สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Tuesday September 21, 2004 09:06 —รัฐสภา

                การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔  ครั้งที่ ๑๒  (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)  
วันพุธที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ได้ขอหารือในเรื่องต่าง ๆ แล้ว เมื่อครบองค์ประชุม ประธานได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (ไม่มี)
๓. รับรองรายงานการประชุม
ประธานการประชุมได้เสนอให้ที่ประชุม
- รับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๓ ครั้งที่ ๓๓
(สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
- รับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔
ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๓ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๖ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๘ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๙ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๐ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๑ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๒ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๓ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๔ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๕ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๗
ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว ตามที่เสนอ
จากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สมาชิกได้เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระเรื่องด่วนขึ้นมาพิจารณาก่อน ดังนี้
๑. พิจารณากรณีที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการประชุม
ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์
ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายว่าวุฒิสภาแก้ไขเพียงถ้อยคำบางคำในมาตรา ๔ ซึ่ง
ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ เมื่อที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๓๔ เสียง
เห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภาจึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักไทย มาตรา ๑๗๕ (๓)
จากนั้นที่ประชุมได้ พิจารณาเรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามลำดับดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ
และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ไม่ควรมีการรวมวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส
วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีนราธิวาส และวิทยาลัยการอาชีพตากใบ เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของ
มหาวิทยาลัยที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเสียโอกาสในการเข้าศึกษาระดับ
อาชีวะศึกษาและการที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นนี้ยังคงเปิดสอนในระดับอาชีวะศึกษาอยู่อาจกระทบ
ต่อผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาในระดับอาชีวะได้ เนื่องจากปรัชญาการจัดการศึกษาของระดับอาชีวะศึกษามี
ความแตกต่างกับระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังอาจเป็นแบบอย่างให้จังหวัดอื่นรวมสถาบันอาชีวะศึกษา
ในลักษณะนี้ขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ในอนาคตได้ จึงควรมี
การทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องของสภามหาวิทยาลัยที่กำหนดให้ต้องมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นในเขตจังหวัดนราธิวาสจำนวนสองคนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งนั้น
ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องเป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในเขตจังหวัดนราธิวาสจำนวนสองคนเป็นกรรมการจะเหมาะสมกว่าในเรื่องของผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งเป็นกรรมการในสภาวิชาการนั้นความกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นบุคคลภายนอกหรือภายใน ในเรื่องของ
คุณสมบัติของอธิการบดีควรเขียนให้มีความชัดเจนในเรื่องของการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ซึ่งกำหนดให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาลัยนั้น ต้องการที่จะให้เป็นอำนาจของอธิการบดีหรือ
สภามหาวิทยาลัย ซึ่งกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงในประเด็นต่างๆ ว่า ในเรื่องของการรวม
สถาบันอาชีวะเข้าจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนั้นเหมาะสมแล้ว และไม่กระทบต่อปรัชญาของการจัดการศึกษา
แต่อย่างใด และได้เคยดำเนินการจัดทำมาแล้วนั้นคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
พระนครเหนือ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงสอนในระดับ ปวช. และ ปวส. ควบคู่กับระดับปริญญา และ
ข้อสังเกตที่ว่าอนาคตจะเกิดการรวมสถาบันอาชีวะศึกษาในลักษณะนี้ขึ้นอีกในจังหวัดอื่นนั้น
ไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสนั้นเป็นพื้นที่พิเศษและมีความขาดแคลน
ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่น ซึ่งมีการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนอยู่แล้ว ในเรื่อง
ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเห็นด้วยที่จะแก้ไข
ให้ชัดเจนตามที่สมาชิกเสนอ ในเรื่องคุณสมบัติอธิการบดีที่ได้มีการเพิ่มเติมนั้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาส
ให้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ซึ่งมีความสามารถในการบริหารได้มีโอกาสดำรง
ตำแหน่งอธิการบดีได้ ในเรื่องการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณนั้นกฎหมายฉบับนี้มุ่งให้เป็นอำนาจ
ของสภามหาวิทยาลัย
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติ
เห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๓๒ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ
๒. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการ
พิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วย
ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ในเรื่องที่กำหนด
ให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนสองคนในเขตจังหวัดนครพนมเป็นกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่งควรกำหนดให้ว่าต้องเป็นผู้บริหารสูงสุดจำนวนสองคนเพื่อความชัดเจน
ในเรื่องกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาวิชาการนั้น กำหนดว่าจะต้องเป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้นหรือไม่
การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องคุณสมบัติของอธิการบดี ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีประสบการณ์
การทำงานในด้านอื่นสามารถเป็นอธิการบดีได้นั้นกว้างเกินไป ในเรื่องของการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่าต้องแต่งตั้งจากศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญพิเศษและพ้นจาก
