(ต่อ1) แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2547-2553)

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 30, 2004 10:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

          เสริมสร้างกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง นับจากการเริ่มแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ในวันที่ 1 มกราคม 2548 โดยทำให้กฎดังกล่าวมีความโปร่งใส แน่นอน และเป็นมาตรฐาน โดยคำนึงถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของความตกลงด้านการค้าในระดับภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าขององค์การการค้าโลก และรับรองกฎว่าด้วยการแปรรูปอย่างพอเพียงมาใช้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการได้สถานะแหล่งกำเนิดสินค้า
2.3.5.3 มาตรฐานและการรับรอง
มุ่งเน้นสาขาที่มีความศักยภาพมากด้านการค้า รวมทั้งเร่งรัดการ ดำเนินการตามกรอบความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมและการกำหนดเป้าหมายที่แน่นอนสำหรับการปรับประสานมาตรฐานและกฎระเบียบ และหากเป็นไปได้ พัฒนากฎระเบียบอาเซียนตาม หลักเกณฑ์การดำเนินการระหว่างประเทศสำหรับใช้ในประเทศสมาชิก
2.3.6 ทรัพย์สินทางปัญญา
ยกระดับความร่วมมือและการพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนเพื่อให้บรรลุถึงวัฒนธรรมของการเรียนรู้ การคิดค้นนวัตกรรมและความสามารถในการสร้างสรรค์ โดยการดำเนินการ ดังนี้
- ใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของอาเซียนที่หลากหลายในด้านความสามารถในการสร้างสรรค์และนวัตกรรม
- การพัฒนาเอกลักษณ์ของภูมิภาคในการปรับประสาน การสร้าง การใช้ในการพาณิชย์ การปกป้อง การบังคับใช้ และการรับทราบเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
- ก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจมากที่สุดจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาโดยสนับสนุนให้มีความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อขยายและเพิ่มฐานความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการทำการวิจัยและพัฒนา และนำผลการวิจัย ไปใช้ในการพาณิชย์
ทั้งนี้ จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยการนำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาปี 2547-2553 มาดำเนินการต่อไป
2.3.7 ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาวิสาหกิจ
2.3.7.1 ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม
เสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมในอาเซียนและส่งเสริมการซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน รวมทั้งพิจารณาจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงกันของอุตสาหกรรมในภูมิภาค
2.3.7.2 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สนับสนุนการเติบโตและเร่งการปรับเปลี่ยนและการรวมตัวของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นผู้จัดจำหน่ายที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและพลวัตในตลาดภูมิภาคและตลาดโลกใช้ ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและโดยรวมของประเทศสมาชิกให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนา ต่อไป ส่งเสริมวัฒนธรรมของการเป็นนักวิสาหกิจ การคิดค้นนวัตกรรมและการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ อำนวยความสะดวกให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้าถึงแหล่งข้อมูล ตลาดทรัพยากรมนุษย์ และบริการด้านการพัฒนาธุรกิจ สินเชื่อและแหล่งเงินทุน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปรับปรุงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการเชื่อมโยงกันของธุรกิจดังกล่าว อำนวยความสะดวกการสร้าง เครือข่ายระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการร่วมลงทุน อำนวยความสะดวกในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียนไปสู่บรรษัท ข้ามชาติ ทั้งนี้ จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2547-2553 เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น
2.4 การค้าบริการ
การไหลเวียนของบริการ เช่น การเงิน การขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการผลิตและการค้าสินค้า จึงจะมีการเปิดเสรีการค้าบริการในกรอบเวลาที่ทุกประเทศสมาชิกรับได้เพื่อให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นฐานการผลิตเดียว และจะส่งเสริม อุตสาหกรรมบริการในภูมิภาคที่มีคุณภาพสูงเพื่อพัฒนาอาเซียนเป็นศูนย์กลางของโลกในการให้บริการแก่ประเทศต่างๆ
2.4.1 การเปิดเสรีด้านบริการ
