2) การพัฒนาแหล่งน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ปริมาณน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ช่วงฤดูฝน มีศักยภาพในการนำไปใช้ในโครงการเมืองใหม่ โดยปล่อยน้ำลงมาที่เขื่อนพระราม ๖ และส่งด้วยคลองระพีพัฒน์ลงมาจนถึงบริเวณตอนเหนือของอำเภอหนองแค ทำการขุดคลองต่อจากคลองระพีพัฒน์ไปทางด้านตะวันออกประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วตั้งสถานีสูบน้ำเพื่อนำน้ำไปเก็บในแหล่งเก็บกักน้ำที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ และหากพัฒนาอ่างเก็บน้ำเขาไม้นวล เป็นแหล่งเก็บกักน้ำก็จะมีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เท่านั้น เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดของปริมาณน้ำที่จะนำไปใช้ได้เฉพาะช่วงฤดูฝน และปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ ตลอดจนปัญหาทางด้านสังคม ทำให้แหล่งน้ำจากคลองระพีพัฒน์เหมาะสมในเบื้องต้นน้อยกว่าการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา
3) การพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ
แหล่งน้ำอื่นๆ เช่น การพัฒนาบ่อทรายเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ และการพัฒนาใช้น้ำจากแหล่งน้ำบาดาล จำเป็นต้องทำการศึกษารายละเอียดทั้งด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ ในเบื้องต้นมีความเห็นว่า แหล่งน้ำดังกล่าวนี้ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับโครงการเมืองใหม่ได้เท่านั้น และควรที่จะพัฒนานำน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนที่อยู่ดั้งเดิม ซึ่งไม่ได้รับน้ำจากแหล่งน้ำที่จะพัฒนาสำหรับโครงการเมืองใหม่
อย่างไรก็ดี เห็นควรให้มีการศึกษาและสำรวจศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำนครนายกทั้งหมด เพื่อเปรียบเทียบศักยภาพของแหล่งน้ำอื่นที่ไม่ได้พิจารณาในครั้งนี้ด้วย
4.2 ความเห็นเกี่ยวกับโครงการเมืองใหม่นครนายก
1) เนื่องจากการพัฒนาเมืองใหม่จำเป็นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดการในเรื่องที่ดิน อย่างไรก็ดี ปัจจัยสนับสนุนด้านอื่น เช่น ด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ จำเป็นต้องมีการวางแผนและการพัฒนาควบคู่และสอดคล้องกันไป ดังนั้นโครงการเมืองใหม่ จะต้องตระหนักถึง ปรัชญา หลักการ และเหตุผล ต้องกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายให้ชัดเจน ควรมีกลยุทธ์ จัดลำดับความสำคัญ กำหนดความเหมาะสมของระยะเวลาของโครงการ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และทำให้โครงการมีความเป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอ และสอดคล้องกับการพัฒนาเมือง
2) ขอบเขตพื้นที่พัฒนาเมือง หรืออย่างน้อยขอบเขตที่จะมีการศึกษาเพื่อจัดทำผังเมืองเฉพาะ ควรจะครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ในข่ายพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา แหล่งเก็บกักน้ำบริเวณเขาไม้นวล เพราะจะเกี่ยวข้องกับการจัดการในเรื่องการจัดหาและเวนคืนที่ดินที่มีความเป็นไปได้สูง การที่จะมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมชลประทาน ดำเนินการทั้งหมดในเรื่องการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ จะมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องที่ดินได้ นอกจากนั้นควรคำนึงถึงประเด็นอันเป็นบทสรุป ซึ่งต้องมีความชัดเจนในข้อกฎหมาย และความเห็นชอบของภาคประชาชน รวมทั้งการใช้งบประมาณ และการลงทุนด้วยความโปร่งใส
3) ควรทำการสำรวจประมวลโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่เมืองใหม่ และการเชื่อมโยงกับกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมืองใกล้เคียงโดยรอบเมืองใหม่
4) ภาครัฐ ควรมีความชัดเจนในเรื่องการกำหนดเมืองบริวารของกรุงเทพมหานคร ทั้งในประเด็นเรื่องจำนวน ที่ตั้ง หลักการ และเหตุผล รวมทั้งควรให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมรับทราบและร่วมให้ความเห็นชอบ
5) การกำหนดผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ และการใช้ที่ดินเป็นประเด็นต้องพิจารณาประกอบอย่างทันเหตุการณ์
6) การพัฒนาเมืองใหม่ ควรคำนึงถึงความจำกัดของทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรน้ำ และกำหนดจำนวนประชากรไม่ให้มีมากเกินไป สำหรับแหล่งน้ำที่มีอยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนคลองท่าด่าน ตามเป้าหมายของการดำเนินการ เขื่อนทั้งสองมีแผนการใช้น้ำอยู่แล้ว โดยไม่ได้มีแผนที่จะพัฒนาสำหรับโครงการเมืองใหม่
7) ควรศึกษาศักยภาพของน้ำบาดาลในขั้นรายละเอียดมากขึ้น เพื่อทราบแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพ ปริมาณสำรองของแหล่งน้ำตลอดจนปริมาณน้ำที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9