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของข้าราชการตั้งแต่ระดับ ๑-๘ นั้น มีความกังวลว่าในทางปฏิบัติผู้บังคับบัญชาจะประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร ในทางตรงข้ามทำให้เกิดภาวะการแข่งขันเพื่อให้คะแนนการประเมินสูงจนเกิดความแตกแยกในหมู่ข้าราชการ รวมทั้งเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของข้าราชการเป็นอย่างมากจึงไม่ควรนำมาตรการนี้มาใช้
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน ๒๙๘ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๖ ซึ่งเป็นงบประมาณของหน่วยงานอิสระตาม รัฐธรรมนูญ โดยมีสมาชิกอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
๑. สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นั้น รัฐบาลได้ปฏิบัติงานตามรายงานของหน่วยงานนี้บ้างหรือไม่
๒. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แผนงานการ
บริหารการพัฒนาการปราบปรามการทุจริต มีการเพิ่มงบแสดงว่ามีการทุจริตจริงใช่หรือไม่ และมีการติดตามคดีสำคัญ ๆ อย่างไรบ้าง เช่น ค่าโง่ทางด่วน การทุจริตคลองด่าน เป็นต้น
นายวิทยา บุรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรค
ไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ ตอบชี้แจงสมาชิกในส่วนของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า มีการปรับลดงบประมาณลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบริหารบุคลากร
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการ ๒๙๓ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๖ ซึ่งเป็นงบประมาณของหน่วยงานอิสระตาม รัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
ได้อภิปรายการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยได้ขอปรับลดงบประมาณลง เนื่องจากไม่แน่ใจในผลสัมฤทธิ์ของงานที่ได้ทำไว้ ไม่ทราบว่ารัฐบาลจริงจังแค่ไหนในองค์กรอิสระต่อไปนี้
๑. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรายงานการสืบสวนที่ได้เสนอรัฐบาลแล้ว รัฐบาลนำไปปฏิบัติกี่เรื่อง และไม่นำไปปฏิบัติกี่เรื่อง ซึ่งภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ตกต่ำลงในสายตาของชาวต่างประเทศ เช่น
- กรณีบุกรื้อตลาดประเวศ
- กรณีการบุกจู่โจมที่มัสยิดกรือเซะ
- กรณีตำรวจบุกจับตายชาวบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- กรณีส่วยวินมอร์เตอร์ไซค์ที่ยังมีอยู่
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แสดงให้เห็นว่านโยบายปราบปรามอิทธิพลเถื่อนของ รัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ
๒. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
อยากถามกรรมาธิการถึงงบประมาณแผนงานบริหารและพัฒนาของปี ๒๕๔๘ ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการยอมรับว่า มีการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความรุนแรงมากขึ้นใช่หรือไม่ จึงต้องมีการเพิ่มงบประมาณ และสำนักงาน ปปช. มี เขี้ยวเล็บที่จะสามารถตรวจสอบคนทุจริตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแค่ไหนก่อนที่คนทุจริตเล่านั้น จะหนีไปก่อนถูก ปปช. ดำเนินคดียึดทรัพย์สิน เช่น
- คดีทุจริตคลองด่าน
- คดีค่าโง่ทางด่วน
- การทุจริตค่าก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
- การทุจริตเรื่อง ปุ๋ย ลำไย
- การทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ฉาว ๙๐๐ ล้านบาท ของกระทรวงสาธารณสุข ปปช.
