ปัญหาเขื่อนทดน้ำบางปะกงกับการแก้ไขของภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 29, 2004 15:04 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับปัญหาเขื่อนทดน้ำบางปะกงกับการแก้ไขของภาครัฐ
1. ความนำ
1.1 ความเป็นมา
เขื่อนทดน้ำบางปะกง เป็นเขื่อนแม่น้ำ (River Barrage) ตั้งอยู่ที่บ้านไผ่เสวก ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากปากแม่น้ำ 71 ก.ม. กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 แล้วเสร็จเมื่อ 3 ธันวาคม 2542 งบประมาณทั้งโครงการ 5,232 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) โดยมีแนวคิดในการก่อสร้างเพื่อจัดสรรทรัพยากรน้ำบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง และพัฒนาแหล่งน้ำบางปะกงให้มีน้ำเพียงพอสำหรับส่งให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน 92,000 ไร่ และพื้นที่สองฝั่งเหนือเขื่อน รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำใช้สำหรับอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม รวมถึงการป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงส่วนบน ซึ่งได้ทดลองเปิดดำเนินการในระหว่างการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2542 และเปิดดำเนินการในวันที่ 6 มกราคม — 20 เมษายน 2543 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงทันที ได้แก่ 1) การพังทลายของตลิ่งสองฝั่งท้ายเขื่อน พบว่าในช่วงที่น้ำทะเลลดต่ำลง ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนจะลดลงมากกว่าปกติตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีน้ำด้านเหนือไหลลงมาทดแทนส่งผลให้เกิดการพังทลายของตลิ่งบริเวณท้ายเขื่อน 2) น้ำเค็มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่สองฝั่งท้ายเขื่อน ในช่วงน้ำขึ้น การปิดบานประตูระบายน้ำส่งผลให้น้ำไม่สามารถย้อนผ่านตัวเขื่อนเข้าไปในตัวลำน้ำได้ ระดับน้ำด้านท้ายน้ำที่ยกตัวสูงขึ้นกว่าปกติจึงไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนหลายช่วง และ 3) น้ำเสียทั้งเหนือเขื่อน และท้ายเขื่อน ในช่วงวันที่ 31 มกราคม — กุมภาพันธ์ 2543 และระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2543 ได้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำบางปะกงเปลี่ยนสี (ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ) ที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บริเวณวัดโสธรฯ ซึ่งมีสภาพน้ำนิ่ง และมีมลพิษ/ของเสียจากชุมชน
1.2 วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย
1.2.1 เป็นแหล่งน้ำอเนกประสงค์
1) เพื่อการเกษตรกรรมในเขตพื้นที่อำเภอบางคล้า อำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
2) เพื่อการอุปโภค —บริโภค
3) การส่งเสริมการประมง และการปศุสัตว์
4) เพื่อสนับสนุนการเกษตรกรรมในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาคลองพระองค์ไชยานุชิต โครงการบางพลวง และโครงการนครนายก
1.2.2 ลดการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงทั้งระยะทาง และเวลาจากเดิมที่เคยไหลย้อนเข้ามาได้ประมาณ 200 ก.ม. ให้เหลือเพียงประมาณ 100 ก.ม. จากปากอ่าว ยืดระยะเวลาการเค็มของน้ำในแม่น้ำบางปะกงช้าลงได้ประมาณ 1-2 เดือน โดยการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน
1.2.3 เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำบางปะกง บริเวณท้ายเขื่อน
1.2.4 เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา
2. สาเหตุและสภาพปัญหา
การสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกงมีสาเหตุแห่งปัญหาดังนี้
1) การสำรวจออกแบบและความถ่องแท้ในข้อมูลรายละเอียดใน Location Factor ของสภาพดิน สภาพน้ำ
2) การออกแบบซึ่งขาดความสมบูรณ์บางประการ เช่น งานโครงสร้างป้องกันตลิ่ง และโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม
3) ลำดับความสำคัญก่อนหลังของการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกงกับอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเพื่อนำปริมาณน้ำมาช่วยเขื่อนในหลายประเด็น
4) กรณีที่มีองค์กรต่างประเทศมาสำรวจออกแบบ ภาคราชการต้องร่วมรับผิดชอบดูแลในประเด็นความสมบูรณ์ และผลเสียซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ จากการทดสอบปิดบาน เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๒ และการปิดเปิดบังคับบาน เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ถึง ๒๐ เมษายน ๒๕๔๓ ได้เกิดผลกระทบขึ้น ดังนี้
