เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกที่ต้องการส่งสินค้าตัวอย่างไปให้ผู้ซื้อในต่างประเทศโดยตรงหรือนำสินค้าไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพอิสระที่จำเป็นต้องนำเครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญออกไปนอกประเทศเพื่อใช้ในการทำงานเป็นการชั่วคราว ดังนั้น สภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce: ICC) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จึงได้เริ่มนำ ATA Carnet มาใช้นับตั้งแต่ปี 2504 เพื่อช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรให้กับผู้ส่งออก/ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระเหล่านั้น
ATA Carnet คืออะไร
“ATA” ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษว่า “Admission Temporarie-Temporary Admission” ส่วน “Carnet” เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า สมุดตั๋ว “ATA Carnet” จึงหมายถึง เอกสารทางด้านศุลกากรระหว่างประเทศที่ออกโดยสภาหอการค้าของแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าได้อนุญาตให้ผู้ส่งออก/ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระในประเทศตนนำสินค้าเข้าไปยังประเทศปลายทางเป็นการชั่วคราว โดยผู้ถือ ATA Carnet ไม่ต้องวางหลักประกันค่าภาษีนำเข้าและไม่ต้องทำเอกสารด้านพิธีการศุลกากรนำเข้า ณ ประเทศปลายทางที่นำสินค้าเข้าไป โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งสินค้าดังกล่าวกลับคืนออกมาภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ATA Carnet มีอายุไม่เกิน 1 ปี และเมื่อหมดอายุลงไม่สามารถขอต่ออายุได้แต่จะต้องยื่นขอทำเอกสารใหม่ อย่างไรก็ตาม ATA Carnet 1 ฉบับ สามารถใช้ได้หลายครั้งจนกว่าจะหมดอายุ
โดยทั่วไปสภาหอการค้าของแต่ละประเทศจะออก ATA Carnet ให้เมื่อผู้ขอได้ยื่นหลักประกันให้ทางสภาหอการค้าอย่างน้อยในอัตราเท่ากับอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดที่ประเทศปลายทางจะเรียกเก็บ บวกเพิ่มอีกร้อยละ 10 โดยผู้ขออาจใช้เงินสดค้ำประกัน หรือใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ หรือหลักประกันอื่นๆ ที่สภาหอการค้าของแต่ละประเทศให้ความเห็นชอบก็ได้
ประโยชน์จากการใช้ ATA Carnet
ผู้ใช้ ATA Carnet จะมีค่าใช้จ่ายลดลงเนื่องจากสามารถลดขั้นตอนในการจัดทำเอกสารด้านการส่งออก-นำเข้า ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากการวางหลักประกันค่าภาษีนำเข้าที่ด่านศุลกากรเป็นเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศปลายทาง รวมทั้งยังช่วยประหยัดเวลาเนื่องจากไม่ต้องยื่นหลักประกันและขอรับคืนหลักประกันค่าภาษีนำเข้า ณ ประเทศปลายทางที่นำสินค้าเข้าไป
ประเทศที่มีสิทธิใช้ ATA Carnet
ประเทศที่ต้องการใช้ ATA Carnet จะต้องเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาที่เกี่ยวกับ ATA Carnet ที่มีทั้งหมด 5 ฉบับ โดยประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องเป็นภาคีสมาชิก “อนุสัญญาการนำเข้าสินค้าเป็นการชั่วคราว” ส่วน 4 ฉบับที่เหลือ แต่ละประเทศจะเลือกสมัครเป็นสมาชิกอนุสัญญาฉบับใดหรือครบทุกฉบับก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ได้แก่ อนุสัญญาการนำเข้าชั่วคราวเครื่องมือในการประกอบวิชาชีพ อนุสัญญาเกี่ยวกับการนำสินค้ามาแสดงนิทรรศการ การประชุม หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าตัวอย่างสินค้าและวัตถุในการโฆษณา และอนุสัญญาการนำเข้าชั่วคราวอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้ใช้ ATA Carnet จะต้องส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เป็นสมาชิกอนุสัญญาฯ เช่นเดียวกัน และสินค้าที่สามารถใช้ ATA Carnet ต้องเป็นสินค้าที่ประเทศปลายทางเป็นสมาชิกภายใต้อนุสัญญาฉบับเดียวกับประเทศต้นทางด้วย
ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ รวม 61 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี เอสโตเนีย รัสเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ศรีลังกา รวมทั้งไทย โดยไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ ครบทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537
ประเภทสินค้าที่ห้ามใช้ ATA Carnet
ได้แก่ สินค้าประเภทอาหาร สินค้าที่เน่าเสียง่าย สินค้าเกษตร บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งของใช้สิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็นต้องนำกลับออกไป (อาทิ เอกสารแผ่นพับ สีทาตกแต่งคูหาแสดงสินค้า ฯลฯ) ของที่ได้ตกลงขายไว้เรียบร้อยแล้ว และของที่นำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตหรือเพื่อซ่อมแซม เป็นต้น
ไทยกับการใช้ ATA Carnet
