= การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขอหารือในเรื่องต่าง ๆ แล้ว เมื่อครบองค์ประชุม ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้พิจารณาและรับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชี
กำไรและขาดทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๔๓ ประจำปี ๒๕๔๔ และประจำปี ๒๕๔๕
๒. รับทราบเรื่องวุฒิสภาลงมติตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๒ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ….
๒. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ….
๓. รับทราบเรื่องวุฒิสภาลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารหนี้
สาธารณะ พ.ศ. …. ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๔
ที่ประชุมรับทราบ
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ถอนระเบียบวาระเรื่องด่วน เรื่องขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา กรณีประธานอนุกรรมการไต่สวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ เรียกตัว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาไปพบเพื่อรับทราบ ข้อกล่าวหา ในระหว่างสมัยประชุมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๖๕ ตามที่ประธาน การประชุมเสนอ
๓. รับรองรายงานการประชุม
ประธานการประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ดังนี้
ครั้งที่ ๑ (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๒ (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ และ
ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗
ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว ตามที่เสนอ
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามลำดับดังนี้
๑. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. ตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า วุฒิสภาได้มีการแก้ไขในหลายมาตรา โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งวุฒิสภาได้แก้ไขปรับข้อกำหนดว่าจะต้องไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งอาจกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในเขต ป่าอนุรักษ์ได้ ในเรื่องการห้ามการทำไม้ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ในป่าชุมชนมีการแก้ไขที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ และได้ตั้งข้อสังเกตว่าระหว่างที่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มี ผลบังคับใช้ควรมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อเตรียมการรองรับเอาไว้ก่อนเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แก่ประชาชนด้วย หลังจากที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้พอสมควรแล้วได้ลงมติ ไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ด้วยคะแนน ๒๐๐ เสียง โดยมีมติกำหนดจำนวนบุคคล ที่จะประกอบกันเป็นกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จำนวน ๒๔ คน โดยสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑๒ คน วุฒิสภา ๑๒ คน
๒. การพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพิ่มเติม
ซึ่งคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้ว
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการประชุมลับตามที่ประธานการประชุมเสนอ
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมลับแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบวาระต่าง ๆ ต่อ ดังนี้
๓. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วย คะแนนเสียง เห็นด้วย ๒๒๑ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
๔. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (การงดการบังคับคดีและการขายทอดตลาด) ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
จากนั้นประธานกรรมาธิการร่วมกันได้แถลงต่อที่ประชุมว่าคณะกรรมาธิการร่วมกัน เห็นชอบด้วยกับวุฒิสภาซึ่งแก้ไขในเรื่องการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินในกรณีที่เห็นว่า ราคาต่ำเกินควร โดยกรรมาธิการร่วมกันได้กำหนดระยะเวลาในการร้องคัดค้านไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีของศาลด้วย เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้แล้ว ได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๔๔ เสียง เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
๕. ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า เรื่ององค์ประกอบของ คณะกรรมการมาตรฐานงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เหตุใดจึงมีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นจากสามคนเป็นเจ็ดคน ซึ่งบางตำแหน่งเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และเนื่องจากกรรมการโดยตำแหน่งมีงานประจำที่ต้องปฏิบัติมาก อาจกระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการได้ ซึ่งกรรมาธิการได้ตอบชี้แจงว่า การเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการโดยตำแหน่งให้มากขึ้นนั้น เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ที่กำหนดเพิ่มนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานประสานกันมากขึ้นและในเรื่องของการเข้าประชุมนั้นเห็นว่ากรรมการโดยตำแหน่งสามารถมอบหมายให้ผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมได้อยู่แล้วจึงไม่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๔๔ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
๖. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง (ฉบับที่..)
