บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Wednesday September 29, 2004 09:54 —รัฐสภา

                            บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันจันทร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
และนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่
๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ
วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. ....
และร่างพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งวุฒิสภาได้ลงมติแก้ไขเพิ่มเติม
และในคราวประชุมเดียวกันที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๔ ฉบับดังกล่าวได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๑๗๕ (๓)
๒. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่
๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๔๕
ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและ
ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ ๑
และเรื่องด่วนที่ ๒ ขึ้นมาพิจารณาก่อนระเบียบวาระเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม เรื่อง
รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๔๔ และปี ๒๕๔๕ ของสำนักงานป้องกันและปราบปราม
การฟอกเงิน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
จากนั้น ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่
ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติ
เห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา และมีมติให้ตั้ง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน ๒๑ คน ประกอบด้วย
๑. นายจิโรจน์ โชติพันธุ์ ๒. นายชิต เจริญประเสริฐ
๓. พลตำรวจโท ชูชาติ ทัศนเสถียร ๔. นายทวีป ขวัญบุรี
๕. นายปราโมทย์ ไพชนม์ ๖. นายพร เพ็ญพาส
๗. นายพิชัย ขำเพชร ๘. นายวรวิทย์ เชื้อเพ็ชร์
๙. นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ๑๐. พลตรี สาคร กิจวิริยะ
๑๑. นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี ๑๒. นางสุนีย์ อินฉัตร
๑๓. นายสุริยน ภูมิรัตนประพิณ ๑๔. นายอุทัยพันธุ์ สงวนเสริมศรี
๑๕. นายวิทยา มะเสนา ๑๖. นายพา อักษรเสือ
๑๗. นายบุญญา หลีเหลด ๑๘. นายมนตรี สินทวิชัย
๑๙. นางมาลินี สุขเวชชวรกิจ ๒๐. นายทินกร นำบุญจิตต์
๒๑. นายรังสรรค์ กระจ่างตา
โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
๒. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว หลังจากคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน
ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ต่อจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและรับทราบรายงานผล
การปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๔๔ และปี ๒๕๔๕ ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ตามมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒
หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ) ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรายงานดังกล่าว
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการแทนตำแหน่งที่ว่าง
รวม ๒ คณะ ให้ที่ประชุมพิจารณา ประธานของที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ตามลำดับ ดังนี้
๑. ตั้งกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการ
อัยการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งนายนิรัตน์ อยู่ภักดี
เป็นกรรมาธิการแทนนางสาวอุษณีย์ ชิดชอบ ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
๒. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง
ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งนายสม ต๊ะยศ และนายลำพอง พิลาสมบัติ เป็นกรรมาธิการแทน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ และนายไสว พราหมณี ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
เลิกประชุมเวลา ๑๖.๓๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. ....
เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกัน
พิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