จะมีมาตรการตรวจสอบการทุจริตอย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันอัตรากำลังของ ปปช. มีไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบการทุจริตดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงนี้จะเป็นช่วงเร่งสะสมทุนทางการเมือง ทั้งระบบขนส่งดาวเทียม การปล่อยกู้ให้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ ระบบสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ
๓. การทุจริตในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นแหล่งฟอกเงินขนาดใหญ่ อยากขอคำตอบจากกรรมาธิการว่า
จะมีมาตรการตรวจสอบได้อย่างไร
นายวิทยา บุรณศิริ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจง กรณีงบประมาณของสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๙๓ ล้านบาท ได้ปรับลดลงร้อยละ ๑ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเสียง ข้างน้อยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๒๙๓ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา ๒๗ ซึ่งเป็นงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ โดยมีสมาชิกได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจในประเด็น งบประมาณของการประปาส่วนภูมิภาคที่มีการตั้งงบประมาณไว้มากมาย ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลมีแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อยากทราบว่า รวมทั้งการประปาส่วนภูมิภาคด้วยหรือไม่ เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถนำเงินไปอุดหนุนต้นทุนให้กับรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปนั้นจะต้องจัดหาเงินทุนเอง และดำเนินกิจการให้ได้ผลกำไรด้วย และก็จะต้องไปขึ้นราคาค่าน้ำ ค่าไฟ กับประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจงในส่วนงบประมาณของการประปา ส่วนภูมิภาค ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะต้องแปรรูปในปี ๒๕๔๘ แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยในทางปฏิบัติคงไม่ทันต่อกรณีความเป็นห่วงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนนั้น รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหา เพื่อปรับสัดส่วนสภาพหุ้น โดยมีวิธีการขายหุ้น แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
- ขายให้กับพนักงาน
- ขายให้กับรัฐบาล
- ขายให้กับประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในการจัดสรรงบประมาณของการเคหะแห่งชาติ ในปี ๒๕๔๘ ถึง ๔.๕ พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง ๓ พันกว่าล้านบาท โดยได้แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือของการเมือง เงินงบประมาณในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วนั้น เป็นงบประมาณในส่วนของบ้านเอื้ออาทร ซึ่งหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติ คือ ดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยรัฐบาลกำหนดให้การเคหะเป็นหน่วยงานที่สร้างที่อยู่อาศัยให้ แต่ก็มีปัญหา คือ จำนวนของผู้มีรายได้น้อยไม่เป็นสัดส่วนกับงบประมาณของ การเคหะที่ได้รับ โดยที่ผ่านมาการเคหะไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล แต่ในรัฐบาลนี้ได้ให้เงินอุดหนุน ซึ่ง ถือว่าถูกต้อง ถ้าไม่พูดถึงว่าให้อุดหนุนในโครงการอะไร แบบไหน และมีวิธีการอย่างไร จึงอยากจะฝากให้ทุก รัฐบาลให้เงินอุดหนุนการเคหะเพื่อไปลดต้นทุนในการเก็บค่าเช่ากับผู้มีรายได้น้อย
เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๓๐๔ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๘ งบกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน โดยมีสมาชิกอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายวิชัย ตันศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ได้อภิปรายในประเด็น งบกองทุนและเงินหมุนเวียนของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของกองทุนพัฒนาครูนั้นยังไม่มีงบประมาณ และอยากให้มีการตั้งงบประมาณสำหรับลงทุนนี้ในปี ๒๕๔๙ ด้วย
สำหรับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา อยากให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณมากกว่านี้ เพื่อนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจะได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น และน่าจะมีกฎเกณฑ์การให้กู้ยืมหลาย ๆ ประการ เช่น การกู้ยืมเพื่อชำระเฉพาะค่าหน่วยกิจ หรือการกู้ยืมชำระค่าหน่วยกิตและค่าครองชีพ เป็นต้น
ทั้งนี้การได้ใช้คืนเงินกู้ยืมควรปรับเปลี่ยนวิธีการได้เงินคืน เช่น บางประเทศจัดเก็บภาษีสำหรับ นักศึกษาที่มีงานทำแล้ว เป็นต้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์
ได้อภิปรายงบประมาณเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติและมีการจัดตั้งกองทุนประเดิม ๑.๘ พันล้านบาท มีปัญหาความไม่โปร่งใส ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินงานภายใต้กรอบของกฎหมาย ๔-๕ หมื่นองค์กร กำลังได้รับความเดือดร้อนมาก แต่รัฐบาลยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือ อยากทราบว่า
กรรมาธิการได้มีการสอบถามและตรวจสอบถึงความคืบหน้าของโครงการนี้หรือไม่
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์
ได้อภิปรายในประเด็นงบประมาณกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัด ซึ่งกรรมาธิการขอแปรญัตติเพิ่มมากขึ้นนั้น กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่า จะจัดสรรให้จังหวัดละเท่าไร
