เอกชนจี้รัฐเคลียร์ตั้งกบช. ต้านผันเม็ดเงินลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 14, 2005 15:03 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ภาคเอกชนติงนโยบายการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติของรัฐบาล ระบุต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และมีทางเลือกให้ประชาชน หวั่นรัฐระดมทุนโปะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่อาจจะผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง พร้อมตั้งข้อสังเกตเงินสมทบ 6% สูงเกินไป อาจสร้างภาระให้แก่คนไทยในช่วงที่ค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว ด้านตัวเลขเงินออมภาคครัวเรือน ธปท. สิ้นไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเพียง 0.27% คนรุ่นใหม่หันไปทำประกันมากกว่าออมเงินในแบงก์ ขณะที่ 2 แบงก์ใหญ่ "กรุงไทย-ไทยพาณิชย์" ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้เท่ากับแบงก์กรุงเทพแล้ว
นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง กรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการการออมเงินภาคบังคับ ด้วยการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนมากนัก แต่หากจะดำเนินการจะต้องเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเดิมและต้องไม่สร้างภาระให้กับประชาชนจนเกินไป โดยเฉพาะประเด็นที่กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างนำส่งเงินสมทบ 6% และรัฐบาลอีก 6% ถือเป็นตัวเลขที่สูง และสร้างภาระให้ประชาชนในภาวะที่ครองชีพที่สูงขึ้
" ขณะนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นความสมัครใจอยู่ หากจะบังคับก็ถือว่าดีในจุดนี้ ซึ่งปัจจุบันนายจ้างจะมีการสมทบขั้นต่ำ 2% และลูกจ้าง 2% แล้วแต่กำลังของแต่ละบริษัท หลักการการเพิ่มเงินออมให้ประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องพิจารณารายละเอียดทางปฏิบัติด้วย และควรเสนอให้เป็นทางเลือกว่าจะทำแบบเดิมหรือแบบใหม่ เพราะศักยภาพของบริษัทและพนักงานแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน" นายเกียรติพงษ์ กล่าว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ กบช. จะต้องคำนึงมี 2 ปัจจัย คือ 1. ต้องไม่ทำให้เป็นต้นทุนทั้งภาคเอกชนและพนักงาน 2. ต้องมีรายละเอียดของโครงการที่ชัดเจนและโปร่งใส โดยเฉพาะการจ่ายสมทบของภาครัฐบาล 6% นั้นจ่ายจริงหรือไม่ และเมื่อทำไปแล้วประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร เพราะหากพิจารณาระบบประกันสังคมของไทยขณะนี้เองลูกจ้างยังได้รับบริการที่ไม่ดีนัก
นายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาล หากจะมีการบังคับให้เอกชนทุกแห่งจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนปัจจุบันที่ทำโดยความสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมในอนาคต แต่ไม่เห็นด้วยหากจุดประสงค์ของการตั้งกบช.เพื่อต้องการระดมทุนไปใช้ในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์)
"ปัจจุบันเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม แต่เป็นภาคสมัครใจ ถ้ารัฐบาลมีมาตรการบังคับก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นด้วยถ้าจะดึงจุดนี้ไปรวมกับกบช. เพราะควรจะมีทางเลือกและเป็นการเปิดเสรีจะดีกว่ากล่าวคือ ใครจะเข้ากบช.ก็เข้าไป ใครไม่เข้าก็สามารถให้สถาบันการเงินใดมาบริหารเองได้" นายอาชว์ กล่าว
ส่วนประเด็นการนำส่งเงินสมทบ 6% นั้น ถือเป็นอัตราที่สูงเกินไป เพราะประเภทธุรกิจมีทั้งตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และอัตราเงินเดือนของพนักงานก็ต่างกันพอสมควร หากเป็นภาคบังคับจริงน่าจะมีทางเลือกที่มากกว่านี้
นายสมศักดิ์ โกสัยสุข อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า หลักการคิดที่จะทำให้คนไทยมีเงินออมเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันชีวิตนั้นเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่วิธีการจัดการนั้นต้องชัดเจนและโปร่งใส โดยเฉพาะประเด็นที่จะดึงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมเป็นกบช.นั้นมีจุดประสงค์สิ่งใดกันแน่ เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีวงเงินสูงกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว หากทำขึ้นจะรวมกันลักษณะใดและประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร
