ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2004 13:48 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
1. ความเป็นมา
แนวทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบทำลาย ฝืนธรรมชาติ และนำไปสู่การพึ่งพาจากภายนอก ซึ่งเป็นผลพวงจากแนวทางของการปฏิวัติเขียว ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและการแข่งขันในทางการค้า นำไปสู่เป้าหมายความเจริญเติบโต ( Growth ) ของประเทศเป็นหลัก โดยละทิ้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่ และหลงลืมความหมาย “ การเกษตรที่เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร” โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ ภาครัฐยังเห็นว่า เกษตรกรเป็นภาระของสังคมที่จะต้องลดจำนวนลงให้มากที่สุด และนำมาเป็นแรงงานในสาขาอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางด้านอื่นๆ ของสังคม จึงมีกระบวนการทำให้เกษตรกรมีสภาพเป็นเพียงกลไกหนึ่งของระบบสายพานการผลิตในระบบห่วงโซ่อาหารเท่านั้น เพราะมีเป้าหมายและแนวทางมุ่งไปสู่ความรุ่งเรืองของภาคธุรกิจการเกษตร และอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาองค์ความรู้จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ทั้งรูปแบบ วิธีการผลิต และเทคนิคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังนี้ ได้มีระบบสิทธิบัตรคุ้มครองเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น
คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้ทำการศึกษายุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ และตระหนักว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าว มิได้นำภาคการเกษตรไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่มีความมั่นคงและยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนเกษตรกร ทั้ง 4 ภูมิภาค ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ ทั้งจากภาคราชการและเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลในการจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ศึกษาจากรายงานวิจัย และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1) ยุทธศาสตร์เกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ( วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546)
2) ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2547 — 2551( วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547)
3) ผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ทั้ง 4 ภูมิภาค เรื่อง สภาพปัญหาเกษตรกรกับการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ปี 2545 และผลการสังเคราะห์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
4) ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร เพื่อสนับสนุนการพัฒนา
แบบยั่งยืน โดย ดร.ธันวา จิตต์สงวน
5) ผลการประชุมเกษตรยั่งยืน เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
6) ผลการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง สานฝันความรู้สู่เกษตรยั่งยืน ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ( ประเทศไทย ) ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
7) เอกสารประกอบการสัมมนา โครงการประเมินการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรของการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
8) นโยบายของรัฐบาล
9) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.2 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักวิชาการ มาให้ข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
2.3 จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น จากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนเกษตรกรของทั้ง 4 ภูมิภาค และคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขปัญหา อันเป็นประโยชน์ในการรวบรวม ประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล
2.4 ศึกษาวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จึงนำความรู้ และความเห็นที่ได้ จากการดำเนินการ ทั้ง ๔ ประการ ข้างต้น มาจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ความหมาย
เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นระบบการผลิตที่เน้น เรื่องความสมดุลของระบบนิเวศน์ และหลักการพึ่งตนเองโดยการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งเริ่มจากการผลิตเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และเมื่อเหลือจึงนำไปขาย จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่ม ร่วมมือกันทำกิจกรรมที่เป็นไปตามความเห็นของกลุ่มและชุมชน อันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลยั่งยืนเป็น “สังคมแห่งความสุขสมานฉันท์” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการทางแนวคิดที่เชื่อมโยงธรรมชาติของสรรพสิ่งให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
4. สถานการณ์ของปัญหา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการศึกษาและทำการสังเคราะห์ข้อมูลและปัญหาการเกษตร รวมทั้ง แผนการพัฒนาประเทศ พบว่า การพัฒนาประเทศเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจเพื่อการค้า ( TRADE ECONOMY ) และส่งเสริมเกษตรกระแสหลัก หรือ เกษตรเชิงเดี่ยว นำมาซึ่งปัญหาในระดับประเทศหลายปัญหาด้วยกัน ดังนี้
