การจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรมกรณีศึกษา การทำเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้า อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2004 13:29 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ
การจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม
กรณีศึกษา การทำเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้า อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ด้วยเครือข่ายกลุ่มสิทธิผู้ป่วยอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้ยื่นร้องเรียนต่อประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จากมลภาวะเป็นพิษ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ดำเนินการศึกษาหาข้อเท็จจริงนำเสนอสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ได้ดำเนินการศึกษาด้วยการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและการศึกษาดูงานในภูมิประเทศจริง ณ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่าปัญหากรณีดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องจากหลายสาเหตุ นับตั้งแต่นโยบายของรัฐที่ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าด้วยลิกไนท์แทนที่จะใช้พลังงานสะอาดจากก๊าซ ซึ่งสามารถหาได้จากพม่า JDA ไทย- มาเลเซีย หรือ JDA ไทย-กัมพูชา โดยให้เหตุผลหลัก เพื่อการประหยัดเงินตราต่างประเทศโดยขาด การศึกษาถึงทรัพยากรสำรองที่ประเทศต้องสูญเสียไปและผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับราษฎร วัฒธรรมประเพณีท้องถิ่นที่เสียหายอย่างยากจะฟื้นฟูกลับคืน รวมทั้ง รัฐยังขาดมาตรการวางแผนเชิงป้องกัน เพื่อลดผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดกับประชาชน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอ จนถึงปัจจุบันเมื่อเกิดผลกระทบด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสุขภาพของราษฎร คุณภาพสิ่งแวดล้อม การอพยพโยกย้ายราษฎร ตลอดจนคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้านต่างๆ รัฐก็ยังขาดมาตรการที่เพียงพอ ในการแก้ไขเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบสะสมมา ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน รัฐโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะได้จัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบันและปัญหาที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตก็ตาม มาตรการเหล่านั้นก็ยังขาดความเชื่อมั่นจากราษฎรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในสายตาของราษฎรแล้วดูเหมือนรัฐจะแก้ปัญหาแบบซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ขาดความจริงใจและขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งจากการศึกษาของคณะทำงานฯ สามารถสรุปประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและวางกรอบการป้องกันแก้ไขในอนาคตได้ดังต่อไปนี้
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในเขอุตสาหกรรมการเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้า อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
2.2 เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาและแนวทางแก้ไข
2.3 เพื่อหาข้อสรุปและเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรี
3. แนวทางการดำเนินงาน
3.1 รวบรวมและศึกษาข้อมูล กฎหมาย กฎระเบียบ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม
จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)
3) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2547 VISION กนอ. สู่ปี 2548
4) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2547 โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและเครือข่าย
5) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2543 การจัดการสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การศึกษาระบบประเมินและระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
6) เครือข่ายกลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 2546 กรณีไฟฟ้าแม่เมาะกับราษฎรอำเภอแม่เมาะ
3.2 รับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในเขตพื้นที่เกี่ยวข้อง
1) ประชุมรับฟังปัญหาการจัดการเหมืองแร่ถ่านหินการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ ศาลากลางจังหวัดลำปาง และศึกษาดูงานสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ วันที่ 26-27 กันยายน 2547
2) รับฟังข้อมูลจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันที่ 8 เมษายน 2547
3) รับฟังข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ วันที่ 24 มีนาคม 2547
4) รับฟังข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ณ สภาที่ปรึกษาฯ วันที่ 28 เมษายน 2547
4. ประเด็นปัญหา
4.1 รัฐยังขาดระบบเฝ้าระวังสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ
ทำให้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานในเขตประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ และรัฐยังขาดการพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนในพื้นที่เฉพาะดังกล่าว
4.2 รัฐยังขาดความชัดเจนด้านนโยบายและวิธีปฏิบัติการอพยพ
ทำให้ประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของเหมืองแร่ ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้าอยู่ในภาวะจำยอมไม่มีทางเลือก เนื่องจากความไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐเองที่มาจากต่างหน่วยงานในการสนับสนุนการอพยพที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ตัดสินใจว่าควรอพยพควรเป็นความประสงค์ของประชาชนรายครัวเรือนแทนที่จะเป็น กฟผ. หรือ มติของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน
4.3 รัฐยังขาดแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังเสร็จสิ้นการทำเหมืองถ่านหิน
เนื่องจากพื้นที่บริเวณทำเหมืองถ่านหินในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่อยู่ในหุบเขา ซึ่งมีความสวยงาม และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์ราชการ ศูนย์กลางการกีฬา หรือเมืองใหม่ในอนาคตได้หลังจากที่หมดสัมปทานหรือเลิกทำเหมืองและผลิตไฟฟ้าในอนาคต ดังนั้นจึงควรได้จัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยการทำผังเมืองเฉพาะ เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต
