ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 1, 2004 13:51 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เดือนกันยายน 2547 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวจากการผลิตนอกภาคเกษตรเป็นสำคัญ ภาคเกษตรราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน และต่ำกว่าในเดือนเดียวกันของปีก่อน มันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามความต้องการของตลาด  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาลดลง การผลิตนอกภาคเกษตรการใช้จ่ายภาคเอกชน  เพิ่มขึ้น เห็นได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีทิศทางที่ดี ภาคการก่อสร้างขยายตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ความต้องการ   แรงงานมีเพิ่มขึ้น ภาคการคลังรัฐบาล การจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 3.5 การค้าชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ปรับตัวดีขึ้น 
1. ภาคการเกษตร
ข้าว ในเดือนกันยายน การทำนาประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ นครพนม และชัยภูมิ ราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลง ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% เกวียนละ 7,343 บาท เทียบกับเดือนก่อนราคาเกวียนละ 7,628 บาท ลดลงร้อยละ 3.7 และเมื่อเทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งราคาเกวียนละ 8,999 บาท ลดลงร้อยละ 18.4 ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เกวียนละ 5,760 บาท เทียบกับเดือนก่อน ซึ่งราคาเกวียนละ 6,028 บาท ลดลงร้อยละ 4.4 และเมื่อเทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งราคาเกวียนละ 6,543 บาท ลดลงร้อยละ 12.0
ไตรมาส 3 ปี 2547 การทำนาฤดูการผลิตปี 2547/2548 ในช่วงกรกฎาคม สิงหาคม มีฝนตกกระจาย เป็นผลดีต่อการทำนา โดยเฉพาะพื้นที่นาดอน อย่างไรก็ตาม มีพื้นที่ประสบกับภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ประสบปัญหามากในจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และในเดือนกันยายนประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ประสบภัยเป็นบริเวณกว้าง คาดว่าผลผลิตที่ได้จะลดลงเมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อน ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% เกวียนละ 7,599 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เกวียนละ 8,651 บาท ลดลงร้อยละ 12.2 ราคาขายส่งเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เกวียนละ 6,025 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเกวียนละ 6,457 บาท ลดลงร้อยละ 6.7
มันสำปะหลัง การเพาะปลูกมันสำปะหลังเดือนนี้อยู่ระหว่างเจริญเติบโต ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาขายส่งเฉลี่ยหัวมันสำปะหลังกิโลกรัมละ 1.02 บาท เทียบกับเดือนก่อนราคากิโลกรัมละ 0.93 บาท สูงขึ้นร้อยละ 9.7 แต่เมื่อเทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 0.80 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 ราคา ขายส่งเฉลี่ยมันเส้นกิโลกรัมละ 2.74 บาท เทียบกับเดือนก่อนซึ่งกิโลกรัมละ 2.88 บาท ลดลงร้อยละ 4.9 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 2.30 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1
ไตรมาส 3 ปี 2547 ผลผลิตหัวมันสำปะหลังออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากมีฝนตก ในขณะที่ความต้องการหัวมันสำปะหลังมีมากตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคารับซื้อ มีแนวโน้มสูงขึ้น ราคาขายส่งเฉลี่ยหัวมันสำปะหลังไตรมาส 3 ปีนี้กิโลกรัมละ 0.96 บาท เทียบกับราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 0.85 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ราคาขายส่งเฉลี่ยมันเส้นกิโลกรัมละ 2.66 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 2.34 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเดือนนี้การผลิตอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการของตลาดลดลง เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการลดลงจากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ส่งผลถึงราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศปรับตัวลดลง โดยราคาขายส่งเฉลี่ยเดือนนี้กิโลกรัมละ 3.99 บาท เทียบกับเดือนก่อนซึ่งกิโลกรัมละ 4.12 บาท ลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับในเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกิโลกรัมละ 4.30 บาท ลดลงร้อยละ 7.2
ไตรมาส 3 ปี 2547 ในช่วงไตรมาส 3 ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ทั้งจากความต้องการในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับโรงงานอาหารสัตว์มีข้าวโพดในสต๊อกเพียงพอต่อการผลิต ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่โดยเฉลี่ยไตรมาส 3 ปีนี้ยังสูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.70 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กิโลกรัมละ 4.50 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4
