บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันจันทร์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายสหัส พินทุเสนีย์
รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนราธิวาส
ราชนครินทร์ พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ….
และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. …. ขอขยายเวลาการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๕ ฉบับดังกล่าว ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๐
ตุลาคม ๒๕๔๗ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๔ ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
และมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๕ ฉบับดังกล่าวได้ตามที่คณะกรรมาธิการ
วิสามัญฯ ร้องขอ
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง ตามที่คณะรัฐมนตรี
ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น
ของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตรวจพิจารณา นั้น บัดนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา
ดังกล่าวเสร็จแล้ว และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และลงประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ฉบับกฤษฎีกา ตอนพิเศษ ๖๑ ก วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการแทนตำแหน่งที่ว่าง
รวม ๒ คณะ ให้ที่ประชุมพิจารณา ประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ตามลำดับ ดังนี้
๑. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่อง
หลายรูปแบบ พ.ศ. …. แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้ง
นายวิญญู อุฬารกูล เป็นกรรมาธิการแทน นายดำรง พุฒตาล ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
๒. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม
พ.ศ. …. แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้ง นายสมบูรณ์ ทองบุราณ
เป็นกรรมาธิการแทน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
ต่อจากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อนเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ลำดับที่ ๑.๓ และลำดับที่ ๑.๔ ขึ้นมาพิจารณาก่อน
โดยให้ที่ประชุมพิจารณารวมกันไปทั้ง ๒ ลำดับ เนื่องจากเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน
สำหรับเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ลำดับที่ ๑.๑ ลำดับที่ ๑.๒ ลำดับที่ ๑.๕
และลำดับที่ ๑.๖ นั้น ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
หลังจากนั้น ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและรับทราบเรื่องตาม
ระเบียบวาระ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม คือ รายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและ
ขาดทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๔๓ และปี ๒๕๔๔
และรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่ง
ประเทศไทย ประจำปี ๒๕๔๕ โดยมีรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธาน
ของที่ประชุม หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจงแล้ว
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานทั้ง ๒ เรื่องดังกล่าว
ต่อมา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยน
กันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน
ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานผู้แทนธนาคาร
พัฒนาเอเชียในประเทศไทย พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ
อภิปราย ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา และเนื่องจากที่ประชุม
ได้มีมติให้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภาตามที่สมาชิกฯ เสนอ ที่ประชุมจึงได้พิจารณาในวาระที่ ๒
เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓
เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร
๒. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติ
เห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงการคลัง ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา
และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน ๒๕ คน ประกอบด้วย
๑. พลตำรวจโท ชูชาติ ทัศนเสถียร ๒. นายอุทัยพันธุ์ สงวนเสริมศรี
๓. นายวีรวร สิทธิธรรม ๔. นายสามารถ รัตนประทีปพร
๕. นายสมควร จิตแสง ๖. นายพา อักษรเสือ
๗. นายอนุชาติ บรรจงศุภมิตร ๘. นายพิเชฐ พัฒนโชติ
๙. นายระวี กิ่งคำวงศ์ ๑๐. นายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง
๑๑. นายปรีชา ปิตานนท์ ๑๒. นายสันติ์ เทพมณี
๑๓. นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ๑๔. นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
๑๕. นายปราโมทย์ ไม้กลัด ๑๖. พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน
๑๗. นายกมล มั่นภักดี ๑๘. นายนิรัตน์ อยู่ภักดี
๑๙. นายวีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ ๒๐. นางอรัญญา สุจนิล
๒๑. พลตำรวจตรี เสกสันต์ อุ่นสำราญ ๒๒. พลโท ปัญญา อยู่ประเสริฐ
๒๓. นางเพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา ๒๔. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ
๒๕. นายนิพนธ์ ฮะกีมี
โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
๓. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย และรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติ
ไว้พิจารณา และมีมติให้ส่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. พิจารณา โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. …. แทนตำแหน่งที่ว่าง ๒ ตำแหน่ง ให้ที่ประชุม
พิจารณา และมีมติให้ตั้ง นายสมควร จิตแสง และนายชงค์ วงษ์ขันธ์ เป็นกรรมาธิการแทน
นายผ่อง เล่งอี้ และนายณรงค์ นุ่นทอง ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
เลิกประชุมเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานผู้แทนธนาคาร
พัฒนาเอเชียในประเทศไทย พ.ศ. ....
รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา จำนวน ๒ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๔