เศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2547 (ตุลาคม - ธันวาคม 2547)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2005 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP  ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2546 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.0 เทียบกับร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 และร้อยละ 6.8 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 และหากพิจารณาค่า GDP ที่ปรับตัวดัชนีฤดูกาลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2546 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 7.8 เทียบกับร้อยละ 7.2 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2547 และร้อยละ 8.9 ใน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 โดยสาขาอุตสาหกรรมที่ขยายตัวชะลอลงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 แต่ยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ และอุปกรณ์การขนส่งอื่น ๆ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย โดยในปี 2547 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.2 และในปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 5.5 — 6.5 เนื่องจากมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูง และภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 โดยจะเห็นว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.4 โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ แผลวงจรไฟฟ้า ยางพารา
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคพบว่า เครื่องชี้วัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน มูลค่าภาษี มูลค่าเพิ่มการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดการจำหน่ายรถยนต์
สำหรับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548 คงต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย
- เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าอัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าในปี 2546 — 2547 ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะเริ่มช้าลง
- ปัจจัยที่ยังส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า แม้จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม
- การปรับเพิ่มเงินเดือนภาครัฐในช่วงครึ่งหลังปี 2547 ทำให้ฐานเงินเดือนในปี 2548 โดยเฉลี่ยสูงกว่าในปี 2547
- มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นมติคณะ รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547
- ปัจจัยที่สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มาตรการด้านภาษีที่จะสร้างแรงจูงใจต่อการลงทุน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นจากโครงการ ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนขนาดใหญ่
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นภายหลังการยกเลิกการตรึงราคา การระบาดของไข้หวัดนกที่มีผลต่อการส่งออก ผลกระทบจากภัยแล้ง และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2548
เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 — 6.5 โดยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจในปี 2547 มีปัจจัยบวกด้านการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเงินเดือน การลดภาษี การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐภายใต้ข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ค่าเงินบาทผันผวน รวมทั้งในไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์ (สึนามิ) ด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศระมัดระวังการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก จะทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพงและจะมีการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิต ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลในปี 2548 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี 2548 จึงอาจจะทำให้ในปี 2548 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 9.9 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือน ในปี 2547 มีค่า 138.3 และในปี 2546 มีค่า 125.8 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546
เมื่อเทียบปี 2547 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากปี 2546 สำหรับแนวโน้มปี 2548 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงมีปัจจัยสนับสนุนบางประการ เช่น เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวแม้ว่าอัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าในปี 2546 — 2547 ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังมี แนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 9.0 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือนในปี 2547 มีค่า 135.6 และในปี 2546 มีค่า 124.5 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546
เมื่อเทียบปี 2547 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากปี 2546 โดยดัชนีการส่งสินค้าจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม สำหรับแนวโน้มปี 2548 คาดว่าดัชนีการส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ดัชนี สินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 15.1 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือนในปี 2547 มีค่า 146.2 และในปี 2546 มีค่า 127.1 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546
เมื่อเทียบปี 2547 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งบางอุตสาหกรรมยังมีการสำรองสินค้าไว้เพื่อจำหน่ายพอสมควร และบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดนก สำหรับแนวโน้มปี 2548 คาดว่าผู้ประกอบการจะยังคงสำรองสินค้าไว้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนบางประการในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่ายังคงต้องระวังผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่นกัน
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สถาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 50 กลุ่มพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้ง 11 เดือน ในปี 2547 มีค่า 64.7 และในปี 2546 มีค่า 60.2 โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546