2. การใช้จ่ายภาคเอกชน เดือนนี้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยพิจารณาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจที่โอนกำไรกลับไปต่างประเทศ ในจังหวัดนครราชสีมายื่นชำระภาษีเพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ
ด้านรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.3 รถยนต์บรรทุก ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 เนื่องจากการแข่งขันของตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ประกอบมีการนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดในเดือนนี้
ไตรมาส 3 ปี 2547 การใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พิจารณาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ตามการขยายตัวของปริมาณที่อยู่อาศัยด้านภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แป้งมันสำปะหลัง ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ธุรกิจที่โอนกำไรกลับไปต่างประเทศ และธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกเพิ่มขึ้น
ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 รถยนต์บรรทุก ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 เนื่องจากการแข่งขันกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้จำหน่ายรถที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ และการนำรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
3. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในเดือนนี้ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลาง-เล็ก
การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ประเภทของกิจการที่สำคัญที่ตั้งขึ้นใหม่ ในเดือนนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง กิจการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง กิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยมีการลงทุนค่อนข้างสูงในโรงงานผลิตแป้งแปรรูป โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป การจดทะเบียนธุรกิจในเดือนนี้ ได้แก่บริษัทจำกัดเงินทุน 331.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 83.7 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เงินทุน 313.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.5
มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเดือนนี้ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโครงการและเงินลงทุนลดลงร้อยละ 41.6 และร้อยละ 80.8 โครงการที่ได้รับ การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีทั้งสิ้น 7 โครงการ ได้แก่ กิจการ โรงสีข้าวคุณภาพดี กิจการผลิต พืชผักผลไม้บรรจุกระป๋อง กิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบขึ้นรูปเพื่อการก่อสร้าง กิจการเขตอุตสาหกรรม กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ polymer และกิจการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นการขยายกิจการที่มีอยู่เดิม
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7
ไตรมาสที่ 3 ปี 2547 การลงทุนภาคเอกชนยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ และ โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนและการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
มีการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยบริษัทจำกัด เงินทุน 2,378.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 2 เท่าตัว(ร้อยละ 265.0) และห้างหุ้นส่วนจำกัด เงินทุน 801.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 ทั้งนี้ประเภทของธุรกิจที่มีการลงทุนมากในช่วงไตรมาสที่3 นี้ได้แก่ กิจการรับเหมาก่อสร้าง กิจการค้า วัสดุก่อสร้าง กิจการขนส่ง กิจการค้าพืชผลทางการเกษตร รวมถึงกิจการหอพักในหลายจังหวัด มีกิจการค้าไม้หลายแห่งที่จังหวัดหนองคาย เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ไม้ที่นำเข้ามาจาก สปป.ลาว เพื่อที่จะจำหน่ายต่อไป
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0
สำหรับในช่วงไตรมาสที่3 ของปีนี้มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวนรายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.0 แต่เงินลงทุนลดลงร้อยละ 52.7 เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีโครงการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงหลายโครงการ สำหรับกิจการ ที่ลงทุนในช่วงนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ การลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร กิจการที่สำคัญได้แก่ กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยอินทรีย์ กิจการผลิตน้ำยางข้นและ แปรรูปยาง กิจการไก่ปรุงสุก กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ หมวดอุตสาหกรรมเบา ประเภทกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