4.4 ประชาชนผู้อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาพบว่าประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณเขตประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตกระแสไฟฟ้ายังได้รับความเดือดร้อน วิตกกังวล ถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากปัญหาจากฝุ่น (Dust) กลิ่น(Odour) เสียง(Noise) คุณภาพน้ำ(Water Quality) และความสั่นสะเทือน(Vibration) ทั้งนี้เป็นภาระที่รัฐต้องรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน
5. ข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5.1 ระยะเร่งด่วน
5.1.1 จัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์
รัฐควรจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อทำการเฝ้าระวัง สุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน ทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปรียบเทียบ โดยมีการเก็บวิเคราะห์ ข้อมูลระยะยาวอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย พัฒนาระบบการศึกษาวิจัย เพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว
5.1.2 การอพยพราษฎร
การอพยพราษฎรผู้เดือดร้อนหรือมีความประสงค์ต้องการออกจากพื้นที่ด้วย เหตุผลด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม ควรให้เป็นความประสงค์ของราษฎรเป็นรายครัวเรือน โดยให้ กฟผ.ทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ราษฎรอพยพออกจากพื้นที่เป็นรายครัวเรือน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างวัดให้เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจให้ราษฎรที่อพยพไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่
5.1.3 การควบคุม ติดตามด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติเพื่อลดปัญหาจากฝุ่น(Dust) กลิ่น(Odour) เสียง(Noise) คุณภาพน้ำ(Water Quality) ความสั่นสะเทือน(Vibration) ให้เป็นที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่โดยปกติสุขของมนุษย์ ทั้งนี้รัฐต้องรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในเขตทำเหมืองถ่านหินและการผลิตไฟฟ้าดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
5.2 ระยะปานกลาง
5.2.1 การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสาธารณะรัฐควรศึกษาเพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายหลังเสร็จสิ้นการทำเหมืองแร่ถ่านหินในอนาคต เช่น การจัดทำเป็นเมืองศูนย์กลางการกีฬา การท่องเที่ยว เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค เป็นต้น เพื่อที่จะให้ กฟผ.ควบคุมจัดระเบียบทัศนียภาพ ให้สวยงามเหมาะสมรองรับแผน การใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต
5.2.2 การฟื้นฟูสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐควรศึกษาเพื่อหามาตรการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณประกอบกิจการทำเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้า ด้วยการมีส่วนร่วมจากประชาชน
5.2.3 การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควรจัดสรรงบประมาณพิเศษให้เพียงพอเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่บริเวณประกอบกิจการทำเหมืองแร่ถ่านหินและการผลิตไฟฟ้า โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม
5.2.4 รัฐควรเร่งแก้ปัญหาที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. ตามหนังสือที่ ลป 0018.4/19842 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2541 เรื่อง สถานการณ์กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการผลิตกระแสไฟฟ้าโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
2. ข้อสรุปของคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหากลุ่มสหพันธ์เกษตรกร ภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ กรณีปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งแต่งตั้ง ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2546 โดย รองนายกรัฐมนตรี(พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)
3. ตามหนังสือที่ กษ 0100/4183 ลงวันที่ 4 กันยายน 2544 เรื่องขอความอนุเคราะห์ในการจัดหาคณะแพทย์ไปตรวจราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
4. ตามหนังสือที่ สธ 310/371 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 เรื่อง การขอความอนุเคราะห์ในการจัดส่งคณะแพทย์ไปตรวจราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ(ขณะนี้ไม่มีแพทย์เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยอยู่ในพื้นที่เป็นการประจำ)
5. ตามบันทึกข้อความ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ที่ สธ 0305/850 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2546 เรื่อง ขอจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์เพื่อโครงการดูแลผู้ป่วยจากพิษควันสารเคมีเหมืองแร่ไฟฟ้าแม่เมาะอย่างครบวงจร
6. ตามหนังสือด่วนมาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ลงนามโดย นายจาดุร อภิชาตบุตร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำเขตการตรวจราชการที่ 10 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เรื่อง การดำเนินการกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
7. ตามบันทึกข้อความ กพร. สบส. ที่ อก 0507/3579 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2546 เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ คำขอประทานบัตรที่ 3-6/2530 และ 30-46/2535ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
5.3 ระยะยาว
รัฐควรจัดให้มีมาตรการเชิงนโยบาย เพื่อให้การแก้ปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากระบบการทำเหมืองถ่านหินหรือการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินในพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นไปตามรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังต่อไปนี้
1. ให้มีและดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบการทำเหมืองถ่านหินหรือ การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ตามหลักการในมาตรา 56 และ 79 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
2. จัดให้มีคณะกรรมการพิเศษเพื่อดูแลการดำเนินการในข้อ 1 ให้เกิดผลและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ให้มีการควบคุมการทำเหมืองถ่านหินหรือการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม ประเพณี ในเขตพื้นที่ให้สมตามหลักการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA)
4. ให้มีการควบคุมติดตามดูแลการทำเหมืองถ่านหินหรือการผลิตไฟฟ้า ด้วยถ่านหินตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) ขององค์การสหประชาชาติ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