สาร ส.ส. ฉบับที่ ๙๐ วันที่ ๒๗ กันยายน - ๓ ตุลาคม ๒๕๔๗ (ต่อ)

ข่าวการเมือง Monday September 27, 2004 09:01 —รัฐสภา

=   การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๔๐ นาฬิกา โดยมีนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ได้ขอหารือในเรื่องต่าง ๆ แล้ว เมื่อครบองค์ประชุม ประธานได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. รับทราบเรื่องนายกรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไว้
พิจารณาให้คำรับรองจำนวน ๒ เรื่อง คือ
๑.๑ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอ่างทอง พ.ศ. …. ซึ่ง พลตำรวจโท
วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นผู้เสนอ
๑.๒ ร่างพระราชบัญญัติคนพิการ พ.ศ. …. ซึ่ง นายถาวร เสนเนียม กับคณะ เป็นผู้เสนอ
๒. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและ
วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
๓. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้พิจารณาและรับทราบรายงาน จำนวน ๒ ฉบับ คือ
๓.๑ รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการ
ฟอกเงิน ประจำปี ๒๕๔๔ และประจำปี ๒๕๔๕
๓.๒ รายงานประจำปี ๒๕๔๕ ของสถาบันพระปกเกล้า
๔. รับทราบเรื่อง นายไชยยศ จิรเมธากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต
เลือกตั้ง จังหวัดอุดรธานี พรรคประชาธิปัตย์ ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๗ ดังนั้นสมาชิกภาพนายไชยยศ จิรเมธากร จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๑๘ (๘) ปัจจุบันมีสมาชิกเหลือจำนวน ๔๕๓ คน
ที่ประชุมรับทราบ
๓. รับรองรายงานการประชุม
ประธานการประชุมได้เสนอให้ที่ประชุม
- รับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔
ครั้งที่ ๑๖ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๗ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๘ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒๒ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒๓ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒๔ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒๕ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว ตามที่เสนอ
จากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สมาชิกได้เสนอให้เลื่อนระเบียบวาระต่าง ๆ ขึ้นมา
พิจารณาตาม ลำดับดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี
เป็นผู้เสนอ และเนื่องจากมีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร
พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่ง คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบให้รวมพิจารณาในคราวเดียวกัน ตามที่ประธาน
การประชุมเสนอ
จากนั้น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงว่า โดยที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้ง องค์กรร่วม เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และในความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซียว่าด้วย ธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจและความตกลงดังกล่าวในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจทางศุลกากรจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจและความตกลงดังกล่าวในเรื่องการเรียกเก็บอากรศุลกากรจึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสมาชิกได้อภิปรายและตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายทะเลได้มีการกำหนดพื้นไหล่ทวีปซึ่งมีพื้นที่จากฝั่ง ออกไป ๑๒ ไมล์ทะเลและมีการกำหนดพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อจากพื้นที่ไหล่ทวีปไปอีก ๑๒ ไมล์ทะเลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการกำหนดให้มีพื้นที่ที่เรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วมกัน อาจทำให้เกิดการทับซ้อนของพื้นที่และขัดกับหลักของกฎหมายได้ จากนั้นได้มีสมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ยังไม่ ครอบคลุมถึงพื้นที่ซึ่งเป็นเขตพัฒนาร่วมกัน ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จะมีการนำน้ำมันปิโตรเลียมและ ก๊าซธรรมชาติ จากพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ ดังนั้นจึงต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ครอบคลุมเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย และเพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร เข้าประเทศได้ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ตอบ ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะไม่ขัดกับหลักกฎหมายทะเลแน่นอน เนื่องจากในการกำหนดเขตพื้นที่พัฒนาร่วมกันนั้น อยู่ไกลกว่าเขตพื้นที่ต่อเนื่องออกไป และในต้นปี ๒๕๔๘ จะมีการผลิต ก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมกันและจะผลิตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะเป็นประโยชนร่วมกัน ทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย รวมทั้งทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการจัดเก็บค่าภาคหลวง และการ จัดเก็บอากรเพิ่มขึ้นด้วย
หลังจากอภิปรายพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๖๔ เสียง ให้รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ไว้พิจารณาต่อไป และตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๕๔ เสียง ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ไว้พิจารณาต่อไป และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
๒. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการ ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
หลังจากกรรมาธิการร่วมกันได้แถลงต่อที่ประชุมแล้ว ได้มีสมาชิกอภิปรายสนับสนุน คณะกรรมาธิการร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ว่า เดิมมีการกำหนดให้นักศึกษาออกจากสถานศึกษา ถ้ามีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเรียนได้ รวมถึงเหตุจากความยากจนด้วย โดยเรื่องนี้คณะกรรมาธิการร่วมกันได้แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดเป็นข้อห้ามไว้ว่า สถาบันการศึกษาจะอ้างเหตุแห่งการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการให้นักศึกษาผู้นั้นออกจากการศึกษาไม่ได้ เรื่องกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันได้มี
มติกำหนดให้ตัวแทนศิษย์เก่าคนใดคนหนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ รวมทั้งในเรื่องการกำหนดให้มี
สภาคณาจารย์และข้าราชการ และกรรมการส่งเสริมสถาบันการศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สถาบันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้แล้ว ได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๖๖ เสียง เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการร่วมกันได้ตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาที่ ขาดแคลนทุนทรัพย์และเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้แก่สถาบันการศึกษาอย่างเพียงพอ ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๖๔ เสียง เพื่อให้ส่งข้อสังเกตดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีด้วย
๓. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี) ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
หลังจากกรรมาธิการร่วมกันได้แถลงต่อที่ประชุมแล้วได้มีสมาชิกอภิปรายว่า การแก้ไขเพิ่มเติมโดยมีการลดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีลง อาจทำให้ลูกหนี้ไม่พยายามชำระหนี้เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมต่ำ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นภาระของรัฐด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีนั้นสูงกว่าค่าธรรมเนียมที่ได้รับอีกด้วย หลังจากที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้เสร็จแล้วได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี) ด้วยคะแนนเสียง ๑๖๖ เสียง จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๗๕ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราช-อาณาจักรไทย
๔. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจ
ชุมชน พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา๑๗๕
มีสมาชิกได้สมาชิกได้อภิปรายว่า มีเพียงประเด็นเดียวที่สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นต่างจากวุฒิสภา คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยร่างฯ ของสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดห้ามข้าราชการการเมืองทุกระดับตลอดจนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิก วุฒิสภาเป็นกรรมการ แต่ไม่ได้ห้ามผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่นเข้าเป็นกรรมการชุดดังกล่าวนี้ แต่วุฒิสภากำหนดห้ามผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่นเป็นกรรมการด้วยนั้น อาจขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของคณะกรรมการชุดนี้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาและร่วมบริหารในกองทุนต่าง ๆ ตลอดจนนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลมอบให้ชุมชนไปดำเนินการ จึงควรตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้และได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ด้วยคะแนน ๑๘๓ เสียง โดยมีมติกำหนดจำนวนบุคคลที่จะประกอบกันเป็นกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จำนวน ๒๔ คน โดยสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑๒ คน วุฒิสภา ๑๒ คน
