เมืองใหม่ จังหวัดนครนายกกับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2004 14:02 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับเมืองใหม่ จังหวัดนครนายกกับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้
1. ความเป็นมา
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) มีนโยบายให้ก่อสร้างเมืองใหม่บริเวณตอนเหนือของอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี โดยมีเป้าหมายประชากรในเบื้องต้น จำนวน 2.0 — 2.5 แสนคน และมีพื้นที่โครงการในเบื้องต้นประมาณ 1.5 — 1.6 แสนไร่ เป็นเมืองที่ทันสมัย มีสภาพแวดล้อมที่ดี ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในกิจกรรมเมืองด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจและพาณิชยกรรม การศึกษา สุขอนามัย อุตสาหกรรมสะอาด การคมนาคมและขนส่งขนาดใหญ่ที่มีความเร็วสูง เป็นต้น และจะพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบ ในการลดภาระของกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาเมืองใหม่นครนายกดังกล่าว ปัจจัยที่สำคัญด้านหนึ่งก็คือ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ทั้งด้านอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และท่องเที่ยวของเมืองใหม่ และด้านการเกษตรของชุมชนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม จากการทบทวนเบื้องต้น เมืองใหม่นครนายกต้องการน้ำประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และหากพัฒนาเต็มที่อาจจำเป็นต้องใช้น้ำถึง 150 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี นอกจากนั้นในบริเวณพื้นที่โครงการ ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภค และด้านการเกษตรของชุมชนเดิมอยู่แล้ว จึงนับว่าการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเมืองใหม่ และการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ในปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณา และอาจเป็นข้อจำกัดด้านหนึ่งของการพัฒนาเมืองใหม่นครนายกในอนาคตได้
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในโครงการเมืองใหม่ จังหวัดนครนายก ซึ่งจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ สอดคล้อง และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและกระจายน้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองใหม่ในด้านต่างๆ จึงได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะความเป็นไปได้ในการจัดหาพัฒนาแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในเมืองใหม่นครนายก ตลอดจนความคิดเห็นทั่วไปในประเด็นนโยบาย เป้าหมาย แผนงาน แผนงบประมาณ ของโครงการเมืองใหม่ จังหวัดนครนายก รวมทั้งความก้าวหน้าที่ทางภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อนำเสนอสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ได้ดำเนินการศึกษาโดย (1) ศึกษาจากเอกสารและรายงานที่เกี่ยวข้อง และ (2) จัดประชุมเสวนาเรื่อง “โครงการเมืองใหม่ จังหวัดนครนายก : แหล่งน้ำที่จะนำมาใช้” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำความรู้และข้อคิดเห็นที่ได้มาวิเคราะห์และประมวลเพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรี่องดังกล่าว นำเสนอสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ข้อมูลพื้นฐาน
3.1 โครงการเมืองใหม่นครนายก 1
โครงการเมืองใหม่นครนายก มีเป้าหมายประชากร จำนวน 2.5 แสนคน ขอบเขตการสำรวจและศึกษาเพื่อการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะฯ ครอบคลุมประมาณ 250,000 ไร่ ในพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 17 ตำบล ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนครนายก และจังหวัดสระบุรี ได้แก่
(1) อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก 1
ตำบลเขาเพิ่ม ตำบลศรีกะอาง ตำบลบ้านพริก ตำบลป่าขะ ตำบลบ้านนา ตำบลบ้านพร้าว ตำบลพิกุลทอง
(2) อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี
ตำบลเจริญธรรม ตำบลคลองเรือ ตำบลบ้านลำ ตำบลหนองสรวง ตำบลวิหารแดง
(3) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ตำบลชำผักแพว ตำบลท่ามะปราง ตำบลชะอม ตำบลห้วยแห้ง
(4) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
ตำบลมิตรภาพ
บริเวณที่ตั้งโครงการเมืองใหม่นครนายก มีศักยภาพพร้อมในด้านต่างๆ พื้นที่โครงการ มีระยะทางประมาณ 93 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในรัศมีการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่โครงการมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน โดยมีภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับกับที่ราบลอนลูกฟูกติดกับที่ราบลุ่ม ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเป็นหลัก และมีการตั้งถิ่นฐานเบาบาง โดยชุมชนกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเทศบาล และเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของรัฐ และที่ราชพัสดุ และที่ดินบางส่วนมีพระราชกฤษฎีกาใช้พื้นที่ในทางราชการอยู่แล้ว บริเวณโครงการจึงยังมีพื้นที่ว่างพอที่รัฐ จะเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินบางส่วน