4. ภาคการก่อสร้าง พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในภาคฯเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยตามสวัสดิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ยังค้างอยู่ และตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2547 ธอส. ร่วมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) เปิดโครงการรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่อยู่อาศัยสำหรับสมาชิก กบข. โดยลักษณะของโครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. รีไฟแนนซ์สมาชิกกบข.ที่เป็นลูกค้าของธอส.เดิม และ 2. รีไฟแนนซ์ลูกค้าใหม่ที่ย้ายมาจากสถาบันการเงินอื่น โดย กบข. และ ธอส.ได้พิจารณาขยายระยะเวลาการยื่นกู้ในโครงการดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547และขยายระยะเวลาในการทำนิติกรรมออกไป จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 เร่งสมาชิกรีบยื่นเอกสารให้แล้วเสร็จเพื่อรับสิทธิอัตราดอกเบี้ยพิเศษระยะยาว สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการนั้น สมาชิกจะได้รับสิทธิในการไถ่ถอนภาระจำนองจากสถาบันการเงินอื่นมาสู่โครงการนี้ ซึ่งมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารทั่วไปโดยปีแรกอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 2.9 % ปีที่ 2 อยู่ที่ 3.5% และในปีที่ 3 อยู่ที่ 4.25% และหลังจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับ MRR — 1.75% โดยมีระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุดนานถึง 30 ปี
อีกทั้งในปัจจุบันมีสถาบันการเงินหลายๆแห่งให้สินเชื่อเกี่ยวกับด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งมีการแข่งขันกันหลายรูปแบบ เช่น ระยะเวลา เงื่อนไขของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการส่งเสริมเพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อมีการตัดสินใจในการซื้อบ้าน โดยมีภาวะสนับสนุนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังคงต่ำต่อเนื่องถึงปัจจุบันและเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการยังคงให้ความสนใจในการทำธุรกิจบ้านจัดสรร เนื่องจากบ้านที่สร้างเสร็จนั้น ในตลาดผู้ซื้อยังมีความต้องการ ซึ่งการลงทุนในด้านการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนที่ดีมากกว่าการลงทุนด้านการฝากเงินกับสถาบันการเงินในปัจจุบัน
พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในภาคฯเดือนนี้จำนวน 182,252 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีการขอรับอนุญาตฯ มากที่สุดในเดือนนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.9 ของการขออนุญาตก่อสร้างเดือนนี้ โดยการ ขอรับอนุญาตในภาคฯ แบ่งเป็นวัตถุประสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยสัดส่วนร้อยละ 61.8 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น พื้นที่เพื่อการพาณิชย์สัดส่วนร้อยละ 31.4 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดมหาสารคามเป็นการขออนุญาตต่อเติมห้างสรรพสินค้า เพื่อการบริการสัดส่วนร้อยละ6.7 ส่วนใหญ่เป็นการขออนุญาตสร้างหอพักในจังหวัดอุบลราชธานี
ไตรมาส 3 ปี 2547 พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างจำนวน 566,449 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีการขอรับอนุญาตฯ มาก ที่สุดสัดส่วนร้อยละ 16.2 โดยการขอรับอนุญาตในภาคฯแบ่งเป็นวัตถุประสงค์เพื่อที่อยู่อาศัย สัดส่วนร้อยละ 68.8 ส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานีและนครราชสีมาตามลำดับ พื้นที่เพื่อการพาณิชย์สัดส่วนร้อยละ22.9 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดมหาสารคาม อุบลราชธานีและขอนแก่นตามลำดับ เพื่อการบริการสัดส่วนร้อยละ 8.4 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี และมหาสารคาม ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการสร้างหอพัก
การซื้อขายที่ดิน
ภาวะการซื้อขายที่ดินในภาคฯมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนยังมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยอยู่มากประกอบกับมีแหล่งเงินจากสถาบันการเงินหลายสถาบันที่ให้สินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย ทั้งจากสถาบันการเงินของรัฐและของเอกชนโดยที่อัตราดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่ในระดับต่ำและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีอัตราต่ำ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อขายที่ดินเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยกันมากกว่าปีที่ผ่านมา
