สรุปการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๐.๑๕ นาฬิกา โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธานการประชุมได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (ไม่มี)
๒. รับรองรายงานการประชุม (ไม่มี)
๓. เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว (ไม่มี)
๔. เรื่องที่ค้างพิจารณา (ไม่มี)
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่เสนอใหม่ เรื่อง ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้ง สำนักงานใหญ่ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกในประเทศไทย โดยสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายซักถามเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกจะได้รับ เนื่องจากสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องมีเจ้าหน้าที่จากต่างประเทศเข้ามาทำงานด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้นจะได้รับเอกสิทธิ์เช่นเดียวกับ เจ้าหน้าที่ของสถานทูตหรือไม่ และเหตุใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจึงไม่ได้รับเอกสิทธิ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังซักถามถึงการจัดตั้งสำนักงานและโครงสร้างต่าง ๆ ตลอดจนภาษีท้องถิ่นอื่น ๆ อีกด้วย
จากนั้นนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อภิปรายชี้แจงว่า ความตกลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๕ โดยเป็นความตกลงร่วมกันของ ๔ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และไทย เพื่อขยายการให้ความสะดวกและส่งเสริมความร่วมมือด้านการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างหน่วยงานไปรษณีย์ในภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศ ประกอบไปด้วยที่ประชุมใหญ่ สภาบริหาร สำนักงานกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา สาธารณรัฐ ฟิลิปปินส์ และศูนย์ฝึกอบรมไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณอาคารที่ทำการ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ทั้งนี้เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกขึ้นแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย โดยอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ลงนามในความตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษของศูนย์ฝึกอบรมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๘ และนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อรองรับสถานภาพนิติบุคคลและให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นทางการในประเทศไทย แต่เนื่องจากในที่ประชุมของสภาบริหารสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เมื่อปี ๒๕๔๒ ณ สาธารณรัฐอิสลาม ปากีสถาน ได้มีการพิจารณาให้รวมองค์กรของสหภาพ โดยรวมสำนักงานกลาง ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่กรุงเทพฯ เข้าไว้ด้วยกัน และจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ เรียกว่า สำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ที่ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยในปี ๒๕๔๒ ได้มอบอำนาจให้อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมประชุมด้วย โดยการตั้งสำนักงานดังกล่าวถือเป็นเกียรติประวัติและชื่อเสียงของประเทศ ที่ทาง สหภาพได้นำเสนอให้รวมองค์กรและจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งเป็นการช่วยให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางของการพัฒนากิจการด้านบริการไปรษณีย์ในภูมิภาค
สำหรับข้อซักถามในเรื่องของการคุ้มครองให้การรับรองสถานภาพสิทธินิติบุคคลและสิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกว่า จะนำมาบังคับใช้กับสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกได้หรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ชี้แจงว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าศูนย์ฝึกอบรมนั้นเป็นองค์กรต่างหากจากสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงต้อง นำเสนอข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การตราพระราชบัญญัติ เพื่อรับรองสิทธิและสถานภาพของบุคลากรที่จะมาทำงานในองค์กรนี้ต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกนั้นจะมีเอกสิทธิ์ต่าง ๆ น้อยกว่าเจ้าหน้าที่ของสถานทูต และสาเหตุที่ต้องมีการระบุภาษีท้องถิ่นไว้ในความ ตกลง เนื่องจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่นั้นเข้าข่ายอยู่ในภาษีท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะต้องบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน และหากมีการแก้ไขข้อตกลงที่จะนำไปสู่ผลกระทบตามมาตรา ๒๒๔ คือ ต้องมีการออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาอีก หรือมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐในกรณีของการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสำหรับเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องเอกสิทธิ์นั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์กรเป็นคนไทย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในบทเฉพาะกาลว่า กิจการ ทรัพย์สิน หนี้สินใด ๆ ของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ เกี่ยวข้องกับด้านโทรคมนาคม ยกเว้นกิจการไปรษณีย์ให้โอนไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำหรับกิจการไปรษณีย์นั้นให้โอนไปที่สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการไปรษณีย์ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล กิจการไปรษณีย์และคาดว่าจะเปิดให้มีการแข่งขันต่อไปในอนาคตด้วย
ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิกในประเทศไทย ด้วยคะแนน ๒๐๒ เสียง
ปิดประชุมเวลา ๑๑.๑๐ นาฬิกา