แนวความคิดหลักในการพัฒนาเมืองใหม่ นครนายก คือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเมืองที่ทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก สวนสาธารณะ และสาธารณูปการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการเป็นอย่างดี มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีที่อยู่อาศัยใกล้กับแหล่งงาน มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดมลพิษ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกิจกรรมเมืองด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจและพาณิชยกรรม การศึกษา สุขอนามัย อุตสาหกรรมสะอาด มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัยและมีระบบคมนาคมขนส่งมวลชนที่สะดวกรวดเร็ว ประชาชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปการต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยการเดินเท้าหรือจักรยานและระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก มุ่งเน้นการลดจำนวนยานพาหนะส่วนบุคคล เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี ปลอดมลพิษ และมีบรรยากาศของเมืองแบบสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย
ฐานเศรษฐกิจของเมืองใหม่นครนายก จะมุ่งพัฒนาภาคธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมสะอาดที่ใช้ความรู้ความชำนาญทางวิชาชีพและเทคโนโลยีระดับสูง มีบทบาทเป็นศูนย์กลางพัฒนาผลิตภัณฑ์และเชื่อมโยงตลาดผู้ซื้อกับผู้ผลิต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระดับภูมิภาคเอเชียและระดับโลก ซึ่งจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่เข้มแข็งให้กับประเทศอีกแหล่งหนึ่ง
ตำแหน่งที่ตั้งเมืองใหม่ นครนายก เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี ตลอดจนมีสภาพภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขาและสภาพอากาศดี จึงมีศักยภาพในการพัฒนาบทบาทให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยพัฒนาให้เป็นแหล่งโรงแรมที่พักตากอากาศชั้นดี มีบริการนำเที่ยวระยะสั้นภายใน 1 วัน ไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ โดยรอบ และกลับมาพักค้างคืน ตลอดจนใช้บริการสำหรับการพักผ่อนในเมืองใหม่ ในขณะเดียวกันสามารถสร้างบทบาทให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านการโรงแรม การอาหาร และการท่องเที่ยวระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเอเชีย
ปัจจุบันโครงการเมืองใหม่ อยู่ในขั้นการดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำร่างองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารโครงการเมืองใหม่ โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ จำนวน 14 คณะ ด้วยกัน สำหรับในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำนั้นจะอยู่ในคณะอนุกรรมการด้านการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
สำหรับความก้าวหน้าของการกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการ ได้แก่ ขอบเขตพื้นที่เมืองใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนฯ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจเพื่อการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะฯ ประมาณ 250,000 ไร่ และในขอบเขตเมืองใหม่นี้ ได้กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเมืองในเบื้องต้น ประมาณ 59,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ สปก. 15,000 ไร่ พื้นที่ราชพัสดุ 5,000 ไร่ และพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ 39,000 ไร่ (รูปที่ 1)
กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนดขั้นตอนและแผนการดำเนินงานไว้ ดังนี้
1) ขั้นตอนการจัดเตรียมกรอบดำเนินโครงการ ได้แก่
การจัดเตรียมงบประมาณ การจัดเตรียมโครงสร้างการบริหาร พร้อมทั้งโครงสร้างบุคลากรในการดำเนินโครงการและการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น
2) ขั้นตอนการจัดทำผังแม่บท ประกอบด้วย
(ก) การสำรวจและจัดเก็บข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์สภาพพื้นที่เบื้องต้น เพื่อการกำหนดแนวคิดในการออกแบบวางผัง (ดำเนินการในปี 2547)
(ข) การจัดทำผังแนวความคิด (Conceptual Plan) โดยการจัดทำเป็นผังทางเลือก (ดำเนินการในปี 2547-2548)
(ค) การจัดทำผังแม่บท (Master Plan) ประกอบด้วย ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังบริเวณและรูปแบบอาคาร ระบบการคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ฯลฯ (ดำเนินการในปี 2548-2549)
3) ขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย การสำรวจเพื่อการเวนคืนที่ดิน และการเวนคืนที่ดิน (ดำเนินการในปี 2548-2551)
4) ขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดแบบก่อสร้าง (Detail Design) ประกอบด้วย การจัดทำรายละเอียดและแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม (ดำเนินการในปี ๒๕๔๙)
5) ขั้นตอนการก่อสร้าง ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร และภูมิทัศน์ (ระยะที่ 1) (ดำเนินการตั้งแต่ปี 2549-2554)
