รัฐควรกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาของเขตพื้นที่ฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงหน่วยงานเอกชน เพื่อเป็นกรอบสำหรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น การกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอย่างน้อยให้เท่ากับสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศต่องบประมาณแผ่นดิน (ประมาณร้อยละ 20) การกำหนดสัดส่วนครูต่อนักเรียน การกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในทุกเขตพื้นที่ เป็นต้น
4.6.2 ทบทวนการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา (reallocate resource)
การสำรวจทรัพยากรทางการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อประเมินว่าเขตพื้นที่ การศึกษาแต่ละเขตมีทรัพยากรทางการศึกษาเพียงพอหรือไม่ ขาดแคลนทรัพยากรประเภทใด และมีทรัพยากรใดเกินความจำเป็น ข้อมูลการสำรวจจะเป็นประโยชน์ในการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรให้แต่ละเขตพื้นที่มีทรัพยากรเพียงพอที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้การจัดสรรทรัพยากรใหม่มีความจำเป็นต้องโยกย้ายทรัพยากรจากพื้นที่ที่มีมากเกินความจำเป็นไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน หรือรัฐจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมให้แก่เขตพื้นที่ หรืออาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของเขตพื้นที่การศึกษาบางเขต รวมทั้งการจัดทำแผนที่โรงเรียน (school mapping) เพื่อกำหนดจุดที่ตั้งโรงเรียนของรัฐอย่างเหมาะสมกับจำนวนนักเรียนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องยุบควบรวม หรือเปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ รวมถึงการพิจารณาโรงเรียนเอกชนด้วย
4.6.3 จัดสรรงบประมาณสำหรับการสำรวจและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น
รัฐควรสนับสนุนงบประมาณในการสำรวจแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการจัดระบบ และพัฒนาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมทั้งทำให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาแหล่งเรียนรู้ โดยแหล่งเรียนรู้ที่ควรได้รับการสนับสนุน เช่น พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน เป็นต้น
4.6.4 ให้อำนาจท้องถิ่นในการระดมทรัพยากร
รัฐควรกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษา สามารถระดมทรัพยากรได้เองมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสะสมรายได้สำหรับการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน การอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีการศึกษาได้ การให้อำนาจในการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนทางการศึกษาในท้องถิ่น เป็นต้น
4.6.5 สร้างกลไกในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
รัฐควรจัดโครงสร้างและระบบการศึกษาให้มีการประสานงานระหว่างเขตพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างเขตพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การจัดให้มีการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อย่างสม่ำเสมอ การจัดระบบและเชื่อมโยงข้อมูลการดำเนินงานของเขตพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้แต่ละเขตพื้นที่ทราบว่าเขตพื้นที่อื่นมีทรัพยากรอะไร และจะขอความช่วยเหลือหรือร่วมมือกับเขตพื้นที่อื่นได้อย่างไร ทั้งนี้รัฐควรจัดระบบประเมินผลและให้ผลตอบแทนกับเขตพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือกับกับเขตพื้นที่อื่นด้วย
4.7 สร้างบรรยากาศการจูงใจและพัฒนาตนเอง
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการกระจายอำนาจและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา คือการสร้างบรรยากาศของการกำหนดมาตรการจูงใจ ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษามากขึ้น และจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น รัฐจึงควรดำเนินการสร้างบรรยากาศและมีมาตรการจูงใจและพัฒนา ดังต่อไปนี้
7.7.1 จัดการพัฒนาระดับชาติระหว่างบุคคลและหน่วยงานที่จัดการศึกษา
รัฐควรจัดให้มีการพัฒนาระดับชาติระหว่างครู และระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษา โดยแยกตามประเภทของหน่วยงานที่จัดการศึกษา คือ เขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และผู้จัดการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ และแยกตามประเภทและระดับของการศึกษา โดยการกำหนดดัชนีชี้วัดการดำเนินงานของครูและหน่วยงานต่าง ๆ
4.7.2 ส่งเสริมการจัดการศึกษาของเอกชนและองค์กรอื่น