1) ด้านเหนือเขื่อน
ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ตามที่ต้องการในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำตอนบนที่จะสามารถปล่อยน้ำมาช่วยเสริมตามแผนการที่ได้ตั้งไว้
น้ำทิ้งจากชุมชนใหญ่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม นาข้าว นากุ้ง และฟาร์มหมู ซึ่งได้ถูกปล่อยลงบริเวณทางด้านเหนือเขื่อนในช่วงที่มีการปิดบานระบายน้ำ ทำให้เกิดภาวะน้ำนิ่ง หรือน้ำไม่เกิดการไหลเวียน สร้างมลภาวะ แม่น้ำเปลี่ยนสี (ปราฏการณ์ขี้ปลาวาฬ) ที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บริเวณวัดโสธรฯ ปรากฎการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในช่วงทดลองปิด/เปิดเขื่อน ซึ่งมีสภาพน้ำนิ่ง และมีมลพิษของเสียจากชุมชน
ปริมาณตะกอนแขวนลอยที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำ จะตกตะกอนบริเวณเหนือทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม
2) ด้านท้ายเขื่อน
น้ำเค็มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ ในช่วงน้ำขึ้น การปิดบานประตูระบายน้ำส่งผลให้น้ำไม่สามารถย้อนผ่านตัวเขื่อนเข้าไปในตัวลำน้ำได้ ระดับน้ำด้านท้ายน้ำที่ยกตัวสูงขึ้นกว่าปกติจึงไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ของราษฎรบริเวณด้านท้ายเขื่อนหลายพื้นที่ที่ตลิ่งต่ำ
เมื่อน้ำทะเลลง ระดับน้ำในแม่น้ำบางปะกงท้ายเขื่อนจะลดต่ำกว่าปกติตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีน้ำด้านเหนือไหลลงมาทดแทน ส่งผลให้เกิดการพังทลายของตลิ่งบริเวณท้ายเขื่อนถึง 13 จุด เป็นระยะทางรวมแล้วประมาณ 10 กิโลเมตร (นับจากท้ายเขื่อนจนถึงอำเภอบ้านโพธิ์)
จากสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อทำการทดลองบังคับบาน เมื่อวันที่ 6 มกราคมถึง 20 เมษายน 2543 จะเห็นได้ว่ากรมชลประทานได้ทำการแขวนบานไว้ มิได้เปิดดำเนินการเลย ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งมลพิษเหนือเขื่อน และตลิ่งพังท้ายเขื่อนยังมีอยู่
3. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นถึงปัญหาของการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นการดำเนินงานของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งเป็นโครงการสิ้นเปลืองงบประมาณ ดำเนินการด้วยจำนวนเงินลงทุนสูง แต่ไม่เกิดประโยชน์ใช้สอย จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาปัญหาเขื่อนทดน้ำบางปะกงดำเนินการศึกษาและติดตามการดำเนินงานของโครงการ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปลายปี 2542 ดังกล่าว
ในระยะที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการศึกษาโดย 1) ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง 2) จัดประชุมเสวนาร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชนในพื้นที่ และ 3) เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น และรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากการจัดประชาพิจารณ์ในพื้นที่ และ 4) ศึกษาดูงานในพื้นที่ รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สนผ.) องค์กรเอกชน และภาคประชาชน ตลอดจนเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อทราบข้อมูลรายละเอียดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการเปิดใช้เขื่อนบางปะกง และจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหานำเสนอสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. สรุปความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา
4.1 หลังจากการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกงแล้วเสร็จ เมื่อเปิดดำเนินการเขื่อน ได้เกิด
ผลกระทบขึ้นจากการทดสอบปิดบาน สภาที่ปรึกษาฯ ได้ประสานกับสื่อมวลชน เพื่อสำรวจข้อเท็จจริง ปรากฏว่าสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ให้ความสนใจและได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ติดต่อกันนานวัน รวมทั้งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานฯ หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องดังกล่าว ทรงห่วงใยพสกนิกรสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง ทรงรับสั่งกับนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) ในประเด็นปัญหาและการแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูพื้นที่ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2545 พร้อมประชุมสั่งการให้จังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ร่วมดำเนินการศึกษาปัญหาน้ำเสียจากชุมชน และการขุดลอกคลองต่างๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งให้สำรวจจำนวนคลอง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