ข้อมูลประมาณการเดือนกันยายน 2547 การซื้อขายที่ดินในภาคฯ 14,005 ราย ลดลงร้อยละ2.9 แต่มูลค่าที่ใช้ในการซื้อขายที่ดิน 3,480.7 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จังหวัดนครราชสีมามีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด รองลงมา ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยภูมิ และหนองคาย ตามลำดับ
ไตรมาส 3 ปี 2547 ข้อมูลเบื้องต้นการซื้อขายที่ดินในภาคฯ 42,635 รายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และมูลค่าที่ใช้ในการซื้อขายที่ดิน 10,619.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ15.5 จาก ระยะเดียวกันของปีก่อนจังหวัดนครราชสีมามีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดจำนวน 7,662 ราย เป็นเงิน 2,029.1 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น 4,820 ราย เป็นเงิน 1,607.4 ล้านบาท อุดรธานี 4,038 ราย เป็นเงิน 932.6 ล้านบาท อุบลราชธานี 2,878 รายเป็นเงิน 777.2 ล้านบาท ชัยภูมิ 2,600 ราย เป็นเงิน 566.1 ล้านบาท และหนองคาย 1,473 ราย เป็นเงิน 552.9 ล้านบาท ตามลำดับ
5. การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนนี้การผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญในภาคฯเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงงานผลิตแป้งแปรรูป (Modified starch) ส่วนโรงงานแป้งมัน ลานมันเส้น มีการผลิตลดลง เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล ทั้งที่มีคำสั่งซื้อจากผู้ส่งออกเข้ามามากเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งในปีนี้ได้มีความต้องการแป้งมัน และ มันเส้นจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่คาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบคงจะคลี่คลายลง เนื่องจากผลผลิตจะเริ่มออกสู่ท้องตลาด อุตสาหกรรมแหอวน อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยังทำการผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เพื่อเตรียมจะส่งออกในช่วงปลายปี ตามฤดูกาล
สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.0 หลังจากได้ชะลอการผลิตมาได้ประมาณ 2 เดือนเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา ประกอบกับในปีนี้ได้มีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาด
ไตรมาส 3 ปี 2547 การผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคยังเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกยังขยายตัวดี ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังผลิตมันอัดเม็ด อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแหอวน และอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปขณะที่อุตสาหกรรมไก่แช่แข็งประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก รอบสองในช่วงไตรมาส 3 นี้ จึงไม่สามารถส่งออกได้ นอกจากการทำปรุงสุกซึ่งยังมีความต้องการจากต่างประเทศสูง แต่ต้องใช้ เงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างก็มีภาระหนี้สินจากปัญหาโรคระบาดรอบแรกอยู่แล้ว ทำให้ชะลอการผลิต และรอการแก้ไขจากภาครัฐต่อไป
อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักหลายแห่ง มีความต้องการที่จะว่าจ้างแรงงานต่างด้าวทดแทน แรงงานในท้องถิ่น เนื่องจากหลายแห่งได้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไม่สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อที่ขยายตัวต่อเนื่อง
6. ภาคการจ้างงาน
6.1 สถานภาพการทำงาน
ภาวะการทำงานของภาคฯ เดือนนี้ อัตราการว่างงานร้อยละ 2.0 สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งอัตราว่างงาน 1.4 โดยเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมสัดส่วนร้อยละ 56.2 และแรงงานนอกภาคเกษตรสัดส่วนร้อยละ 43.8 ส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้านการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน รองลงมาด้านการผลิตและการก่อสร้าง วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ประถมศึกษา และเป็นการทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์
ไตรมาส 3 ปี 2547 ภาวะการทำงานในภาคฯ อัตราการว่างงานร้อยละ1.3 สูงขึ้น จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอัตราว่างงานร้อยละ1.1 โดยเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม สัดส่วนร้อยละ 62.5 และแรงงานนอกภาคเกษตรสัดส่วนร้อยละ 37.5 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในด้านการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถเป็นจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน รองลงมาเป็นงานด้านการผลิตและการก่อสร้าง วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ต่ำกว่าประถมศึกษา และเป็นการทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์