อย่างไรก็ดี ในการประชุมเมืองใหม่นครนายก โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ที่ประชุมได้หารือในข้อกฎหมายว่าหากจะดำเนินการสร้างเมืองใหม่จะสามารถเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้หรือไม่ เพราะการเวนคืนที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาจำหน่ายต่ออาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่ไม่เปิดโอกาสให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้ ที่ประชุมจึงมอบให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูข้อกฎหมายว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร หากกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ โครงการเมืองใหม่นครนายกคงมีโอกาสเกิดน้อยลง เพราะข้อกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ สุดที่จะนำมาบริหารจัดการในเรื่องอื่น เช่น การอพยพย้ายคนเข้ามาในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ซึ่งจะทำอย่างไรให้มีเมืองบริวาร ที่มีระบบคมนาคมเชื่อมต่อ มีสถานศึกษา โรงพยาบาล ที่จะไม่ทำให้คนหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างเร่งด่วน
3.2 ข้อมูลแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการพัฒนานำมาใช้ในโครงการเมืองใหม่
จากผลการจัดประชุมเสวนา จำนวน 2 ครั้ง และจากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง พอสรุปในเบื้องต้นเกี่ยวกับแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในโครงการเมืองใหม่ นครนายก (รูปที่ 2) ได้ดังนี้
(1) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
(2) เขื่อนคลองท่าด่าน
(3) ลุ่มน้ำคลองบ้านนา
(4) แหล่งอื่นๆ เช่น น้ำบาดาล บ่อทราย
3.2.1 โครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
1) ข้อมูลเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
โครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เขื่อนแรกของลุ่มน้ำป่าสักและเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านแก่งเสือเต้น ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี วัตถุประสงค์เพื่อนำน้ำมาช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกให้กับพื้นที่เกษตรกรรมในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มทำการเก็บกักน้ำ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2542
สำหรับลักษณะของโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยสังเขปมีดังนี้
ระดับสันเขื่อน + 46.20 ม.รทก.
ระดับน้ำสูงสุด + 43.00 ม.รทก.
ระดับเก็บกัก + 42.00 ม.รทก.
ระดับน้ำต่ำสุด + 29.00 ม.รทก.
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายปีเฉลี่ย 2,450 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับน้ำสูงสุด 960 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับเก็บกัก 785 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับต่ำสุด 3 ล้าน ลบ.ม.
สถิติปริมาณน้ำหลากสูงสุดที่เคยเกิดขึ้น 3,300 ลบ.ม./วินาที
อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาตรความจุเก็บกักไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 2,450 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นปริมาตรความจุเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในแต่ละปี ในปัจจุบันจำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนด้วยปริมาณมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากพื้นที่ชลประทานเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่
สำหรับพื้นที่เกษตรกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประกอบด้วย
โครงการชลประทานที่มีอยู่เดิม
(1) โครงการชลประทานคลองเพรียว-เสาไห้ 135,500 ไร่
(2) โครงการชลประทานป่าสักใต้ 240,000 ไร่
(3) โครงการชลประทานนครหลวง 267,048 ไร่
(4) โครงการชลประทานรังสิตเหนือ 445,500 ไร่
(5) โครงการชลประทานรังสิตใต้ 529,974 ไร่
(6) โครงการชลประทานคลองด่าน 525,000 ไร่
(7) โครงการชลประทานพระองค์ไชยานุชิต 510,000 ไร่
รวมทั้งสิ้น 2,653,428 ไร่
หมายเหตุ : รวมทั้งพื้นที่ชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างที่ใช้น้ำจากคลอง
ระพีพัฒน์เหนือเขื่อนทดน้ำพระรามหก
โครงการชลประทานที่จะเปิดใหม่ มี 3 โครงการ คือ
(1) โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม 35,500 ไร่
(2) โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม - แก่งคอย 20,000 ไร่
(3) โครงการสูบน้ำแก่งคอย — บ้านหมอ 80,000 ไร่
รวมทั้งสิ้น 135,500 ไร่
ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง นอกเหนือจากการส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่ชลประทานที่จะเปิดใหม่ 3 โครงการ รวมพื้นที่ 135,500 ไร่ นั้น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังจะช่วยส่งน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่เดิมของโครงการชลประทานเจ้าพระยาทุ่งฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยจะระบายน้ำจากอ่างในช่วงฤดูแล้งประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานดังกล่าว ประมาณ 1,300,000 ไร่
จากการรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำท่า ตั้งแต่ปีที่ก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้วเสร็จ คือ ช่วงปี พ.ศ. 2543-2546 พอสรุปปริมาณน้ำท่ารายเดือนเฉลี่ยที่ปล่อยท้ายเขื่อนได้ดังนี้
หน่วย : ล้าน ลบ.ม.