รัฐควรกำหนดมาตรการส่งเสริมการจัดการศึกษาของเอกชนและองค์กรอื่น เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการศึกษามากขึ้น ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาควรเป็นการจัดงบประมาณด้านอุปสงค์ (demand-side budgeting) เพื่อสร้างบรรยากาศในการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษา และดึงดูดผู้เรียนให้เข้าเรียนในสถานศึกษาของตน อย่างไรก็ตาม รัฐควรจัดสรรงบประมาณด้านอุปทานสำหรับท้องถิ่นที่มีโรงเรียนจำกัด มีข้อจำกัดในการโยกย้ายนักเรียนข้ามพื้นที่ และไม่มีการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ เป็นทางเลือก ซึ่งการจัดสรรงบประมาณด้านอุปสงค์จะใช้ไม่ได้ผล
4.7.3 ยกเลิกการผูกขาดการจัดทำสื่อการเรียนการสอน
รัฐควรยกเลิกการผูกขาดการผลิตตำราและสื่อการเรียนการสอน แต่ควรสนับสนุนให้มีการผลิตตำราและสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย และให้หน่วยงานด้านการศึกษาในท้องถิ่นมีเสรีภาพในการเลือกใช้ตำราและสื่อการสอนต่าง ๆ ในขณะที่รัฐทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบว่าตำราและสื่อการเรียนการสอนนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ การแข่งขันจะทำให้ตำราและสื่อการเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น ท้องถิ่นมีทางเลือกมากขึ้น และราคาต่ำลง
4.7.4 กำหนดมาตรการจูงใจให้มีประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษา
รัฐ เขตพื้นที่ฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาควรกำหนดมาตรการจูงใจในแต่ละระดับ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น โดยการให้สิทธิพิเศษบางประการแก่บุตรหลานของผู้ปกครองหรือประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาเป็นอย่างดี เช่น สิทธิพิเศษในการรับทุนการศึกษา สิทธิพิเศษในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สิทธิพิเศษในการเข้าเป็นกรรมการสถานศึกษา เป็นต้น
4.8 จัดกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุล
การจัดระบบการศึกษาในท้องถิ่นควรจัดให้มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาโดยชุมชน ซึ่งมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
4.8.1 จัดตั้งสภาการศึกษาของท้องถิ่น
รัฐควรกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาการศึกษาของท้องถิ่น ซึ่งมีที่องค์ประกอบหลักประกอบด้วย ผู้ปกครอง ครู และผู้นำชุมชน สภาการศึกษาของท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่สำคัญ ๆ คือการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการสถานศึกษา กำหนดที่มาและคุณสมบัติของกรรมการสถานศึกษา ตรวจสอบการทำงานของกรรมการสถานศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา ประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษา กำหนดธรรมนูญของสถานศึกษาและกฎระเบียบในการปฏิบัติงานของกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งพิจารณาอนุมัติแผนงานและแผนการใช้งบประมาณประจำปีของสถานศึกษา
4.8.2 จัดทำแผนการจัดการศึกษาและรายงานผลการดำเนินงานทุกปี
ผู้บริหารโรงเรียนและคณะกรรมการโรงเรียน จะต้องทำแผนการจัดการศึกษา แผนการใช้งบประมาณประจำปีเพื่อขอการอนุมัติจากสภาการศึกษาของท้องถิ่น และรายผลการดำเนินงานแก่สภาการศึกษาของท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนมีรส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา ประเมินผล และให้ความเห็นและคำแนะนำในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
4.8.3 พัฒนาระบบข้อมูลการดำเนินการของสถานศึกษา
รัฐควรสนับสนุนการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของสถานศึกษาจากทุกแหล่ง ทั้งข้อมูลที่จัดเก็บโดยครูและบุคลากรในสถานศึกษา ข้อมูลการประเมินผลการดำเนินจากหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก ข้อมูลจากการจัดทดสอบระดับชาติประจำปี (รัฐควรพัฒนาระบบประเมินและตรวจสอบผลการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการ เช่น การจัดการทดสอบผู้บริหารการศึกษา ครู และนักเรียนอย่างสม่ำเสมอทุกปี) รวมทั้งข้อมูลจากความเห็นของนักเรียน ฐานข้อมูลดังกล่าวจะต้องจัดรูปแบบการเผยแพร่ให้เข้าใจได้ง่าย เช่น ทำเป็นคะแนนรวม ให้เกรด เป็นต้น และต้องเข้าถึงได้ง่าย เพื่อทำให้ผู้ปกครองและประชาชนในท้องถิ่นสามารถรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่จัดการศึกษาได้อย่างถูกต้อง
4.8.4 กระจายอำนาจด้านการบริหารบุคลากรแก่ท้องถิ่นมากขึ้น
ในปัจจุบัน ผู้บริหารการศึกษาในท้องถิ่นได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางจึงยึดโยงกับส่วนกลางมากกว่าจะดำเนินการเพื่อตอบสนองท้องถิ่น ดังนั้นรัฐควรกระจายอำนาจให้ชุมชนมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารการศึกษาในท้องถิ่น โดยจัดระบบให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสเลือกผู้บริหารที่มีฝีมือมากที่สุดก่อน รวมทั้งการเสนอความเห็นแก่ผู้บริหาร
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความมุ่งหวังว่าข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานด้านการศึกษาของรัฐบาล หากได้มีการนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อที่จะเห็นการพัฒนาการศึกษาของชาติประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9