บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยระหว่างเดือน ม.ค.- ส.ค.2547

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 14, 2004 17:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2547 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6-7  โดยไตรมาสแรก GDP ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 และประมาณร้อยละ 6.3 ในไตรมาสที่สอง
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2546 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.20 ของการส่งออกรวมในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 6,670 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2545 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.19)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 22 ของโลก ในปี 2546 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.11 ของการนำเข้าในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 6,832 พันล้านเหรียญสหรัฐ(ปี 2545 ไทยอยู่อันดับที่ 22 สัดส่วนร้อยละ 1.10)
4. การค้าของไทยเดือน ม.ค.-ส.ค. 2547 มีมูลค่า 125,005.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.50 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 62,749.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.87 การนำเข้ามีมูลค่า 62,256.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.38 ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 492.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 85.16 สำหรับเดือน สิงหาคม 2547 ไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 216 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2547 ที่มูลค่า 92,274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การส่งออกเดือน ม.ค.-ส.ค. 2547 มีมูลค่า 62,749.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 68 ของเป้าหมายการส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 82.41 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-ส.ค. 2547 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 รายการ คือ วงจรพิมพ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.56, 143.70 และ 112.72 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 9 รายการ คือ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ น้ำมันสำเร็จรูป แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เลนซ์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมและเครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.81, 95.29, 53.89, 63.54, 63.43, 51.00, 58.71, 52.17 และ 58.44 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.43 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-ส.ค. 2547 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 1 ตลาดได้แก่ อิรัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 321.15
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 8 ตลาด ได้แก่ แอฟริกาใต้ อิหร่าน บราซิล บังคลาเทศ ตุรกี ฟินแลนด์ กรีซ และเซเนกัล โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 72.73, 70.86, 50.14, 55.06, 72.17, 73.46, 53.10 และ 64.66 ตามลำดับ
8.การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 13.56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.55
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 43.15 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.28
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 30.51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.41
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.89 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.22
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.36
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.04 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 67.62 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น(ม.ค.-ส.ค. 2547) ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และซาอุดีอาระเบีย สัดส่วนร้อยละ 23.95, 8.12, 7.68, 5.78, 4.52, 4.34, 3.93, 3.54, 3.04 และ 2.71 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 30.71, 32.95, 9.68, 28.83, 37.73, 32.59, 38.51, 70.62, 11.65 และ 65.19 ตามลำดับ
9.ข้อคิดเห็น
1. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกอยู่ในเกณฑ์ดี ขยายตัวได้ในระดับสูงถึงร้อยละ 6.4 แม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภายในและภายนอก ทั้งจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกรอบแรก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูง อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
ส่วนในครึ่งหลังของปี 2547 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้สูงกว่าร้อยละ 6 แต่อาจจะต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากผลของปัจจัยเสี่ยงที่เป็นปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจะชัดเจนขึ้น
ดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ลดลงจากร้อยละ 9.4 ในเดือน ก.ค. ซึ่งผลการสำรวจระบุว่ามีการปิดซ่อมโรงงานอุตสาหกรรมในสาขาปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนผลผลิตในภาคอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลงตามการส่งออก และอุตสาหกรรมอาหารการเติบโตลดลงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากภาคเกษตร
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและคงอยู่ในระดับสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า แนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงและการระบาดของโรคไข้หวัดนกรอบสองเป็นปัจจัยสำคัญทั้งต่อความ เชื่อมั่นและกำลังซื้อของครัวเรือน และการคาดการณ์แนวโน้มการชะลอความต้องการสินค้าจากตลาดภายในและตลาดต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการขยายการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งถึงแม้ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะไม่ได้ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ผลสะสมของปัญหาที่ยังไม่มีทางออกชัดเจนจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาวของนักลงทุน
2. ในประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก รอบแรกเมื่อต้นปีได้มีการทำลายไก่ทั้งสิ้นเกือบ 30 ล้านตัว และรอบที่สองตั้งแต่เดือน ก.ค.- ก.ย. มีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้วรวม 824,477 ตัว และไข่นกกระทา 35,000 ฟอง ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้นี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไก่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สัตว์ และอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ ในปี 2545 ไทยส่งออกไก่สดแช่แข็งได้ 336,837 ตัน มูลค่า 24,589 ล้านบาท ไก่ปรุงสุก 127,406 ตัน มูลค่า 16,244 ล้านบาท ปี 2546 ส่งออกไก่สดแช่แข็ง 388,927 ตัน มูลค่า 28,105 ล้านบาท ไก่ปรุงสุก 15,500 ตัน มูลค่า 19,763 ล้านบาท แต่ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ไทยส่งออกไก่ทั้งสิ้นเพียงประมาณ 13,433 ล้านบาท เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าระงับการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ไทยได้ผลักดันการส่งออกไก่แปรรูปทดแทน ซึ่งแม้สินค้าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่ชดเชยส่วนต่างได้ไม่มากนักเพราะประเทศผู้นำเข้าจากไทยหันไปนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศคู่แข่งอื่นเช่น บราซิล ทดแทน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกได้อย่างถาวร ประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างเช่น ญี่ปุ่น จะยังคงนำเข้าไก่จากไทยในปริมาณสูงเช่นเดิม เนื่องจากความต้องการสินค้ามีอยู่มากและไก่จากไทยจะมีราคาถูกกว่า
3. การจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-จีนที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2546 มีระยะเวลา 1 ปี สำหรับหมวดสินค้านำร่องผักผลไม้ HS.07-08 ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ประเมินผลกระทบและแสดงข้อคิดเห็นในประเด็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าหลังการเปิด FTA ซึ่งถึงแม้ไทยจะยังคงได้ดุลการค้าในหมวดสินค้าผักผลไม้ แต่คงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าไทยได้เปรียบเพราะไทยได้ดุลจากสินค้าหลักคือ มันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าอื่นๆที่มีศักยภาพในการส่งออกสูงเช่น มังคุด ลำไย ทุเรียน ยังส่งออกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(Non-Tariff Barriers)เช่น เรื่องระเบียบพิธีการนำเข้าทางศุลกากร มาตรฐานสุข-อนามัยพืช และความแตกต่างด้านกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและมณฑลท้องถิ่น ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการเจรจากับจีนและได้รับความร่วมมือเพื่อลดปัญหาอุปสรรคดังกล่าวด้วยดี คาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าผักผลไม้ประเภทอื่นๆได้เพิ่มสูงขึ้นในฤดูกาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน แม้การนำเข้าสินค้าบางประเภทที่ขนส่งได้ง่าย เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ จะเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ในเบื้องต้นผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์จากสินค้าที่หลากหลายและมีราคาถูก และในระยะยาว FTA จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งหน่วยการผลิตไทยต้องปรับกลยุทธ์เพื่อส่งออก สำหรับตลาดในประเทศสินค้าผักที่นำเข้าจากจีนหลายประเภท เช่น บร็อกโคลี่ ผักกาดแก้ว และถั่วหวานจากจีนไม่ได้มีต้นทุนต่ำกว่า หากไทยผลิตได้คุณภาพดีก็จะทำให้การ นำเข้าจากจีนลดลง ส่วนภาครัฐนอกจากช่วยเหลือในกลยุทธ์การผลิตแล้วควรจะดูแลเรื่องการ ขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนทางแม่น้ำโขง โดยไทยน่าจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเดินเรือในลำน้ำโขงทุกวันนี้เป็นของจีนและยังไม่มีการประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางแม่น้ำจากเชียงรายไปจีน ทำให้พ่อค้าไทยต้องรับความเสี่ยงค่อนข้างมากทั้งจากความไม่แน่นอนของการปรับเปลี่ยนค่าระวางสินค้าและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการขนส่ง ซึ่งในอนาคตอันใกล้หลังขยายการทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน หากไทยมีความพร้อมด้านการขนส่ง การค้าผ่านทางเชียงรายก็น่าจะขยายตัวได้เพิ่มสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าที่ผ่านเข้ามาได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