เร่งการรวมตัวในภูมิภาคเพื่อจัดตั้งตลาดเดียวด้านบริการโดยการเปิดเสรีการค้าบริการอย่างก้าวหน้าก่อนปี 2563 ในการนี้ จะดำเนินการเจรจารอบต่างๆ โดยกำหนดเป้าหมายและปัจจัยกำหนดการเจรจาที่ชัดเจน และใช้แนวทางประเทศใดพร้อมก่อนสามารถร่วมกันเปิดเสรีระหว่างกันไปก่อนได้ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในด้านบริการและในการเป็นศูนย์กลางสำหรับการให้บริการ
ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อ เสริมสร้างความเข้าใจของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับสาขาบริการ ข้อเสียและผลประโยชน์ที่จะได้จากการเปิดเสรีการค้าบริการ การพัฒนาขีดความสามารถ และการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาชีพ แรงงานมีฝีมือและผู้มีความชำนาญ
2.4.2 การท่องเที่ยว
อำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน โดยลดข้อจำกัดต่อการค้าด้านท่องเที่ยวและบริการด้านท่องเที่ยวลงอย่างมาก เสริมสร้างการพัฒนาและส่งเสริมให้อาเซียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดียว สนับสนุนความร่วมมือเพื่อพัฒนา ยกระดับ และขยายบริการและสิ่ง อำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวและเดินทาง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันในอาเซียน และการลงทุนในการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว
2.5 ความร่วมมือด้านการเงิน
ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินการคลังในภูมิภาคโดยการ เสริมสร้างกลไกการติดตามภาวะเศรษฐกิจของอาเซียน และระบบการเงินการคลังในประเทศ และอำนวยความสะดวกการพัฒนาและการรวมตัวของตลาดการเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านการรวมตัวทางการเงินของอาเซียน
2.6 การขนส่ง
เตรียมความพร้อมของการขนส่งในอาเซียนในฐานะที่เป็นสาขาที่สนับสนุนในด้านบริการและระบบโลจิสติกส์โดยการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านขนส่งของอาเซียนปี 2548-2553 โดยมุ่งเน้นกิจกรรมความร่วมมือที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายคนและสินค้า อย่างเสรี การเสริมสร้าง การรวมตัวและประสิทธิภาพของโครงสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวก การบริการของการขนส่งหลายรูปแบบ การเร่งเปิดเสรีด้านการบิน และการเปิดเสรีบริการด้าน การบินและการขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้น
2.7 การโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยการร่วมมือระหว่างภาครัฐและ เอกชนในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงกันและมีความมั่นคง โดย การดำเนินการ ดังนี้
- ผลักดันการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
- สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศของอาเซียนให้เป็นระบบที่ เชื่อมโยงกันแพร่หลายและปลอดภัย
- สนับสนุนความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือในประเด็นนโยบายด้านกฎระเบียบและยุทธศาสตร์
- สร้างโอกาสด้านข้อมูล โดยการมีข้อริเริ่มด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสังคมอิเล็กทรอนิกส์
- เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพลวัตของสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียนโดยการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนในบริการด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร และ
- พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความชำนาญสูง
2.8 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการรักษาการเติบโต ทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความอยู่ดีกินดีของชุมชน ส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียนโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และการจัดหาบริการด้านวิชาการเพื่อสนอง ต่อความต้องการด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจ นำเครื่องมือและหลักการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการสนับสนุนการวางแผนงานด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางที่เป็นระบบในการดำเนินโครงการให้ความ ช่วยเหลือเพื่อสนองต่อความต้องการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าในอาเซียน นอกจากนี้ จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักของ อาเซียนในการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน
2.9 พลังงาน
พัฒนาพลังงานในอาเซียนอย่างยั่งยืนโดยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน ปี 2547-2552 ซึ่งจัดทำขึ้นตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการและแผนงานในสาขาต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน โครงการ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน การอนุรักษ์และการพัฒนาประสิทธิภาพถ่านหินและพลังงาน พลังงานหมุนเวียนและการกำหนดนโยบายและวางแผนด้านพลังงานในภูมิภาค การเสริมสร้างการรวมตัวของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาค การส่งเสริมความปลอดภัยด้านพลังงาน การกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปและเปิดเสรีด้านการตลาด รวมทั้งการอนุรักษ์สภาพ แวดล้อมที่ยั่งยืน
