การประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 บรรลุข้อตกลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2004 15:15 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

            นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาว    โดยมีพ.ต.ท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมด้วย  นายวัฒนากล่าวว่า ที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ได้บรรลุข้อตกลงที่สำคัญร่วมกันในหลายประเด็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอาเซียน และนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
1. กรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารรายสาขา 11 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งกรอบความตกลงดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการนำร่องสำหรับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ 11 สาขาของอาเซียน ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ การท่องเที่ยว การบิน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน และมีการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรียิ่งขึ้น สาระสำคัญของกรอบความตกลงฯ มี ดังนี้
1) การเร่งลดภาษีสินค้าใน 9 สาขาหลัก (เกษตร/ ประมง/ ผลิตภัณฑ์ไม้/ ผลิตภัณฑ์ยาง/ สิ่งทอ/ ยานยนต์/ อิเล็กทรอนิกส์/ เทคโนโลยีสารสนเทศ/ สาขาสุขภาพ) ให้เร็วขึ้นจากกรอบอาฟต้าเดิม 3 ปี จากเดิมปี 2553 เป็นปี 2550 สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม และปี 2558 เป็นปี 2555 สำหรับสมาชิกอาเซียนใหม่
2) สาขาบริการ 2 สาขาที่ไทยเป็นประเทศผู้รับผิดชอบ
- สาขาการท่องเที่ยว สนับสนุนให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว และเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง โดยจะมุ่งให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางภายในอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาด รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และจัดทำมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
- สาขาการบิน ให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชีย และสนับสนุนการเดินทางของนักธุรกิจ และการท่องเที่ยว อาเซียนจะเปิดเสรีด้านการบิน ทั้งด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 โดยไทย สิงคโปร์ และบรูไน ได้ลงนามในความตกลงเพื่อเปิดเสรีการขนส่งสินค้าทางอากาศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และประเทศกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547
3) มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน จะต้องดำเนินการเร่งลด/ยกเลิกอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนให้โปร่งใสมากขึ้น ปรับปรุงพิธีการด้านศุลกากร และพัฒนามาตรฐานและความสอดคล้องของผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ แรงงานมีฝีมือ และผู้มีความสามารถพิเศษในอาเซียนที่สะดวก รวดเร็ว และเสรีมากยิ่งขึ้น
2. การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนลงนามความตกลงการค้าสินค้า ภายใต้การเปิดเสรีอาเซียน-จีน เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2547 โดยมีผู้นำอาเซียนร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะครอบคลุมการเปิดเสรีสินค้าทั้งหมด และจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยจะเริ่มลดภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และจีน จะยกเลิกภาษีสินค้า หรือเปิดเสรีภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนจะได้รับความยืดหยุ่นให้เปิดเสรีช้าออกไปอีก 5 ปี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แต่ละประเทศได้มีเวลาในการปรับตัว และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถมีสินค้าที่ต้องการความคุ้มครอง หรือการปรับตัวนานกว่าสินค้าปกติได้
สินค้าอ่อนไหวของไทย จะเริ่มลดภาษีในวันที่ 1 มกราคม 2555 และมีภาษีสุดท้ายเป็น 0-5% ภายในวันที่ 1 มกราคม 2561 อาทิ
- สินค้าเกษตร ได้แก่ กาแฟ ชา ข้าวบางชนิด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำตาล และไหมดิบ
- สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ หินอ่อน สี ยางรถยนต์และจักรยานยนต์ รองเท้าที่ทำด้วยยาง แก้วและกระจก เซรามิก เหล็กและผลิตภัณฑ์ คอมเพรสเซอร์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ลวดและเคเบิล รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ และของเล่น เป็นสินค้าอ่อนไหวของจีน อาทิ
- สินค้าเกษตร ได้แก่ กาแฟ ข้าวสาลี ข้าวบางชนิด น้ำมันจากพืชต่างๆ และน้ำตาล
- สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ปุ๋ย โพลีเอธิลีน ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์ สิ่งทอบางรายการ (โดยเฉพาะที่มีส่วนผสมของขนสัตว์) โพลีเอสเตอร์ โทรทัศน์สี รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
สำหรับการยกเลิกภาษีผัก ผลไม้ (พิกัด 07 และ 08) ระหว่างไทยและจีนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 ผู้นำจีนได้แจ้งแก่นายกรัฐมนตรีไทยในการหารือทวิภาคีว่า ดำเนินไปด้วยดี โดยขณะนี้คนจีนเริ่มรู้จักและนิยมผลไม้ไทยมากขึ้น
3. เขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2547 ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนร่วมหารือกับฝ่ายอินเดีย เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งผลของการหารือเป็นที่น่าพอใจ โดยอาเซียนและอินเดียตกลงที่จะให้มีกฎเฉพาะกาลว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า สำหรับสินค้า Early Harvest จำนวน 105 รายการ ในเรื่องกฎที่จะใช้ทั่วไปในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า ให้ใช้เกณฑ์การใช้วัตถุดิบภายในประเทศร้อยละ 40 (vaและกระบวนการแปรสภาพขั้นต่ำ ตามที่ฝ่ายอาเซียนเสนอ โดยให้มีรายการสินค้าที่ใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะได้ แต่ให้มีจำนวนน้อย และจะต้องเจรจาให้แล้วเสร็จก่อนเริ่ม Early Harvest คือ ภายในวันที่ 1 เมษายน 2548
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