นายวิทยุ บุรณศิริ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจงประเด็นงบประมาณการลงทุนส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัด เดิมได้จัดสรรให้จังหวัดละ ๑ ล้านบาท แต่ในปีนี้กรรมาธิการได้เปลี่ยนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อจะได้รับการจัดสรรงบประมาณมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทางกฎหมาย
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นของงบประมาณกองทุนที่สังกัดกระทรวงการคลัง
- กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
- กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
- กองทุนสำหรับช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งงบประมาณในการช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้ ในปี ๒๕๔๘ ได้ถูกตัด ออกไป กรรมาธิการได้สอบถามหรือไม่ว่า หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วจะไม่มีพนักงานได้รับผลกระทบหรือว่ามีมาตรการรองรับไว้อย่างไร
- กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งยังมีนักเรียน นักศึกษา อีกมากมายที่ยังไม่ได้เงินกู้ยืมนี้ การเพิ่มงบประมาณอีก ๔๐๐ กว่าล้านบาท ไม่น่าจะเพียงพอ ถ้ารัฐบาลนำเงินงบประมาณ ในส่วนช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ๘๐๕ ล้านบาท มาเพิ่มในกองทุนนี้จะดีกว่า
นายชัย ชิดชอบ กรรมาธิการ ได้ตอบชี้แจง ประเด็นการจัดงบประมาณ เรื่อง เงินทุน
หมุนเวียน เพื่อวัฒนธรรมของจังหวัดที่แต่เดิมตั้งไว้ ๑๐ ล้านบาทนั้น ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ในแต่ละจังหวัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ตั้งบประมาณเพิ่มขึ้น ๒๒ ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรเงินให้ใหม่ เพื่อเป็นค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น โดยให้แต่ละจังหวัดไปบริหารจัดการเอง
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๓๐๑ เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา ๒๙ ในเรื่องของรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ซึ่งได้มีสมาชิกอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
นายปรีชา สุวรรณทัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรค
ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นขอแปรญัตติไว้
ในส่วนการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังเป็นการตั้งไปเพื่อไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง ซึ่งตามกฎหมาย วิธีการงบประมาณกำหนดให้ตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง แยกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากในพระราชบัญัติ งบประมาณรายจ่ายและให้ถือเป็นรายจ่ายของปีงบประมาณที่ได้จ่ายเงินคงคลังนั้น ทำให้การตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังไม่ต้องแสดงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะนำมาใช้ในรายการนี้ และเป็นวิธีการทางกฎหมาย เพื่อรายงานให้รัฐสภารับทราบถึงจำนวนเงินที่ได้จ่าย ไปก่อนที่มีกฎหมายอนุญาตเท่านั้น และเป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับในปีงบประมาณที่ผ่านมา
เรื่องการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังตามที่ได้ถือปฏิบัติตลอดมาของทุก ๆ รัฐบาลเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๑ ที่บัญญัติเป็นบทบังคับไว้ว่า ในกรณีนี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ มิใช่การตั้ง รายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง เพราะทั้งกฎหมายเงินคงคลังและกฎหมายวิธีการงบประมาณ ไม่อาจที่จะบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้ง ไม่ว่าจะได้บัญญัติขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
นายปกิต พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในฐานะกรรมาธิการ ตอบชี้แจงงบในประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญทุกมาตรา แต่ที่เห็นว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น พระราชบัญญัติงบประมาณมาตรา ๒๙ ใช้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงข้อความมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน ๓๐๒ เสียง
หลังจากที่เสร็จสิ้นการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราแล้วที่ประชุมได้ลงมติรับรองร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ ๓๐๖ เสียง
หลังจากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับสังเกตของคณะกรรมาธิการด้วยคะแนนเสียง ๓๑๕ เสียง เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงบประมาณ ได้กล่าวขอบคุณ สภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะนำระบบข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับการเงินการคลังภาครัฐบาลใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
สุดท้าย นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลขอสัญญาว่าจะนำเงินงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ประหยัด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริงภายใต้การตรวจสอบขององค์กรอิสระ
ปิดประชุมเวลา ๒๑.๐๖ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