แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2004 14:11 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน
ความสำคัญของปัญหา
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาเป็นเวลานาน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา จะมีความแตกต่างกันที่ความรุนแรงของปัญหาว่ามีมากน้อยเพียงใด การทุจริตคอร์รัปชันได้ส่งผลให้สังคมไทยเกิดปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำในสังคม บั่นทอนความมั่นคง ความสงบสุข และมีผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ ซึ่งจากการจัดอันดับดัชนี ภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ( Transparency International ) พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นลำดับที่ 61 ของโลก ซึ่งอยู่ในลำดับต้นๆ ของเอเชีย และมี แนวโน้มจะทวีความรุนแรงโดยมีจำนวนเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นและมีลักษณะการกระทำเป็นกระบวนการที่ ซับซ้อนและยากแก่การติดตามตรวจสอบ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว การทุจริตคอร์รัปชันจะกัดกร่อนเศรษฐกิจ และสังคมไทยจนยากแก่การแก้ไขได้ในระยะยาว
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงภัยอันเกิดจากปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน จึงได้ติดตามปัญหา รวมทั้งส่งเสริมให้เครือข่ายภาคประชาชนให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจของสังคมไทยต่อรูปแบบและวิธีการคอร์รัปชันที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนกับองค์กรภาคประชาชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในช่วงปี 2546 — 2547 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้
2.1 ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวม 4 ภาค ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2546 โดยระดมความคิดเห็นจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนเรื่อง “ การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ”
2.2 ศึกษาจากการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของผู้แทนองค์กรภาคประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับการ คอร์รัปชันในกรณีต่างๆ อาทิ การคัดค้านการทุจริตในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ การเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความไม่โปร่งใสในโครงการสะพานแม่น้ำมูล อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ การคัดค้านผลกระทบและความไม่โปร่งใสในโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง
2.3 สภาที่ปรึกษาฯ ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ : จากระบบสัมปทานการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จจนถึงการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และศึกษาการคอร์รัปชันที่มีผลกระทบต่อภาคประชาชน ใน 6 กรณี ได้แก่ (1) เศรษฐกิจนอกกฎหมาย ตำรวจ และการคอร์รัปชัน (2) เขื่อนทดน้ำบางปะกง : การร่วมมือระหว่างข้าราชการประจำ นักการเมืองและนักธุรกิจ (3) โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ (คลองด่าน) (4) สนามบินหนองงูเห่า ตำนานขบวนการคอร์รัปชันบนผลประโยชน์แสนล้าน (5) โครงการสร้างทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงสุขสวัสดิ์ — บางพลี และ 6) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลและถนนสี่ช่องจราจรที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
2.4 สภาที่ปรึกษาฯ ร่วมกับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนกับสภาที่ปรึกษาฯ สำรวจความคิดเห็นภาคประชาชน เรื่อง “การทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย” เพื่อศึกษาถึงสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชันในสังคมไทย พร้อมทั้งศึกษาแนวทาง ที่เหมาะสมของสภาที่ปรึกษาฯ ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยได้สำรวจความคิดเห็นจากแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2547
2.5 การจัดสัมมนาประจำปีของสภาที่ปรึกษาฯ เรื่อง “ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน” ในระหว่างวันที่ 26 - 27 มิถุนายน 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเวทีสาธารณะให้ภาคประชาชน เข้ามาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยได้เปิดโอกาสให้มีการแสดงความในใจของผู้กล้าเปิดโปงปัญหาคอร์รัปชัน การจัดอภิปรายเรื่อง “ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันในปัจจุบัน” รวมทั้งจัดให้มีการสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อแสดงความคิดเห็น ในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน ประกอบด้วย (1) การคอร์รัปชันในวงการก่อสร้างและโครงการลงทุนสิ่งแวดล้อม (2) การคอร์รัปชันในภาคการเกษตร (3) การคอร์รัปชันในวงการสุขภาพ (4) การคอร์รัปชันในภาคธุรกิจเอกชน (5) จริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม กับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน (6) การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (7) การคอร์รัปชันในวงการตำรวจ และ (8) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันที่ได้จากเสียงสะท้อนภาคประชาชน
จากการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สภาที่ปรึกษาฯ พบว่าองค์กรภาคประชาชนได้ตระหนักถึงภัยของการ คอร์รัปชัน และให้ความสนใจอย่างมากในการเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเห็นว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งและต้องการให้รัฐบาลแก้ไขโดยเร่งด่วนมากที่สุด ดังข้อเท็จจริงที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นและระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนดังต่อไปนี้
3.1 ผลการสำรวจความคิดเห็นจากองค์กรภาคประชาชน ที่จัดทำโดยสภาที่ปรึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่อง “ การทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย ” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,191 คน ทั่วประเทศ พบว่าองค์กรภาคประชาชนกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันยังคงมีอยู่ในสังคมไทยและจะมีต่อไปในอนาคต วิธีการและรูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันที่ประชาชนพบเห็นมากที่สุด มี 6 รูปแบบ คือ
(1) การรับสินบน และของรางวัล ร้อยละ 43.94
(2) การวิ่งเต้นขอตำแหน่งในวงราชการ ร้อยละ 42.73
(3) การรับส่วย และรีดไถประชาชน ร้อยละ ๔๐.๙๔
(4) คอร์รัปชันเชิงนโยบาย ร้อยละ 40.43
(5) การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ร้อยละ 37.99
(6) การทุจริตเรื่องเวลาหรือที่เรียกว่า “เช้าชามเย็นชาม” ร้อยละ 36.13
มูลเหตุสำคัญในการเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้แก่
(1) เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรมและจรรยาบรรณ
(2) การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และความตรงไปตรงมา
(3) เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมาก แต่มีรายได้น้อย
(4) ระบบงานเปิดช่องให้มีการทุจริต
นอกจากนี้ผลจากการสำรวจพบว่าองค์กรภาคประชาชนร้อยละ 91 เห็นว่า มีการคอร์รัปชัน โดยมีนักการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง และองค์กรภาคประชาชนร้อยละ 84 เห็นว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ และความวิตกกังวลขององค์กรภาคประชาชนที่มีต่อนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นว่ามุ่งรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่เพียงใด
3.2 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาพรวม จากการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการรวบรวมประเด็นปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งจากการศึกษาข้อเท็จจริงโดยจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น การสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนโดยใช้แบบสอบถาม รวมทั้งจากการศึกษากรณีปัญหาการคอร์รัปชันที่ได้เกิดขึ้นจริง พบว่าการทุจริต คอร์รัปชันมีสาเหตุมาจาก
3.2.1 ปัญหาการขาดคุณธรรม จริยธรรม ของคนในสังคมไทย เนื่องจากขาดการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก และการมีค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง โดยเห็นว่าความร่ำรวยเป็นสิ่งที่ดีงาม สังคมยอมนับหน้าถือตา ทำให้เกิดรากเหง้าของการแสวงหาโอกาสที่ทำให้ร่ำรวยขึ้นทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ได้มาว่าถูกต้องหรือไม่
3.2.2 ปัญหาการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด ต้นเหตุเกิดจากผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางด้านการเมือง การบริหาร และด้านกฎหมาย มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลเพียงบางกลุ่ม
3.2.3 ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ มีช่องโหว่ โดยมีการระบุคุณลักษณะจำเพาะหรือล๊อคสเปค โดยอ้างความจำเป็นทางเทคนิค ซึ่งไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ได้โดยง่าย
3.2.4 ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ประชาชนขาดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และรู้ไม่เท่าทันในเรื่องการคอร์รัปชันเชิงนโยบายซึ่งมีความสลับซับซ้อนในกระบวนการทุจริตมากยิ่งขึ้น
3.2.5 ขาดเครื่องมือในการตรวจสอบ ดูแล และประเมินผล การใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการตรวจสอบและประเมินผลขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น
3.2.6 กลไกการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารขาดความเป็นอิสระ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ทันต่อสถานการณ์
3.2.7 หน่วยงานของรัฐไม่เร่งรัดและตอบสนองต่อกระบวนการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรภาคประชาชน
3.2.8 องค์กรภาคประชาชนขาดการรวมกลุ่มและการบริหารจัดการที่ดีอย่างเพียงพอ ในการตรวจสอบและต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
3.3 ประเด็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่สะท้อนจากองค์กรภาคประชาชนจากการสัมมนาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3.3.1 การคอร์รัปชันในวงการก่อสร้างและโครงการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม มีช่องทางในการทุจริตได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ นับตั้งแต่ขั้นการจัดทำโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การของบประมาณ การประมาณราคากลาง และการจัดทำข้อกำหนดโครงการ การทุจริตคอร์รัปชัน จะเกิดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างได้แก่ นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ นักวิชาชีพ เช่นวิศวกร สถาปนิก และผู้ผลิตที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