ให้กรมชลประทานเร่งรัดผลการศึกษา ให้สามารถสรุปให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อที่จะดำเนินการแก้ไข และควรดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ
ให้กรมชลประทานพิจารณาเรื่องการขยายทางน้ำบริเวณทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม เพื่อแก้ไข ป้องกัน และบรรเทามลพิษ และเรื่องน้ำเน่าเสียจากฟาร์มสุกรบริเวณทำนบดินปิดกั้นลำน้ำเดิม ในช่วงที่รอผลการศึกษามาตรการแก้ไขผลกระทบด้านชลศาสตร์
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 1 ปี นับแต่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปดูพื้นที่ ผลการดำเนินการไม่คืบหน้าเท่าที่ควร นอกจากการดำเนินการขุดลอกคลอง โดยกรมทหารช่าง กองทัพบก
4.2 หลังจากนั้น กรมชลประทานได้รายงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานในการบูรณาการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยรองเลขาธิการฯ (นายพรชัย รุจิประภา)เป็นผู้รับผิดชอบ และเมื่อเวลาผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งรองเลขาธิการฯ (นายพรชัย รุจิประภา) มีความจำเป็นต้องไปปฎิบัติราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพลังงาน ต่อมารองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เข้ามาดำเนินการ โดยได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนทดน้ำบางปะกง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 166/2546 และ 174/2546 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 และวันที่ 11 สิงหาคม 2546 ตามลำดับ โดยมีศาสตราจารย์ปริญญา นุตาลัย เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว ทั้งนี้ได้มีการจัดประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง และได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 ครั้ง
4.3 คณะกรรมการได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานแก้ไขปัญหา 2 ระยะ คือ 1) ระยะแรก (ปี 2547) และ 2) ระยะต่อเนื่อง (ปี 2548) และภายใต้กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำแผนงานแก้ไขปัญหา โดยแบ่งออกเป็น 2 แผนงานย่อย ได้แก่ แผนงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ระยะแรก ประกอบด้วย 10 โครงการเร่งด่วน วงเงินรวม 455.9818 ล้านบาท และแผนงานแก้ไขปัญหาเพื่อความยั่งยืน ระยะต่อเนื่อง ประกอบด้วย 26 โครงการ วงเงินรวม 611.8960 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 36 โครงการ วงเงิน 1,067.8778 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้ทำบันทึกเสนอ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีรายงานผลการทำงานของคณะกรรมการฯ และขออนุมัติงบกลางปี 2547 รวม 9 โครงการ วงเงิน 91.6308 ล้านบาท ประกอบด้วย การติดตั้งระบบโทรมาตรและการบริหารจัดการเขื่อนวงเงิน 67 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและคุณภาพน้ำ วงเงิน 7 ล้านบาท การศึกษาระบบนิเวศน์น้ำกร่อย วงเงิน 10.4828 ล้านบาท และการมีส่วนร่วมของประชาชน วงเงิน 8.0820 ล้านบาทซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า “แพงมาก/ไม่ค่อยเห็นด้วย ระหว่างยกเลิกโครงการกับการดำเนินการต่อ อย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน”
4.4 วันที่ 19 ธันวาคม 2546 รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้มีคำสั่งถึง ศาสตราจารย์ปริญญา นุตาลัย ให้พิจารณาทบทวน และในวันที่ 31 ธันวาคม 2546 รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 310/2546 แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนทดน้ำบางปะกงเพิ่มเติม เพื่อให้องค์ประกอบของคณะกรรมการฯครอบคลุมสาขาที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น
4.5 วันที่ 5 มกราคม 2547 ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2547 ที่ประชุมได้มีมติ