เดือน เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค.
ปริมาณน้ำ 77.9 135.6 160.2 241.7 424.2 1,205.5 498.5 126.2 45.1 53.2 61.2 54.1
ท่าเฉลี่ย
ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีที่ปล่อยท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วงปี พ.ศ. 2543 — 2546 ประมาณ 3,083.5 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ดีจากการศึกษาพบว่า ในปี 2543 และ 2545 มีปริมาณน้ำท่าเกิดขึ้นในแม่น้ำป่าสักค่อนข้างมาก จึงทำให้ค่าเฉลี่ยรายปี ในช่วงปี 2543 — 2546 ค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลปริมาณน้ำท่า
ที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายปีเฉลี่ยระยะยาว ประมาณ 2,450 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ จะมีปริมาณมากเฉพาะในช่วงฤดูฝน เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม
2) ศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในโครงการเมืองใหม่
ปริมาณน้ำท่าที่ปล่อยท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ของลุ่มน้ำป่าสักที่เหลือจะไหลมารวมกับปริมาณน้ำที่ผันมาจากเขื่อนเจ้าพระยาโดยคลองชัยนาท-ป่าสัก บริเวณเหนือเขื่อนทดน้ำพระรามหก ซึ่งจะส่งเข้าคลองระพีพัฒน์ไปใช้ในพื้นที่ชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จากการที่มีโครงการชลประทานต่างๆ หลายโครงการ ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่จะเปิดใหม่ มีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถใช้น้ำช่วงฤดูแล้งสำหรับเมืองใหม่นครนายกได้ อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนจะมีเพียงพอที่สามารถผันไปกักเก็บไว้ในแหล่งเก็บกักน้ำที่จะต้องพัฒนาก่อสร้างขึ้นเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง กล่าวคือ ช่วงปลายฤดูฝนจะสามารถผันน้ำจากคลองระพีพัฒน์ไปเติมแหล่งเก็บกักน้ำจนเต็ม และมีความจุพอที่จะใช้ได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง อย่างไรก็ดี การผันน้ำจากคลองระพีพัฒน์ไปยังแหล่งเก็บกักใหม่ ซึ่งอาจจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่โครงการเมืองใหม่นั้น จำเป็นต้องใช้ระบบสูบน้ำ
3.2.2 โครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองท่าด่าน
โครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองท่าด่าน เป็นโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำนครนายก และเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยมีพื้นที่ต้นน้ำอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลักษณะของโครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองท่าด่านโดยสังเขป มีดังนี้
ระดับสันเขื่อน + 114.00 ม.รทก.
ระดับน้ำสูงสุด + 110.50 ม.รทก.
ระดับเก็บกัก + 110.00 ม.รทก.
ระดับน้ำต่ำสุด + 38.00 ม.รทก.
พื้นที่รับน้ำฝน 197.43 ตร.กม.
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายปีเฉลี่ย 314.80 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับเก็บกัก 224.00 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับน้ำต่ำสุด 4.00 ล้าน ลบ.ม.
ความจุใช้งาน 220.00 ลบ.ม.