เมื่อเทียบปี 2547 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2546 สำหรับแนวโน้มปี 2548 อัตราการใช้กำลังการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนบางประการ เช่น มาตรการด้านภาษีที่จะสร้างแรงจูงใจต่อการลงทุน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ทั้ง 3 ดัชนี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 นี้ ได้แก่ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือน ในปี 2547 มีค่า 97.5 และในปี 2546 มีค่า 96.0 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 7.8 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือนในปี 2547 มีค่า 92.7 และในปี 2546 มีค่า 85.9 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังรู้สึกว่าภาวะการทำงานโดยรวมยังไม่ดี และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 0.8 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือน ในปี 2547 มีค่า 111.3 และในปี 2546 มีค่า 110.4 การที่ค่าดัชนีมีค่าสูงกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่า รายได้ในอนาคตจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณ ร้อยละ 1.6 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือนในปี 2547 มีค่า 49.0 และในปี 2546 มีค่า 49.8 การที่ค่าดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2546 คือ ผลประกอบการของบริษัท การจ้างงานของบริษัท ต้นทุนการผลิต และการผลิตของบริษัท
เมื่อเทียบปี 2547 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ในทุก ๆ ดัชนี แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะลดลงเล็กน้อย สำหรับแนวโน้มปี 2548 คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะกระเตื้องขึ้นจากปี 2547 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่ปรากฏอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจต่อไป
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 102.0 ซึ่งปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่ดัชนีเฉลี่ยมีค่า 105.1 อย่างไรก็ตาม ดัชนีเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี และปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณค่าดัชนีรวมโดยส่วนใหญ่ก็ยังมีค่าเกินกว่า 100 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับเกินกว่า 100 ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นในยอดขายโดยรวมในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นในยอดคำสั่งซื้อโดยรวมในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นด้านปริมาณการผลิตในอนาคต จะมีเพียงดัชนีด้านต้นทุน การประกอบการเท่านั้นที่มีค่าต่ำกว่า 100
คาดว่าในปี 2548 ดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงมีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่เกินกว่า 100 แต่ค่าดัชนีต้นทุนการประกอบการในปัจจุบันก็น่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในด้านของต้นทุนการประกอบการอยู่ในระดับที่ต่ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าต้นทุนการประกอบการอยู่ในระดับที่สูงอยู่
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3 — 4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2547 อยู่ที่ระดับ 125.8 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ร้อยละ 0.2 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้ ได้แก่ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ ราคาน้ำมันดิบ ปริมาณเงิน M2a ที่แท้จริง และจำนวนนัก ท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
สำหรับดัชนีเฉลี่ยในช่วงเดือน มกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีค่า 126.71 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่มีค่า 122.24
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2547 อยู่ที่ระดับ 121.8 ลดลงจากเดือนตุลาคม 2547 ร้อยละ 0.4 ตามการลดลงของเครื่องชี้ ได้แก่ ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้า ณ ราคา คงที่ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
สำหรับดัชนีเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 มีค่า 121.94 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2546 ที่มีค่า 119.72
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on private consumption) ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 4.1 (ตารางที่ 5)
ทั้งนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดีจากปี 2546 ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน มูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโคบริโภค ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่ม ปริมาณการจำหน่ายยานพาหนะ
เมื่อเทียบปี 2547 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความ เชื่อมั่นผู้บริโภค แม้ว่าในปี 2547 จะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การระบาดของโรคไข้หวัดนำ สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับ แนวโน้มปี 2548 ยังมีข้อจำกัดในการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน อาจส่งผลให้การบริโภค ภายในประเทศเกิดการชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ยังคงมีปรากฏอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาค่า ไฟฟ้าที่จะแพงขึ้น ราคาสินค้าที่จะต้องมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ผู้บิโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ทั้งในยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน
หากแยกตามรายการสินค้าพบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 13.7
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 17.4
ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ประมาณร้อยละ 8.8
เมื่อเทียบปี 2547 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2546 โดยเฉฑาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ สำหรับแนวโน้มปี 2548 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างแต่อาจจะไม่สูงนัก เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการ ลงทุนภาคเอกชนเอง และความเชื่อมั่นทางธุรกิจ
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือนในปี 2547 มีค่า 108.9 และในปี 2546 มีค่า 106.0 เป็นผลมากจากการเพิ่มราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2547 ปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 11 เดือน ในปี 2547 มีค่า 115.3 และในปี 2546 มีค่า 108.4 เป็นผลมาจากการเพิ่มราคาทั้งในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.8, 12.1 และ 5.1 ตามลำดับ
เมื่อเทียบปี 2547 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต เพิ่มขึ้นจากปี 2546 สำหรับแนวโน้มปี 2548 คาดว่าราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตจะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าจะต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากราคาน้ำมันแพงและมีการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในปี 2547 (ตัวเลขเดือนพฤศจิกายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 36.43 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 35.81 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.30 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.54 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 1.50)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2546 มีจำนวน 5.25 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.66 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ เดือนพฤศจิกายนของปี 2547 มีจำนวนผู้ประกันตนทั้งสิ้น 7,850,543 คน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับแจ้งจำนวนลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างในระยะเวลา 10 เดือนแรกของปี 2547 มีจำนวน 121,464 คน โดยเป็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 47,783 คน อุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 4 อันดับแรกได้แก่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีจำนวน 6,494 คน รองลงมาคืออุตสาหกรรมฟอกและตกแต่งหนังสัตว์ จำนวน 4,317 คน อุตสาหกรรมยางและพลาสติก จำนวน 4,314 คน และ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ จำนวน 4,174 คน