แนวทางการแก้ไขได้เสนอให้มีการกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างทุกขั้นตอนเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ให้มีการควบคุมจรรยาบรรณผู้มีวิชาชีพก่อสร้าง ให้มีองค์กรกลางทำหน้าที่ตรวจสอบราคากลาง ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการและผู้รับผิดชอบโครงการทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน และให้มีองค์กรตรวจสอบติดตามและประเมินผลโครงการก่อสร้างที่มีความเป็นอิสระ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีโครงการก่อสร้างเข้ามามีส่วนร่วม รับทราบข้อเท็จจริง ข้อดี ข้อเสียของโครงการ และร่วมแสดงข้อคิดเห็น ตลอดจนให้มีมาตรการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง
3.3.2 การคอร์รัปชันในภาคการเกษตร เป็นการร่วมมือระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทที่ทำธุรกรรมด้านการเกษตร โดยอาศัยช่องทางการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพยุงราคา การประกันราคา การแทรกแซงราคา สินค้าเกษตร ด้วยวิธีการปลอมปนสินค้า การปลอมคุณภาพสินค้า เปลี่ยนแปลงสถานที่ เปลี่ยนแปลงเวลา การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วการประมูล การล็อคเสปก
การแก้ไขรัฐต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสภาเกษตรกร รวมทั้งองค์กรภาคการเกษตรอื่นๆ โดยมีองค์ประกอบที่มาจากเกษตรกรเกินกึ่งหนึ่ง มีการบริหารจัดการของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องเปิดโอกาสให้องค์กรภาคการเกษตร ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึง
3.3.3 การคอร์รัปชันในวงการสุขภาพ เกิดขึ้นในหลายลักษณะทั้งการทุจริตในเชิงนโยบาย เชิงการบริหาร เชิงงบประมาณ และเชิงเทคนิค ซึ่งในปัจจุบันได้มีการทุจริตอีกประเภทหนึ่งคือ การทุจริตเชิงวิชาชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสปกป้องสิทธิประโยชน์ของตน
แนวทางการแก้ไขรัฐควรให้ความสำคัญกับสุขภาพของทรัพยากรมนุษย์ โดยต้องกำหนดมาตรการสำคัญในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้าน และยับยั้งการทุจริตในวงการสุขภาพ
3.3.4 การคอร์รัปชันในภาคธุรกิจเอกชน ได้สะท้อนปัญหาในเรื่องกลวิธีในการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงิน มีการดำเนินการในลักษณะตกแต่งโครงการให้ดูดีเกินสภาพจริงเพื่อขอกู้ยืมเงิน ซึ่งมักจะกลายเป็นหนี้เสีย การยักยอกเงินของลูกค้าโดยตกแต่งบัญชีหรือปลอมแปลงเอกสาร การปล่อยเงินกู้โดยมีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอให้กับเครือญาติของผู้บริหารสถาบันการเงิน มีการตกแต่งบัญชีเพื่อสร้างมูลค่าหุ้นให้มีราคาสูงขึ้นอย่าง ผิดปกติ นอกจากนี้ในยังขาดองค์กรที่มาทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารธุรกิจของเอกชน และการประเมินภาษีที่ไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
แนวทางการแก้ไข ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและโปร่งใส ควรมีคณะกรรมการจรรยาบรรณทางธุรกิจภาคประชาชน เพื่อสร้างจรรยาบรรณและความโปร่งใสของผู้บริหารสถาบันการเงิน ส่งเสริมให้มีการแสดงรายการทรัพย์สินของผู้บริหารสถาบันการเงิน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกจากตำแหน่ง ควรมีระบบข้อมูลของบุคคล และจัดให้มีองค์กรตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างเสริมจริยธรรม โดยเริ่มจากตนเอง ครอบครัว และองค์กร ซึ่งจะทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมลดลงได้
3.3.5 จริยธรรม คุณธรรม และค่านิยมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ปัจจุบันสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีลดน้อยลง โดยยึดวัตถุนิยมเป็นสำคัญ ทำให้การคอร์รัปชัน มีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
แนวทางแก้ไขต้องมีการปลูกสร้างจิตสำนึกด้านจริยธรรม คุณธรรม โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการอบรมสั่งสอน ในด้านการศึกษา ภาครัฐควรจัดให้มีหลักสูตรการเรียน การสอนที่สร้างเสริมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม โดยมีความซื่อสัตย์สุจริตและความถูกต้องเป็นพื้นฐาน และภาครัฐต้องให้ความสำคัญในนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
3.3.6 การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย การคอร์รัปชันเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนกว่าการคอร์รัปชันประเภทอื่นและยากแก่การติดตามตรวจสอบ เนื่องจากมีกฎหมายหรือระเบียบราชการเปิดช่องทางให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง ได้สามารถใช้นโยบายในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการผูกขาดตัดตอนและความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ การคอร์รัปชันเชิงนโยบายเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองมีการกำหนดนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของผู้กำหนดนโยบายหรือเครือญาติ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน และมีผลต่อการกระจายรายได้ของประเทศ
แนวทางแก้ไข รัฐควรให้ความรู้แก่องค์กรภาคประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจถึงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของผู้กำหนดนโยบายหรือเครือญาติและการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนผูกขาด รัฐควรมีช่องทางให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบายที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และเครือข่ายภาคประชาชนต้องเฝ้าระวังการใช้นโยบายที่เป็นเครื่องมือในการทุจริตคอร์รัปชัน