ตำแหน่งโดยไม่มีความผิดนั้น การพ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิดนั้นมีเกณฑ์
ในการพิจารณาอย่างไร ในเรื่ององค์ประกอบของกรรมการสภามหาวิทยาลัยควรกำหนดให้ผู้ว่าราชการ
จังหวัดเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยจะเหมาะสมกว่า เรื่องระยะเวลาในการจัดตั้งสภามหาวิทยาลัยควร
กำหนดให้เป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะเหมาะสมกว่าและเรื่องจำนวนของผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนใน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเหตุใดจึงกำหนดไว้
เพียงสามคน ซึ่งกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงในประเด็นต่างๆ ว่า ในเรื่องของกรรมการ
สภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เห็นด้วยที่จะแก้ไขให้ชัดเจนตามที่สมาชิก
เสนอว่าต้องเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ในเรื่องกรรมการผู้ทรง
คุณวุฒิของสภาวิชาการได้มีการกำหนดไว้ว่าจะเป็นบุคคลจากภายนอกหรือบุคคลภายในนั้นให้เป็นไป
ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เรื่องคุณสมบัติของอธิการบดีที่กำหนดไว้ให้ผู้มีประสบการณ์ในการบริหาร
งานด้านอื่นสามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้นั้นก็เพื่อต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นและเป็นไปตามหลัก
สากลทั่วไป ในเรื่องของการแต่งตั้งศาสตราจารย์ผู้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิด
เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณนั้นเป็นการเขียนกำหนดตามแบบอย่างที่เคยเขียนกันมาในกฎหมายฉบับอื่น ๆ
ซึ่งเป็นไปตามหลักทั่วไป ในเรื่ององค์ประกอบของกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้นเห็นด้วยกับที่สมาชิกที่เสนอ
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และในเรื่องระยะเวลาการจัดตั้งสภามหาวิทยาลัยที่
สมาชิกเสนอให้แก้ไขจากหนึ่งปีเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนั้นเห็นด้วยและจะได้ ดำเนินการแก้ไขต่อไป
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้วที่ประชุม
ได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๕๓ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตาม
รัฐธรรมนูญ
๓. ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการ
พิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง
คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า การเปลี่ยนชื่อสถาบัน
เทคโนโลยีต่าง ๆ นั้นมีแนวความคิดหรือใช่หลักเกณฑ์อะไรในการตั้งชื่อ และได้มีการขอประชามติ
จากสถาบันแต่ละแห่งหรือไม่ ในเรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ควรตัดสำนักงาน
อธิการบดีออก แล้วกำหนดให้มีสำนักงานมหาวิทยาลัยแทน เนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนได้ ในเรื่องของ
ความร่วมมือด้านวิชาการและการใช้ทรัพยากรนั้น ไม่ควรจำกัดอิสระของอธิการบดีในการดำเนินการ
ซึ่งกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงในประเด็นต่างๆ ว่า ในการกำหนดชื่อของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ทั้งเก้าแห่งนั้นยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางแห่งก็เรียกเป็นภาค บางแห่งก็เป็น
ชื่อเฉพาะ จึงได้แก้ไขชื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งจากชื่อเฉพาะ ซึ่งสื่อถึงที่ตั้งของมหาวิทยาลัยได้
และได้ทำการขอประชามติจากสถาบันต่าง ๆ แล้ว ในเรื่องของสำนักงานอธิการบดี
ที่มีการตัดออกและกำหนดให้เป็นสำนักงานมหาวิทยาลัยแทนนั้นก็เพื่อต้องการจะให้เป็นสำนักงานของหน่วยงาน
นั้นไม่ใช่เป็นสำนักงานของบุคคลใดเป็นการเฉพาะแต่หากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าควรคงไว้ตามร่างเดิม คือ
ให้มีสำนักอธิการบดีก็ไม่ขัดข้อง ในเรื่องของความร่วมมือด้านวิชาการและการใช้ทรัพยากรที่กำหนดไว้นั้น
ก็เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความต่อเนื่องในการสร้างบัณฑิต นักปฏิบัติเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ร่วมกัน สำหรับเรื่องการบริหารจัดการก็ได้มีการเปิดโอกาสให้แต่ละแห่ง ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ
จากสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วย จึงไม่ถือว่าการดำเนินการของอธิการบดีถูกจำกัดแต่อย่างใด
เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้วที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบ
ในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๘๐ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตาม รัฐธรรมนูญ
๔. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพาณิชยนาวี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่ง
คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ได้กล่าวรายงานต่อที่ประชุมดังนี้ ตามที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันพุธที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ได้ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่ง คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
และตั้งกรรมาธิการวิสามัญ กำหนดแปรญัตติภายใน ๗ วัน ต่อมาสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรได้อภิปรายและตั้งประเด็นคำถามในถ้อยคำ "การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ" นั้น ในกฎหมาย
พาณิชยนาวีเดิมมีการระบุถ้อยคำนี้ใช้อยู่หรือไม่ และมีความหมายอย่างไร กรรมาธิการฯ
ได้ตอบชี้แจงว่า เป็นการระบุถ้อยคำไว้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการขนส่ง ซึ่งกฎหมายพาณิชยนาวี
เดิมไม่มีถ้อยคำนี้ และเป็นการกำหนดให้บังคับใช้กับผู้ประกอบการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติ เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ด้วยคะแนน ๒๘๔ เสียง
และเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งจะได้สั่งให้คณะ รัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
๕. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การงดบังคับคดีและการขาย
ทอดตลาด) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕ ซึ่งวุฒิสภาแก้ไขมาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน
มาตรา ๓๐๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดย
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ ขอให้ตัดคำว่า
"เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งแล้ว….ไม่มีสิทธิ์ขอให้ศาล ยกเลิกหรือ……"
ในวรรค ๒ ไป จากนั้นได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา โดยมีมติกำหนดจำนวนบุคคลที่จะประกอบ
เป็นกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จำนวน ๒๔ คน แบ่งเป็นสภาละ ๒ คน
๖. พิจารณาคดีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่..)
