บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๓๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ
วันพุธที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๕๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายสหัส พินทุเสนีย์
รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ
เลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา ๒๗๔ (๓) ของรัฐธรรมนูญฯ
ประกอบมาตรา ๓๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๓ หลังจากคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควร
เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิเสนอรายงาน ที่ประชุมได้ลงมติเลือก
นายปณิธาน ธาระวานิช และพลตำรวจเอก ดรุณ โสตถิพันธุ์ เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ต่อมา ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภา
คนที่สองได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้ปรึกษา
ที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่องด่วนที่ ๖ ขึ้นมาพิจารณาต่อจากเรื่องด่วนที่ ๒ ซี่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ประธานของที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงจำนวนเงินในสัญญาซื้อขาย จำนวนเงินการกู้ยืม ความรับผิดของ
เจ้าสำนักโรงแรมและอัตราค่าธรรมเนียม) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว หลังจากสมาชิกฯ
อภิปราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑
รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน ๒๕ คน ประกอบด้วย
๑. นายวรวิทย์ เชื้อเพ็ชร์ ๒. นายณรงค์สิทธิ์ เครือรัตน์
๓. นายศรีเมือง เจริญศิริ ๔. นายสมสิทธิ์ ศิริเจริญไชย
๕. พลตำรวจตรี วีระ อนันตกูล ๖. นางมลิวัลย์ เงินหมื่น
๗. พลโท โอภาส รัตนบุรี ๘. นายสุรเดช ยะสวัสดิ์
๙. นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ ๑๐. นายสนิท กุลเจริญ
๑๑. นายสงวน นันทชาติ ๑๒. นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์
๑๓. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ๑๔. นายระวี กิ่งคำวงศ์
๑๕. พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล ๑๖. นายอนุชาติ บรรจงศุภมิตร
๑๗. นายกมล มั่นภักดี ๑๘. นายสม ต๊ะยศ
๑๙. นายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา ๒๐. คุณหญิงจินตนา สุขมาก
๒๑. พลตำรวจตรี เสกสันต์ อุ่นสำราญ ๒๒. นายอมร นิลเปรม
๒๓. นายพนัส ทัศนียานนท์ ๒๔. นายจรูญ ยังประภากร
๒๕. นายสุชัย งามจิตต์เอื้อ
โดยมีกำหนดการแปรญัตติตามข้อบังคับฯ
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขอพระราชทานอภัยโทษ) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว
หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย ที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ ๑ รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา
และเนื่องจากที่ประชุมมีมติให้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภาตามที่สมาชิกฯ เสนอ ที่ประชุม
จึงได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง
และลงมติในวาระที่ ๓ เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร
ต่อจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอขยายเวลาการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน
นับแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
หลังจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้ให้เลขาธิการวุฒิสภาอ่านพระบรมราชโองการ
ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๔๗
เลิกประชุมเวลา ๑๓.๓๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
รับร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณา จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
(ปรับปรุงจำนวนเงินในสัญญาซื้อขาย จำนวนเงินการกู้ยืม
ความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมและอัตราค่าธรรมเนียม)
เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขอพระราชทานอภัยโทษ)
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๔