๕. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า เรื่องของคำนิยาม ที่ได้มีการแก้ไขกำหนดคำนิยามของคำว่า วิทยาเขต เพิ่มเติมเข้ามานั้น ควรตัดออก เนื่องจากมีการให้คำอธิบายไว้ชัดเจนในมาตราต่าง ๆ อยู่แล้ว เรื่องของการกำหนดให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้นชัดเจนแล้วควรคงไว้ตามร่างเดิมและเรื่องการรับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งทำความตกลงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการนั้นมีการเขียนครอบคลุมไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมข้อความดังกล่าวเข้ามาอีกควรตัดออกและคงไว้ตามร่างเดิม ซึ่งเรื่องดังกล่าวกรรมาธิการเห็นชอบด้วยกับที่สมาชิกได้อภิปราย เรื่องการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยนั้น ตามหลักปกติจะกำหนดแบ่งส่วนงานวิชาการเป็นหลัก แต่กฎหมายฉบับนี้กับแบ่งส่วนงานบริหารเป็นหลักแทน จึงขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ให้พิจารณาด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการ สรรหาส่วนหนึ่งที่ระบุว่าให้เลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งคนจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาเสนอจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการสรรหาทำให้เกิดความล่าช้าได้ และควรมีตัวแทนของนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย เรื่องประธานสภาวิชาการนั้นไม่ควรที่จะกำหนดให้อธิการบดีเป็นประธานสภา วิชาการโดยตำแหน่ง เพื่อความเป็นอิสระในการดำเนินงานทางวิชาการและควรกำหนดให้กรรมการ และนายกสภามหาวิทยาลัยดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน ๒ วาระเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลซึ่งมีแนวความคิดใหม่ ๆ เข้ามาบริหารมหาวิทยาลัย เรื่องคุณสมบัติของอธิการบดีเหตุใดจึงลดจำนวนปีในเรื่องประสบการณ์ในการบริหารงานของผู้ที่จบปริญญาเอกให้น้อยลง ซึ่งกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกัน ชี้แจงว่า ประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามสมาชิกได้ตั้งข้อสังเกตไว้นั้น จะไม่ทำให้เกิดความล่าช้าอย่างแน่นอน เนื่องจากเมื่อคณะกรรมการอุดมศึกษาได้กำหนดบัญชีรายชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิแล้วคณะกรรมการอุดมศึกษาจะเป็นผู้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิและเสนอไปที่มหาวิทยาลัย โดยตรงไม่ต้องส่งให้รัฐมนตรีพิจารณาอีก เรื่องที่มีการขอให้นักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่เคยมีมหาวิทยาลัยใดทำมาก่อน เรื่องที่กำหนดให้อธิการบดีเป็นประธานสภาวิชาการโดยตำแหน่งนั้น เนื่องจากว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยบูรพาจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยของรัฐอีกต่อไปและการกำหนดให้มีประธานสภาวิชาการแยกต่างหากจะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานได้หากการประสานงานระหว่างอธิการบดีและประธานสภาวิชาการไม่ดีพอ จึงถือเป็นความจำเป็นที่ต้องให้อธิการบดีเป็นประธานสภาวิชาการโดยตำแหน่ง เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยนั้น การที่จะกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๒ วาระนั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะทำ
ให้เกิดปัญหาในการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ เรื่องที่ลดจำนวนปีในเรื่อง ประสบการณ์ในการบริหารงานนั้น เนื่องจากการศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้นใช้เวลานานและ หากกำหนดประสบการณ์ในการบริหารงานไว้สูงแล้ว เกรงจะทำให้การสรรหาบุคคลเป็นไปโดยลำบาก เมื่อสมาชิกได้อภิปรายและกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๔๖ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
๖. ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบทั้งฉบับ โดยมีสมาชิกอภิปรายในมาตรา ๓ ซึ่งเป็นการให้คำจำกัดความ "การอาชีวศึกษา" นั้น ควรมีการระบุคำว่า " ระดับกึ่งฝีมือ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี" หรือไม่ ซึ่งสมาชิกฯ อภิปรายเสนอความเห็นอย่างหลากหลาย เนื่องจากตัวชี้วัดความเป็น ฝีมือระดับต่าง ๆ กระทำได้ค่อนข้างยาก แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากยังคงยืนยันตามร่างเดิม
จากนั้น เป็นการพิจารณาในมาตรา ๑๑ เกี่ยวกับการแบ่งส่วนราชการภายในสถาบันการศึกษาที่มีการกำหนดชื่อ ตำแหน่ง คล้ายคลึงกันหลายส่วน อาทิ ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการวิทยาลัย ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการศูนย์ เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนต่อสายการบริหารและการปฏิบัติ โดยเฉพาะการเรียกชื่อตำแหน่ง "ผู้อำนวยการ" ที่ต้องมีคำต่อท้ายที่ยาวเกินไป และในหลักการทางกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ยกระดับการศึกษาทุกระดับให้สูงขึ้น โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาจึงควรกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสถาบันเป็น "อธิการบดี" เนื่องจากเป็นสถาบันที่ จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี เหมือนเป็นเช่นที่อื่น ๆ นอกจากนี้เหตุผลด้านจิตวิทยาในการสร้างขวัญ กำลังใจ และเป็นเกียรติแก่นักศึกษาอาชีวศึกษา รวมทั้งสามารถชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างอาชีวศึกษากับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาอย่างชัดเจนด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ กรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่าการจัดโครงสร้างการอาชีวศึกษาตามร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการวางโครงสร้างรูปแบบพิเศษ เนื่องจากจะมีบางสถาบันของการอาชีวศึกษาที่จัดการสอนไม่ถึงระดับปริญญา เช่น อาชีวศึกษาเอกชนบางแห่ง นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาได้กำหนดตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดีไว้เฉพาะสถาบันที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งสถาบันอาชีวศึกษาตามกฎหมายนี้ ยังยืนยันไม่ได้ว่าจะสามารถจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงควรกำหนดเช่นนี้ไปก่อน ซึ่งกรรมาธิการได้ยืนยันตามร่างเดิม ต่อมาประชุมมีมติเห็นด้วยกับการพิจารณามาตรานี้ของ กรรมาธิการเสียงข้างมาก ๒๖๔ เสียง นอกจากนี้กรรมาธิการฯ ได้ตัดสาระร่างกฎหมายในบางมาตราตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายดังนี้ คือ
มาตรา ๓๗/๑ เกี่ยวกับความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระหว่างสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชน และสถานประกอบการ เนื่องจากสมาชิกเห็นว่ามีการกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและแนวนโยบายแห่งรัฐอยู่แล้ว
มาตรา ๓๙ ในข้อความ "จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาชีวศึกษาและกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรของการศึกษาอาชีวศึกษาโดยเฉพาะ" นอกจากนี้ ยังมีการปรับ ถ้อยคำในมาตรา ๓๗/๔ วรรค ๒ เป็น "การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี สำหรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามที่ประมวลกฎหมายรัษฎากรกำหนด" จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับการพิจารณาของ กรรมาธิการด้วยคะแนน ๒๗๐ เสียง และเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งจะได้ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ปิดประชุมเวลา ๑๙.๐๕ นาฬิกา
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา โดยนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธาน
การประชุมได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบวาระ คือ ระเบียบวาระที่ ๑ กระทู้ถาม ไม่มี
และระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม ดังนี้
- รับทราบผลการดำเนินงานตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยอภิปรายถึงการใช้ งบกลาง ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาแผนงาน โครงการต่าง ๆ จากเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จำนวน ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท นั้น มีโครงการที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของ สศช. แต่อนุมัติโดยนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จำนวน ๒๐ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๗๒ ของงบประมาณทั้งหมด นอกจากนี้ในงบประมาณอุดหนุนเพื่อการพัฒนาองค์กรส่วนท้องถิ่นก็ยังคงกระจุกตัว ไม่ได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงตามที่คณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้รายงานถึงผลการดำเนินการตามข้อสังเกตแต่อย่างใด
จากนั้น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้อภิปรายชี้แจงว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับข้อสังเกตต่าง ๆ และพยายามจะดำเนินการตามข้อสังเกตนั้น ๆ ซึ่ง บางเรื่องก็ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากติดขัดในเรื่องกฎระเบียบ และบางเรื่องต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลก็ได้พิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขแล้ว สำหรับในกรณีของการอนุมัติใช้งบกลางใน ๒๐ โครงการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ทุกประการ โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้รับเรื่องของหน่วยงานที่เสนอขอ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดก่อน ทั้งนี้ รัฐมนตรีเจ้าสังกัดจะเสนอเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่า โครงการใดสามารถเสนอตรงต่อรัฐมนตรีได้เลย หรือโครงการใดต้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีสามารถอนุมัติได้โดยตรง และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ซึ่งก็ได้อนุมัติไปเพียง ๗๒๙ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๗ เท่านั้น ทั้งนี้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีทุกคนก็อนุมัติในรูปแบบนี้
