การขอยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้มีรายได้ได้รับสวัสดิการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2004 13:37 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับการขอยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้มีรายได้ได้รับสวัสดิการ
1. ความเป็นมา
คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ศึกษาข้อมูลเรื่องการขอยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้มีรายได้ได้รับสวัสดิการ โดยศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยต่างๆ พร้อมทั้งการจัดสัมมนาระดมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการและ ผู้สนใจทั่วไป และศึกษาถึงนโยบายของรัฐบาลทุกชุดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม จะเห็นว่ารัฐบาลแต่ละชุดได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงส่งเสริมสวัสดิการและค่าตอบแทนเพิ่มขวัญกำลังใจ และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ ส่วนสวัสดิการแรงงานภาคเอกชนนั้น รัฐมีนโยบายสร้างฐานสวัสดิการสังคมและความ มั่นคงให้กับลูกจ้างและผู้ด้อยโอกาส
2. ผลการดำเนินงาน
คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้วิเคราะห์การจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง และการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้มีรายได้ได้รับสวัสดิการแล้ว มีความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
ความเห็น
1) การที่นายจ้างจัดสวัสดิการให้กับลูกจ้าง นอกจากจะเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐแล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการให้บริการแก่ประชาชน เช่น ในเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษาเล่าเรียนของบุตร
2) สวัสดิการหลายประเภท รัฐบาลยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีให้กับข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ยกเว้นให้กับลูกจ้างเอกชน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
3) ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้มีการกำหนดให้นายจ้างตั้งคณะกรรมการสวัสดิการ เพื่อพิจารณาเสนอให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ลูกจ้างในองค์การ อันเป็นประโยชน์แก่การอยู่ร่วมกัน แต่การเก็บภาษีจากสวัสดิการทำให้นายจ้างลังเลใจในการจัดสวัสดิการเพิ่มขึ้น
4) การยกเว้นการเก็บภาษีสวัสดิการ จะเป็นการเกื้อหนุนด้านแรงงานสัมพันธ์ เพราะ สหภาพแรงงานจะไม่มุ่งเรียกร้องค่าจ้างเงินเดือนด้านเดียว แต่จะให้ความสำคัญกับสวัสดิการ ซึ่งก่อให้เกิดข้อผูกพันกับองค์การด้วย
5) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ลูกจ้างรวม 13 ประเภท ได้แก่
(1) อาหารและเครื่องดื่มที่จัดให้ลูกจ้างรับประทานระหว่างการทำงาน
(2) เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร
(3) ของขวัญวันเกิดพนักงาน
(4) การได้อยู่บ้านพักที่นายจ้างจัดให้
(5) นายจ้างพาไปท่องเที่ยวทัศนาจร
(6) การจัดรถรับส่งพนักงาน
(7) รางวัลการทำงานตามอายุงาน
(8) เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ ค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน
(9) เบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพของลูกจ้าง
(10) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในโรงงาน
(11) ศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ
(12) โรงงานสีขาวเพื่อป้องกันยาเสพติด
(13) การป้องกันเรื่องเอดส์ในสถานประกอบการ
ทั้งหมดนี้ กรมสรรพากรยกเว้นการเก็บภาษีเพียงประเภทเดียว คือ รถรับส่งพนักงาน แต่ประเภทอื่นๆ ถ้าลูกจ้างได้ประโยชน์ต้องนำมาคำนวณภาษี ซึ่งเท่ากับไม่เป็นการ ส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ลูกจ้าง กระทรวงการคลังจึงควรนำไปพิจารณายกเว้นการเก็บภาษีเงินได้จากสวัสดิการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกระทรวงแรงงาน
6) ควรมีการออกกฎหมายสวัสดิการแรงงาน เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ลูกจ้างมากขึ้น โดยได้รับการลดหย่อนภาษี และช่วยให้ลูกจ้างมีสภาพการดำรงชีวิตที่ดี
7) รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางภาษี โดยการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ลงทุน และผู้ส่งออก แต่ให้ประโยชน์น้อยมากสำหรับลูกจ้างคนงาน เพราะแม้สวัสดิการที่นายจ้างจัดให้ก็ยังนำมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
8) สัดส่วนของภาษีจากสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาษีที่ จัดเก็บได้ทั้งหมด การยกเว้นภาษีส่วนนี้ให้ลูกจ้างย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนกับภาระทางการคลังของรัฐบาลเลย
9) สวัสดิการที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น การยกเว้นภาษีสวัสดิการให้ลูกจ้างจึงเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและช่วยในการกระจายรายได้ในสังคมให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะ
จากผลของการศึกษาเรื่องการเก็บภาษีจากสวัสดิการลูกจ้าง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1) รัฐบาลควรยกเว้นการประเมินรายได้ เพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับสวัสดิการที่ นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง ดังต่อไปนี้
(1) อาหารและเครื่องดื่มที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับประทานระหว่างเวลาทำงาน หรือเวลาพัก
(2) เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรลูกจ้าง
(3) ของขวัญวันเกิดลูกจ้างที่นายจ้างจัดให้
(4) การได้อยู่บ้านพักที่นายจ้างจัดให้
(5) การที่นายจ้างพาไปท่องเที่ยวทัศนาจร
(6) การจัดรถรับส่งลูกจ้าง
(7) รางวัลการทำงานนานตามอายุงาน
(8) บำเหน็จ บำนาญ เงินสะสม และเงินชดเชยที่จ่ายครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน
(9) เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันสุขภาพลูกจ้าง
(10) สถานเลี้ยงดูเด็กในสถานประกอบการ
(11) การป้องกันยาเสพติดและการป้องกันโรคเอดส์
(12) การจัดการศึกษา และฝึกอบรมในโรงงาน
2) รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการลูกจ้างโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้น
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