การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุม ประธานการประชุมได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบวาระ คือ ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี และระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม ดังนี้
๑. รับทราบเรื่องการขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายสมควร
โอบอ้อม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ พรรคชาติไทย เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๘๘ อนุ ๓
๒. รับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ของธนาคารเพื่อ
การส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ โดยสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทภารกิจของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยให้บริการทางการเงินกับผู้ส่งออกและนักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งผลประกอบการที่ให้กำไรสุทธิกว่า ๑,๔๐๐ ล้านบาท นั้น ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้อภิปรายถึงการปล่อยเงินกู้ จำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท ให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งส่งผลดีกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย และหากทั้งสองประเทศมีความเจริญที่แตกต่างกัน ก็จะส่ง ผลกระทบให้เกิดปัญหาต่าง ๆ กับประเทศไทย อาทิ ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหายาเสพติด ปัญหาโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งหากประเทศเพื่อนบ้านมีความเจริญใกล้เคียงกันแล้วปัญหาต่าง ๆ ก็จะทุเลาลง
อย่างไรก็ตาม ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายถึงความไม่สมเหตุสมผลของ การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวนดังกล่าวให้รัฐบาลพม่า ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับ กลุ่มบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นการปล่อยเงินกู้ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากระบบการเงินของพม่านั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และมีความน่าเชื่อถือในความสามารถชำระหนี้ต่ำ
จากนั้นนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบชี้แจง การให้รัฐบาลพม่ากู้เงินในครั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้นโยบายของ รัฐบาลในเรื่องการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญ และจะส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และการที่ต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีนั้น เพราะต้องการดำเนินการอย่างเปิดเผย สำหรับกรณีที่ถูกมองว่า คนในรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงการระบบดาวเทียมนั้น นายวราเทพได้ชี้แจงว่า โครงการ ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของอินเตอร์เน็ต แต่เป็นเรื่องของโทรศัพท์พื้นฐานที่จะกระจายในพื้นที่ที่ห่างไกลในประเทศพม่า ส่วนเอกสารลับที่ออกมาเผยแพร่ว่า มีบริษัทหนึ่งได้รับประโยชน์ตามสัญญาเงินกู้นั้น เอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่เอกสารที่เสนอผ่านรัฐบาลไทย และรัฐบาลพม่าจะเลือกบริษัทสื่อสารของไทยบริษัทใดไปดำเนินการในพม่าก็เป็นเรื่องที่ทางพม่าจะเป็นผู้เลือกบริษัทที่พม่าเชื่อถือเอง
ต่อมานายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้ร่วมชี้แจงว่า ธนาคารได้ดำเนินการมากว่า ๑๐ ปีแล้ว และพนักงานของ ธสน. ทุกคนตระหนักดีว่าทำงานในองค์กรของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งนี้ธนาคารได้ดำเนินการ โดยถือตามหลักของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และพยายามสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศพม่านั้นอยู่ในกรอบนโยบายของไทย และเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศในความต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้การที่ธนาคารได้ขอความสนับสนุนจากรัฐบาลก็เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งธนาคารได้ศึกษาและวิเคราะห์สถานะทางการเงินของประเทศพม่ารวมทั้งเอกสารสัญญาต่าง ๆ อย่างละเอียด และได้ปล่อยเงินกู้ โดยเลือกลูกหนี้ที่ดีที่สุดของพม่า ได้แก่ รัฐบาลพม่า นอกจากนี้ได้ชี้แจงกรณีการอนุมัติเงินในเวลา อันรวดเร็วหลังจากทำสัญญาเพียง ๑ เดือนว่า การพิจารณาและตรวจสอบเอกสารเพื่อการอนุมัตินั้น เป็นการอนุมัติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของพม่า ซึ่งหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้วก็สามารถอนุมัติได้ ภายในไม่กี่วัน บางครั้งยังรวดเร็วเกินความคาดหมายอีกด้วย อย่างไรก็ตามทางธนาคารจะได้นำ ข้อเสนอแนะและแนวทางต่าง ๆ ไปปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น ต่อไป
จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่สมาชิกฯ เสนอให้นำเรื่องรับทราบรายงานกิจการ งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ ขึ้นมาพิจารณาก่อน
๓. รับทราบรายงานกิจการ งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อ
ที่อยู่อาศัยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
ต่อมาประธานที่ประชุมได้หารือกับสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องของประธานคณะกรรมาธิการ เนื่องจากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิก บางท่านมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร โดยเมื่อลาออกไปแล้วที่ประชุมได้ เห็นชอบให้การแต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการในตำแหน่งที่ว่างนั้นให้เป็นไปตามสัดส่วนของ พรรคการเมืองเดิม
พักการประชุมเวลา ๑๓.๒๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้นในเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ได้มีการพิจารณากระทู้ต่าง ๆ คือ
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด
นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร) ได้ตอบกระทู้ว่า ขณะนี้หนี้ครัวเรือน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๑,๕๖๖ บาทต่อครัวเรือน ในปัจจุบันแม้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนได้สูงขึ้น แต่รัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการได้ โดยดูจากหนี้ครัวเรือนว่าอยู่ในกลุ่มใดและกลุ่มใดมีหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จากการที่ได้ทำการศึกษาพบว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจะอยู่ในระดับคนชั้นกลางขึ้นไป โดยมีหนี้ครัวเรือนละ ๑๖,๕๐๐ บาท และเป็นหนี้ที่ไม่สูงมากเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหนี้ต่างประเทศ และการเพิ่มของหนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมกับสินทรัพย์ที่ครัวเรือนมี โดยนำเงินที่เกิดจากการเป็นหนี้ไปซื้อที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ รวมทั้งการลงทุน สำหรับนโยบายทางด้านสินเชื่อนั้น ในเรื่องดังกล่าวนี้รัฐบาลมีความเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะสินเชื่อที่รัฐบาลได้ปล่อยไป จากการรวบรวมสถิติที่ไปลงทะเบียนหนี้นอกระบบ จากการตรวจสอบพบว่าลดลง เพราะหนี้เข้าระบบมีมากขึ้น เป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยไม่สูงมาก เพราะรัฐบาลเป็นผู้ปล่อยเงินกู้และคอยติดตามดูแลอยู่ ทำให้สามารถบริหารและจัดการได้ รวมทั้งไม่เดือดร้อนมากเกินไป
ส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่สมดุลกับรายได้นั้นโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐ แม้จะสูงแต่ก็ยังต่ำกว่าต่างประเทศ ภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง และสามารถดูแลและจัดการได้
๒. กระทู้ถามสดของนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ ถามรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวัฒนา เมืองสุข) ได้ตอบกระทู้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ เพราะเป็นช่วงที่ผลิตผลของข้าวโพดมีเข้ามา และมีปัญหาด้านต้นทุนอาหารสัตว์มีราคาแพง ทำให้อำนาจการนำเข้าลดลง ราคาข้าวโพดจึงสูงขึ้น รวมทั้งไม่ได้อยู่ในช่วงของฤดูการผลิตด้วยจึงต้องทำให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันไม่มีการนำเข้าแม้แต่เม็ดเดียว ส่วนในเรื่องของการพยุงราคาข้าวโพดนั้นปัจจุบันรัฐบาลได้มีการแทรกแซงราคาข้าวโพด ที่ค่าความชื้นอยู่ในระดับ ๑๔.๕% ควบคุมแทรกแซงราคาได้กิโลกรัมละ ๔.๔๐ บาท ถ้ามีความชื้นมากราคาก็จะต่างกันไป แต่รัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้มาโดยตลอด โดยมีการรับจำนำข้าวโพด
๓. กระทู้ถามสดของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี
รายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การเปลี่ยนแปลงพืช จี เอ็ม โอ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้ตอบกระทู้ว่า กรณีมะละกอแขกดำในแปลงของเกษตรกรมีการเปื้อน จี เอ็ม โอ หรือไม่นั้น จากการทดลองในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการทดลอง ๓ แบบ คือ ทดลองในห้องทดลองโดยมีหลังคา มีรั้วรอบขอบชิด ในแปลงทดลองและไร่นาจริง แต่ในปัจจุบันการทดลองในไร่นาจริงได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนที่อำเภอพลนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการปนเปื้อนแน่นอน และจากการทดลองในแปลงทดลองที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีหลังคาพลาสติกคลุม ไม่มีการติดไปยังไร่นาส่วนอื่นแน่นอน ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้พื้นที่ทดลองจำนวนน้อย แต่ผลผลิตที่ผ่านมาได้มากถึง ๔๐ ไร่ และกรมวิชาการเกษตรได้ทำการทดลองลงบนแปลงทดลองประมาณ ๑๑ ไร่ แล้วก็มีการป้องกันเป็นอย่างดีด้วย และห่างจากไร่ที่อยู่ในความเสี่ยงถึง ๑๕๐ เมตร
ส่วนเรื่องการทดลองพันธุ์มะละกอ จี เอ็ม โอ นั้น เป็นการทำร่วมกันกับต่างประเทศ ๗ ประเทศ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ดังนั้นไวรัสดังกล่าวจึงไม่ได้มาจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่มาจาก ๖ ประเทศร่วมกัน จึงทำให้เห็นว่าไม่ใช่พันธุ์มะละกอของไทย ส่วนการลงทุนนั้นประเทศไทยได้ส่งบุคลากรไปศึกษายังต่างประเทศ โดยใช้งบประมาณของกรมวิชาการเกษตรเพียง ๓.๘ ล้านบาท และทำร่วมกันกับหลายประเทศ ส่วนข้อตกลง MOU ในการบันทึกความเข้าใจการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ผ่าน คณะรัฐมนตรี
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๗ เรื่อง
๑. กระทู้ถามของนายนิพนธ์ คนขยัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การสนับสนุนเงินเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร) ได้ตอบกระทู้ว่า นโยบายการช่วยเหลือแรงงานในเรื่องของเงินทุนที่จะไปต่างประเทศนั้น รัฐบาลดูแลอยู่ โดยเฉพาะธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ดูแลในเรื่องการให้กู้เงินในดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำเงินทุนไปศึกษายังต่างประเทศ
๒. กระทู้ถามของนายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การจัดเก็บภาษี ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายวราเทพ รัตนากร) ได้ตอบกระทู้ว่า ภาษีก้าวหน้าจัดเก็บจากบุคคลธรรมดา คือ ผู้มีรายได้น้อย จะเสียภาษีน้อย และผู้มีรายได้มาก จะเสียภาษีมาก ส่วนภาษีมรดก ภาษีธุรกิจนั้น ถ้ามีกำไรมากก็ต้องเสียภาษีมากเช่นกัน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้คือ รายได้ไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาทต่อปี ได้รับการยกเว้น แต่ถ้ามีรายได้ถึง ๑ ล้านบาท จะเสียภาษี ๒๐% ส่วนภาษีที่เสียนั้นเกิดจากความสมัครใจของผู้เสียภาษีและเป็นไปตามข้อกำหนดในการเสียภาษี สำหรับภาษีมรดกนั้นขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
๓. กระทู้ถามของนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การขยายระยะทางก่อสร้างถนน รพช. สาย พล ๓๐๒๒ ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี) ได้ตอบกระทู้ว่า ในเส้นทางดังกล่าวได้ก่อสร้างไปแล้วระยะหนึ่ง ส่วนเส้นทางอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ก่อสร้างนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงความเป็นไปได้แล้ว และถ้ามี งบประมาณจะดำเนินการก่อสร้างทันที
๔. กระทู้ถามของนายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี
พรรคชาติพัฒนา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง วินัยของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายนิกร จำนง) ได้ตอบกระทู้ว่า สภาพปัญหาของรถจักรยานยนต์ และปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ นั้น เป็นปัญหาที่สำคัญมากในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีจำนวนยานพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๑๔ ล้านคัน ทำให้อัตราการสูญเสียเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ส่วนเรื่องการดื่มเหล้าในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์นั้น อัตราเสี่ยงจากการดื่มเหล้าจะมีปัญหามาก ในเรื่องดังกล่าวนี้ได้มีนโยบาย คือ เมาแล้วขับ ขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่มีใบขับขี่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ซึ่งได้กำหนดขึ้น โดย คณะกรรมการอำนวยความปลอดภัยบนท้องถนน ได้มีการตรวจสอบอย่างชัดเจนมาก โดยกำหนดไว้ว่าตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคมถึงสิ้นปี ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ ๑๐% โดยพยายามให้สวมหมวกนิรภัยและลดการดื่มสุราลงให้มาก โดยมีการตรวจสอบจากเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ซึ่งเป้าหมายในการตรวจวัดต่อเครื่องต่อวัน คือ ๑๓๐ คนต่อเครื่องต่อวัน และดำเนินการสุ่มตรวจในวันปกติ