พ.ศ. …. ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดย นายโสภณ เพชรสว่าง สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายกรณีการแก้ไขของวุฒิสภาเป็นการแก้ไข
เพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะมาตรา ๗ ซึ่งให้เพิ่มคำว่า "ขอ" ใน
มาตรา ๒๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นดังนี้ "ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียน
รถจักรยานยนต์สาธารณะให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน" จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภา ๒๗๔ เสียง
ทำให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
๗. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาล้มละลาย
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้
โดยประธานคณะกรรมาธิการร่วมกันได้ชี้แจงแนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ของ คณะกรรมาธิการร่วม
ซึ่งวุฒิสภาแก้ไขดังนี้คือ
๑. การแก้ไขในมาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้ง
ศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ข้อความ "มาตรา ๒๖ คดีที่
ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง เพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไป
พร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อศาลล้มละลายตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่า
เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาล
ล้มละลายเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้ดำเนินการต่อไป
๒. วุฒิสภาไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติม แต่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้แก้ไขเพิ่มเติม
เป็นดังนี้ "มาตรา ๖ บรรดาคดีล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ในวันที่พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จและให้คู่ความมีสิทธิฎีกาต่อไปได้
ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวัน
ที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วมกัน
๘. ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยประธานคณะกรรมาธิการรายงานผล
การพิจารณาของกรรมาธิการดังนี้ คือ การแก้ไขในมาตรา ๔ คำนิยาม "เรือโดนกัน" หมายถึง
การปะทะกับระหว่างเรือเดินทะเลหรือการที่เรือเดินทะเลปะทะเรือลำอื่น ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้ง
ประเด็นคำถามถึงอาณาเขตน่านน้ำไทย ในกฎหมายฉบับนี้นั้น กำหนดอาณาเขตไว้อย่างไร เกี่ยวข้องกับ
เขตน่านน้ำเศรษฐกิจหรือไม่ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวตอบว่า น่านน้ำไทย หมายถึง
ระยะทาง ๑๒ ไมล์ทะเล ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ ๓ ทั้งฉบับด้วยคะแนน ๒๖๖ เสียง
๙. ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. …. ซึ่ง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยประธานคณะกรรมาธิการ รายงานให้ที่ประชุมทราบถึง
การพิจารณาของกรรมาธิการดังนี้ คือ การแก้ไขในมาตรา ๔ วรรค ๒ คำนิยาม กรณีการส่งมอบของ
ตามที่ระบุไว้ในสัญญาการขนส่งรูปแบบเดียว ไม่ถือว่าเป็นการขนส่งหลายรูปแบบ ซึ่งสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดต้องระบุถ้อยคำท้ายด้วยว่า "หลายรูปแบบ" ทั้งที่ตอนต้นระบุ
"รูปแบบเดียว" และในกรณีมาตรา ๖๒ วรรค ๑ ถ้อยคำมีความหมายอย่างไร กรรมาธิการตอบชี้แจงว่า
จำเป็นต้องระบุวรรค ๒ เช่นนี้เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หากมีข้อสงสัยเรื่องของรูปแบบ
การขนส่งสำหรับมาตรา ๖๒ วรรค ๑ เป็นเพียงการเขียนถ้อยคำผิดไป จักได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการพิจารณาของกรรมาธิการด้วยคะแนน ๒๘๑ เสียง และเห็นชอบ
ให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
๑๐. ร่างพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาเสร็จแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะมาตรา ๑๓ เรื่องการใช้
ชื่อสกุลของบุคคลกล่าวคือ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตามวรรค ๒ ให้ฝ่ายที่ยังมี ชีวิตอยู่ สามารถ
ใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหรือชื่อสกุลเดิมของตนเองได้ แต่เมื่อสมรสใหม่หรือมีบุตร ซึ่งมิได้เกิดจากผู้ที่ตายให้
กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิม ซึ่งคณะกรรมาธิการมีความเห็นชอบไม่ตรงกันหลายฝ่ายระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
กรรมาธิการฯ และผู้ขอแปรญัตติ จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ
จากนั้น ประธานฯ ได้ปรึกษาที่ประชุม เพื่อขอนำระเบียบวาระที่ ๗ เรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาพิจารณาก่อน
ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน ๑๗ คณะ
ปิดการประชุมเวลา ๑๙.๐๕ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