ในส่วนข้อสังเกตของการกระจายงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รัฐบาลได้นำข้อสังเกตดังกล่าวไปประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขแล้ว ซึ่งก็ได้หลักเกณฑ์ ในการกระจายงบประมาณว่า ทุกจังหวัดจะต้องได้รับงบประมาณในส่วนนี้ โดยพิจารณาตามสัดส่วนของจำนวนประชากรเป็นหลัก สำหรับการตรวจสอบงบดุลบัญชีของรัฐวิสาหกิจนั้นจะมีการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในการใช้ งบประมาณ
พักการประชุมเวลา ๑๓.๑๕ นาฬิกา
ต่อจากนั้นในเวลา ๑๓.๕๕ นาฬิกา ได้มีการพิจารณากระทู้ต่าง ๆ คือ
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการคอรัปชั่นและแนวทางการแก้ไขของรัฐบาล ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ได้ตอบกระทู้ว่า ๓ ปี ๙ เดือนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนดูแลเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง และได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งได้แก้ไขไปได้หลายโครงการแล้ว เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านและเรือขุด เป็นต้น ส่วนกลไกในการปราบปรามการทุจริตนั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับภาระมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงได้จัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) ขึ้นมา เพื่อรับผิดชอบคดีที่เกี่ยวกับข้าราชการ ทำให้เหลือเพียง คดีใหญ่ และ ปปช. สามารถเลือกคดีมาดำเนินการได้ และรัฐบาลได้นำกฎหมายของสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมในการพิจารณาการปราบปรามการทุจริตด้วย
๒. กระทู้ถามสดของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง กรณีการยิงข้าราชการระดับสูงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร) ได้ตอบกระทู้ว่า จากการที่สื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานว่า ผู้ใหญ่ในกองทัพไทยได้เพิ่มกำลังทหารอีก ๖ กองพัน นั้น ในเรื่องดังกล่าวนี้ขอชี้แจงว่า ไม่เคยมีการเพิ่มกองกำลังทหารลงไปในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีกำลัง ไม่ถึง ๕,๐๐๐ นาย และใช้กำลังทุกนายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการสลับปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทุกคน ได้พักผ่อน เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ต้องยืดเยื้อ จึงต้องใช้กำลังอย่างประณีตที่สุด เพราะการใช้ กองกำลังมากต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ส่วนเรื่องความปลอดภัยของประชาชนและ ข้าราชการ ได้จัดส่งหน่วยลาดตระเวนให้ความคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนมาโดยตลอด นอกจากนี้การปฏิบัติในพื้นที่อันตรายจะให้ใช้รถฮัมวีทำการลาดตระเวน เพราะมีความปลอดภัยสูง และมีโอกาสที่จะทำลายกองทัพฝ่ายตรงข้ามได้มาก และสถานการณ์ภาคใต้ขณะนี้ดีขึ้นมากแล้ว แม้จะมีเหตุการณ์รายวันก็ตาม และขอยืนยันว่าในทางปฏิบัติรัฐบาลจะยึดหลักสันติวิธีเป็นหลัก และสิ่งที่ ทำได้ในขณะนี้คือ ต้องเปลี่ยนแนวคิด อุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดน เพราะเรื่องนี้ถือเป็น อุปสรรคใหญ่ และมั่นใจว่าถ้าสามารถเปลี่ยนแนวความคิดและล้างแนวความคิดเดิมได้ จะสามารถ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ จึงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแนวความคิดและเปลี่ยนคนที่เชื่อในเรื่องคำสอน
๓. กระทู้ถามสดของนางสาวอรุณี ชำนาญยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายประชา มาลีนนท์) ได้ตอบกระทู้ว่า ในอดีตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการทุจริตกันเป็นอย่างมาก และกระทรวงมหาดไทยได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดไปหลายรายแล้วเช่นกัน ส่วนกรณีการทุจริตคอรัปชั่นนั้น กระทรวงมหาดไทย โดย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการวางมาตรการในการป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมยอมราคา ได้มีการกำหนดมาตรการไว้
- กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดสถานที่ที่เป็นกลางในการยื่นซองประกวดราคา และให้สถานที่นั้นเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารในการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ
- กำหนดมาตรการให้มีการตรวจสอบเอกสารประกวดราคาว่า เป็นไปตามระเบียบ ที่กำหนดไว้หรือไม่ และข้อกำหนดใดที่มีลักษณะส่อไปในทางทุจริตหรือกีดกัน การแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ในกรณีที่ไม่ถูกต้องให้จังหวัดแจ้งองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ ดำเนินการแก้ไข หรือกรณีที่ทุจริตคอรัปชั่นอย่างชัดเจนสามารถ ยกเลิกการประกวดราคาได้