ให้แต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนทดน้ำบางปะกง โดยมีรองศาสตราจารย์เจษฎา แก้วกัลยา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาทบทวนข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนทดน้ำบางปะกง ตามความเห็นของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) คณะทำงานฯ ได้ประชุมหารือและมีผลการพิจารณา ดังนี้
การแก้ปัญหาเขื่อนทดน้ำบางปะกง ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1) การบริหารระดับน้ำด้วยการควบคุมบานระบายน้ำ และ 2) การติดตั้งระบบโทรมาตรวัดระดับน้ำ
1) การบริหารระดับน้ำด้วยการควบคุมบานระบายน้ำ
กรมชลประทานได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนทดน้ำบางปะกง ด้วยวิธีควบคุมบานระบายน้ำ ในช่วง 3 เดือนของทุกปี (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) วิธีดังกล่าว เป็นการควบคุมบังคับบานแบบใหม่แทนการปิดสนิทตลอดเวลา การควบคุมบานระบายน้ำ จะรักษาระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนไม่ให้สูงหรือต่ำกว่าระดับที่เคยเกิดในช่วงฤดูแล้ง คือ +1.35 และ —1.05 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง การควบคุมบังคับบานแบบใหม่จะยอมให้น้ำไหลผ่านบาน ในจังหวะที่สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล โดยมีการพยากรณ์น้ำทะเลขึ้นลงสูงสุดไว้ก่อน แล้วปรับบานให้ระดับน้ำที่ด้านท้ายน้ำที่เกิดขึ้นจริงเป็นไปตามที่คาดการณ์และควบคุมไว้ โดยใช้ระบบอัตโนมัติและข้อมูลจากระบบโทรมาตร สำหรับอีก 9 เดือนที่เหลือ (มีนาคม — พฤศจิกายน) จะยกบานระบายน้ำขึ้นสุด ทำให้แม่น้ำบางปะกงคงสภาพน้ำกร่อยตามธรรมชาติ
การควบคุมบังคับบานดังกล่าว จะทำให้ระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุดไม่สูงและไม่ต่ำกว่าที่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น การบริหารเขื่อนทดน้ำบางปะกง จะไม่ส่งผลทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งที่รุนแรงไปกว่าระดับการพังทลายปกติ
2) การติดตั้งระบบโทรมาตรวัดระดับน้ำและคุณภาพน้ำด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ
เพื่อให้ระดับการควบคุมบังคับบานข้างต้นดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการติดตั้งระบบโทรมาตรวัดระดับน้ำ เพื่อติดตามระดับน้ำและส่งข้อมูลระดับน้ำมายังหน่วยควบคุม กรมชลประทานมีแผนปรับปรุงระบบโทรมาตรเดิม 6 แห่ง และก่อสร้างระบบโทรมาตรใหม่ 8 แห่ง รวมทั้งปรับปรุงระบบควบคุม เพื่อให้ระบบโทรมาตรทั้งหมดทำงานสัมพันธ์กัน ระบบโทรมาตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) พยากรณ์การขึ้นลงของน้ำทะเลในรอบสัปดาห์ โดยใช้ข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ข้อมูลทางอุทกวิทยา และข้อมูลจากระบบโทรมาตร
(2) ใช้ระบบการคำนวณแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คำนวณการปิดเปิดบานให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบานสัมพันธ์กับระดับน้ำด้านท้ายน้ำในแต่ละวัน โดยจะให้บานระบาย (Flood Gate) เป็นบานระบายหลักในการให้น้ำผ่าน และใช้บานควบคุม (Regulating Gate) เป็นบานที่ปรับให้ปริมาณน้ำในแต่ละช่วงเวลาสัมพันธ์กับการแปรเปลี่ยนของระดับน้ำในแต่ละชั่วโมง โดยการให้น้ำลอดและไหลผ่านด้านบน ลักษณะเช่นเดียวกับฝายน้ำล้น
(3) ตรวจสอบข้อมูลและปรับแก้การปิดเปิดบาน โดยใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง จากระบบโทรมาตรที่มีการตรวจวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำ และความเค็ม ทุกๆ ๕ นาที เมื่อได้ข้อมูลจริง ณ จุดต่างๆ มาปรับแก้กราฟที่พยากรณ์ไว้แล้ว ระบบโทรมาตรนี้จะคำนวณพื้นที่หน้าตัดของการไหลและระยะการเปิดบานพร้อมทั้งสั่งการให้เปิดปิดบานโดยอัตโนมัติ
การควบคุมบังคับบานระบายน้ำ จะทำงานควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำตอนบน โดยในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ เขื่อนทดน้ำบางปะกงจะผันน้ำ 130 ล้าน ลบ.ม. จากอ่างเก็บน้ำตอนบนมาไล่น้ำเค็ม เพื่อชะลอน้ำเค็มไว้ที่ตำบลบางกระเจ็ด อำเภอบางคล้า ระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำบางปะกง ทั้งนี้โดยมิได้มีขอบเขตของน้ำจืดที่ชัดเจน และหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะยกบานระบายน้ำขึ้นสุดเช่นเดิม ทำให้แม่น้ำบางปะกงคงสภาพน้ำกร่อยตามธรรมชาติ
น้ำที่ผันมาไล่น้ำเค็มในช่วง 3 เดือน (ธันวาคม - กุมภาพันธ์) มีปริมาณ 130 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำที่มาจากลำน้ำคลองท่าด่าน 34.30 ล้าน ลบ.ม. และมาจากลำน้ำคลองสียัด 95.70 ล้าน ลบ.ม.
