บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๘ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Thursday October 14, 2004 14:18 —รัฐสภา

                            บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑๘ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันจันทร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๕๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
และนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง นายสหัส พินทุเสนีย์ เป็นรองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
๒. พระบรมราชโองการประกาศรัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
และแต่งตั้งรัฐมนตรี
ด้วย พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองนายกรัฐมนตรี
ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงกลาโหม ได้ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
ความเป็นรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงตามที่ลาออก และสมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง
เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์แก่ราชการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๑๗ ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
และแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
๑) ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
๒) ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
นายพินิจ จารุสมบัติ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี
พลเอก สัมพันธ์ บุญญานันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุธรรม แสงประทุม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสุชัย เจริญรัตนกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
๓. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ ที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบร่างพระราชกฤษฎีกา
จัดตั้งสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ พ.ศ. …. ตามมาตรา ๑๘ วรรคสี่
และวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕
๔. เหตุขัดข้องที่ไม่อาจบรรจุกระทู้ถามเข้าระเบียบวาระการประชุมได้ภายใน
กำหนด ๑๕ วัน ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๖ วรรคสาม จำนวน ๒ กระทู้ คือ
๑) กระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการตั้งค่าชดเชยทรัพย์สินให้กับราษฎร
กรณีเขื่อนกิ่วคอหมา ของนายนิคม เชาว์กิตติโสภณ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
๒) กระทู้ถาม เรื่อง ความไม่สมดุล ในสัดส่วนของครูต่อจำนวนนักเรียน
ในจังหวัดลำปาง และข้อสรุปหลักเกณฑ์ในระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
ของนายนิคม เชาว์กิตติโสภณ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อนเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ลำดับที่ ๑.๑ ถึง ๑.๕ ออกไปก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๓ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญทั่วไป) วันศุกร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๖ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๗ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และ
ครั้งที่ ๘ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗
ซึ่งที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมวุฒิสภาทั้ง ๗ ครั้งดังกล่าว
ต่อจากนั้น ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุม
พิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ขออนุญาตวุฒิสภาเพื่อพิจารณาคดีอาญา นายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา
สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครสวรรค์ ในระหว่างสมัยประชุม ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๖๖
หลังจากสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุม
๒. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ....
ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ยุติธรรม ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา
และเนื่องจากที่ประชุมได้มีมติให้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภาตามที่สมาชิกฯ เสนอ
ที่ประชุมจึงได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตรา
จนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร
๓. ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....
ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ยุติธรรม ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา
และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน ๒๕ คน ประกอบด้วย
๑. นายจิโรจน์ โชติพันธุ์ ๒. นายปราโมทย์ ไม้กลัด
๓. พลอากาศเอก กานต์ สุระกุล ๔. นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
๕. พลตำรวจเอก มีชัย นุกูลกิจ ๖. นายพิเชฐ พัฒนโชติ
๗. พลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ๘. นายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา
๙. นายปรีชา ปิตานนท์ ๑๐. นายมนัส รุ่งเรือง
๑๑. พลเอก วิชา ศิริธรรม ๑๒. พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน
๑๓. นายสัก กอแสงเรือง ๑๔. นายสุนทร จินดาอินทร์
๑๕. พลตำรวจตรี สนาม คงเมือง ๑๖. นายสุรสิทธิ์ ฉัตรชัยเดช
๑๗. นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ๑๘. นายบุญยืน ศุภสารสาทร
๑๙. พลโท ปัญญา อยู่ประเสริฐ ๒๐. นายพิชัย ขำเพชร
๒๑. นายถวิล ไพรสณฑ์ ๒๒. นายมารุต โรจนาปิยาวงศ์
๒๓. นายพนัส ทัศนียานนท์ ๒๔. นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช
๒๕. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง
โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
๔. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติ
เห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจงแล้ว
ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณา จำนวน ๒๕ คน ประกอบด้วย
๑. นายอุทัยพันธุ์ สงวนเสริมศรี ๒. นางพรหมจารี รัตนเศรษฐ์
๓. นายณรงค์สิทธิ์ เครือรัตน์ ๔. นางสาวอุษณีย์ ชิดชอบ
๕. นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ๖. นายนิรัตน์ อยู่ภักดี
๗. นายอนุชาติ บรรจงศุภมิตร ๘. นายทองใบ ทองเปาด์
๙. นายระวี กิ่งคำวงศ์ ๑๐. นายสามารถ รัตนประทีปพร
๑๑. นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ ๑๒. นางบุษรินทร์ ติยะไพรัช วรพัฒนานันต์
๑๓. นายประเกียรติ นาสิมมา ๑๔. นายอุบล เอื้อศรี
๑๕. พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล ๑๖. นายนพดล สมบูรณ์
๑๗. พันเอก สมคิด ศรีสังคม ๑๘. นายสุรใจ ศิรินุพงศ์
๑๙. พลอากาศเอก กานต์ สุระกุล ๒๐. นางเตือนใจ ดีเทศน์
๒๑. นายปริญญา กรวยทอง ๒๒. นายนภินทร ศรีสรรพางค์
๒๓. นายสัก กอแสงเรือง ๒๔. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
๒๕. นางสาวภานุมาศ สิทธิเวคิน
โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
๕. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ....
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง
คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบมาตรา ๒๓ ประธานของที่ประชุมได้สั่งให้เลื่อน
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปพิจารณาต่อในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๙
(สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันอังคารที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๗
เลิกประชุมเวลา ๑๗.๒๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา จำนวน ๒ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....
๒. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ....
เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