องค์การการค้าโลก ได้จัดทำรายงานการค้าโลกประจำปี 2547 (World Trade Report 2004) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 12, 2004 15:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. การค้าโลก การค้าโลกในปี 2546 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยประเทศในแถบเอเชียมีอัตราขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศสูงกว่าประเทศในแถบภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าในช่วยต้นปีจะต้องเผชิญปัญหาโรคระบาด SARS และสถานการณ์ในอิรัก  WTO คาดว่า การค้าโลกในปี 2547 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.5 หรือกว่าสองเท่าของผลผลิต โดยประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ประเทศในแถบอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และลาตินอเมริกา  ในขณะที่อัตราการขยายตัวของผลผลิตในประเทศแถบเอเชียจะชะลอตัว แต่จะยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก
2. การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยไม่ต้องให้การตอบแทน เป็นมาตรการซึ่งแม้จะให้ประโยชน์แก่ประเทศผู้รับ แต่ขัดกับหลักการ MFN ของ WTO เนื่องจากยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้รับสิทธินี้ ซึ่งประเทศที่เสียประโยชน์เริ่มหยิบยกเป็นประเด็นขึ้นฟ้องร้องใน WTO มากขึ้น ในขณะที่ประเทศที่ได้รับสิทธินี้อยู่แล้ว ก็แสดงความกังวลและเรียกร้องให้มีการแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากจะต้องเสียความได้เปรียบนี้ไปในการเจรจาเปิดตลาดด้วยการลดภาษีลง (Erosion of preferences)
3. การเปิดเสรีการค้าบริการในการให้บุคคลต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศชั่วคราว (Mode 4) เป็นข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วเปิดตลาดบริการประเภทนี้มากขึ้น ซึ่ง WTO เห็นว่าการเปิดเสรีด้านนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งออกโดยร่วม รวมทั้งจะ ช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการ พัฒนาคิดค้นสิ่งใหม่ๆ
4. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาใน WTO ว่าควรขยายความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับสินค้าอื่น ๆนอกเหนือจากไวน์ และสุราหรือไม่ โดยมีทั้งกลุ่มประเทศที่สนับสนุนเพราะเล็งเห็นประโยชน์ด้านการตลาด และกลุ่มที่คัดค้านเพราะกังวลถึงภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น WTO เห็นว่า ในสายตาของผู้บริโภคสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยรับรองคุณภาพของสินค้าอย่างไรก็ดี ในประเด็นผลประโยชน์ต่อผู้ผลิต ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่จะยืนยันถึงความสัมพันธ์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อราคาและผลผลิตของสินค้าได้ชัดเจน
5. ความสอดคล้องของนโยบาย นโยบายเปิดเสรีทางการค้าเพียงประการเดียวคงจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาด้านการพัฒนา หรือสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นในโลกได้ แต่การดำเนินนโยบายในทุกๆ ด้านของรัฐควรจะต้องสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน การเปิดเสรีทางการค้า ควรดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจมหภาค และนโยบายเศรษฐกิจในประเทศที่ดี การพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการสร้างองค์กรของรัฐให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลรวมที่ดีและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ข้อผูกพัน และคำมั่นของสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ เช่น WTO ที่จะผลักดันให้การเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบโดฮาบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