พื้นที่ชลประทานเป้าหมายของโครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองท่าด่าน ประมาณ 185,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างมากที่ยังมีปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูแล้ง นอกจากน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว โดยยึดหลักพระราชดำริ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค การแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และบรรเทาอุทกภัยด้วย ปัจจุบันการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใกล้จะแล้วเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำได้บางส่วนแล้ว
จากการที่จะนำน้ำจากเขื่อนคลองท่าด่านมาใช้ที่เมืองใหม่นครนายก ซึ่งมีระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร จำเป็นต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน เพื่อการเกษตรและการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวบริเวณด้านท้ายน้ำของเขื่อน ซึ่งคาดว่าศักยภาพของอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองท่าด่าน (ความจุใช้งาน ๒๒๐ ล้าน ลบ.ม.) ที่จะเป็นแหล่งน้ำสำหรับโครงการเมืองใหม่ นครนายก คงจะเป็นไปได้ยาก และจะมีปัญหาทางด้านสังคมในเรื่องการจัดสรรแบ่งปันน้ำด้วย
3.2.3 แหล่งน้ำพัฒนาใหม่ในลุ่มน้ำคลองบ้านนา
เนื่องจากพื้นที่เขตพัฒนาเมืองของโครงการเมืองใหม่ 59,000 ไร่ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในลุ่มน้ำคลองบ้านนา ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำนครนายก ดังนั้นการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในลุ่มน้ำคลองบ้านนา จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ในลำดับแรกก่อน จากการทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองบ้านนาของกรมชลประทาน พบว่ามีศักยภาพพื้นที่ภูมิประเทศและปริมาณน้ำที่จะพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา ซึ่งอยู่บริเวณด้านเหนือของพื้นที่โครงการเมืองใหม่ (รูปที่ 2)
จากเอกสารข้อมูลพื้นฐานปี 2540 ของกรมชลประทาน ลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา สรุปได้ดังนี้
ระดับเก็บกัก + 105.70 ม.รทก.
ระดับน้ำต่ำสุด + 76.00 ม.รทก.
พื้นที่รับน้ำฝน 144.00 ตร.กม.
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายปีเฉลี่ย 136.50 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับเก็บกัก 101.00 ล้าน ลบ.ม.
ความจุที่ระดับน้ำต่ำสุด 3.00 ล้าน ลบ.ม.
ความจุใช้งาน 98.00 ลบ.ม.
โดยมีพื้นที่ชลประทานเป้าหมาย 16,400 ไร่ โดยอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาจะช่วยส่งน้ำเสริมให้กับโครงการ ประตูระบายน้ำคลองบ้านนา (ตอนบน) ที่อยู่ในแผนพัฒนาของกรมชลประทาน มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 40,000 ไร่ อย่างไรก็ดีจากการศึกษาจากแผนที่มาตราส่วน 1 :50,000 บริเวณที่ตั้ง ประตูระบายน้ำคลองบ้านนา (ตอนบน) จะอยู่ในพื้นที่พัฒนาเมืองของโครงการเมืองใหม่ และจากการทบทวนขอบเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำ (บริเวณน้ำท่วมถึง) น้ำจะท่วมถึงพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1
ต่อมากรมชลประทานได้พิจารณาลดระดับเก็บกักน้ำลงจนเหลือความจุประมาณ 35-40 ล้าน ลบ.ม. เพื่อไม่ให้มีปัญหากับบริเวณคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 แต่ปัญหาของพื้นที่อ่างเก็บน้ำก็คือ มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่พอสมควร และกรมชลประทานได้เคยเข้าไปศึกษา แต่เข้าไปสำรวจไม่ได้ เนื่องจากราษฎรในพื้นที่บางกลุ่มยังคัดค้านอยู่ นักวิชาการได้นำเสนอแนวทางพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาเป็นแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในโครงการเมืองใหม่ พิจารณาได้ 2 แนวทาง ดังนี้
(1) การพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาเต็มศักยภาพ ซึ่งจะมีความจุใช้งานประมาณ 98 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างรายปีเฉลี่ยถึง 136 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจึงสามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำสำหรับเมืองใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ปัญหาที่สำคัญในประเด็นนี้ก็คือ ภาครัฐต้องพิจารณากรณีที่มีน้ำท่วมพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 และปัญหาทางด้านสังคมซึ่งอาจจะเกิดขึ้น
(2) การพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา โดยลดระดับเก็บกักลง โดยไม่กระทบกับพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งจะมีความจุประมาณ 35-40 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาบริเวณที่จะสร้างเป็นแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา จากการทบทวนแผนที่มาตราส่วน 1:50,00 และจากข้อคิดเห็นในที่ประชุมเสวนา มีศักยภาพพื้นที่บริเวณช่องเขาไม้นวล สามารถสร้างทำนบปิดกั้นสูงประมาณ 30 เมตร ความยาวประมาณ 3,000 เมตร เป็นแหล่งเก็บกักน้ำแห่งที่ 2 ได้ ปริมาณน้ำที่ล้นอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาในช่วงฤดูฝน สามารถต่อท่อส่งน้ำไปเก็บไว้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาไม้นวลโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงได้ จากการศึกษาเบื้องต้นจะได้ความจุของอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่นี้ ประมาณ 45 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อรวมกับความจุใช้งานของอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา ก็จะได้ประมาณ 80-85 ล้าน ลบ.ม.