3.3.7 การคอร์รัปชันในวงการตำรวจ เกิดขึ้นในรูปแบบของการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อให้ผลประโยชน์ตอบแทนการใช้อำนาจนั้น การมีค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง ขาดคุณธรรม จริยธรรมในการใช้อำนาจ ตามกฎหมาย โครงสร้างการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้มีการวิ่งเต้นเพื่อผลประโยชน์และตำแหน่งหน้าที่ นอกจากนี้ ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและบทบาทของตำรวจค่อนข้างน้อย
แนวทางการแก้ไข ต้องปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร โดยปรับโครงสร้างให้มีตำรวจ ท้องถิ่น เพื่อให้ตำรวจใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และไม่ควรมีชั้นยศสูงเกินความจำเป็น ยกระดับความเป็นอยู่และเกียรติภูมิของตำรวจ โดยจัดสวัสดิการและรายได้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับข้าราชการอื่นที่ทำหน้าที่ในสายงาน ยุติธรรม พร้อมทั้งปรับระดับการศึกษา คุณธรรม จริยธรรมของตำรวจชั้นผู้น้อยให้สูงขึ้นควบคู่กันไปด้วย และส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและบทบาทของตำรวจในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น
ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ
จากการประมวลสภาพปัญหาและข้อสรุปจากการศึกษา การสำรวจความคิดเห็น การประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นภาคประชาชนในระดับต่างๆ และการสังเคราะห์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีข้อสรุปว่า ในปัจจุบันการคอร์รัปชันเชิงนโยบายเป็นการทุจริตที่มีความร้ายแรงที่สุด ดังนั้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ ดังนี้
4.1 ส่งเสริมให้มีการปลูกฝังเพื่อหล่อหลอมคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่เยาว์วัยและตลอดจนทุกช่วงของชีวิตให้แก่เยาวชนและประชาชน โดยผ่านทั้งกระบวนการการเรียนการสอน และกระบวนการทางสังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกให้มีค่านิยม และทัศนคติที่ถูกต้อง โดยยึดถือเป็นหลักในการดำรงชีวิตที่ไม่ทุจริต ไม่คอร์รัปชัน ในทุกโอกาส ทุกสถานที่ รวมทั้งให้สังคมทั่วไปได้รับรู้อย่างชัดเจนว่าการกระทำใดถือว่าเป็นการคอร์รัปชัน การกระทำใดที่ไม่ใช่การคอร์รัปชัน และสร้างค่านิยมร่วมกันของสังคม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันให้เกิดขึ้นทุกระดับในสังคม โดยเริ่มสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น และดำเนินการ ต่อเนื่องจนถึงระดับประเทศ
4.2 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของภาคประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการยับยั้ง เปิดโปง และร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน ภาคประชาชนในทุกระดับ ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ สนับสนุนให้มีความเป็นอิสระในการทำงาน และสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอร์รัปชัน เพื่อเป็นการ ป้องปรามและตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ของสังคมอย่างรอบด้านโดยไม่เปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชันได้
4.3 ปรับปรุง กฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆของทางราชการ ให้มีความรัดกุม โปร่งใสและมีการถ่วงดุล เพื่อไม่เปิดช่องให้มีการทุจริตได้โดยง่าย
4.4 ต้องสร้างกลไกของข้อมูลข่าวสารให้เกิดความโปร่งใส ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้การทุจริตคอร์รัปชันกระทำได้ยากขึ้น ในกรณีเรื่องที่เป็นความลับของทางราชการจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน นอกจากนั้นจะต้องสร้างกลไกให้สามารถตอบคำถามกับประชาชนได้
4.5 รัฐจะต้องสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาชนและองค์กรอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลปกครอง ฯลฯ มีความเข้มแข็ง มีอิสระ รวมทั้งมีบุคลากรที่เพียงพอกับการทำหน้าที่ตรวจสอบสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการเพื่อทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเกิดประสิทธิผล
4.6 การตัดสินใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นสำคัญ โดยต้องมีการวิเคราะห์ผลตอบแทนของโครงการ ทั้งทางการเงิน ( Financial Internal Rate of Return : FIRR ) ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ( Economic Internal Rate of Return : EIRR ) และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินผลได้กับผลเสียของโครงการอย่างรอบคอบ วิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ ขนาดของโครงการบนพื้นฐานความเป็นจริงและสอดคล้องกับมิติของความเป็นชุมชน โดยมีกระบวนการความรับผิดชอบและมีความโปร่งใสในการดำเนินการทุกขั้นตอน ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ โดยภาคประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้
4.7 รัฐจะต้องพัฒนาการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในสาระและกระบวนการ รวมทั้งต้องมีกลไกที่ส่งเสริมให้ระบบธรรมาภิบาลทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความเข้มแข็งและมีการดำเนินงานที่ได้ผลอย่างแท้จริง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