6.2 แรงงานไทยในประเทศ การสมัครงานผ่านสำนักจัดหางานในภาคฯ เดือนนี้ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนมีตำแหน่งงานว่างจำนวน 9,735 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชัยภูมิสัดส่วนร้อยละ14.6 มหาสารคามสัดส่วนร้อยละ13.9 และมุกดาหารสัดส่วนร้อยละ 9.9
โดยมีผู้สมัครงานจำนวน 6,740 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา สัดส่วนร้อยละ 22.5 สกลนครสัดส่วนร้อยละ 11.8 และสุรินทร์สัดส่วนร้อยละ11.4
ส่วนผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานจำนวน 1,835 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาสัดส่วนร้อยละ 24.9 มหาสารคามสัดส่วนร้อยละ 10.4 และกาฬสินธุ์ สัดส่วนร้อยละ 8.7 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการบรรจุเข้าทำงานร้อยละ 18.8 ของตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่เป็นงานด้านการผลิตสัดส่วนร้อยละ 40.3 การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์สัดส่วนร้อยละ 24.1 บริการอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและการบริการสัดส่วนร้อยละ 10.4 และการบริหารราชการและการป้องกันประเทศสัดส่วนร้อยละ 10.3
ไตรมาส 3 ปี 2547 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน มีตำแหน่งงานว่าง 31,994 อัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษสัดส่วนร้อยละ17.6 หนองคายสัดส่วนร้อยละ14.6 และชัยภูมิสัดส่วนร้อยละ13.1 ผู้สมัครงาน 14,887 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาสัดส่วนร้อยละ 17.4 กาฬสินธุ์สัดส่วนร้อยละ10.4 และ สกลนครสัดส่วนร้อยละ 8.1 สำหรับผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 4,843 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาสัดส่วนร้อยละ 15.4 ร้อยเอ็ดสัดส่วนร้อยละ 11.5 กาฬสินธุ์ สัดส่วนร้อยละ 10.8 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการบรรจุเข้าทำงานร้อยละ 15.1 ของตำแหน่งงานว่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานด้านการผลิต รองลงมาเป็นการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ และการก่อสร้าง
6.3 แรงงานไทยที่ขออนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
สำหรับแรงงานไทยที่ขออนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศของภาคฯ เดือนนี้จำนวน 7,727 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นแรงงานชายสัดส่วนร้อยละ85.0 แรงงานหญิงสัดส่วนร้อยละ15.0 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.8 ของแรงงานทั้งประเทศจำนวน 12,495 คน ที่ขออนุมัติในเดือนนี้
อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีแรงงานขออนุมัติมากที่สุดในภาคฯจำนวน 1,608 คนรองลงมานครราชสีมา 1,248คน ขอนแก่น 734 คน บุรีรัมย์ 620 คน ชัยภูมิ 564 คน และหนองคาย 508 คน ประเทศที่แรงงานในภาคฯ ขออนุมัติไปทำงานมาก 6 อันดับคือ ไต้หวัน จำนวน 4,159 คน รองลงมาคือ อิสราเอล 1,059 คน เกาหลีใต้ 506 คน สิงคโปร์ 496 คน บรูไน 319 คนและญี่ปุ่น141 คน แรงงานไทยจากทั้งประเทศส่วนใหญ่จบประถมศึกษาปีที่ 6 และไปทำงานตำแหน่งงานด้านช่างและงานในโรงงานอุตสาหกรรม
ไตรมาส 3 ปี2547 แรงงานไทยในภาคฯที่ขออนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 24,030 คน ลดลงร้อยละ 2.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นแรงงานชายสัดส่วนร้อยละ85.0 แรงงานหญิงสัดส่วนร้อยละ 15.0 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.2 ของแรงงานจากทั้งประเทศจำนวน 37,458 คน ที่ขออนุมัติ
โดยอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีแรงงานขออนุมัติมากที่สุดในภาคฯจำนวน 4,884 คนรองลงมานครราชสีมา 4,006 คน ขอนแก่น 2,241 คน บุรีรัมย์ 1,939 คน ชัยภูมิ 1,700 คน และหนองคาย 1,664 คน ประเทศที่แรงงานในภาคฯขออนุมัติเดินทางไปทำงานมากที่สุด คือ ไต้หวัน 11,989 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.9 ของแรงงานทั้งประเทศที่ขออนุมัติเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันจำนวน 16,453 คน รองลงมา ได้แก่ ประเทศอิสราเอล เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บรูไนและญี่ปุ่น
7. การค้าชายแดน ขยายตัวทั้งด้านไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา
7.1 การค้าชายแดนไทย-ลาว
ภาวะการค้าชายแดนไทย-ลาวเดือนกันยายน 2547 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการค้า 1,662.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เนื่องจากการส่งออก 1,312.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าสำคัญทุกหมวด ส่วนการนำเข้า 350.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.7
สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค 181.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.1 ยานพาหนะและอุปกรณ์ 100.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.6 เหล็ก 52.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัว วัสดุก่อสร้าง 84.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.7 น้ำมันปิโตรเลียม 225.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 265.9 ล้านบาทลดลงร้อยละ 7.3
การค้าผ่านแดนไทย-ลาว
มูลค่าการค้าผ่านแดน 2,097.6 ล้านบาท
สินค้าผ่านแดนไทยไปลาว 1,479.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สินค้าสำคัญ ได้แก่ บุหรี่ 139.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เครื่องใช้ไฟฟ้า 57.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เครื่องจักรและอุปกรณ์ 802.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่ายี่สิบเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้าง
สินค้าขาออกจากลาว 618.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย 550.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.7 ส่วนสินค้าที่ลดลง ได้แก่ เมล็ดกาแฟดิบ 9.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 83.6 เนื่องจากผลผลิตในปีนี้น้อยจากปัญหาภัยแล้ง
ไตรมาส 3 ปี 2547 การค้าชายแดนไทย-ลาวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการค้า 5,288.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เป็นการส่งออก 4,167.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 การนำเข้า 1,121.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค 430.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.2 ยานพาหนะ 370.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.7 เครื่องใช้ไฟฟ้า 277.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ผ้าผืน 118.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 วัสดุก่อสร้าง 306.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 น้ำมันเชื้อเพลิง 637.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่ 27.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.3 พืชไร่ 48.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.3 ยานพาหนะและอุปกรณ์ใช้แล้ว 102.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น กว่าสองเท่าตัว ส่วนไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 889.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.4
การค้าผ่านแดน
มูลค่าการค้าผ่านแดน 5,787.3 ล้านบาท
สินค้าผ่านแดนไทยไปลาว 3,797.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.4 สินค้าสำคัญ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่ม 378.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.3 บุหรี่ 321.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ 275.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เครื่องจักรและอุปกรณ์ 1,772.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่าตัว
สินค้าขาออกจากลาว 1,989.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 1,732.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เฟอร์นิเจอร์ 32.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าตัว ส่วนเมล็ดกาแฟดิบ 49.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57.0 ไม้แปรรูป 78.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.2
7.2 การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา
การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาผ่านด่านศุลกากรเดือนกันยายน 2547 มีมูลค่า 1,935.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.3 โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 1,797.7 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 138.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 35.4 และร้อยละ 34.4 ตามลำดับ
การส่งออก สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มูลค่า 218.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนกว่าเท่าตัว วัสดุก่อสร้าง (รวมหลอด ท่อ และยางมะตอย) มูลค่า 162.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงอื่น มูลค่า 144.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 78.5
การนำเข้า สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (รวมหวาย) มูลค่า 8.7 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.4 และเป็นที่น่าสังเกตว่าในเดือนนี้ การนำเข้าเสื้อผ้าเก่า (ผ้าห่มเก่า) มีมูลค่าสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยมีมูลค่า 16.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเกือบ 80 เท่าตัว
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