4.1 ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเอาพื้นที่มาทำการเกษตรเพื่อการส่งออก ส่งผลให้แหล่งกักเก็บน้ำตื้นเขิน และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพดินถูกใช้อย่างไม่เหมาะสม ดินถูกชะล้างพังทลาย และเสื่อมสภาพ ไม่สามารถรับน้ำได้ตามที่คาดไว้ เกิดน้ำท่วม น้ำไหลบ่า และดินเลื่อนไถล ซึ่งทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเกษตรกร
4.2 ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความยากจน จากสภาพดินที่เสื่อมโทรม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ ตกต่ำ เกษตรกรจึงแก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตูรพืชในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะทำให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีประโยชน์ต่อการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ และช่วยทำความอุดมสมบูรณ์ของดินต้องตายแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตมีราคาแพง ในขณะที่เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำ ทำให้เกิดการขาดทุนและเป็นหนี้สิน นอกจากนั้น การใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น ยังทำให้มีสารพิษตกค้างทั้งในดิน พืช ผักและผลไม้ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภค เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคผิวหนัง ฯลฯ
4.3 ปัญหาด้านสังคมที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน ทำให้เด็กและคนชราขาดคนดูแล สังคมชนบทล่มสลาย ซึ่งผลที่ตามมา คือ ปัญหาในเมือง ปัญหาสลัม ยาเสพติด โสเภณี ปัญหาความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากร และการบุกรุกที่ดินของรัฐ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตที่วัดจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( GDP) ทั้งสิ้น
4.4 การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถึงแม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะได้พยายามแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตร แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และเป็นไปเพื่อผลทางการเมืองเท่านั้น เช่น การรับซื้อสินค้า การประกันราคา และการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น โดยไม่ได้พิจารณาถึง รากเหง้าและสาเหตุของปัญหาด้านการเกษตรที่แท้จริง
สรุปรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง คือ “การนำเอาระบบคิดที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด และอารยธรรมตะวันตก” มาใช้พัฒนาประเทศ ทำให้ระบบการศึกษา ระบบการเรียนการสอนเป็นแบบแยกส่วนเป็นการเรียนแบบรับรู้ ยึดติดในตำรา ขาดการเชื่อมโยงทางความคิดและการวิเคราะห์ให้รอบด้าน เมื่อเกิดการโต้แย้งมักจะอ้างตำราและมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น ระบบการพัฒนาและการบริหารราชการแผ่นดินทำให้คนในสังคมทั้งหมด ขาดความเชื่อมั่นในตนเองและภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่เชื่อมั่นในตำราและคนต่างชาติ รวมทั้งส่งลูกหลานไปต่างประเทศ เพื่อรับระบบคิดที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตไทย พร้อมทั้งรับอารยธรรมตะวันตกและลัทธิบริโภคนิยม ที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัฒน์กลับเข้ามาใช้ภายในประเทศ นำสังคมไปในทิศทางที่พึ่งพาภายนอก ทำลายวิถีชีวิตเกษตรกร สังคมชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง อธิปไตยของชาติอย่างช้าๆ จนแทบไม่รู้สึกตัว
5. ศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
จากการศึกษา และวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ทำให้ทราบถึง จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และข้อจำกัดของการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ดังนี้
จุดแข็ง
1) ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านกายภาพ ตั้งอยู่ในภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่เหมาะสมแก่การเกษตรกรรมที่ไม่ฝืนธรรมชาติ
2) มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนทางสังคม และความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมที่ดีงาม สุภาพอ่อนโยน เป็นมิตร สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ จนสามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นสังคมสมานฉันท์ได้เป็นอย่างดี
3) มีรัฐธรรมนูญ กรอบแผนของชาติ และนโยบายของรัฐ ที่ยึดหลักการแนวทางการ มีส่วนร่วม การพึ่งตนเอง และยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร
4) มีเครือข่ายในการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งรัฐบาลสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ และสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ องค์ความรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เหมาะสมกับแต่ละภูมิภาค ให้เกิดประสิทธิภาพในการส่งเสริมได้ โดยไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เช่น สถานที่ฝึกอบรม วิทยากร ปราชญ์ชาวบ้าน
จุดอ่อน
1) ยังไม่มีความชัดเจนในระดับผู้บริหารและการกำหนดนโยบายภาครัฐ เพราะมองไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการทำการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน จึงไม่ให้การสนับสนุนและผลักดันให้มีนโยบาย แผนงานและโครงการที่บูรณาการ ทั้งงานและงบประมาณ รวมทั้ง ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