เนื่องจากพื้นที่ชลประทานเป้าหมายของอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาที่กำหนดไว้เดิม ไม่อยู่ในขอบเขต
พื้นที่พัฒนาเมืองของโครงการเมืองใหม่ ถ้านำน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปใช้ที่เมืองใหม่ อาจจะมีผลกระทบและปัญหาทางด้านสังคมได้ อย่างไรก็ดี การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาจะมีข้อดีคือที่ตั้งอยู่บริเวณตอนบนและใกล้กับพื้นที่โครงการเมืองใหม่ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องระบบสูบน้ำดิบ และคุณภาพของน้ำ คาดว่าจะเป็นน้ำที่ไม่ต้องมีการบำบัดหรือปรับปรุงมากนัก เมื่อเทียบกับน้ำที่จะนำมาจากทางด้านคลองระพีพัฒน์
3.2.4 แหล่งน้ำอื่นๆ
แหล่งน้ำอื่นๆ ที่สมควรทำการศึกษาถึงศักยภาพในการนำน้ำเข้ามาใช้ในโครงการเมืองใหม่ สรุปได้ดังนี้
1) การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำผิวดินประเภทอ่างเก็บน้ำบริเวณลุ่มน้ำสาขาอื่นของลุ่มน้ำนครนายก เช่น อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ เป็นต้น
2) การพัฒนาบ่อทรายขนาดใหญ่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ
3) การพัฒนาน้ำบาดาล
จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ในบริเวณจังหวัดนครนายก (อำเภอบ้านนาถึงอำเภอองครักษ์) มีบ่อทรายประมาณ 15 บ่อ มีความลึกเฉลี่ย 20 เมตร ความกว้าง-ยาว อยู่ในช่วงระหว่าง 200-700 เมตร จากที่ประชุมเสวนาได้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า บ่อทรายหลายแห่งผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี สมควรที่จะดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาบ่อทรายเป็นแหล่งเก็บน้ำสำรองสำหรับเมืองใหม่ หรือเป็นแหล่งน้ำให้กับชุมชนดั้งเดิม แต่การที่จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำหลักของโครงการเมืองใหม่ คงจะมีศักยภาพน้อย นอกจากนั้น บ่อทรายมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียแล้วนำน้ำกลับมาใช้ แต่จะมีข้อด้อยเกี่ยวกับการรั่วซึมได้
แหล่งน้ำบาดาลในบริเวณพื้นที่โครงการและใกล้เคียง มีศักยภาพที่จะพัฒนามาใช้เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ดี ประเด็นการทรุดตัวของแผ่นดินไม่มีปัญหา เนื่องจากสภาพธรณีวิทยามีความแตกต่างจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างไรก็ดีการนำน้ำบาดาลมาใช้ในโครงการเมืองใหม่ จะเป็นลักษณะแหล่งน้ำเสริมเท่านั้น และเมื่อมีการนำน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไป จะมีผลกระทบต่อการใช้น้ำบาดาลของชุมชนเดิมข้างเคียงได้
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
4.1 แหล่งน้ำที่มีศักยภาพสำหรับโครงการเมืองใหม่ นครนายก
1) การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเมืองใหม่ในลุ่มน้ำคลองบ้านนา
การพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา ควรดำเนินการศึกษา สำรวจ และออกแบบ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำผิวดินที่มีศักยภาพสูงทั้งปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ ตลอดจนที่ตั้ง ซึ่งอยู่บริเวณตอนบนและใกล้กับพื้นที่
โครงการเมืองใหม่ หากสามารถดำเนินการได้สมควรจะพัฒนาให้มีความจุอ่างเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมถึงเขตคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ได้ ก็สามารถลดระดับเก็บกักน้ำลง ซึ่งอาจจะได้ความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ 35-40 ล้าน ลบ.ม. และก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ บริเวณช่องเขาไม้นวล เป็นอ่างเก็บน้ำอีกแห่งหนึ่ง ที่จะสามารถผันน้ำช่วงฤดูฝนที่จะล้นอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนาไปเติมด้วยระบบท่อส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงได้ ความจุของอ่างเก็บน้ำเขาไม้นวล จากการศึกษาเบื้องต้นประมาณ 40-45 ล้าน ลบ.ม.
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