วัฒนธรรมบ่งบอกถึงความเจริญงอกงามหรือตกต่ำลงของคนในสังคม ทั้งในด้านความคิด ด้านจิตใจ และด้านการประพฤติปฏิบัติ สังคมใดที่คนยึดมั่นในค่านิยมที่ดีงามมีคุณธรรมจริยธรรม สังคมนั้นย่อมมีความสงบสุขและพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันความตกต่ำของคุณธรรมจริยธรรมและศีลธรรม ส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่ง วัตถุนิยม บริโภคนิยม เพศนิยม เป็นสังคมที่เห็นแก่ตัว มีความละโมบ หมกมุ่นในอบายมุขต่าง ๆ และมีการตัดสินปัญหาในทางที่ผิด เช่น การฆ่าตัวตาย การฆ่าผู้อื่น การก่ออาชญากรรม การเสพและค้ายาเสพติด การคอร์รัปชัน เป็นต้น ความตกต่ำด้านจิตใจของคนในสังคมนับเป็นอุปสรรคประการสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศมิให้บรรลุวัตถุประสงค์
ดังนั้น การปลูกฝังคุณธรรมและส่งเสริมค่านิยมที่ดีงามแก่คนในสังคมจึงเป็นเรื่องจำเป็น สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า รัฐควรส่งเสริมวัฒนธรรมที่ช่วยปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่ดีเพื่อยกระดับจิตใจของคนในสังคม ได้แก่
1) การกำหนดปีในการรณรงค์ค่านิยมที่ดี เพื่อสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติของไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วโลก รวมทั้ง เพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนในประเทศมีค่านิยมและพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยแนวทางดำเนินงานให้ในแต่ละปีเป็นปีรณรงค์ค่านิยมที่ดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาทิ ปี พ.ศ. 2548 เป็นปีแห่งความมีน้ำใจ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทุกคนเห็นคุณค่าและแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนไทยนับแต่โบราณ ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีแห่งความอดทนและขยันหมั่นเพียร เพื่อรณรงค์ให้คนไทยมีความมุ่งมั่น อดทน ขยันหมั่นเพียร ยินดีทำงานหนัก และลบค่านิยมรักความสบาย ปี พ.ศ. 2550 เป็นปีแห่งความรับผิดชอบ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่ทำ เป็นต้น
2) ส่งเสริมค่านิยมยกย่องการทำดี เพื่อยกระดับคุณธรรมของคนในสังคมให้เห็นคุณค่าของความดี และปรารถนาทำความดีมากกว่ากระทำสิ่งผิดเพียงเพื่อต้องการได้รับเงินทอง ความมั่งคั่ง เกียรติยศชื่อเสียง โดยมีแนวทาง ดังนี้
(ก) กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย “เมืองแห่งคนดี” รณรงค์ให้คนทั้งประเทศร่วมใจกันทำความดีในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องความดีโด่งดังไปทั่วโลก รัฐควรส่งเสริมการสร้างคุณธรรมประจำจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดต้องชูจุดเด่นเรื่อง “ความดี” ในจังหวัดของตน อาจเป็นรูปแบบคำขวัญ หรือ ความดีประเภทนั้น ๆ อาทิ คนสุรินทร์ ซื่อสัตย์มั่นใจได้/คนเชียงใหม่ น้ำใจงาม / คนกรุงเทพฯ จริงใจไม่หลอกลวง เป็นต้น
(ข) จัดทำ “ทำเนียบคนดี” ของประเทศ การดำเนินการไปสู่การมี “ทำเนียบคนดี” เพื่อให้มีรายชื่อบุคคลที่มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่องานสาธารณะด้วยความเสียสละและไม่เห็นแก่ตัวควรตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทาง และวิธีการพิจารณาให้ครบกระบวนการทั้งหมด จนกระทั่งได้รายชื่อและผลงานที่เข้าไปอยู่ในทำเนียบคนดี ประเด็นสำคัญในข้อกำหนด ความมีระยะเวลาที่ประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ เช่น 10 ปี จากระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ และความโปร่งใสในการพิจารณา เป็นที่รับรู้ได้ในสาธารณะ
(ค) ส่งเสริมการใช้ความดีเป็นเครื่องชี้วัด ส่งเสริมให้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำเครื่องชี้วัดความดี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของสังคม โดยรณรงค์ให้ความดีเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน และการสอบเข้าศึกษาต่อ การคิดคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบคัดเลือกต่าง ๆ สอบชิงทุนไปต่างประเทศ ฯลฯ
(ง) จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมความดี โดยให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน สามารถสมัครโครงการช่วยเหลือคนต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ช่วยแก้ไข หรือพัฒนาชุมชนและสังคมในด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ใบประกาศเกียรติคุณ ที่สามารถนำไปเป็นคะแนนในการสอบเรียนต่อหรือสมัครงานได้