2) ขาดองค์กรที่เป็นเจ้าภาพในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้ง การจัดการและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาระบบการบริหารให้เป็นลักษณะบูรณาการ เพื่อสนับสนุนและผลักดันนโยบายการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับได้
3) ขาดการให้การสนับสนุนผู้นำท้องถิ่นในการสร้างและประสานเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นแกนนำที่สำคัญ ในการสร้างต้นแบบการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
4) ข้าราชการกระทรวงเกษตร ฯ และสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรเกี่ยวกับการเกษตร ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่สุด คือ ขาดความเชื่อมั่น ขาดกระบวนการเรียนรู้ ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและทุนทางสังคมท้องถิ่นมาสร้างเป็นนวัตกรรมและวัฒนธรรมในการทำงาน เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบของการส่งเสริมการเกษตรระบบใหม่ รวมทั้งไม่สามารถกำหนดแผนปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5) เกษตรกรไทยยังเป็นกลุ่มที่ยังมีความอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นตามแนวทางเศรษฐกิจ พอเพียงและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ขาดความสามารถในด้านการจัดการ ขาดโอกาส และความสามารถในการเข้าถึงปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานการผลิต จึงยังไม่มีความพร้อมในการพัฒนาและเริ่มต้น รวมทั้งไม่สามารถสร้างเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6) การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งเป็นทรัพยากรพื้นฐานของการทำการเกษตร อันได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ
7) ความอ่อนแอของชุมชนในชนบท ซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐและสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้ชุมชนในชนบทไม่สามารถพึ่งตนเองได้
8) ระบบการบริหารจัดการด้านการตลาดและการกระจายสินค้ายังไม่มีประสิทธิภาพและขยายตัวได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากคุณภาพของผลผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากลและปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีเพียงพอ
โอกาส
1) กระแสการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย กำลังเป็นกระแสที่สร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ดังนั้น ประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตทางการเกษตร เนื่องจากอยู่ในภูมิประเทศและมีภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดภัยจากสารพิษ จึงควรใช้โอกาสนี้เร่งพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของผลผลิตเกษตร โดยทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนทุกรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
2) นโยบายของรัฐบาล ได้กำหนดเป้าหมายให้ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย เป็นครัวของโลก ( Kitchen Of The World ) จึงควรเร่งสร้างเครือข่ายความรู้และความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร เพื่อการพัฒนาผลผลิตตามแนวทางเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ไปสู่อาหารปลอดภัยและการเป็นครัวของโลก
3) นโยบายการเจรจาการค้าระดับทวิภาคี ( FTA ) และพหุภาคี ( WTO ) ได้เปิดโอกาสให้สินค้าของประเทศคู่สัญญาสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ โดยไม่เสียภาษีนำเข้า หากเราพัฒนาสินค้าเกษตรตามแนวทางการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานในระดับสากล ก็นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรในประเทศคู่สัญญาใหม่ๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และความมั่งคั่งให้แก่เกษตรกรไทยได้อย่างดียิ่ง
การคุกคามและข้อจำกัด
1) เศรษฐกิจกระแสหลักและทุนโลกาภิวัตน์เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ต่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน แต่มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากยังมีจุดร่วมและเกื้อกูลกัน ทั้งนี้อยู่ที่ความเข้าใจและการมีจิตสำนึกและคุณธรรมของผู้คนในสังคม รวมทั้งภูมิปัญญาของผู้บริหารประเทศ ที่จะวิเคราะห์ จุดเชื่อมโยงของแนวคิดทั้งสองระบบให้สามารถเข้ากันได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดและเกื้อหนุนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) การเร่งรัดในการลงนามสนธิสัญญาต่างๆ เช่น การทำ FTA นโยบายเกี่ยวกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต และการยอมรับพืชและสัตว์ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม GMOs อย่างไม่รอบคอบ จะทำให้เกิดการสูญเสียอาชีพ ทรัพยากรท้องถิ่น และเป็นการทำลายทุนทางสังคม เกิดการสูญเสียพันธุกรรมของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาตามแนวทางเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต
6. ข้อเสนอแนะ
แนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงขอนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่สามารถกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้
6.1 ปรัชญา เกษตรกรรมอย่างยั่งยืนคืนชีวิตให้แผ่นดิน เกษตรกรพ้นภัยจากความยากจนและหนี้สิน ชุมชนเข้มแข็ง มีองค์ความรู้เพื่อต่อสู้กับภายนอกอย่างรู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน สร้างสรรค์ เศรษฐกิจพอเพียงให้มั่งคั่งและยั่งยืน
