สรุปผลการเจรจาครั้งที่ 3 เพื่อจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการและการลงทุนในเขตการค้าเสรีไทย- นิวซีแลนด์ วันที่ 27 - 29 กันยายน 2547 ณ เมืองควีนส์ทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์
ไทยและนิวซีแลนด์ได้มีการเจรจาครั้งที่ 3 เพื่อจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการและการลงทุนในเขตการค้าเสรีไทย- นิวซีแลนด์ (CEP) ณ เมืองควีนทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 27 - 29 กันยายน 2547 โดยในส่วนเรื่องการค้าบริการ ฝ่ายนิวซีแลนด์เสนอให้เจรจาเรื่องนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งฝ่ายไทยไม่ขัดข้อง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิวซีแลนด์รับว่าจะจัดให้มีเวทีการหารือเพื่อให้เกิดการยอมรับคุณสมบัติของผู้ประกอบอาหารไทยและ ผู้ประกอบอาชีพนวดไทยที่ได้รับวุฒิบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญอย่างมาก
สำหรับเรื่องการเจรจาด้านการลงทุนได้มีการเจรจาเมื่อวันที่ 27 - 28 กันยายน 2547 โดยมีนายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมด้วยผู้แทนนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และมี Mr. Andrew Blazey เจ้าหน้าที่วิเคราะห์อาวุโส กระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้านิวซีแลนด์ รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสองฝ่าย 12 คน
ผู้แทนทั้งสองฝ่ายมีได้หารือข้อบทการลงทุน ข้อเรียกร้องและข้อเสนอการเปิดตลาดเบื้องต้น (Initial Offer) โดยมีความคืบหน้าในการเจรจาไปมากและสามารถตกลงกันได้ในหลายเรื่อง โดยยังคงมีประเด็นที่ติดค้าง ดังนี้
1. การให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) : ฝ่ายไทยเสนอให้ใช้ถ้อยคำตาม TAFTA โดยภาคีจะให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติในสาขาการลงทุนที่ระบุไว้ในภาคผนวกการเปิดตลาดการลงทุน (Annex) แก่นักลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเฉพาะการจัดตั้งและการได้มาซึ่งการลงทุน (Establishment and Acquisition of Investment) ในดินแดนของภาคีไม่น้อยกว่าที่ให้การปฏิบัติแก่นักลงทุนของตน ขณะที่ฝ่ายนิวซีแลนด์เสนอให้ไทยพิจารณาถ้อยคำใหม่ที่ผสมผสานถ้อยคำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน กล่าวคือ ภาคีจะให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติในสาขาการลงทุนที่ระบุไว้ในภาคผนวกฯ แก่ทั้งนักลงทุนและการลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเฉพาะการจัดตั้งและการได้มาซึ่งการลงทุนในดินแดนของภาคี ซึ่งไม่น้อยกว่าที่ให้การปฏิบัติแก่ นักลงทุนและการลงทุนของตน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้อธิบายเบื้องต้นว่าควรให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติเฉพาะแก่นักลงทุนเท่านั้น เนื่องจากการลงทุนไม่สามารถเข้ามาจัดตั้งและได้มาซึ่งการลงทุนได้ด้วยตนเอง ดังนั้นเพื่อให้ไม่เกิดความสับสนในการตีความ จึงสมควรเสนอให้จำกัดขอบเขตการให้การปฏิบัติก่อนการเข้ามาจัดตั้งบริษัทอยู่เฉพาะเพียงนักลงทุนแต่ไม่รวมการลงทุน โดยฝ่ายนิวซีแลนด์รับว่าจะนำกลับไปพิจารณา
2. การปฏิเสธการให้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการลงทุน (Denial of Benefits) : ฝ่ายไทยเสนอให้ใช้ถ้อยคำตาม TAFTA ว่าภาคีอาจปฏิเสธการให้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการลงทุนได้เมื่อพบว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมโดยคนนิวซีแลนด์หรือคนไทย พร้อมทั้งยกตัวอย่างของการปฏิเสธการให้ประโยชน์จากการเปิดตลาดในกรณีของการขอรับความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ พ.ศ. 2511 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองสิทธิในการประกอบธุรกิจภายใต้สนธิสัญญาฯ นั้น จะให้การคุ้มครองสิทธิในการได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนก็ต่อเมื่อ
(1) เป็นบุคคลธรรมสัญชาติอเมริกัน
(2) นิติบุคคลอเมริกันที่
- จัดตั้งตามกฎหมายของไทยหรือสหรัฐฯ
- มีจำนวนทุนและจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกข้างมากของนิติบุคคลนั้น เป็นของบุคคลสัญชาติอเมริกา
- กรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องเป็นคนอเมริกันหรือคนไทย
- หากกรรมการคนหนึ่งได้รับมอบอำนาจให้ลงนามแทนบริษัทฯ กรรมการผู้นั้นจะต้องไม่เป็นคนชาติที่สาม
- หากกรรมการหลายคนได้รับมอบอำนาจให้ลงนามแทนบริษัทร่วมกัน กรรมการเหล่านั้น
