ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2547
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2547 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 326 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2547
ในปี 2541 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2547 เท่ากับ 110.1 ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2547
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2547 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกันยายน 2547 ไม่เปลี่ยนแปลง
2.2 เดือนตุลาคม 2546 สูงขึ้นร้อยละ 3.5
2.3 เดือนมกราคม - ตุลาคม 2547 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2546 สูงขึ้นร้อยละ 2.6
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2547 เทียบกับเดือนกันยายน 2547 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อพิจารณารายหมวดของดัชนีราคา มีการเปลี่ยนแปลง คือดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.4
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ข้าวสารเจ้าหอมมะลิ ภาวะการค้า ยังค่อนข้างซบเซา
- ไก่สด ความต้องการบริโภคลดลงจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจ
- เนื้อสุกร ความต้องการบริโภคลดลงในช่วงเทศกาลกินเจ
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาแดง ปลาทู ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย และหอยแครง ไข่ไก่ ความต้องการบริโภคลดลง เนื่องจากมีเทศกาลกินเจ และเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา
- ผลไม้สด ได้แก่ ส้มเขียวหวาน เป็นช่วงฤดูกาล ผลผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า และมะม่วง ราคาลดลงด้วย
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ผักสด ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักคะน้า เห็ด ผักบุ้งจีน ผักชี ถั่วฝักยาว บวบ ฟักทอง มะนาว ต้นหอมและหัวผักกาดขาว ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.3
สินค้าและบริการสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ค่ากระแสไฟฟ้า คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดย อัตโนมัติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 5 สตางค์ต่อหน่วย
- ค่ารักษาพยาบาล ได้แก่ ค่าตรวจโรค และค่าห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชน
- ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ แชมพูสระผม น้ำปรุงหอม แป้งทาผิว กระดาษชำระและค่าแต่งผมสตรี
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน จากการที่รัฐบาลได้ปรับราคาน้ำมันขายปลีก สูงขึ้น 60 สตางค์ต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2547
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศปี 2547 ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ235 รายการ) คือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 91 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2547 เท่ากับ 104.9เมื่อเทียบกับ
4.1 เดือนกันยายน 2547 ไม่เปลี่ยนแปลง
4.2 เดือนตุลาคม 2546 สูงขึ้นร้อยละ 0.6
4.3 เดือนมกราคม - ตุลาคม 2547 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2546 สูงขึ้นร้อยละ 0.4
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์