6.2 วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านการเกษตรในรูปแบบการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
6.3 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย
1) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นทรัพยากรพื้นฐานของการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้มีความอุดมสมบูรณ์
2) ฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ควบคู่กับการมีงานทำ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกรไทย โดยผ่านกระบวนการจัดทำแผนชีวิตของชุมชน ใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ลดการพึ่งพาจากภายนอก เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง จนสามารถพัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชน
3) ส่งเสริมการทำระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรและชุมชน ในรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น การทำเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรประณีต ฯลฯ
4) ปรับการบริหารจัดการภาครัฐ ให้เอื้อต่อการพัฒนา โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่เศรษฐกิจ มาเป็นการพัฒนาอย่างสมดุลในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน
5) เสริมสร้างความสมดุลระหว่างกระบวนการผลิตของชุมชนกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม มีการใช้อย่างรู้คุณค่า และต้องมีการสร้างขึ้นมาทดแทน เพื่อเป็นการดำรงรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
6) พัฒนาระบบเครือข่ายให้สามารถเชื่อมโยงแนวคิดในเรื่องเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจชุมชนกับระบบเศรษฐกิจมหภาค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรของประเทศไทยกับนานาอารยประเทศ บนเวทีการค้าโลกอย่างมีประสิทธิภาพและรู้เท่าทัน
6.4 ข้อเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน มีดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเป็นศูนย์กลางการผลิตทางการเกษตรในรูปแบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก โดยใช้จุดแข็ง โอกาส และความสามารถเป็นหลัก
1) เร่งสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย สร้างชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนแห่งภูมิปัญญา ชุมชนสมานฉันท์ เพื่อเสริมสร้างกลุ่มและองค์กรชุมชนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีกระบวนการเรียนรู้และการจัดทำแผนชุมชน เพื่อใช้เป็นฐานในการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
2) เร่งพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนทางสังคม นวัตกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ มาใช้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยใช้จุลินทรีย์ร่วมกับอินทรีย์วัตถุ
3) ใช้กลไกภาครัฐ เพื่อช่วยเสริมสร้างและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเปิดประตูไปสู่การเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของคนในประเทศ และเป็นครัวของโลกในตลาดสากล
4) เร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ และดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่สำคัญ และเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกในการดำรงรักษาไว้ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นรากฐานของสังคมเกษตรกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างเสถียรภาพความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ เพื่อนำพาเกษตรกรไปสู่เป้าหมายยั่งยืน
1) รัฐต้องกำหนดนโยบายในการดำเนินงานภาคเกษตรกรรม ให้เป็นไปตามสถานการณ์ของประเทศ ในลักษณะที่เป็นคู่ขนานในสองภาคส่วน ได้แก่ นโยบายสนับสนุนระดับฐานรากในการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และกลุ่มทุนโลกาภิวัฒน์ที่มีระบบการผลิตและการตลาดในระดับมหภาค สามารถดำเนินงานควบคู่กันไปได้ เพื่อให้สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมิให้มีการเอาเปรียบและทำลายซึ่งกันและกัน
2) ให้มีการดำรงรักษาไว้ ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนทางสังคม ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดของท้องถิ่น มิให้ถูกใช้ ถูกทำลายลง หรือถูกแย่งชิงไปใช้ประโยชน์จากผู้ที่มิใช่เจ้าของมรดกและทรัพยากรนั้นๆ
3) รัฐต้องทำการศึกษา และพิจารณานโยบายอย่างรอบคอบ ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการ เช่น GMOs ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ( FTA ) โดยสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม และจัดทำประชาปรึกษา( Public Consultation ) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
4) รัฐต้องเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การวางแผนการผลิต การเก็บรักษาการแปรรูป การตลาด การจัดการทางการเงิน ให้แก่เกษตรกร องค์กรและเครือข่ายต่างๆ ให้สามารถดำเนินการ และดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเจริญเติบโตให้กับการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
1) เครือข่ายและสื่อมวลชนต้องกระตุ้นให้ภาครัฐและผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน มีความรู้ความเข้าใจ และมองเห็นศักยภาพความพร้อมในทุกๆ ด้านของทรัพยากรของประเทศไทย และให้ความสำคัญกับนโยบายการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
2) เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดผู้นำชุมชน โดยอาศัยประโยชน์จากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมมือกันพัฒนาเครือข่าย ให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มีความรู้ มีภูมิปัญญา และมีความสามารถในการแข่งขัน
3) พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต การขยายการตลาด และการเพิ่มโอกาสในการกระจายสินค้าให้ทั่วถึง อันเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคง จนนำไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน
4) รัฐต้องรณรงค์ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค เห็นความสำคัญถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดจิตสำนึกในการผลิตพืชแบบปลอดสารพิษ
5) รัฐต้องมีมาตรการควบคุมการจัดจำหน่าย และการโฆษณาสารเคมี ให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการโฆษณาเกินความเป็นจริง และใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดสารพิษ ตกค้างในดิน พืช ผัก ผลไม้ และที่สำคัญก็คือ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนและมีส่วนร่วมในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ควรดำเนินการ ดังนี้
1) ส่งเสริมการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ผ่านกระบวนการสื่อต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วน มีความเข้าใจและมองเห็นความสำคัญในการทำการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง จัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่เครือข่ายและประชาชนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจในกระบวนการของการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เช่น การใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้เพราะการสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นเดียวกัน จะมีผลทำให้การถ่ายทอด เผยแพร่ข้อมูล และข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
2) แก้ไขความอ่อนแอในภาคเกษตรฐานราก โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ที่สามารถยืนอยู่บนลำแข้งได้ด้วยตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสามารถดูแล จัดสรรทรัพยากร และปัจจัยการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรของไทย
3) จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เช่น มอบทุนให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น ในการทำการศึกษาวิจัยที่สามารถนำผลไปใช้ได้กับท้องถิ่นตนเอง
4) ปรับกระบวนทัศน์และการวิจัยการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้ง จัดทำระบบฐานข้อมูลด้านเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย การจัดทำนโยบาย การวางแผน และการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ
6.5 การแปลงยุทธศาสตร์สู่ภาคปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรระดับฐานรากของไทย ที่จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีศักยภาพ ภายใต้ระบบทุนนิยมยุคโลกาภิวัฒน์ หลุดพ้นจากวัฏจักรความยากจน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีมาตรการ ดังนี้
1) รัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้ง ต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน อย่างต่อเนื่อง และเพียงพอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการแปลงแผนและนโยบายสู่ภาคปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาค และกลุ่มเครือข่ายให้มากขึ้น
2) รัฐต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานขององค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิด และต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพ ซึ่งรับผิดชอบในการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ รวมทั้ง ต้องพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นระบบให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อสนับสนุน ผลักดันงานวิจัยและนโยบายเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับ
3) รัฐต้องเร่งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และองค์ความรู้ในการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเกษตรกรและชุมชนในรูปแบบการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และขยายผลเพื่อการทำความเข้าใจและการยอมรับร่วมกันทั้งในหน่วยราชการและในสังคมทั่วไป
3.1) เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการในมหาวิทยาลัย และเกษตรกร โดยใช้วิธีการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และเข้าใจความหมายของเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนตรงกันและชัดเจนเป็นรูปธรรม
3.2) เตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ โดยต้องมีการจัดระบบการศึกษาและหลักสูตรเกี่ยวกับเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือของปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างดี พร้อมทั้งให้มีการเปิดสอนในโรงเรียนท้องถิ่นทุกระดับและมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ การขยายผลการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนให้กว้างขวาง และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