บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๓๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันจันทร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายสหัส พินทุเสนีย์
รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา) ขอขยายเวลา
การพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน
นับแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๔ ให้ที่ประชุมพิจารณา
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมีมติให้ขยายเวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร้องขอ
ต่อมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แทนตำแหน่งที่ว่าง
๑ ตำแหน่ง ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมีมติให้ตั้ง นายวิญญู อุฬารกุล
เป็นกรรมาธิการแทน นางมาลินี สุขเวชชวรกิจ ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑๑ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๒ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๓ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๔ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๕ (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๖ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๗ (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๗
ครั้งที่ ๑๘ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗ และ
ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗
ซึ่งที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมทั้ง ๙ ครั้งดังกล่าว
ต่อจากนั้น ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้
ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๓๓ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ที่ประชุมได้พิจารณาตั้งแต่มาตรา ๓ (คำนิยามคำว่า
"สถานศึกษาเอกชน") แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
๒. ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วย
ชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ เห็นชอบด้วยกับ
สภาผู้แทนราษฎร
๓. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณา
ในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติ
ในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อสังเกตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยัง
คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้เลื่อนเรื่องด่วนที่ ๕ ร่างพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ขึ้นมาพิจารณาก่อน ประธานของที่ประชุม
จึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒
เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนถึงมาตรา ๔ ประธานของที่ประชุม
ได้สั่งให้เลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปพิจารณาต่อในการประชุมวุฒิสภาครั้งต่อไป
เลิกประชุมเวลา ๑๘.๕๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๒ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ....
๒. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๔