"ขณะนี้แต่ละบริษัทมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว แต่มีหลายบริษัทที่อยู่นอกระบบ หากดึงเข้าระบบทั้งหมดก็ควรจะมีทางเลือกที่เหมาะสมให้ เพราะตัวอย่างกองทุนประกันสังคมวันนี้เองก็ยังไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีนัก เช่น การผูกติดกับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลต่างๆ แต่มีการบริการที่ต่างกับปกติ อย่างนี้ต้องแก้วิธีคิดใหม่ คิดดีแต่ปฏิบัติไม่ได้แบบนี้น่ากลัวว่าประชาชนจะได้อะไรที่เป็นประโยชน์แท้จริงหรือไม่" นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้านตัวเลขเงินออมภาคครัวเรือน ณ ไตรมาส 2 ปี 2548 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ประชาชนไทยมียอดการออมเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสิ้นเดือนมิถนายนที่ผ่านมามียอดเงินรับฝากจากภาครัวเรือนทั้งสิ้น5,418,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,880 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.27% เทียบกับไตรมาสก่อนที่มียอดการฝากเงินจากภาคครัวเรือนทั้งสิ้น 5,403,241 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดการฝากเงินของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุด คือ การทำประกันประเภทต่างๆ กับบริษัทประกัน ส่งผลให้ยอดคงค้างเงินฝากจากภาคครัวเรือนของสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 442,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,202 ล้านบาท หรือ 4.28% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีเงินรับฝากจากครัวเรือนทั้งสิ้น 424,783 ล้านบาท ขณะที่ยอดการฝากเงินจากภาคครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยลดลง 13,235 ล้านบาท หรือ 0.33% โดยมีเงินฝากจากภาคครัวเรือนสิ้นเดือนมิถุนายนที่ 3,970,272 ล้านบาท จาก 3,983,507 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปีนี้
ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มียอดเงินฝากภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 12,826 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 8.52% โดยมียอดเงินฝากในไตรมาสที่ 2 นี้ 163,309 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกมีเงินฝากจากภาคครัวเรือน 150,483 ล้านบาท ขณะที่ยอดการฝากเงินจากภาคครัวเรือนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีทั้งสิ้น 186,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,655 ล้านบาท หรือ 0.89% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มียอดเงินฝาก 185,025 ล้านบาท
สำหรับการรับฝากเงินจากภาคครัวเรือนของระบบบริษัทเงินทุน พบว่า สิ้นไตรมาสที่ 2 มีเงินรับฝากจากประชาน 151,515 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มียอดการรับฝากเงิน 144,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 7,002 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 4.48%(ตัดถึงตรงนี้)****
KTB-SCBขึ้นดบ.ฝาก-กู้เท่าBBL
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ปรับจาก 1.0% เป็น 1.5% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 1.0% เป็น 1.75% เงินฝากประจำ 12 เดือนจาก 1.25% เป็น 2.0% เงินฝากประจำ 24 เดือนจาก 1.75% เป็น 2.5% และเงินฝากประจำ 36 เดือน ปรับ 3.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR , MOR และ MRR อยู่ที่ 6.00%, 6.25% และ 6.50% ตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (14 ก.ย.) เป็นต้นไป
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำอีก 0.25-1.00% ต่อปี โดยเงินฝากประจำ 3 เดือน, 6 เดือน และ 12 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 2.00%, 2.25% และ 2.50% ตามลำดับ ขณะที่เงินฝากประจำ 24 เดือนอยู่ที่ 2.50% และเงินฝากประจำ 36 เดือน 3.25% พร้อมกันนี้ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 6.00% ดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 6.25% และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 6.50% ทั้งนี้มีผลตั้งแต่ 14 กันยายนเป็นต้นไป
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