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ออก ATA Carnet โดยผู้ที่มีสิทธิขอรับจะต้องเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย โดยอาจเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าฯ หรือไม่ก็ได้ โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการออก ATA Carnet ภายใน 3 วันทำการ แต่กรณีเร่งด่วนจะใช้เวลาในการออกเอกสารภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤศจิกายน 2547--
-พห-
ATA Carnet คืออะไร
“ATA” ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษว่า “Admission Temporarie-Temporary Admission” ส่วน “Carnet” เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า สมุดตั๋ว “ATA Carnet” จึงหมายถึง เอกสารทางด้านศุลกากรระหว่างประเทศที่ออกโดยสภาหอการค้าของแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าได้อนุญาตให้ผู้ส่งออก/ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระในประเทศตนนำสินค้าเข้าไปยังประเทศปลายทางเป็นการชั่วคราว โดยผู้ถือ ATA Carnet ไม่ต้องวางหลักประกันค่าภาษีนำเข้าและไม่ต้องทำเอกสารด้านพิธีการศุลกากรนำเข้า ณ ประเทศปลายทางที่นำสินค้าเข้าไป โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งสินค้าดังกล่าวกลับคืนออกมาภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ATA Carnet มีอายุไม่เกิน 1 ปี และเมื่อหมดอายุลงไม่สามารถขอต่ออายุได้แต่จะต้องยื่นขอทำเอกสารใหม่ อย่างไรก็ตาม ATA Carnet 1 ฉบับ สามารถใช้ได้หลายครั้งจนกว่าจะหมดอายุ
โดยทั่วไปสภาหอการค้าของแต่ละประเทศจะออก ATA Carnet ให้เมื่อผู้ขอได้ยื่นหลักประกันให้ทางสภาหอการค้าอย่างน้อยในอัตราเท่ากับอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดที่ประเทศปลายทางจะเรียกเก็บ บวกเพิ่มอีกร้อยละ 10 โดยผู้ขออาจใช้เงินสดค้ำประกัน หรือใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ หรือหลักประกันอื่นๆ ที่สภาหอการค้าของแต่ละประเทศให้ความเห็นชอบก็ได้
ประโยชน์จากการใช้ ATA Carnet
ผู้ใช้ ATA Carnet จะมีค่าใช้จ่ายลดลงเนื่องจากสามารถลดขั้นตอนในการจัดทำเอกสารด้านการส่งออก-นำเข้า ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากการวางหลักประกันค่าภาษีนำเข้าที่ด่านศุลกากรเป็นเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศปลายทาง รวมทั้งยังช่วยประหยัดเวลาเนื่องจากไม่ต้องยื่นหลักประกันและขอรับคืนหลักประกันค่าภาษีนำเข้า ณ ประเทศปลายทางที่นำสินค้าเข้าไป
ประเทศที่มีสิทธิใช้ ATA Carnet
ประเทศที่ต้องการใช้ ATA Carnet จะต้องเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาที่เกี่ยวกับ ATA Carnet ที่มีทั้งหมด 5 ฉบับ โดยประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องเป็นภาคีสมาชิก “อนุสัญญาการนำเข้าสินค้าเป็นการชั่วคราว” ส่วน 4 ฉบับที่เหลือ แต่ละประเทศจะเลือกสมัครเป็นสมาชิกอนุสัญญาฉบับใดหรือครบทุกฉบับก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ได้แก่ อนุสัญญาการนำเข้าชั่วคราวเครื่องมือในการประกอบวิชาชีพ อนุสัญญาเกี่ยวกับการนำสินค้ามาแสดงนิทรรศการ การประชุม หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าตัวอย่างสินค้าและวัตถุในการโฆษณา และอนุสัญญาการนำเข้าชั่วคราวอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้ใช้ ATA Carnet จะต้องส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เป็นสมาชิกอนุสัญญาฯ เช่นเดียวกัน และสินค้าที่สามารถใช้ ATA Carnet ต้องเป็นสินค้าที่ประเทศปลายทางเป็นสมาชิกภายใต้อนุสัญญาฉบับเดียวกับประเทศต้นทางด้วย
ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ รวม 61 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี เอสโตเนีย รัสเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ศรีลังกา รวมทั้งไทย โดยไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ ครบทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537
ประเภทสินค้าที่ห้ามใช้ ATA Carnet
ได้แก่ สินค้าประเภทอาหาร สินค้าที่เน่าเสียง่าย สินค้าเกษตร บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งของใช้สิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็นต้องนำกลับออกไป (อาทิ เอกสารแผ่นพับ สีทาตกแต่งคูหาแสดงสินค้า ฯลฯ) ของที่ได้ตกลงขายไว้เรียบร้อยแล้ว และของที่นำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตหรือเพื่อซ่อมแซม เป็นต้น
ไทยกับการใช้ ATA Carnet
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ออก ATA Carnet โดยผู้ที่มีสิทธิขอรับจะต้องเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย โดยอาจเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าฯ หรือไม่ก็ได้ โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการออก ATA Carnet ภายใน 3 วันทำการ แต่กรณีเร่งด่วนจะใช้เวลาในการออกเอกสารภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤศจิกายน 2547--
-พห-