สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Wednesday September 15, 2004 14:31 —รัฐสภา

                การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๐ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)     วันพุธที่ ๘  กันยายน  ๒๕๔๗  เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๕๕ นาฬิกา โดยมีนายอุทัย  พิมพ์ใจชน  ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขอหารือในเรื่องต่าง ๆ แล้ว  เมื่อครบองค์ประชุม ประธานกล่าวเปิดประชุม โดยได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. ที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันอังคารที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๗ และครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันจันทร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว จำนวน ๒ ฉบับคือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ….
๒. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
พ.ศ. ….
๒. เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อนุญาตให้นำร่างพระราชบัญญัติออกจาก
ระเบียบวาระการประชุม ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๕๗ จำนวน ๑ ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายภิญโญ นิโรจน์ และนายวิทยา คุณปลื้ม เป็นผู้เสนอ
๓. เรื่องการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มอีก
จำนวน ๑ คน คือ นางประไพพรรณ เส็งประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พรรค
ประชาธิปัตย์ ตั้งแต่วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗
ดังนั้น สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๑๘ (๓) ปัจจุบันมีสมาชิกฯ เหลือจำนวน ๔๕๕ ท่าน
๔. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗ เรื่อง ให้ พลตำรวจโท
สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
ลำดับที่ ๘๔ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน นายชูศักดิ์ แอกทอง ซึ่งพ้นจากการเป็นสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๑๑๘ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และได้กล่าวนำ
พลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา ๑๕๐
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ต่อจากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระ เรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเซียในประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่ง คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ (ในระเบียบวาระเรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่าง
พระราชบัญญัติ ทำนองเดียวกันอีก ๑ ฉบับ ขึ้นมาพิจารณารวมกันไป คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเซียในประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่ง นายวัลลภ ยังตรง กับคณะ เป็นผู้เสนอ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงหลักการและเหตุผลว่า โดยจะได้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเซียในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการประสานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับธนาคารพัฒนาเอเซียและสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค ดังนั้นเพื่อให้สำนักงานพัฒนาเอเซีย ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนา เอเซียได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินงาน จึงต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ จากนั้นสมาชิกฯ ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับหลักการในการจัดตั้งสำนักงานผู้แทนต่าง ๆ ของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ในเรื่องของภาษี แต่ต้องมิใช่เรื่องของการค้าขาย จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจงจนได้เวลาพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ พร้อมกันไป และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน ๓๕ คน เพื่อพิจารณา กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน โดยถือเอาร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา
ต่อมา ได้มีสมาชิกฯ เสนอญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยขอนำระเบียบวาระที่ ๔.๒๑, ๔.๑๐, ๖.๑, ๔.๖ ระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ ๑๐, ๑๒, ๒๒, ๒๓,๒๐ ระเบียบวาระที่ ๔.๑๒, ๔.๑๓, ๔.๑๔ และ ๔.๑๖ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ
ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระตามที่ที่ประชุมมีมติ ตามลำดับ คือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง
สมาชิกฯ อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการฝากข้อคิดให้กับสภาผู้แทนราษฎรในการจะออกกฎหมายใด ที่จำกัดเอกสิทธิ์ของประชาชน ควรจะกระทำเท่าที่จำเป็น และต้องไม่จำกัดในสาระสำคัญ พร้อมทั้งต้องแจ้งให้ประชาชนได้ทราบด้วย เนื่องจากประชาชนมีเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม บุคคลสำคัญ และผู้เข้าร่วมการประชุม ครั้งที่ ๑๓ นั้น จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้สังเกตุการณ์ไม่ควรได้รับเอกสิทธิ์ในส่วนนี้
ซึ่งกรรมาธิการฯ ตอบชี้แจงว่า การออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทุกเรื่องนั้นคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว และการที่สมาชิกฯ เสนอว่าไม่ควรให้เอกสิทธิ์คุ้มครองกับผู้สังเกตุการณ์นั้น กระทำไม่ได้ เนื่องจากบันทึกข้อตกลงที่เคยกระทำไว้นั้นได้ระบุไว้ชัดเจนที่ต้องให้การคุ้มครองกับผู้สังเกตุการณ์ด้วย ดังนั้นการเสนอของสมาชิกฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญฯ ทั้งนี้ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีด้วย โดยระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่แทน