- กำหนดมาตรการให้มีการเผยแพร่เอกสารในเว็บไซต์ของจังหวัด เพื่อให้มีการ แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริม การปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังจะออกกฎระเบียบ เพื่อกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยวางมาตรการ กำหนดราคากลางของวัสดุก่อสร้างตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ราคา ครุภัณฑ์ตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ สำนักงบประมาณ
ในส่วนของการร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นหรือทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น สามารถร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมายังจังหวัดได้ และได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการปฏิบัติ โดยให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการสอบสวน และใช้เวลาพิจารณากำหนดภายใน ๓๐ วัน
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติก่อนการเลือกตั้ง การจัดเลี้ยง การจัดสัมมนา ต่าง ๆ นั้น ควรพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป เพราะถ้าเป็นการดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องอันควร ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ รวมทั้งได้มีการสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งให้ประพฤติและวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และมิให้กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สำหรับการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๘ เรื่อง
๑. กระทู้ถามของนายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การใช้พื้นที่ฝึกของศูนย์ฝึกทางยุทธวิธี กองทัพบก ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย ติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๓
๒. กระทู้ถามของนายบุญเติม จันทะวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจาก ผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
๓. กระทู้ถามของนายวินัย เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การแก้ปัญหาผู้เลี้ยงกุ้งร่วมกับบริษัทแอควาสตาร์ จำกัด ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเนวิน ชิดชอบ) ได้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลได้ใช้กลไกของการฟื้นฟูเพื่อขอผ่อนผันและหาช่องทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่เกษตรกร โดยเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป และในส่วนของธนาคาร เอเซียนั้น ในเบื้องต้นยินดีลดหนี้ให้กับเกษตรกร ๔๐% โดยคิดมูลค่าคงเหลือ ๖๐% และขยายเวลาการบังคับหนี้ขายทอดตลาดออกไปจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องเกณฑ์การชำระหนี้
สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่เกลี้ยงกุ้งนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผลผลิตหรือราคาตลาด เพราะรัฐบาลได้ประกันราคารับซื้อกุ้งไว้ แต่ปัญหาอยู่ที่การจะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูและ ช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้กลับมามีอาชีพ มีรายได้ และมีเงินเพียงพอต่อการชำระหนี้ให้กับสถาบัน การเงิน และเพื่อต้องการให้สถาบันการเงินเกิดความเชื่อถือ ดังนั้นปัญหาหลักจึงอยู่ที่วินัยของเกษตรกรที่จะเลี้ยงกุ้ง เพราะถ้าเลี้ยงกุ้งตามสุขอนามัย ถูกวิธี ที่กรมประมงหรือส่วนราชการแนะนำ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้
๔. กระทู้ถามของนายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี
พรรคชาติพัฒนา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การนำสถาบันพระพุทธศาสนาเข้าแก้ปัญหายาเสพติด ที่ระบาดในกลุ่มเยาวชนของชาติทั่วประเทศ ถามนายกรัฐมนตรี
๕. กระทู้ถามของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง เด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทและตีกัน ถามนายกรัฐมนตรี
๖. กระทู้ถามของนายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชี
รายชื่อ พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ถามนายกรัฐมนตรี
ซึ่งกระทู้ถามทั่วไปทั้ง ๓ ฉบับนี้ เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย ติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๓
๗. กระทู้ถามของพันตำรวจโท สมชาย เพศประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จังหวัดนครราชสีมา พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการอนุญาตให้เปิดสถานบริการโบว์ลิ่ง ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
๘. กระทู้ถามของนายเชน เทือกสุบรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาของอาคารสูงที่ก่อสร้างไม่เสร็จถูกทิ้งร้าง ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
ปิดประชุมเวลา ๑๕.๔๐ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