2.10 สาขาเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ และป่าไม้
เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสาขาอาหาร เกษตร และป่าไม้โดยการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการค้าภายในระหว่างอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอกกลุ่มและการเพิ่มขึ้นของการลงทุนของภาคเอกชนในสาขาอาหาร เกษตร และป่าไม้
2.11 การเสริมสร้างสถาบันของอาเซียน
2.11.1 กลไกการยุติข้อพิพาท
จัดตั้งระบบการยุติข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีการดำเนินการตาม ความตกลงด้านเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์และการแก้ไขข้อพิพาทอย่างรวดเร็วโดยกลไกการให้ คำแนะนำ การปรึกษาหารือ และการพิจารณาตัดสินทางกฎหมาย และจะจัดทำกรอบกฎหมายร่วมกันสำหรับการตั้งเป็นบริษัทหรือการลงทะเบียนบริษัทอาเซียนเพื่อใช้ในการยุติข้อพิพาท
2.11.2 สถิติ
ให้การสนับสนุนด้านสถิติสำหรับข้อริเริ่มต่างๆ ของอาเซียนและการวางแผนและกำหนดนโยบาย โดยการปรับปรุงคุณภาพและการจัดทำข้อมูลสถิติที่สำคัญ การรับมาตรฐานระหว่างประเทศที่เหมาะสมมาใช้ การส่งเสริมให้มีการรับรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสถิติต่างๆ ของอาเซียน การเสริมสร้างเครือข่ายและการเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างผู้ใช้ข้อมูลกับระบบสถิติ และ การเผยแพร่สถิติอาเซียนให้แพร่หลายมากขึ้นโดยการจัดพิมพ์หนังสือสถิติประจำปีของอาเซียนและการเพิ่มข้อมูลด้านสถิติในเว็บไซต์ของประเทศสมาชิกและสำนักเลขาธิการอาเซียน
2.12 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาส่วนใหญ่การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติและการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน ในขณะที่การส่งออกของ อาเซียนได้มีเสถียรภาพและเริ่มขยายตัว แต่อาเซียนก็ประสบกับปัญหาเรื่องการไหลเข้าของการ ลงทุนโดยตรงจากต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินใน ปี 2540-2541 โดยที่การดำเนินมาตรการภายในของอาเซียนเพื่อจัดตั้งตลาดและฐานการผลิตเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุนในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาเซียนจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศภายนอกและความ ได้เปรียบด้านการค้ากับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนโดยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีและการเป็น พันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด
ยุทธศาสตร์ของอาเซียนด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภายนอกประกอบด้วยการสนับสนุนการเชื่อมโยงและการส่งเสริมความสอดคล้องกันของความตกลงที่อาเซียนมีกับประเทศ คู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป และประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น อินเดีย ซึ่งในส่วนหลังนี้อาจรวมถึงการเพิ่มการประสานเรื่องการจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนมีกับประเทศภายนอกและ ปรับอัตราภาษีศุลกากรตามกรอบทั่วไปให้ใกล้เคียงกัน
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
แนวคิดหลัก: ทำนุบำรุงมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียนที่ปรองดองและยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง
แนวยุทธศาสตร์
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเป็นตัวแทนของความปรารถนาของอาเซียนที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเสริมสร้าง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่อาเซียนที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง แผนการดำเนินงานของประชาคมจะเน้นแนวยุทธศาสตร์ 4 ประการเพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายอื่นๆ ของประชาคม อาเซียน กล่าวคือ ระบบการคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งและดำเนินงานได้ดีซึ่งจะแก้ไขปัญหาความยากจน ความเสมอภาค และผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีต่อสุขอนามัย การส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอันจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ธรรมาภิบาลในสังคมที่จะแก้ไข ผลกระทบจากบูรณาการทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาค
โดยที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจถูกบั่นทอนด้วยความไม่เสมอภาคในสังคม ซึ่งสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป แผนปฏิบัติการด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจึง เกี่ยวพันแนบแน่นกับเสาหลักด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประชาคมอาเซียน การจัดตั้ง ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเกิดขึ้นจากรากฐานความคิดว่า บูรณาการทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ไม่เพียงพอที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน
ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของอาเซียนเป็นหนทางสำหรับ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้จะช่วยให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่งในวันนี้และต่อไปในอนาคต อันจะช่วยให้ประชาชนสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตและดำเนินวิถีชีวิตที่ดีและมีสุขอนามัย มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองทางสังคม อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์ สิ่งแวดล้อม จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยให้ดำเนินชีวิตได้ด้วยดี
3.1 การสร้างประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทร
การที่สังคมใดสังคมหนึ่งมีความตั้งใจและมีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาความเสมอภาคในสังคม และปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งล้วนเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญ เป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่า สังคมนั้นเป็นประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทรที่เข้มแข็งและฟื้นตัวได้เร็ว ข้อริเริ่มระดับประเทศจะเป็นพื้นฐานในการกำหนดวิธีการและขอบเขตของการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการดำเนินการร่วมกันในระดับภูมิภาคจะช่วยให้พันธกรณีทาง การเมืองและเป้าหมายระดับชาติของประเทศสมาชิกมีน้ำหนักและความหมายมากขึ้นอย่างมี นัยสำคัญ
มาตรการระดับภูมิภาคที่จะมีส่วนเสริมการดำเนินการภายในประเทศ ประกอบด้วย
1. ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ไร้โอกาสและผู้ด้อยโอกาส โดยเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน และส่งเสริมวิธีการที่จะให้ คนเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคม
2. ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและการพัฒนาให้การศึกษามีมาตรฐานสูงโดยใช้การสร้าง เครือข่ายและการประสานงานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา
3. ลดความเสี่ยงทางสังคมของเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยสนับสนุนโครงการซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ และส่งเสริมการบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้การดูแลผู้สูงอายุ การบริการด้านสาธารณสุข และการศึกษา
4. ส่งเสริมให้ครอบครัว ประชาสังคม และภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น ในการแก้ไขความยากจนและปัญหาด้านสวัสดิการสังคม ด้วยการจัดตั้ง เครือข่ายและโครงการแลกเปลี่ยน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและสวัสดิการสังคม
5. ส่งเสริมให้สตรีและเยาวชนมีส่วนร่วมในกลุ่มกำลังแรงงานที่สามารถทำงานได้ดีขึ้น ด้วยการจัดการฝึกอบรมทักษะ และสามารถเข้าถึงสินเชื่อขนาดย่อมและระบบข้อมูลได้มากขึ้น
6. แก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุข
7. ป้องกันการแพร่กระจาย และลดอันตรายของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) และโรคติดต่ออื่นๆ
8. เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบฐานข้อมูลความมั่นคงด้านอาหาร
9. ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ประเทศสมาชิกสามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้โดยเร็ว โดยลดผลกระทบทางลบของภัยพิบัติเพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนที่ปลอดภัยขึ้นและมี การพัฒนาที่ยั่งยืน
10. ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปลอดยาเสพติดภายในปี 2558 โดยการป้องกัน บำบัดและใช้ชุมชนเป็นพื้นฐานในการควบคุมการใช้สารเสพติดในทางที่ผิด ควบคู่ ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาทางเลือก และการขจัดการลักลอบค้ายาเสพติด
11. ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ ภูมิภาคด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมการ นำวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีไปใช้ใน กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากขึ้น
3.2 การจัดการผลกระทบทางสังคมที่เป็นผลมาจากบูรณาการด้านเศรษฐกิจ (สลับกับ
“การส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม”)
การปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศและการจัดการกับระบบการผลิตที่เกิดขึ้น ภายหลังการบูรณาการทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะมีผลมากที่สุดต่อตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง
1. ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการสร้างเครือข่ายของสถาบันฝึกอบรมต่างๆ และการพัฒนาการประเมินผลในระดับภูมิภาคและโครงการฝึกอบรมต่างๆ
2. เสริมสร้างขีดความสามารถของรัฐบาลในการติดตามตรวจสอบตลาดแรงงานและดัชนีด้านทรัพยากรมนุษย์ และ
3. ส่งเสริมการคุ้มครองทางสังคมและระบบการจัดการแก้ไขความเสี่ยงทางสังคม
การนำบริการด้านสาธารณสุขเข้ามาเป็นหนึ่งใน 11 สาขาหลักของบูรณาการในแนวตั้งนั้น จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขผลกระทบจากการเปิดเสรีในสาขาสาธารณสุข นอกจากนั้น การพัฒนาการยอมรับฝีมือแรงงานของกันและกันจะช่วยให้เคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคได้ สะดวกขึ้นและช่วยสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย
3.3 การส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (สลับกับ “การจัดการผลกระทบทางสังคม
ที่เป็นผลมาจากบูรณาการด้านเศรษฐกิจ”)
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะช่วยส่งเสริมอาเซียนที่มีความสะอาดและ เขียวขจีด้วยกลไกที่ตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตที่สูงของประชาชน
ยุทธศาสตร์ระยะกลางและขั้นตอนของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
1. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันหรือการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในแง่ลบ บนพื้นฐานของหลักการความรับผิดชอบในภาพรวมร่วมกัน แต่แตกต่างกันในแต่ละสาขา
2. ป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนซึ่งเกิดจากไฟบนดินและ/หรือไฟป่า โดย ร่วมมือกัน อย่างพร้อมเพรียงในระดับชาติ เพิ่มการดำเนินงานในระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศในบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นไปตาม พันธกรณีของข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน
3. ให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สะอาดและเขียวขจี อุดมไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม (โดยที่ค่านิยมและการปฏิบัติของประชาชนเป็นไปตามจังหวะและกลมกลืนกับธรรมชาติ) และประชาชนมีความเข้าใจ สิ่งแวดล้อม มีจริยธรรมในด้านสิ่งแวดล้อม เต็มใจและสามารถช่วยให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค โดยอาศัยสิ่งแวดล้อมศึกษาและการเข้ามามีส่วนร่วมของสาธารณชน
4. ตั้งเป้าให้อาเซียนปราศจากขยะและให้ขยะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ส่งเสริมโอกาสในการทำธุรกิจสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
5. ให้เขตเมือง/เมืองใหญ่ในอาเซียนมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในขณะที่สามารถสนองต่อ ความต้องการด้านสังคมและเศรษฐกิจของประชาชน และ
6. ให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย กฎเกณฑ์ มาตรฐานและฐานข้อมูลมีความ สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงสภาวะในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
1. ให้มีการบริหารสิ่งแวดล้อมทางชายฝั่งและทะเลของอาเซียนอย่างยั่งยืน และปกป้องระบบนิเวศน์ การปกป้องพื้นที่ที่ยังไม่เสียหายและพืชสัตว์ในตระกูลต่างๆ และ การจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกของ สาธารณชนในด้านสิ่งแวดล้อมบริเวณทางชายฝั่งและทะเล
2. ให้มีการอนุรักษ์และบริหารความหลากหลายทางชีวภาพที่อาเซียนมีอยู่อย่างอุดมให้ยั่งยืน และให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม เพื่อช่วย ให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้นทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
3. ส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำที่มีคุณภาพในระดับที่เป็นที่ยอมรับได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในอาเซียน ทั้งในด้าน สาธารณสุข ความมั่นคงด้านอาหาร เศรษฐกิจและ สิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการ เชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างน้ำ สุขอนามัยและความยากจน
4. ให้มีการจัดการทรัพยากรบนดินและในดินอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้การผลิตด้านการเกษตรอยู่ในระดับที่ได้ผลดีที่สุด
5. ส่งเสริมการจัดการอย่างยั่งยืนกับทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศน์ที่สำคัญ โดยขจัดวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่มรดกอาเซียน และ
6. ส่งเสริมวิธีการพัฒนาแร่ธาตุในรูปแบบที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้มีการจัดการที่ยั่งยืนและใช้ทรัพยากรแร่ธาตุให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุด
