สาร ส.ส. ฉบับที่ ๙๐ วันที่ ๒๗ กันยายน - ๓ ตุลาคม ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday September 27, 2004 09:00 —รัฐสภา

=   งานอำลาผู้เกษียณอายุราชการ
วันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๗ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง
เป็นประธานในพิธีมอบของที่ลึกแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ผู้ครบเกษียณอายุราชการ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗
จำนวน ๖ ราย ได้แก่ นางสาวรัชนี อังตระกูล ผู้อำนวยการสำนักกรรมาธิการ ๒ สำนักกรรมาธิการ ๒
นายสมชาย ดาวอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
นายโสภณ แสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักกรรมาธิการ ๓ นายสุนทร วิวัฒน์
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ๗ สำนักรักษาความปลอดภัย นายสมจิตร ภูสีดิน หัวหน้าหมวดรถยนต์
สำนักการคลังและงบประมาณ และนายอุดม ชมเชย พนักงานบริการ สำนักรักษาความปลอดภัย
ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ ๒๑๓-๒๑๖ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๒
= กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาคูเวต-ไทย เข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภา
เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒
อาคารรัฐสภา ๑ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย
นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรองนายอับดุล วาฮิด อัล-อวาดี ประธาน
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาคูเวต-ไทย และคณะ ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่าง
เป็นทางการ ในฐานะแขกของกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-คูเวต พร้อมกันนี้ได้กล่าวว่า รู้สึกยินดี
ที่ประธานกลุ่มมิตรภาพคูเวต-ไทย ได้นำคณะมาเยือนประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีในการกระชับ
ความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และถือเป็นการช่วยสร้างความใกล้ชิดระหว่างประชาชนของ
ทั้งสองประเทศอีกด้วย
นายอับดุล วาฮิด อัล-อวาดี ได้กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเยือน
ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันเสมอมา
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเยือนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคูเวตและประเทศไทยให้มาก
ยิ่งขึ้นโดยจะให้ภาคเอกชนและภาครัฐของประเทศคูเวตเข้ามาร่วมลงทุนกับประเทศไทยด้วย พร้อมกันนี้
ได้นำสาส์นจากประธานสภาคูเวต เชิญประธานรัฐสภาและคณะกลุ่มมิตรภาพเดินทางไปเยือนประเทศ
คูเวตด้วย ซึ่งประธานรัฐสภาได้กล่าวขอบคุณในคำเชิญ และยินดีที่จะเดินทางไปเยือนประเทศคูเวต
ตามคำเชิญของประธานสภาคูเวตในโอกาสต่อไป
= ให้การรับรอง
วันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ให้การรับรอง นายเคนไซ มิโซเตะ ประธานคณะกรรมาธิการ
กฎระเบียบและการบริหารของวุฒิสภาญี่ปุ่น และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ในฐานะแขกของวุฒิสภา ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑
= โครงการพระราชดำริ
จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม
ราษฎรบ้านเหล่ายาว หมู่ที่ ๔ ตำบลเสริม อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ในปี ๒๕๒๗ และทรงทราบว่า
ยังมีราษฎรอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านแม่ต๋ำ ราษฎรยากจนมาก ไม่มีอาชีพแน่นอน ลักษณะ
ภูมิประเทศเป็นภูเขา มีพื้นที่ทำกินน้อย ส่วนใหญ่ราษฎรดำรงชีพด้วยการตัดไม้ เลื่อยไม้ ล่าสัตว์ และ
หาของป่าขาย ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพหมู่บ้านแม่ต๋ำทันที จากสภาพความเป็นอยู่ของ
ราษฎรและสภาพแวดล้อม จึงได้ทรงโปรดให้โครงการศิลปาชีพพิเศษเข้าช่วยเหลือราษฎร
บ้านแม่ต๋ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้และอาชีพที่สุจริตให้แก่ราษฎร
การจัดตั้งโครงการศิลปาชีพพิเศษบ้านแม่ต๋ำ ได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ของ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แต่เนื่องจากการพัฒนาอาชีพเพื่อขจัดปัญหาความยากจน
ของราษฎรเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถขจัดปัญหาความยากจนให้หมดได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนา
สิ่งต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ การรักษาทรัพยากรป่าไม้ มิให้ราษฎรได้เข้าไปบุกรุกทำลายป่า
ตลอดจนให้ราษฎรมีความรับผิดชอบและช่วยกันดูแลทรัพยากรป่าไม้ต่อไป
โครงการศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ นอกจากส่งเสริมเครื่องปั้นดินเผา งานแกะสลัก
งานทอผ้าแล้ว ยังมีโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านแม่ต๋ำ เพื่อให้เด็กมีอาหารกลางวัน
รับประทานอย่างสมบูรณ์ โครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนแม่ต๋ำเพื่อสนับสนุนการศึกษาและกิจกรรมต่าง ๆ
สำหรับการพัฒนาด้านเกษตรกรรม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจัด
ให้มีการดำเนินงานกิจกรรมฟาร์มตัวอย่าง พัฒนาการเกษตรในพื้นที่แปลงสาธิตการเกษตร ในพื้นที่ประมาณ
๑๒๐ ไร่ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารให้ประเทศไทย โดยปลูกส้มโอ มะละกอ กล้วย
ฝรั่งพันธุ์แป้นสีทอง กลมสาลี่ และชมพู่พันธุ์สายน้ำผึ้ง พันธุ์ทูลเกล้า ปลูกผักอนามัยปลอดสารเคมี
