การจัดทำแผนการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา (Roadmap for Integration of Priority Sectors) ตามแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2004 15:55 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้สรุปผลการประชุมกับผู้แทนภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดทำรายการสินค้าที่จะเร่งลดภาษีตามแผนการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขาของอาเซียน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 21-22 กันยายน 2547  ณ โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีนายภาษิต พุ่มชูศรี นักวิชาการพาณิชย์ 9 ชช  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ผลการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 
1. การเจรจา Roadmap สาขาสินค้า 9 สาขา (เกษตร/ ประมง/ ไม้/ ยาง/ สิ่งทอ/ยานยนต์/ อิเล็กทรอนิกส์/ เทคโนโลยีสารสนเทศ/ สาขาสุขภาพ)
1.1 การจัดทำรายการสินค้าที่ไม่พร้อมเร่งลดภาษี (Negative list) ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดทำรายการสินค้าที่ไม่พร้อมเร่งลดภาษี (Negative list) ให้เร็วขึ้นจากกรอบ AFTA เดิม 3 ปี จากเดิมปี 2010 เป็นปี 2007 สำหรับสมาชิกเดิม และปี 2015 เป็นปี 2012 สำหรับสมาชิกใหม่ (CLMV) ซึ่งที่ประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) มีมติให้กำหนดสัดส่วนจำนวนรายการสินค้าดังกล่าวโดยรวมเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด
ในชั้นนี้ เป็นที่ตกลงกันได้ว่า จำนวนรายการสินค้าทั้งหมดที่จะนำมาเร่งลดภาษีมีทั้งสิ้น 4,275 รายการใน 9 สาขาข้างต้น โดยที่ประชุมเห็นชอบที่จะไม่เพิ่มรายการสินค้าใหม่เข้ามา เว้นแต่จะเป็นรายการสินค้าที่ขาดหายไปจากรายการที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกำหนดเวลา ได้ขอให้แต่ละประเทศยื่นรายการสินค้ารอบสุดท้าย ภายในสิ้นเดือนกันยายน ศกนี้ โดยที่ประชุมเห็นว่า ภายหลังจากที่แต่ละประเทศส่งรายการ Negative list แล้วไม่ควรมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอีก ในส่วนของประเทศไทย ปรากฏตามเอกสารสรุปที่แนบ
1.2 มาตรการที่คาบเกี่ยวกับการดำเนินงานของทุกสาขา
- Logistics Services ที่ประชุมเห็นชอบให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่ง (STOM) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงคมนาคมของประเทศอาเซียนเป็นผู้พิจารณามาตรการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในหัวข้อนี้ อาทิ การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า การปรับปรุงเครือข่ายการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการขนส่ง และการส่งเสริมงานด้านพาณิชย์นาวีของอาเซียน เป็นต้น โดยให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสรุปผลมาตรการที่ได้จากการประชุมดังกล่าวต่อไป
1.3 มาตรการเฉพาะ (Specific issues)
- สาขาผลิตภัณฑ์ไม้ อินโดนีเซียพยายามผลักดันนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลให้ระบุมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมายไว้ใน Roadmap นี้ด้วย ในขณะที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน โดยที่ประชุมมีมติให้เสนอประเด็นดังกล่าวให้ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน (ASEAN Ministers of Agriculture and Forestry : AMAF) พิจารณาในการประชุมที่จะจัดขึ้นวันที่ 7 ตุลาคม 2547 เพื่อหาข้อสรุปต่อไป
- สาขาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ มาตรการในหัวข้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Device and Equipment) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความร่วมมือด้านการจัดทำมาตรฐานและการยอมรับร่วมกัน (MRA) ของผลิตภัณฑ์ในสาขานี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาเลเซียจึงรับที่จะเป็นประธานของคณะทำงานและจัดประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมต่อไป
2. การเจรจา Roadmap ด้านบริการ 2 สาขาที่ไทยเป็นประเทศผู้รับผิดชอบหลัก
