นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาว ว่า ผู้นำอาเซียนได้บรรลุข้อตกลงที่สำคัญร่วมกันในหลายประเด็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอาเซียน ดังนี้
1. อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ประชุมพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ได้ดำเนินกระบวนการหารือมาเป็นระยะเวลา กว่า 1 ปี และได้ข้อสรุปที่จะเริ่มต้นการเจรจาในเดือนเมษายน 2548 และกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นอกจากนี้ ญี่ปุ่นแสดงความตั้งใจที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของอาเซียนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ การพัฒนาบุคคลากร การร่วมลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคของอาเซียน เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-EC) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย และที่สำคัญญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับอาเซียน คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี2553
2. อาเซียน-เกาหลี ผู้นำอาเซียนและเกาหลีได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี โดยเห็นชอบที่จะให้เริ่มการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ในช่วงต้นปี 2548 และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยให้เปิดเสรีการค้าสินค้าจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2552 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และเกาหลี และให้ความยืดหยุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ โดยกรอบการเจรจาฯ จะครอบคลุมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งผู้นำไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันโดยเฉพาะในเรื่องสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอาเซียน โดยขอให้เกาหลีพิจารณาจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันในด้านมาตรฐานและคุณภาพในกรอบ FTA ด้วย
3. อาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ที่ประชุมผู้นำอาเซียน+3 ตกลงให้มีการจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งแรก ในปี 2548 ที่ประเทศมาเลเซีย และตกลงให้มีการศึกษาการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนขอให้ประเทศทั้งสาม มีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนอาเซียน การดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ และข้อเสนอเพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกใหม่และเก่าของอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศจีน,ญี่ปุ่น และเกาหลี
4. อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (CER) ผู้นำอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ลงนามในปฏิญญาร่วมของผู้นำอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งสาระสำคัญของปฏิญญาดังกล่าว เป็นการประกาศให้เริ่มต้นการเจรจา FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (CER) ในช่วงต้นปี 2548 และกำหนดให้แล้วเสร็จใน 2 ปี โดยกรอบการเจรจาฯ จะครอบคลุมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตลอดจนการยกเลิกอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาขีดความสามารถแก่อาเซียน
การเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-CER จะช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าให้กับอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้กำหนดมาตรฐานการนำเข้าสินค้าไว้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งการเจรจาช่วยนำไปสู่การลดอุปสรรคทางการค้าดังกล่าวลงได้ และจะช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
5. ข้อเสนอของภาคเอกชนอาเซียน ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนได้เสนอรายงานเกี่ยวกับข้อริเริ่มและการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนต่อผู้นำอาเซียนโดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ สภาฯ จะช่วยสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยส่งเสริมโครงการ ASEAN Pioneer Project Scheme (APPS) ซึ่งจะช่วยให้นักธุรกิจอาเซียนมีโครงการลงทุนร่วมกันมากขึ้น การจัดประชุมสุดยอดด้านธุรกิจและการลงทุนอาเซียน และการรวบรวมข้อคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับข้อริเริ่มต่างๆ ของภาครัฐบาล เพื่อเสนอต่อภาครัฐ อาทิ การเร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญของอาเซียน เช่น สาขาการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีการบริโภคภายในภูมิภาคสูง รวมถึงประเด็นเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ
นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนเสนอให้ที่ประชุมผู้นำให้ความเห็นชอบการทบทวน หน้าที่ความรับผิดชอบของสภาที่ปรึกษาฯ ใหม่ และให้มีการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ที่ประชุมพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อเป็นหน่วยประสานและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานยังประสบปัญหา ในส่วนของไทยมีผู้แทนสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมเป็นสมาชิกด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-