(จ) สร้างแบบจำลองวิธีการสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยการศึกษาวิจัยจาก ชีวประวัติบุคคลต่าง ๆ ในทำเนียบคนดี เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีได้เฉกเช่นเดียวกัน จากนั้นจึงนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้สร้างคนดีตามแบบจำลอง ผ่านทางสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา
3) ส่งเสริมสถาบันศาสนาในการทำหน้าที่ สถาบันทางศาสนาของทุก ๆ ศาสนาควรทำหน้าที่เป็นกลจักรสำคัญในการกล่อมเกลาทางจิตใจของประชาชน โดยรัฐ ผู้บริหารประเทศและผู้นำท้องถิ่นทุกระดับทำหน้าที่กระตุ้น ชักชวน จูงใจ และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการเข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ตาม ศาสนสถานของศาสนาและความเชื่อที่ตนเคารพนับถือ โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกงานและในช่วงวันหยุดทำ กิจกรรมทางศาสนาแทนกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ย่อมช่วยทำให้คนที่ยังห่างไกลศาสนาได้เข้าไปสู่สถาบันศาสนาเพิ่มขึ้นเกิดการยกระดับการพัฒนาด้านจิตใจของคนทั้งประเทศตามหลักคำสอนและการปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาของตน
แนวทางดำเนินการ รัฐบาลอาจกำหนดให้ผู้นำทุกระดับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ อบจ. อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ชักชวนและจูงใจให้คนเข้าวัด มัสยิด โบสถ์ หรือศาสนสถานต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติธรรมทุกวันพระ วันศุกร์ หรือวันอาทิตย์ตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น แต่ละศาสนา นิกาย โดยผู้นำทุกระดับปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง และกำหนดให้ศาสนสถานของทุก ๆ ศาสนาจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้โดยง่ายตามแนวทางของแต่ละศาสนา
4) ส่งเสริมการใช้คุณธรรมเชิงประยุกต์ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป สภาที่ปรึกษาฯ เสนอว่า ควรมีการประยุกต์ใช้คุณธรรมให้เข้ากับยุคสมัย เช่น ในระบบการศึกษาควรส่งเสริมให้เกิดการวางรากฐานทางคุณธรรมและค่านิยมที่ดีงามแก่ผู้เรียน เช่น ควรมีบทเรียนที่ประยุกต์ให้เข้ากับคนแต่ละวัย แต่ละชาติพันธุ์ เพื่อให้สามารถใช้ได้จริงในบริบทที่แตกต่างกันไป และควรกำหนดเป้าหมายให้ผู้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนมีคุณธรรมและค่านิยมพื้นฐานที่จำเป็นครบถ้วน โดยจะต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้ฝึกฝนอย่างจริงจัง และระบบต่าง ๆ ในโรงเรียนต้องเอื้อต่อการสร้างเยาวชน เพื่อป้องกันมิให้เด็กมีค่านิยมคล้อยตามกระแสสังคม เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น
5) ส่งเสริมการใช้หลักสูตรท้องถิ่นที่บรรจุวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นเป็นแกนกลางในการปลูกฝังการสร้างสำนึกท้องถิ่น สำนึกพลเมือง สำนึกชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดความรักท้องถิ่น รักชาติพันธุ์ เพื่อนมนุษย์ และการเคารพผู้อื่น
การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐควรสอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม และสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนา และมีทางออกสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะกระทำความดี ละเลิกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ส่งเสริมคนเลิกสุรา ด้วยการเพิ่มสถานบำบัดคนติดสุราในพื้นที่ต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมใหม่ทดแทนการตั้งวงดื่มสุราของประชาชนเวลาหลังเลิกงาน เป็นต้น
สื่อมวลชนควรมีรายการที่ส่งเสริมวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามภายใต้ความจำกัดต่าง ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนประพฤติตามได้ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงามให้เกิดขึ้น
สภาที่ปรึกษาฯ มีความคาดหวังว่าแนวทางที่เสนอข้างต้น จะช่วยให้การอนุรักษ์ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปคิดและวางแผนปฏิบัติการต่อไป
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9