4.6 โดยสรุปคณะกรรมการฯ จะขออนุมัติงบประมาณกลาง ปีงบประมาณ 2547 เป็นจำนวน 96.38 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา จำนวน 7 โครงการ ให้สามารถดำเนินการได้ทันช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง (ธันวาคม 2547 — กุมภาพันธ์ 2548) ซึ่งประกอบด้วย
1) แผนการปรับปรุงระบบโทรมาตร 56 ล้านบาท
2) แผนการปรับปรุงระบบควบคุม 11 ล้านบาท
3) การติดตั้งเครื่องหมุนเวียนน้ำและเติมอากาศ 7 ล้านบาท
4) การสร้างหมุดหลักฐานด้านท้ายน้ำโครงการฯ 0.90 ล้านบาท
5) โครงการศึกษาระบบนิเวศน์น้ำกร่อยในแม่น้ำ 10.48 ล้านบาท บางปะกง
6) แผนการประชาสัมพันธ์โครงการ 2 ล้านบาท
7) งานอำนวยการ 9 ล้านบาท
รวมเป็นเงิน 96.38 ล้านบาท
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความคุ้มค่าจากการใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 โดยมีศาสตราจารย์ปริญญา นุตาลัย เป็นประธาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
4.7 ปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหาเขื่อนทดน้ำบางปะกง คือ การติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งสำนักงบประมาณมีความเห็นว่าถ้าจะใช้งบประมาณน้อยที่สุดที่จะทำให้เขื่อนทดน้ำบางปะกงสามารถดำเนินการต่อไปได้ คือ การติดตั้งระบบโทรมาตร จึงได้อนุมัติงบประมาณเป็นงบปกติ จำนวน 51 ล้านบาทเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2548
4.8 สำหรับการแก้ไขคุณภาพน้ำบริเวณทำนบดินเดิม โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำทำนบดินเดิม กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทชัยเจริญไมตรี จำกัด ทำการก่อสร้างตามแผนแก้ไขผลกระทบด้านชลศาสตร์ทำการก่อสร้างประตูระบายน้ำทำนบดินเดิม จำนวน 3 ช่อง ขนาดกว้างช่องละ 6 เมตร โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจงานที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราได้รายงานการขอแก้ไขแบบ โดยขยายประตูระบายน้ำช่องกลางให้กว้างขึ้นจากเดิม 6 เมตร เป็น 15 เมตร เพื่อให้เรือหลวงพ่อพุทธโสธรผ่านได้ และสามารถเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ ซึ่ง ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการ และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบ ให้แก้ไขสัญญางานดังกล่าว โดยได้รับจัดสรรงบประมาณจากการขอแก้ไขสัญญา ในปี 2547 เป็นเงิน 25 ล้านบาท และได้ขอกันเหลื่อมปีแล้ว คาดว่าการออกแบบจะแล้วเสร็จ ภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2547 และดำเนินการแก้ไขสัญญาต่อไป
5. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
5.1 การแก้ไขปัญหามลพิษเหนือเขื่อน
เห็นด้วยกับการติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อการบริหารในการปิดเปิดบาน ด้วยวิธีการแผนใหม่ที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมบางประเภท ซึ่งไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องมีสำนึกร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาดังกล่าว
5.2 การแก้ปัญหาน้ำท่วมและตลิ่งพังท้ายเขื่อน
1) เห็นด้วยกับการติดตั้งระบบโทรมาตรดังกล่าวข้างต้น โดยการพยากรณ์น้ำทะเลขึ้นสูงสุดไว้ก่อน แล้วปรับบานให้ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำที่เกิดขึ้นจริงเป็นไปตามที่คาดการณ์ และควบคุมไว้โดยใช้ระบบอัตโนมัติและข้อมูลจากระบบโทรมาตร รวมทั้ง ความคาดหวังที่จะได้รับปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด คลองท่าด่าน และพระปรงมาช่วยบรรเทาความแตกต่างของระดับน้ำ กรณีน้ำทะเลขึ้นสูงสุดและน้ำทะเลลงต่ำสุด ซึ่งจะบรรเทาสภาพของตลิ่งพังไปได้พอสมควร