๒. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้ โดยสมาชิก ฯ ได้เสนอข้อสังเกตว่า การพิจารณากฎหมายฉบับนี้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันซึ่งมิได้มีการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายเป็นเพียงการแก้ไขถ้อยคำบางถ้อยคำเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของสาระในเนื้อกฎหมายอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ขอให้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากเป็นกฎหมายรองของร่างกฎหมายฉบับนี้ และเป็นเรื่องของการขยายเวลาอายุราชการของข้าราชการ พลเรือนสถาบันอุดมศึกษาเป็น ๖๕ ปี ซึ่งต้องใช้ควบคู่กันไป จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
ก่อนที่ที่ประชุมจะพิจารณาระเบียบวาระตามที่ที่ประชุมมีมติในลำดับถัดไป ได้มีสมาชิกฯ ขอเลื่อนการพิจารณา เรื่อง ขอให้ยกร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องยับยั้งไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ร่างพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ออกไปก่อน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพิจารณาศึกษา ที่ประชุมเห็นชอบ
จากนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระตามที่ที่ประชุมมีมติในลำดับต่อไป คือ
๓. ร่างพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
เสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ดังนี้
๑. กรณีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีความเห็นไม่ตรงกัน คือ กรณี
ค่าธรรมเนียมนั้นได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้เก็บค่าธรรมเนียมตามจำนวนห้องพักของแต่ละโรงแรมแทน การเรียกเก็บตามจำนวนห้องหรือเป็นรายปี
๒. องค์ประกอบของคณะกรรมาการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจาก
ผู้ประกอบการนั้นให้คำนึงถึงการกระจายของขนาดของโรงแรม จึงไม่ได้กำหนดสัดส่วนตายตัวเหมือนร่างเดิมก่อนการแก้ไข และการพิจารณาทั้งร่าง พ.ร.บ. มิได้แก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญ เป็นเพียงการแก้ไขถ้อยคำเพียงเล็กน้อย จากนั้นที่ประชุมมีลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วน ที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนี้
๑. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งมีสาระสำคัญ ที่ต้องการให้ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ รวมทั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือน มีโอกาสที่จะขยายเวลาราชการเกินกว่า ๖๐ ปีได้ โดยมีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ถ้อยคำจากร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งใช้คำว่าต่อเวลาราชการ โดยแก้ไขเป็นต่ออายุราชการ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบและไม่สอดคล้องกับกฎหมายอื่น
เมื่อได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๗๐ เสียง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา โดยมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จำนวน ๒๔ คน โดยสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑๒ คน วุฒิสภาจำนวน ๑๒ คน
๒. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำบางคำแต่เป็นสาระสำคัญในเรื่องของการที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสักขีพยานในการตรวจค้น ทำให้อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้
เมื่อได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๖๐ เสียง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา โดยมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จำนวน ๒๔ คน โดยสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑๒ คน วุฒิสภาจำนวน ๑๒ คน
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามที่ประธานในการประชุมเสนอ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ และมีร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะทำนองเดียวกันได้แก่
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดี
เยาวชนและ ครอบครัว (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล และคณะ เป็นผู้เสนอ
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดี เยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ เป็นผู้เสนอ
ที่ประชุมจึงได้มีมติให้รวมพิจารณาในคราวเดียวกัน
จากนั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลง ต่อที่ประชุมว่า โดยที่ในปัจจุบันการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหรือแผนกคดีเยาวชนและ ครอบครัวในศาลจังหวัดและสถานพินิจยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการและวิธีพิจารณาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน สมควรกำหนดให้ศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนืออำเภอที่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่เกิดในเขตจังหวัดนั้น โดยนำวิธีพิจารณา คดีอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาใช้บังคับ กรณีที่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือ เยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติหรือในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด และสมควรให้เปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดหรือแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัด และจัดตั้งสถานพินิจ ให้มีเขตอำนาจครอบคลุมทุกจังหวัดภายในสามปี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ในปัจจุบันศาลเยาวชนและครอบครัวมีจำนวนน้อยอยู่มาก กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้จังหวัดใดที่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวสามารถให้ศาลจังหวัดนั้น ๆ เพียงหนึ่งศาลทำหน้าที่พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวได้โดยเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะต้องดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดในสามปี
จากนั้น ผู้เสนอร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันได้แถลงถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พระราชบัญญัติ และกล่าวว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะก่อประโยชน์แก่เยาวชนที่ต้องขึ้นศาลในจังหวัดที่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว โดยในการพิจารณาคดีของศาลจะต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กเป็นสำคัญ จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในเรื่องประโยชน์ต่างๆ ที่เด็กเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครองจะได้รับไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความสะดวกของการขอประกันตัว เรื่องการ
พิจารณาคดีเด็ก ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเนื่องจากจะต้องใช้วิธีการสำหรับเด็ก ซึ่งต่างกับการพิจารณา
คดีของผู้ใหญ่ในศาลจังหวัด นอกจากนี้สมาชิกยังได้เสนอว่าควรมีการปรับกระบวนการในการแก้ไขปัญหาครอบครัว ปัญหาเยาวชนและวิธีการลงโทษ เพื่อประโยชน์สำหรับเด็กด้วย
หลังจากสมาชิกได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับนี้ไว้พิจารณาต่อไปด้วยคะแนน ๒๘๐ เสียง เนื่องจากร่างพระราช-บัญญัติทั้งสามฉบับมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก ดังนั้นจำนวนกรรมาธิการวิสามัญต้องประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรเอกชนเกี่ยวกับเด็กไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๐ ที่ประชุมจึงได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน โดยมีสัดส่วนของตัวแทนคณะรัฐมนตรี ๕ คน ตัวแทนพรรคการเมือง ๑๘ คน และ ตัวแทนจากองค์กรเอกชนเกี่ยวกับเด็ก ๑๒ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วันโดยถือเอาร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา
๒. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่ง คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
จากนั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลง ต่อที่ประชุมว่า โดยที่ในปัจจุบันการฟ้องคดีปกครองที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หรือ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คู่กรณีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทำให้เป็นภาระแก่คู่กรณีที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือทำให้ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ดังนั้น สมควรกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาอนุญาตการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ ประกอบกับคดีดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สมควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องคดีปกครองให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้
ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยคะแนน ๒๗๖ เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
๓. ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
จากนั้น นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า โดยที่พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือการ ยอมรับมาตรฐานหรือการตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรฐานในเรื่องดังกล่าว ประกอบกับสมควรลดขั้นตอนการตราเร่งรัดการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ทันต่อสภาพสังคมที่มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปรับปรุงขั้นตอนในการส่งออกระบบอนุญาตเป็นระบบแจ้งซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบไปตามมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าอยู่แล้ว นอกจากนี้อัตราโทษสำหรับความผิดบางประการและอัตราค่าธรรมเนียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสม รวมทั้งการมอบอำนาจของรัฐมนตรียังไม่มีความชัดเจนสมควรแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ จากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องที่ต่างประเทศซึ่งมีศักยภาพทางเทคโนโลยีที่สูงกว่า อาจใช้ประโยชน์จากการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมในการกีดกันทางการค้า ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตอบชี้แจงว่าการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ทำให้การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาและเป็นการยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดความเสียเปรียบทางการค้าระหว่างประเทศด้วย
หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายพอสมควรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการ แห่งร่างพระราชบัญญัติ มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ไว้พิจารณาต่อไป ด้วยคะแนน ๒๘๔ เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
จากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบกับที่สมาชิกเสนอให้ตั้ง นายปิยะ ปิตุเตชะ สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เป็นกรรมาธิการการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร แทนตำแหน่งที่ว่าง
ปิดประชุมเวลา ๑๘.๓๕ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