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า เรื่องการคิดค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งกรรมาธิการแก้ไขให้เสียค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละหนึ่งของทุนทรัพย์ แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทนั้นควร คงไว้ตามร่างเดิมซึ่งใช้การกำหนดในลักษณะเดียวกันกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและ คดีแพ่งในศาลยุติธรรม จากนั้นกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า ในเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมของศาลปกครองนั้นเห็นว่ามีความแตกต่างจากการกำหนดค่าธรรมเนียมของศาลยุติธรรมซึ่งการที่กรรมาธิการแก้ไขนั้นเหมาะสมแล้วและน่าจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า เนื่องจากกำหนดค่าธรรมเนียมไว้ต่ำกว่าในกรณีของคดีแพ่ง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสร้องทุกข์ได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการโดยได้มีมติให้คงไว้ตามร่างเดิม เมื่อที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวพอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๑๗ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
๗. ร่างพระราชบัญญัติการช่วยเหลือและกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี
เป็นผู้เสนอ
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากการเดินเรืออาจต้องประสบภยันตรายอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่เรือ ทรัพย์สิน หรือบุคคล บนเรือ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือกู้ภัย การกำหนดเงินตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัย จะส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเรือหรือทรัพย์สินที่ประสบภยันตรายทางทะเลและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดแก่ สิ่งแวดล้อม ประกอบกับการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเลมีลักษณะเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล สมควรมีกฎหมายพิเศษที่วางหลักเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือกู้ภัยและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับเงินตอบแทนของผู้ช่วยเหลือกู้ภัยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า ในกฎหมายฉบับนี้ควรกำหนดคำนิยามของคำว่า ทะเล ไว้ด้วย เพื่อความชัดเจนในการกำหนดขอบเขต หลังจากอภิปราย พอสมควรแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ ให้รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติการช่วยเหลือและกู้ภัยทางทะเล พ.ศ. …. ด้วยคะแนน ๒๑๗ เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๗ วัน
๘. ร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อขยายถนน สาย ค ๑๐ ตามโครงการผังเมืองรวม เมืองเพชรบูรณ์ ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ปรากฏว่าเจ้าของที่ดิน ส่วนใหญ่ได้ตกลงขายที่ดินที่ถูกเขตขยายถนน สาย ค ๑๐ และยินยอมรับราคาค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินได้กำหนดให้ แต่มีเจ้าของที่ดินจำนวน ๓ รายไม่ยินยอมรับราคาค่าทดแทน ตามที่คณะกรรมาธิการดังกล่าวกำหนดให้ ในการนี้ สมควรเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ หลังจากที่ประชุมได้พิจารณาแล้วได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเสียง ๑๙๗ เสียง และมีมติกำหนดให้คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้พิจารณา กำหนดแปรญัตติภายใน ๗ วัน
๙. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. …. (การขอพระราชทานอภัยโทษ) ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงต่อที่ประชุมว่า โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้โอนกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังในคดีอาญาไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น บทบัญญัติว่าด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว จึงไม่สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ในการขอพระราชทานอภัยโทษ จึงจำเป็นต้องพระราชบัญญัตินี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ขอให้มีการดูแลเรื่องคุณภาพของอาหารที่จัดให้แก่ผู้ต้องขังด้วย และควรมีการพิจารณาหาทางในการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างไทยกับไต้หวันด้วย หลังจากที่ประชุมได้พิจารณาแล้วได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. …. (การขอพระราชทานอภัยโทษ) ด้วยคะแนนเสียง ๒๑๖ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา จำนวน ๓๕ คน กำหนดการแปรญัตติภายใน ๓ วัน
ปิดประชุมเวลา ๑๘.๐๘ นาฬิกา
สรุปการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๐.๑๕ นาฬิกา โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธานการประชุมได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (ไม่มี)
๒. รับรองรายงานการประชุม (ไม่มี)
๓. เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว (ไม่มี)
๔. เรื่องที่ค้างพิจารณา (ไม่มี)
