บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Tuesday October 26, 2004 12:33 —รัฐสภา

                     บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันอังคารที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายสหัส พินทุเสนีย์
รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง
เหตุขัดข้องที่ไม่อาจบรรจุกระทู้ถาม เรื่อง การห้ามสตรีขึ้นไปสักการะบูชาพระธาตุ
ของนายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา ถามนายกรัฐมนตรี เข้าระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา
ภายในกำหนดเวลาตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ ๑๓๖ วรรคสาม
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง คณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติ
การอาชีวศึกษา พ.ศ. …. ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว
ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ ตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๑๗๔ ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมีมติให้ขยายเวลา
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวได้ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร้องขอ
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อนเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ลำดับที่ ๑.๑ ถึง ๑.๔ ออกไปก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควร
เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ
ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วย
ต่อจากนั้น ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ
เลือกกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา ๑๕ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ
ฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
(ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมีรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม และโดยที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่
พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อบังคับฯ
ข้อ ๑๐๓ วรรคสอง อีกทั้งมีสมาชิกฯ ร่วมเข้าชื่อร้องขอให้มีการประชุมลับ ตามข้อบังคับฯ
ข้อ ๑๓ ประธานของที่ประชุมจึงดำเนินการประชุมลับเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว
หลังจากคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเลือก
นายวิมุติ บัวจันทร์ และนายสุภร ประศาสน์วินิจฉัย เป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ
หลังจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมโดยเปิดเผยแล้วเสนอให้
ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติ
เห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติ
ไว้พิจารณา และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน ๒๕ คน ประกอบด้วย
๑. นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ๒. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ
๓. นางสาวอุษณีย์ ชิดชอบ ๔. นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล
๕. นายสมพงษ์ สระกวี ๖. นายวิญญู อุฬารกุล
๗. นายสวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ ๘. คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช
๙. นายสนิท จันทรวงศ์ ๑๐. นายภิญญา ช่วยปลอด
๑๑. นายสงวน นันทชาติ ๑๒. นายคำนวณ ชโลปถัมภ์
๑๓. นายไสว พราหมณี ๑๔. พลตำรวจตรี อำพล งามจิตร
๑๕. พันเอก สมคิด ศรีสังคม ๑๖. นางนันทนา สงฆ์ประชา
๑๗. นายสวัสดิ์ ทรัพย์เจริญ ๑๘. นายชุมพล ศิลปอาชา
๑๙. นายบุญยืน ศุภสารสาทร ๒๐. นายปริญญา กรวยทอง
๒๑. นายปราโมทย์ ไพชนม์ ๒๒. นายนภินทร ศรีสรรพางค์
๒๓. นายนิคม เชาว์กิตติโสภณ ๒๔. นายการุณ ใสงาม
๒๕. นายอัชพร จารุจินดา
โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
ต่อมา ประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อนเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องด่วนที่ ๓ ออกไปก่อน และขอให้นำเรื่องด่วนที่ ๖ ขึ้นมาให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติ
เห็นชอบ ประธานของที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ แถลงรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้
ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(แก้ไขค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี) ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ แถลงรายงาน ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
๓. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ แถลงรายงาน
และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
๔. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ แถลงรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว
ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
เลิกประชุมเวลา ๑๗.๔๐ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกัน
พิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน ๔ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. ....
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี)
๓. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .…
๔. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