ส่วนสถานประกอบการที่เลิกกิจการมีจำนวน 16,203 แห่ง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการ มากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ 686 แห่ง รองลงมาคืออุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ 591 แห่ง อุตสาหกรรมการผลิตโลหะประดิษฐ์ จำนวน 292 แห่ง
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในปี 2547 มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นมากจากปี 2546 โดยคาดการณ์ว่าการค้า ต่างประเทศของไทยจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 192,868.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า97,435.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าประมาณ 95,432.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2546 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.43 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.21 ส่งผลให้การเกินดุลการค้าของไทยในปี 2547 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,003.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงร้อยละ 61.61เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกตลอด 11 เดือนแรกของปี 2547 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการส่งออกเกินกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯทุกเดือน โดยในเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 8,800.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม-พฤศจิกายน) ประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรม 69,267.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.60) สินค้าเกษตรกรรม 9,382.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.50) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 5,836.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(คิดเป็นร้อยละ 6.50) สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิง 3,294.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.70) และสินค้าอื่นๆ 1,451.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.60)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าทุกตัวมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าเกษตรกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 24.5 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.3 ส่วนสินค้าอื่นๆลดลงร้อยละ 13.6
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2547 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 8,384.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ ยานพาหนะและอุปกรณ์ 5,145.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 4,615.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 3,108.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 3,010.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 2,847.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เสื้อผ้าสำเร็จรูป 2,797.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 2,441.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 2,432.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 2,281.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 37,063.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 41.53 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ตลาดส่งออก
ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2547 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา
สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 72.83 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในทุกตลาดหลัก โดยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 ตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 19.7 ตลาดจีนเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 26.5 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 ตลาดสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 และตลาดอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1
โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2547 ประกอบด้วยสินค้าทุน มีมูลค่าสูงที่สุด 37,640.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 43.10) รองลงมาเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ 26,958.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 30.8) สินค้าเชื้อเพลิง 11,747.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.4) สินค้าอุปโภคบริโภค 6,847.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.8) สินค้าหมวดยานพาหนะ 3,367.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.9) และ สินค้าอื่นๆ 870.4 (คิดเป็นร้อยละ 1.0)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าทุกหมวดมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว โดยสินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.3 และสินค้าหมวดยานพาหนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 สินค้าหมวดอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2
แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีนโดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2546 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 66.26 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.5 ,สหภาพยุโรป ร้อยละ 23.9 , ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 ,สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0, จีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 และจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7
แนวโน้มการส่งออก
สถานการณ์การค้าในปี 2548 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าการส่งออกให้สูงขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกรวมทั้งปี 2548 น่าจะมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆด้านประกอบกันด้วย โดย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