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่เสนอใหม่ เรื่อง ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงาน สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกในประเทศไทย โดยสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายซักถามเกี่ยวกับ เอกสิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกจะได้รับ เนื่องจากสำนักงาน สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องมีเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศเข้ามาทำงานด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นจะได้รับเอกสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของสถานทูตหรือไม่ และเหตุใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจึงไม่ได้รับเอกสิทธิ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังซักถามถึงการจัดตั้งสำนักงานและโครงสร้างต่าง ๆ ตลอดจนภาษีท้องถิ่นอื่น ๆ อีกด้วย
จากนั้นนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร ได้อภิปรายชี้แจงว่า ความตกลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๕ โดยเป็นความตกลงร่วมกันของ ๔ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และไทย เพื่อขยายการให้ความสะดวกและส่งเสริมความร่วมมือด้านการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างหน่วยงานไปรษณีย์ในภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศ ประกอบไปด้วยที่ประชุมใหญ่ สภาบริหาร สำนักงานกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และศูนย์ฝึกอบรมไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณอาคารที่ทำการ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ทั้งนี้เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกขึ้นแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย โดยอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ลงนามในความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษของศูนย์ฝึกอบรมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๘ และนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติคุ้มครอง การดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อรองรับสถานภาพนิติบุคคลและให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นทางการในประเทศไทย แต่เนื่องจากในที่ประชุมของสภาบริหารสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เมื่อปี ๒๕๔๒ ณ สาธารณรัฐอิสลาม ปากีสถาน ได้มีการพิจารณาให้รวมองค์กรของสหภาพ โดยรวมสำนักงานกลาง ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่กรุงเทพฯ เข้าไว้ด้วยกัน และจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ เรียกว่า สำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยในปี ๒๕๔๒ ได้มอบอำนาจให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมประชุมด้วย โดยการตั้งสำนักงานดังกล่าวถือเป็นเกียรติประวัติและชื่อเสียงของประเทศ ที่ทางสหภาพได้ นำเสนอให้รวมองค์กรและจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งเป็นการช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ การพัฒนากิจการด้านบริการไปรษณีย์ในภูมิภาค
สำหรับข้อซักถามในเรื่องของการคุ้มครองให้การรับรองสถานภาพสิทธินิติบุคคลและสิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกว่า จะนำมาบังคับใช้กับสำนักงาน สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกได้หรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ชี้แจงว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าศูนย์ฝึกอบรมนั้นเป็นองค์กรต่างหากจากสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงต้องนำเสนอข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การตราพระราชบัญญัติ เพื่อรับรองสิทธิและสถานภาพของบุคลากรที่จะมาทำงานในองค์กรนี้ต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกนั้นจะมีเอกสิทธิ์ต่าง ๆ น้อยกว่าเจ้าหน้าที่ของสถานทูต และสาเหตุที่ต้องมีการระบุภาษีท้องถิ่นไว้ในความตกลง เนื่องจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่นั้นเข้าข่ายอยู่ในภาษีท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะต้องบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน และหากมีการแก้ไขข้อตกลงที่จะนำไปสู่ผลกระทบตามมาตรา ๒๒๔ คือ ต้องมีการออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาอีก หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐในกรณีของการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสำหรับเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารไม่ได้รับการ ยกเว้นในเรื่องเอกสิทธิ์นั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์กรเป็นคนไทย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในบทเฉพาะกาลว่า กิจการ ทรัพย์สิน หนี้สินใด ๆ ของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่เกี่ยวข้องกับด้านโทรคมนาคม ยกเว้นกิจการไปรษณีย์ให้โอนไปเป็นของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำหรับกิจการไปรษณีย์นั้นให้โอนไปที่สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล กิจการไปรษณีย์และคาดว่าจะเปิดให้มีการแข่งขันต่อไปในอนาคตด้วย
ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงาน สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกในประเทศไทย ด้วยคะแนน ๒๐๒ เสียง
ปิดประชุมเวลา ๑๑.๑๐ นาฬิกา
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธานการประชุมได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบวาระ คือ ระเบียบวาระที่ ๑