ส่วนมากจะต้องไม่เป็นคนชาติที่สาม ในทางปฏิบัติ ผู้ขอรับความคุ้มครองต้องขอให้สถานอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับรองว่าผู้ขอฯ เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติอเมริกา ซึ่งมีสิทธิประกอบธุรกิจภายใต้สนธิสัญญาฯ พร้อมกับให้แจ้งด้วยว่าประสงค์จะขอให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติอเมริกาประกอบธุรกิจในไทยโดยได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญาฯ ซึ่งไทยได้ใช้แนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับนี้กับนักลงทุนออสเตรเลียที่เข้ามาประกอบธุรกิจในความตกลง TAFTA ในการนี้ ฝ่ายนิวซีแลนด์ได้ขอให้ฝ่ายไทยแสดงความเห็นใจกับสภาพการลงทุนภายในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่ง ธุรกิจขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นของต่างชาติ ซึ่งหากไทยยืนยันหลักการปฏิเสธการให้ประโยชน์จากการเปิดตลาดแก่ธุรกิจข้างต้นตามแนวทางเดียวกับที่ใช้ตามสนธิสัญญาฯ และ TAFTA นั้น จะทำให้นิวซีแลนด์แทบไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดของไทยเลย โดยฝ่ายนิวซีแลนด์จะจัดส่งรายละเอียดของกฎหมายการจัดตั้งธุรกิจในนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งการตีความว่าธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่ครอบครองหรือควบคุมโดยคนต่างชาติให้ฝ่ายไทยพิจารณาในภายหลัง
3. ความร่วมมือ (Areas of Cooperation) : ทั้งฝ่ายไทยและนิวซีแลนด์เห็นชอบในหลักการให้มีข้อความร่วมมือในข้อบทการลงทุน โดยฝ่ายไทยเสนอให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการและการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่นิวซีแลนด์มีความชำนาญ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ สินค้าเพื่อสุขภาพ ซอฟแวร์ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป และการผลิตภาพยนตร์ และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่ฝ่ายนิซีแลนด์ต้องการเพิ่มความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และโครงกรพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่เหมาะสม โดยทั้งสองฝ่ายรับจะกลับไปพิจารณาถ้อยคำและความร่วมมือที่เหมาะสมต่อไป
4. ตารางข้อผูกพัน (Schedule of Commitments) : ทั้งฝ่ายไทยและนิวซีแลนด์ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างข้อบทการลงทุนและข้อบทการค้าบริการที่จะต้องมีขึ้นในอนาคต ให้ต้องมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมถ้อยคำในข้อบทการลงทุน
5. ความจำเป็นในการเจรจาการค้าบริการ : ฝ่ายนิวซีแลนด์แสดงความต้องการให้ไทยอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองและการอนุญาตทำงานของนักลงทุน ผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในธุรกิจผลิตสินค้าของนิวซีแลนด์ที่เข้ามาจัดตั้งในประเทศไทยในคราวนี้ ซึ่งฝ่ายไทยได้ชี้แจงว่าการอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองและการอนุญาตทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาการค้าบริการ ซึ่งหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจาการค้าในภาพรวมของนิวซีแลนด์เป็นผู้เสนอให้มีการเจรจาเรื่องนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้นหากฝ่ายนิวซีแลนด์ต้องการนำประเด็นดังกล่าวเข้ามาเจรจาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและพนักงานนิวซีแลนด์ที่จะเข้าไปทำงานกับกิจการเหล่านี้จะต้องไปตกลงกับหัวหน้าคณะผู้แทนฯ เอง เนื่องจากฝ่ายนิวซีแลนด์เป็นผู้เสนอให้ไม่รวมการ เจรจาการค้าบริการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย - นิวซีแลนด์ในครั้งนี้ ซึ่งฝ่ายนิวซีแลนด์รับว่าจะไปปรึกษากับหัวหน้าคณะผู้แทนฯ เนื่องจากไม่เคยตระหนักถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายบุคคลว่าเป็นส่วนหนึ่งของการค้าบริการ
6. การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมในข้อการทบทวนข้อผูกพัน (Review of Commitments) ในการพิจารณาข้อเสนอของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อภาคีได้ทำความตกลงการเปิดเสรีการลงทุนกับประเทศที่มิใช่ภาคีและเมื่อภาคีได้ทำการเปิดเสรีการค้าบริการแต่เพียงฝ่ายเดียว
7.การจัดทำข้อเรียกร้องการเปิดตลาด : ฝ่ายขอให้นิวซีแลนด์จัดส่งรายละเอียดกฎหมายการประมงและการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนและทำงานในธุรกิจประมงในนิวซีแลนด์ เนื่องจากอาจเป็นธุรกิจที่ไทยมีความสนใจ
8. การจัดทำข้อเสนอการเปิดตลาด : โดยฝ่ายไทยจะพิจารณาข้อเสนอเปิดตลาดด้านการผลิตซอฟแวร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม รวมทั้งจะพิจารณาข้อเสนอเปิดตลาดการผลิตสินค้าทั่วไป เยื่อกระดาษ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษ หลังจากที่ฝ่ายนิวซีแลนด์อธิบายคำนิยามและความครอบคลุมของการผลิตสินค้าข้างต้น
ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนร่างข้อบทการลงทุน ข้อเสนอเปิดตลาด และข้อมูลต่าง ๆ ภายในวันที่ 29 ตุลาคม 2547 เพื่อใช้ประกอบการเจรจารอบที่ 4 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2547 ณ ประเทศไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-