2) ประเด็นในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและตลิ่งพังท้ายเขื่อนนั้น เห็นควรให้พิจารณาในประเด็นงานโครงสร้างป้องกันตลิ่ง และโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมของแม่น้ำบางปะกง บริเวณท้ายเขื่อน และบางจุดซึ่งมีตลิ่งพังและน้ำท่วม จุดที่ต่ำของตลิ่ง ควรป้องกันโดยการเสริมคันกั้นน้ำซึ่งในการสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน โดยทั่วไปจะมีการสร้างเขื่อนสองฝั่งท้ายเขื่อน อาทิ ประตูระบายน้ำที่คลองมหาชัย จ. สมุทรสาคร ซึ่งกรมชลประทานได้สร้างเสร็จแล้ว และได้สร้างเขื่อนสองฝั่งหลังประตูระบายน้ำไประยะหนึ่ง ในกรณีนี้น่าจะเป็นส่วนเพิ่มเติมของงานในโครงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกงซึ่งมิได้กำหนดไว้ในเนื้องานเดิม พร้อมกับการสร้างตัวเขื่อนทดน้ำบางปะกง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง
5.3 เขื่อนทดน้ำบางปะกง นอกจากจะเป็นแหล่งเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งแล้ว เขื่อนยังมีประโยชน์ในการสกัดกั้นไม่ให้น้ำเค็มขึ้นไปสูง ตามแม่น้ำบางปะกง และในการออกแบบยังได้มีระบบสถานีสูบน้ำที่จะนำน้ำจากบริเวณหน้าเขื่อนไปเข้าคลองส่งน้ำ 2 สาย โดยสายที่ 1 มีความยาว 4.50 ก.ม. ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสายที่ 2 มีความยาว 28.85 ก.ม. ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไประดับหนึ่ง โดยได้ใช้งบประมาณประมาณ 190 ล้านบาท ขณะนี้สามารถทำการชลประทานได้ในพื้นที่ 47,100 ไร่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถใช้สอยได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ไม่สามารถส่งน้ำได้ครบถ้วนตามพื้นที่ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ คือ 92,000 ไร่ เนื่องจากบางจุดยังขาดอาคารและอุปกรณ์ของคลองส่งน้ำ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณที่จะนำมาดำเนินการในเนื้องานส่วนที่ขาดอีกประมาณ 160 ล้านบาท จึงจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ในการก่อสร้างสามารถส่งน้ำได้ถึงปลายคลอง ถ้าการก่อสร้างได้สมบูรณ์ตามโครงการ 28.85 ก.ม. สามารถใช้คลองส่งน้ำนี้ได้ในขณะเกิดฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร ไม่ว่าเขื่อนจะเปิดหรือปิดประตูน้ำ โครงการชลประทาน 92,000 ไร่ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะมีสถานีสูบน้ำ ซึ่งสามารถใช้งานได้แล้วในขณะนี้ หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณที่ได้จ่ายไปแล้ว โดยไม่เกิดประโยชน์ใช้สอย และในสายตาของประชาชนก็จะเห็นผลงานของภาครัฐที่ดำเนินการไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เป็นการสูญเปล่าของการใช้งบประมาณในการดำเนินงาน เห็นควรให้มีบทสรุปเป็นข้อยุติ
5.4 ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนทดน้ำบางปะกง ถือได้ว่าเป็นไปอย่างล่าช้ามาก นับตั้งแต่วันที่เขื่อนสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปลายปี 2542 วันที่เกิดปัญหา ณ วันทดลองปิดเปิดบาน (มกราคม-เมษายน 2543) รวมทั้งการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเขื่อน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2545 โดยได้มีการประชุมสั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และได้เดินทางไปตรวจราชการเขื่อน ครั้งที่ 2 (1 เมษายน 2547) ผลการดำเนินการในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่ปรากฎให้เห็นได้เท่าที่ควร เห็นควรให้เร่งดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชน ได้ทราบในแผนและผลการดำเนินการ รวมทั้งให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำในเขื่อน
5.5 จำนวนเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซึ่งจะเอื้อปริมาณน้ำกับเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 12 แห่ง ขณะนี้มีเพียง 3 แห่ง (อ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำพระปรงตอนบน) เห็นควรให้พิจารณาศึกษาความสำคัญและความจำเป็นในจำนวนเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขั้นต่ำ เพื่อความสอดคล้อง รวมทั้ง การแก้ปัญหาการจัดลำดับความสำคัญของการลงมือสร้างในอดีตถึงปัจจุบัน
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