ปลูกพืชแซมระหว่างต้น ระหว่างแถว ตลอดจนกิจกรรมประมง เลี้ยงปลากินพืช การเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ
เช่น ไก่สามสายพันธุ์ เป็ดเทศ นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังเปิดการฝึกอบรมงานด้านการเกษตร
ให้แก่ราษฎร ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
นอกจากการพัฒนาด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังส่งเสริมให้ปลูกป่าเสริมธรรมชาติตาม
แนวพระราชดำริ และป้องกันการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ การป้องกันไฟป่า เพื่อกระตุ้นให้ราษฎรเกิด
จิตสำนึกร่วมรักษาทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำโครงการชุดออกลาดตระเวน
เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ในพื้นที่โครงการด้วย
นางแก้วดี แก้วมา สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำกล่าวว่า ชาวบ้านแม่ต๋ำทุกคน
ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่
ของพวกเขาดีขึ้น พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมชาวบ้านทุกปี มีพระราชดำรัสว่า ภูมิใจที่
ชาวบ้านที่นี่ตั้งใจฝึกอาชีพ และจะได้นำความรู้นี้ไปสืบสานและเผยแพร่ให้ลูกหลานต่อไป
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
อยู่ห่างจากจังหวัดลำปาง เป็นระยะทาง ๖๕ กิโลเมตร ศูนย์ศิลปาชีพแห่งนี้ได้ช่วยพลิกชีวิตราษฎรในชนบท
สร้างรายได้ และช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น
งานศิลปาชีพแต่ละสาขา ล้วนเกิดจากพระราชดำริและพระวิริยะอุตสาหะทั้งสิ้น
ทุกครั้งที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ ภูมิภาคต่าง ๆ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม
และดูแลทุกข์สุขของราษฎรมิให้ขาด ทรงใช้เวลาทอดพระเนตรผลงานฝีมือของชาวบ้านครั้งละนาน ๆ
ทรงเข้าพระทัยและพระราชทานกำลังใจพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ โดยมีพระราโชบายว่า
ให้ทำตามความสามารถที่มีอยู่ไม่ไปเร่งรัดในเรื่องคุณภาพมากนัก ต่อเมื่อถึงเวลาสมควรจึงจะ
ดูแลในเรื่องนี้ต่อไป และนอกจากจะทรงบริหารงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ยังทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เกิดความนิยมในผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพให้ประชาชน
ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เห็นความงดงามที่มีคุณค่า และอุดหนุนงานฝีมือเหล่านั้น โดยจะทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพไปแสดงในงานทั้งภายในประเทศ
เช่น งานศิลป์แผ่นดิน งานสืบสานสมบัติศิลป์งานรังสรรค์ ปั้นแต่ง และงานศิลปาชีพในต่างประเทศ
เช่น ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนั้นยังเปิดจำหน่ายเป็นการกุศล
ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา ในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งเปิดร้านจิตรลดาอีกหลายสาขา อาทิ
ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวิมานเมฆ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานกรุงเทพฯ
ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากฝีมือราษฎรในโครงการศิลปาชีพแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
= การสัมมนาเรื่อง "ประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา"
คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการสัมมนาในหัวข้อ
"ประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา" เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาในช่วงรอยต่อ
ของการปฏิรูป การศึกษา และทราบถึงความคิดเห็นความเข้าใจของบุคลากรทางการศึกษา
ประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ในปัญหาของครูกับการปฏิรูปการศึกษา และเยี่ยมเยียนคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง
จะได้นำผลที่ได้มาเป็นข้อมูลและแนวทางในการทำงานของคณะกรรมาธิการ ในวันอังคารที่ ๒๘
กันยายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๘.๐๐-๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ หอประชุมโรงเรียนกำแพงวิทยา
อำเภอละงู จังหวัดสตูล
= การสัมมนาเรื่อง "โรดแม็ป แรงงานไทย ยุคไฮ-เทค"
ปัจจุบันปัญหาแรงงานอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และอิทธิพลทางธุรกิจจาก
ต่างประเทศ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมทางด้านอุตสาหกรรมและแรงงานของประเทศเปลี่ยนแปลงไป
อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความเป็นอยู่ของกำลังแรงงานของประเทศไทย
จำนวน ๓๕ ล้านคน เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จึงได้จัด
การสัมมนา เรื่อง "โรดแม็ป แรงงานไทย ยุคไฮ-เทค" ขึ้น ในวันจันทร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท (ประตูน้ำ) กรุงเทพฯ
เพื่อระดมสมองจากลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ในการวิพากษ์ปัญหาแรงงานในปัจจุบัน และรวบรวม
ความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงาน เพื่อหาทางออกในอนาคต ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีนายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประธานเปิดงาน นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายหมู่ โดยนายไสว พรามณี ประธาน
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปลัดกระทรวง
แรงงาน นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสถาพร มณีรัตน์
กรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