2.1 สาขาท่องเที่ยว ที่ประชุมสามารถเจรจาหาข้อสรุปมาตรการต่างๆ ใน Roadmap สาขานี้ได้แล้ว โดยสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีส่วนสำคัญในการจัดทำแผนและจะเป็นผู้ปฏิบัติตามแผน ที่สำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางภายในอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาด เพื่อสนับสนุน ASEAN as a single tourism destination การส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว การจัดทำมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลากรในสาขานี้
2.2 สาขาการบิน การจัดทำ Roadmap สาขาการบินซึ่งยกร่างโดยคณะทำงานด้านการบิน (ASEAN Air Transport Working Group: ATWG) ภายใต้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านขนส่ง (STOM) ของอาเซียน และขณะนี้อยู่ระหว่างเวียนให้ประเทศสมาชิกพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2547 นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบว่า สาขาการบิน (Air Travel) นี้ ให้หมายความรวมทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงานในสาขาการขนส่งทางอากาศมากขึ้น
3. การลงนามความตกลงสำหรับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขา ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างกรอบความตกลง ASEAN Framework Agreement for the Integration of Priority Sectors ที่จะเสนอให้ผู้นำลงนาม และพิธีสาร (ความตกลงย่อย) สำหรับ Roadmap แต่ละสาขา ที่จะลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์
4. กำหนดการประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการประชุม Special SEOM ครั้งที่ 4 ในวันที่ 23 ตุลาคม 2547 ณ สปป.ลาว เพื่อยื่นรายการสินค้าที่จะลดภาษี เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสนอผู้นำในเดือนพฤศจิกายน 2547
5. การดำเนินงานของไทย
5.1 การจัดทำรายการสินค้าที่ไม่พร้อมเร่งลดภาษี (Negative list) ให้อยู่ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด (4,275 รายการ) นั้น ในเบื้องต้น มีรายการสินค้าที่ไม่พร้อมเร่งลดภาษีทั้งสิ้น 712 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.65 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด โดยจำนวนสินค้าที่ไทยขอสงวนสิทธิในการเร่งลดภาษีไว้สูงที่สุด ได้แก่ สินค้าในกลุ่มยานยนต์ รองลงไป ได้แก่ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ ตามลำดับ ซึ่งจะได้ปรับลดลงก่อนนำไปยื่นในการประชุมครั้งต่อไป
5.2 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อการลงนามในกรอบความตกลงดังกล่าวโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และการลงนามใน พิธีสารสำหรับ Roadmap แต่ละสาขาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่รัฐมนตรีรับผิดชอบ การรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน (Minister Responsible for ASEAN Economic Integration) ของไทยต่อไป
ตารางสรุปจำนวนรายการสินค้าที่ไทยไม่พร้อมเร่งลดภาษีในแต่ละสาขา
ลำดับที่ สาขา รายการสินค้า จำนวน Negative list ร้อยละของรายการสินค้า
ทั้งหมดในสาขา (รายการ) ทั้งหมดในสาขา
1 ยานยนต์ 1,073 254 23.67
2 อิเล็กทรอนิกส์ 1,071 219 20.45
3 เทคโนโลยีสารสนเทศ 683 130 19.03
4 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 250 113 45.20
5 ผลิตภัณฑ์ยาง 200 82 41.00
6 ผลิตภัณฑ์ไม้ 139 46 33.09
7 ประมง 177 26 14.69
8 สิ่งทอ 1,183 18 1.52
9 ผลิตภัณฑ์เกษตร 106 16 15.09
หมายเหตุ
1. จำนวนรายการสินค้าที่จะเร่งลดภาษีมีทั้งสิ้น 4,275 รายการ โดยในเบื้องต้น ไทยมีรายการสินค้าที่ไม่พร้อมเร่งลดภาษี จำนวน 712 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.65 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด (เมื่อตัดรายการสินค้าที่ซ้ำกันในแต่ละสาขาออกไปแล้ว)
2. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นรายการสินค้าย่อยในหมวดพืชผลทั้งหมด 9 รายการ ที่นำไปลดภาษี ได้แก่ 1) ข้าวโพด 2) ถั่วเหลือง 3) ผลไม้แปรรูป (สับปะรด มะเขือเทศ) 4) น้ำตาล 5) เมล็ดฝ้าย 6) Oil seed crop 7 Pulse 8 ข้าว และ 9) น้ำมันปาล์ม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