ส่วนเรื่องใบขับขี่นั้น หลังจากได้มีการออกกฎหมายแล้ว ใบขับขี่ตลอดชีพได้ถูกยกเลิกไป มีเพียงแต่ใบขับขี่สำหรับรถรับจ้างทั่วไปจะมีอายุ ๓ ปี และ ๕ ปี สำหรับรถทั่วไป และหลังจากหมด ระยะเวลาที่กำหนด แล้วต้องมาดำเนินการสอบใบขับขี่ใหม่ สำหรับวินัยของการขับขี่นั้น รัฐบาลโดย กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนประมูลเลขสวย ได้อนุมัติงบประมาณให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติประมาณ ๔ ล้านบาท และกรมการขนส่งทางบก ๓ ล้านบาท ให้รวมระบบเข้าด้วยกัน ในการบันทึกใบขับขี่ ซึ่งเดิมบันทึกไม่ได้ แต่ปัจจุบันได้ทำการบันทึกได้แล้ว ถ้าบันทึกคะแนนครบ ภายใน ๑ ปี จะถูกยึดใบขับขี่ไว้ ๙๐ วัน รวมทั้งมีการอบรมให้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วย
๕. กระทู้ถามของนายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การเสริมสร้างและคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร รับจ้าง (รถแท็กซี่) ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายนิกร จำนง) ได้ตอบกระทู้ว่า ได้มีกฎกระทรวงที่ประกาศโดยคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการให้ติดชื่อคนขับและหมายเลขทะเบียนโดยเคร่งครัด เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ แม้ว่าจะมีกฎกระทรวงบังคับแล้ว สังคมคนขับรถแท็กซี่ด้วยกันต้องช่วยดูแลด้วย ซึ่งในขณะนี้ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะได้รับการร้องเรียนในหลาย ๆ เรื่อง และได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้วเช่นกัน
๖. กระทู้ถามของนายบุญเติม จันทะวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการควบคุมรถรับจ้าง ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายนิกร จำนง) ได้ตอบกระทู้ว่า การควบคุมค่าเช่าของรถแท็กซี่ นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดในการกำกับค่าเช่า แต่ปล่อยให้เป็นกลไกของตลาด เพราะว่ารัฐบาลไม่มีการกำหนดจำนวนรถแท็กซี่ ดังนั้นค่าเช่ารถจะสัมพันธ์กับจำนวนรถ และในสิ้นปี ๒๕๔๘ จำนวนรถแท็กซี่ประมาณ ๘ หมื่นกว่าคัน จะลดลงเหลือเพียง ๖ หมื่น ๒ พัน กว่าคัน เพราะว่าอายุการใช้งานรถแท็กซี่ ที่มีอยู่ในขณะนี้มีอายุการใช้งานแล้ว ๑๒ ปี ดังนั้นจะหมดอายุไปประมาณ ๕,๙๐๐ คัน และในสิ้นปี ๒๕๔๘ อีก ๑,๙๐๐ กว่าคัน ดังนั้นจะเหลือรถแท็กซี่เพียง ๖๒,๐๐๐ กว่าคันเท่านั้น เหตุที่ไม่ต่ออายุให้เนื่องจากสภาพรถแท็กซี่บางคันเก่าเกินไปอาจก่อให้เกิดมลพิษทางถนน และประชาชนไม่เรียกใช้บริการ รัฐบาลจึงได้ลดจำนวนรถเก่าออกไป ส่วนการเสนอควบคุมจำนวนนั้นอาจทำไม่ได้ในขณะนี้ และนโยบายควบคุมค่าเช่ายังไม่มีการกำหนด ถ้ามีปัญหาเรื่องค่าเช่าต้องมีการพิจารณากันในวงกว้างต่อไป
๗. กระทู้ถามของนายอาคม เอ่งฉ้วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง โครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลภาคใต้ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายนิกร จำนง) ได้ตอบกระทู้ว่า ได้สร้างและใช้ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๑ และในช่วงอื่น ๆ นั้น ขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ได้ตอบว่า ขณะนี้ได้แบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ จัดตั้งเขตปลอด ภาษีที่ศรีราชา ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และโครงการเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงานได้ดำเนินการไปในปี ที่ผ่านมา และได้มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน และคาดว่ามีความเป็นไปได้ ในการดูแลโครงการดังกล่าวทั้ง ๒ ขั้นตอนนี้
๘. กระทู้ถามของนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การป้องกันคลื่นริมฝั่งทะเลและแม่น้ำพัง ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย ติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๓
ปิดประชุมเวลา ๑๗.๒๐ นาฬิกา