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายนริศร ทองธิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร
พรรคชาติไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การจับกุมผู้มีปืนแก๊ปไว้ในครอบครอง ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสุธรรม แสงประทุม) เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า ผลจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะนำความสงบสุขมาสู่สังคมและประชาชน โดยการจัดระเบียบด้าน ต่าง ๆ เช่น การขจัดอิทธิพล โดยดำเนินการให้ผู้ที่มีอาวุธปืนและไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองสามารถนำอาวุธดังกล่าวมามอบให้กับทางการได้ ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ และจะ ไม่มีความผิด แต่จะไม่มีการอนุญาตจดทะเบียนอาวุธปืนที่ผิดกฎหมายเหล่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนดำเนินการจับกุมผู้ที่มีอาวุธปืนที่ ผิดกฎหมายและครอบครองอย่างจริงจัง
๒. กระทู้ถามสดของนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การจัดซื้อปืนใหญ่ ขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบ จำนวน ๒๒ กระบอก ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก สัมพันธ์ บุญญานันต์) เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า การเดินทางไปเยือนประเทศอังกฤษของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งได้ให้กองทัพจัดทำบัญชีอาวุธที่ต้องการ ซึ่งการเดินทางไปเจรจานั้นเป็นการเจรจาระหว่างหัวหน้ารัฐบาลในภาพกว้าง และได้ลงนามร่วมกันที่จะให้กระทรวงกลาโหมของอังกฤษมาช่วยพัฒนากองทัพไทย จึงเกิดโครงการตอบแทนกลับคืนทางเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งทางอังกฤษได้ให้บริษัทเอกชนมาเป็นผู้เจรจาในนามรัฐบาล สำหรับประเทศไทย ได้แต่งตั้งให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษได้เดินทางมาลงนามข้อตกลงร่วมกัน ในเรื่องดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นความลับ และเอกสารก็ไม่ได้ตีตราลับ ในบันทึกข้อตกลงร่วมกันนั้น นายกรัฐมนตรีของอังกฤษมอบให้บริษัท BAE systems เป็นตัวแทนทำหนังสือรับรองโดยรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมที่เซ็นไว้
๓. กระทู้ถามสดของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง กรณีเดินทางไปแสวงบุญตามหลักการศาสนาอิสลาม ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๓
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๘ เรื่อง
๑. กระทู้ถามของนายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาใบอนุญาตเปิดบ่อนการพนัน ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสุธรรม แสงประทุม) เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า การเล่นพนันชนไก่ กัดปลา หรือชนโค เป็นการพนันบัญชี ข ลำดับ ๑ ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ คือ การเล่นต่าง ๆ ที่ใช้สัตว์ต่อสู้หรือแข่งขันกัน การพนันเหล่านี้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตสามารถออกใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นได้ และได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายแต่ละยุค แต่ในปี ๒๕๒๕ ได้มีนโยบายให้ลดแหล่งอบายมุขต่าง ๆ ลง โดยออกกฎระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเล่นการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. ๒๕๒๕ ขึ้น เพื่อห้ามมิให้มีการเปิดบ่อนการพนันชนไก่และกัดปลาเพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ใครได้รับอนุญาตจะหมดไปตามอายุขัยของผู้ได้รับอนุญาต ดังนั้นจึงได้มีการเรียกร้อง ให้มีการอนุญาตเพื่อให้มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าผู้ว่าแบบบูรณาการเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของจังหวัด จึงเห็นสมควรให้ผู้ว่าฯ ใช้ดุลยพินิจพิจารณาสั่งอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตเล่นการพนันชนไก่และกัดปลาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้วางระเบียบเกี่ยวกับการสั่งอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตจัดการเล่นการพนันชนไก่และกัดปลาใหม่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลจังหวัดนอกเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนในกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้พิจารณาสั่งการให้เปิดบ่อนฯ ขึ้นใหม่ได้ แต่การพนันชนโคยังคงห้ามมิให้เปิดบ่อนอยู่
สำหรับการออกใบอนุญาตเปิดบ่อนฯ ขึ้นใหม่นั้น ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ดุลยพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสม ไม่มอมเมาประชาชนเล่นการพนัน โดยพิจารณาถึงวัฒนธรรมประเพณีและความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น รวมถึงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่และปลากัดเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้และต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ไม่เป็นการทรมาน ทารุณสัตว์ และให้มีการกวดขันบ่อนชนไก่และบ่อนกัดปลาในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป มีการเล่นการพนันดังกล่าวและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนสามารถดำเนินการตามกฎหมายและเรียก ใบอนุญาตคืนได้