3.4 การส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน
ท่ามกลางความหลากหลายแห่งประสบการณ์ในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรมนั้น มีสายใยร่วมของความผูกพันทางด้านประวัติศาสตร์ แหล่งที่อยู่อาศัยในเขตที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และความ มุ่งหวังที่จะเห็นสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ที่ร้อยประสานประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าด้วยกัน และเป็นพื้นฐานของอัตลักษณ์ของอาเซียน
ยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างจิตสำนึกในความเป็นอาเซียนและการสร้างอัตลักษณ์ของ อาเซียน มีดังนี้
1. นำการเสริมสร้างจิตสำนึกของความเป็นอาเซียนและอัตลักษณ์ของภูมิภาคให้เป็นส่วนสำคัญในแผนการสื่อสารระดับชาติ หลักสูตรการศึกษา การติดต่อระหว่างประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างเยาวชน โดยผ่านทางศิลปะ การท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งส่งเสริมการเรียนภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการให้ ทุนการศึกษาและแลกเปลี่ยนนักภาษาศาสตร์
2. อนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการประชุมของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรม
3. สนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ อารยธรรม วัฒนธรรม และศาสนาต่างๆ ของภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
4. ส่งเสริมสถานะของอาเซียนในประชาคมระหว่างประเทศ โดยให้อาเซียนมีบทบาทเชิงรุกในประเด็นระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกลไกการติดต่อสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. เป้าหมายและยุทธศาสตร์สำหรับการลดช่องว่างด้านการพัฒนา
แนวคิดหลัก: การเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันโดยความร่วมมือด้านการพัฒนา
อาเซียนได้ประกาศอย่างชัดเจนและหลายครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านการพัฒนาหากประเทศสมาชิกอาเซียนจะก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของวิสัยทัศน์อาเซียน พ.ศ. 2563 ความจำเป็นนี้ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกและมี การประกาศอย่างเป็นทางการในปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการลดช่องว่างด้านการพัฒนาเพื่อ การรวมตัวของอาเซียนที่ใกล้ชิดขึ้น ปี 2544 และมีการยืนยันอีกครั้งในปฏิญญาว่าด้วยความ ร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2 ปี 2546
ช่องว่างด้านการพัฒนามักจะแสดงให้เห็นจากความแตกต่างของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว รวมทั้งจากความแตกต่างในมิติอื่นๆ ของการพัฒนามนุษย์ เช่น ช่วงอายุของชีวิต และอัตราการรู้หนังสือ ข่องว่างนี้ยังสามารถวัดได้จากความแตกต่างของความยากจน
การลดช่องว่างด้านการพัฒนาเป็นเป้าหมายในตัวเอง ด้วยหลักการที่ว่าการพัฒนาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นมูลฐานซึ่งจะต้องทำตาม และจะต้องลดช่องว่างด้านการพัฒนาเนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการบรรลุถึงเป้าหมายสุดท้ายการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ การเป็นประชาคมของ 10 ชาติที่เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว อันที่จริงแล้ว ความพยายามเพื่อลด ช่องว่างด้านการพัฒนาจะช่วยยกเลิกข้อจำกัดที่หนักที่สุดของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน ซึ่งในทางกลับกันก็จะช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาด้วย
4.1 เป้าหมาย
เป้าหมายในทางปฏิบัติของแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาคือ การลดความแตกต่างที่มีอยู่มากในด้านผลิตภัณฑ์มวลประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวและมิติของการพัฒนามนุษย์ มีช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ กับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) และระหว่างประเทศสมาชิก อาเซียนเดิม ซึ่งยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีปัญหาความด้อยพัฒนาอยู่
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจะกำหนดและตกลงในเวทีหารือ ที่เหมาะสมเกี่ยวกับเป้าหมายการลดช่องว่างด้านการพัฒนาที่จะสามารถทำได้สำเร็จโดยผ่าน แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ภายในปี 2553 และโครงการหรือแผนปฏิบัติการต่อเนื่องภายในปี 2558 และ 2563 ประเทศสมาชิกสามารถเรียนรู้จากบทเรียนของกันและกันและปรับใช้กับ ยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการวางแผนและ ดำเนินนโยบาย ยุทธศาสตร์ และโครงการด้านการพัฒนา
4.2 ยุทธศาสตร์
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