๒. กระทู้ถามของนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรในจังหวัดตรัง ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสุธรรม แสงประทุม) เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือที่สงวนหวงห้าม จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ก่อนมีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ ต้องมีการสำรวจและตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และคำนึงถึงการทำมาหากินของราษฎร แต่ที่ผ่านมาขาดเครื่องมือในการตรวจสอบ จึงมีผลกระทบและความไม่ชัดเจนเกิดขึ้น จึงก่อให้เกิดปัญหาในหลายพื้นที่ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายคุ้มครองและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติขึ้น อย่างไรก็ตามการประกาศเป็นอุทยานหรือป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวนี้ ในความเป็นจริงไม่ต้องการให้กระทบสิทธิของราษฎรที่ถือครองมาก่อนมีการประกาศ โดยมี สค.๑ หรือหนังสือรับรองสิทธิการครอบครองสามารถขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ แม้จะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติก็ตาม และถ้าได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมไม่กระทบสิทธิของราษฎร สำหรับราษฎรที่ยังไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและไม่สามารถออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และมี สค.๑ ถ้ารัฐบาลได้มีการยกเลิกเพิกถอนป่าดังกล่าวและได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ที่สามารถออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ราษฎรสามารถดำเนินการเดินสำรวจและออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้
๓. กระทู้ถามของนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การปรับปรุงถนนสายบ้านหนองหัน - แก่งไฮ - แก่งหว้า ถาม นายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสุธรรม แสงประทุม) เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า ถนนสายดังกล่าวนี้เป็นถนนที่อยู่ในเขตป่าสงวนเขากระยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติมอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดิม ซึ่งขณะนี้หลังจากมีการปฏิรูประบบราชการใหม่ได้มาอยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถนนดังกล่าวนี้เป็นถนนลูกรัง มีขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ กิโลเมตร หลังจากมีการใช้ถนนดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการชำรุดทรุดโทรม และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกได้ทำการปรับปรุงสร้างถนนให้ดีและสอดคล้องกับการใช้งานของราษฎรเรียบร้อยแล้ว
๔. กระทู้ถามของนายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ตั้งกระทู้ถามได้ขอถอนกระทู้ถามออกไป ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไปตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
๕. กระทู้ถามของนายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง กรณีพระภิกษุสงฆ์ครอบครองทรัพย์บริจาคเป็นสมบัติส่วนตัว ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไปตาม ข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
๖. กระทู้ถามของนายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การส่งผลไม้จากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
๗. กระทู้ถามของนายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๔๗ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี) เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า สถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ในระหว่างวันที่ ๙-๑๘ เมษายนที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ๒๕,๕๓๓ ครั้ง จำแนกประเภทได้
รถจักรยานยนต์ ประมาณ ๖๖.๔๙%
รถปิกอัพ ประมาณ ๑๔.๘๑%
รถยนต์ส่วนบุคคล (แท็กซี่) ประมาณ ๔.๙๔%
รถตู้ ประมาณ ๐.๘๘%
รถโดยสาร ๔ ล้อขึ้นไป ประมาณ ๑.๒๓%
รถบรรทุก ๖ ล้อขึ้นไป ประมาณ ๑.๒๓%
สำหรับสถิติแยกเป็นจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง ๕ อันดับแรกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา จังหวัดลพบุรีไม่มีติดอันดับใน ๕ จังหวัด แต่จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ จังหวัดนครราชสีมา ๓๖ ราย กรุงเทพมหานคร ๒๖ ราย ขอนแก่น ๒๕ ราย กำแพงเพชร ๒๒ ราย และนครสวรรค์ ๒๐ ราย จากการวิเคราะห์พบว่าสาเหตุหลักคือ ผู้ขับรถส่วนใหญ่ประมาทและแซงตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด รวมทั้งแซงในที่คับขัน และช่วงเวลา ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ นาฬิกา เป็นช่วงเวลาที่มีอุบัติเหตุมากที่สุด และ สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นทางหลวงแผ่นดิน เขตเทศบาล และถนนในหมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน ร่วมมือกันดำเนินการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ ในช่วงสงกรานต์ ที่ผ่านมานั้นมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น ๖๕๔ คน ซึ่งลดลงจากปี ๒๕๔๖ ๑๙๔ คน มีผู้บาดเจ็บ ๓๖,๖๔๒ คน ลดลง ๑๕,๔๑๖ คน รวมทั้งมีการกวดขันและรณรงค์ให้มีการเปิดไฟสวมหมวกนิรภัย ตลอดจนมีการกวดขันจับกุมผู้เสพสุราขณะขับรถอย่างเข้มงวดด้วย
๘. กระทู้ถามของนายเอกภาพ พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ก่อสร้างถนน ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไปตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓๕
ปิดประชุมเวลา ๑๖.๐๕ นาฬิกา