การจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม กรณีศึกษา ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2004 15:27 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ 
การจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม กรณีศึกษา
ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก โดยปราศจากการจัดการดูแลอย่างเหมาะสม ได้ก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมและไม่ยั่งยืนอย่างรุนแรง ทรัพยากรดิน ป่าไม้ ป่าชายเลน ประมง และชายฝั่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีการฟื้นฟูอย่างจริงจัง การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด และไม่มีประสิทธิผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรน้ำเกิดปัญหาความขาดแคลน
ขณะเดียวกัน การขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นไปอย่างไร้ระเบียบและขาดทิศทางที่เหมาะสม ไม่มีการนำผังเมืองภาคมาใช้ ทำให้การขยายตัวของชุมชนกระจัดกระจาย เมืองขยายตัวโดยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ กอรปกับมีการนำพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ โดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น การขยายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีมาตรฐานการประกอบการที่เหมาะสมและมิได้บังคับใช้มาตรการควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง ได้ทำให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น การขยายตัวของการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วโดยปราศจากการดูแลบำรุงรักษาและการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปกรรมหลายแหล่งเสื่อมโทรมสูญเสียคุณค่าและความงามลง ตามลำดับ
เพื่อลดความขัดแย้งของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยประยุกต์เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย มีการงานมั่นคงพร้อมๆ กับเกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและมาตรการปฏิบัติเพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชากรที่อาศัยอยู่โดยรอบเขตอุตสาหกรรม คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้ทำการศึกษาปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยได้ทบทวนวรรณกรรมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเชิญนักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลและศึกษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ณ จังหวัดระยองและชลบุรี
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในเขต
อุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
2.2 เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาและแนวทางแก้ไข
2.3 เพื่อหาข้อสรุปและเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรี
3. แนวทางการดำเนินงาน
3.1 รวบรวมและศึกษาข้อมูล กฎหมาย กฎระเบียบ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในเขต
อุตสาหกรรม จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 —2549)
3) สำนักงานจังหวัดระยอง 2547 บรรยายสรุปจังหวัดระยอง
4) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2547 VISION กนอ. สู่ปี 2548
5) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2547 โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและเครือข่าย
6) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2543 การจัดการสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การศึกษาระบบประเมินและระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
7) กองอำนวยการการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จังหวัดระยอง 2544 แผนปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินจังหวัดระยอง
8) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2546 โครงการติดตามตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ระยะที่ 2
9) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2546 โครงการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยต่อประชากรที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมแหลมฉบังและกลุ่มปิโตรเลียมบริเวณอ่าวอุดม
3.2 รับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในเขตพื้นที่เกี่ยวข้อง
1) รับฟังข้อมูลจากการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง (ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้า)
2) รับฟังข้อมูลจากอนุกรรมการการศึกษา เรื่องการจัดการสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การศึกษาระบบประเมินและระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ณ สภาที่ปรึกษาฯ วันที่ 10 มีนาคม 2547
3) รับฟังข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ สภาที่ปรึกษาฯ วันที่ 24 มีนาคม 2547
4) รับฟังข้อมูลจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ สภาที่ปรึกษาฯ วันที่ 8เมษายน 2547
5) รับฟังข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ณ สภาที่ปรึกษาฯ วันที่ 28 เมษายน 2547
6) ประชุมรับฟัง ณ ศาลากลางจังหวัดระยองวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2547 และเดินทางเพื่อดูสภาพความเป็นจริงในพื้นที่
7) ประชุมรับฟังข้อมูล ณ ศาลากลางจังหวัดระยองวันที่ ๒๐-๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗
4. ประเด็นปัญหา
การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาครัฐได้มีนโยบาย ในภาพรวมมุ่งพัฒนาควบคู่กับการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสาเหตุของปัญหาจะพบว่าเกิดจากสาเหตุต่างๆ ด้วยกัน กล่าวคือ นโยบายและการวางแผนการใช้ทรัพยากรจัดทำขึ้น โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในท้องถิ่นขาดความร่วมมือจากองค์กรและสถาบัน ขาดความรู้ทางวิชาการ ขาดจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ขาดฐานข้อมูลทางสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหาอย่างเพียงพอ ซึ่งเมื่อพิจารณาปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่พบว่ามีปัญหา ดังนี้
4.1 จัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
ในระยะที่ผ่านมา ได้มีการยกเลิกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ทำให้ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการดูแลผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกอย่างเหมาะสม
4.2 บทบาทและอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบ CEO
ปัจจุบันบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบ CEO ยังมีความไม่ชัดเจนในการบริหาร สั่งการ และขาดงบประมาณ ทำให้การแก้ปัญหาของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถทำได้อย่างมีบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข จากภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ
4.3 ด้านทรัพยากรดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) การชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่สูง และยังมีการใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมฟื้นฟูสภาพปรับปรุงบำรุงรักษาดินน้อย
2) มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูดินที่มีปัญหาต่างๆ เช่น ดินเปรี้ยว ดินทราย ดินตื้น ดินเค็ม ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ไม่เพียงพอ
4.4 ด้านทรัพยากรน้ำและมลพิษทางน้ำ
1) มีการอนุญาตสร้างนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพของแหล่งน้ำที่บำบัดน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่าง ๆ
2) ไม่มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมผู้ประกอบการ ให้ดำเนินการตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3) โรงงานส่วนใหญ่ ขาดแรงจูงใจการนำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต
4) ขาดระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิด ทั้งจากอุตสาหกรรมและการเกษตรอย่างเพียงพอ
5) มีการปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือน ฟาร์มปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน
6) ฟาร์มปศุสัตว์บางส่วน ยังไม่มีระบบบำบัดเสียที่มีประสิทธิภาพ
4.5 ด้านมลพิษทางอากาศ
1) มีการอนุญาตสร้างนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงกับชุมชน หรือขาดการควบคุมการขยายตัวของชุมชนรอบพื้นที่อุตสาหกรรมทำให้ขาดแนวกันชนที่ชัดเจนระหว่างเขตอุตสาหกรรมกับชุมชน
2) ขาดระบบควบคุมจัดสรรการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม
3) ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
4) รัฐยังขาดระบบการเตือนภัยและบ่งชี้อันตรายจากสารประกอบอินทรีย์ระเหย
ให้สาธารณชนบริเวณใกล้เคียงได้รับทราบอย่างทันท่วงที
5) แหล่งกำเนิดมลพิษประเภทสารเบนซีน ไซลีน ไอกรด ซัลฟูริกและอะครีโลไนตริล หรือสารเคมีชนิดอื่นๆ ยังมีการระบายก่อให้เกิดกลิ่นรบกวนบริเวณรอบชุมชน
6) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
7) มีการเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมีอยู่บ่อยครั้ง สร้างวิตกกังวลให้ประชาชนจำนวนมาก
8) พบว่าเกษตรกรและประชาชน ลักลอบ เผามูลฝอย วัชพืช พืชไร่
4.6 ด้านมลพิษจากกากของเสียอันตราย
1) ขาดมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่รัดกุมด้านการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม
2) โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้นำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) ตามมาตรฐาน ISO 14001 หรือนำหลักการเทคโนโลยีสะอาด (CT) หรือ Waste Minimization หรือ Toxic Waste Reduce มาใช้
3) โรงงานต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดกากของเสียอันตรายจากการผลิต ยังไม่ได้นำระบบ LCA (Life Cycle Assessment) มาใช้อย่างเพียงพอ
4) โรงงานอุตสาหกรรมขาดแรงจูงใจการนำกากของเสียอันตรายส่งไปกำจัดยังบริษัทที่รับกำจัดกากของเสียอันตรายทั้งหมด
5) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ขาดความเข้าใจและจิตสำนึกที่ดีในการนำกากของเสียอันตรายมากำจัดอย่างถูกต้อง
6) มีการลักลอบทิ้งกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างไม่ถูกกฎหมายในสถานที่ต่าง ๆ
4.7 ด้านทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
1) มีการบุกรุกทำลาย ครอบครอง เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง
2) ชายหาดแสงจันทร์ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจากการพัฒนาก่อสร้างท่าเรือนิคม
อุตสาหกรรมมาบตาพุด
3) มีเอกชนได้ประโยชน์จากการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินป่าชายเลน
4) มีการทิ้งขยะมูลฝอยลงทะเลหรือในแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง
5) ยังขาดเครือข่ายเรียนรู้ระหว่างชุมชน เพื่อให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
4.8 ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชน
1) ยังขาดการควบคุมผังเมือง เพื่อควบคุมความหนาแน่นของเมืองเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเขตพื้นที่กันชน พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์แหล่งน้ำ
2) ยังขาดมาตรการที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองบริเวณที่มีคุณค่าต่อมรดกวัฒนธรรมอันดีงามของเมือง
3) มีการรุกล้ำที่สาธารณะ เพื่อทำกิจกรรมของชุมชนหรือจากธุรกิจอุตสาหกรรม
4.9 ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวและศิลปกรรม
1) ยังขาดการประเมินขีดความสามารถของระบบนิเวศ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและ
ศิลปกรรมของพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมต่าง ๆ จากการท่องเที่ยว
2) ประชาชนของท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวยังไม่ได้สนใจมีส่วนร่วม เพื่อคุ้มครองและดูแลรักษาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติและศิลปกรรม
3) ประชาชนในท้องถิ่นยังขาดความเข้าใจและตระหนักถึงศักยภาพความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น
4) ยังขาดระบบฐานข้อมูลทรัพยากรท่องเที่ยว เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพทรัพยากรท่องเที่ยว
5) มีการทำกิจกรรมหลากหลายประเภท ที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวและ
ศิลปกรรมอย่างยากที่จะฟื้นฟูกับคืน
4.10 ด้านทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า
1) ยังขาดการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า
2) มีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดกฎหมาย ด้านป่าไม้และสัตว์ป่า
3) มีป่าที่เสื่อมโทรมกระจายตัวอยู่ในสถานที่ต่างๆ
4.11 การจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่ออนุรักษ์ป้องกันปัญหาทรัพยากรในพื้นที่
ในพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมหรือใกล้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่ ยังขาดการสนับสนุนให้มี “คณะกรรมการไตรภาคี” ประกอบด้วย ตัวแทนประชาชน ผู้ประกอบการในชุมชนหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพอนามัย คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ขาดการสนับสนุนด้านวิชาการ เทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ งบประมาณ ดำเนินงานอย่างเพียงพอ
5. ข้อเสนอแนะ
รัฐควรจัดให้มีมาตรการเชิงนโยบายในภาพรวม เพื่อให้การแก้ปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นไปตามรูปแบบการพัฒนา
ที่ยั่งยืน ควรมีการดำเนินการต่อไปนี้
1. ให้มีและดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนตามหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วประเทศ
2. ให้มีคณะกรรมการพิเศษ เพื่อดูแลการดำเนินการในข้อ 1 ในพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญให้เกิดผลและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
3 ให้มีการควบคุมการผลิตอุตสาหกรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม ประเพณี ในเขตอุตสาหกรรมให้สมดุล และไม่เกิดปัญหาสมตามหลักการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA)
4. ให้มีการควบคุมติดตามดูแลระบบอุตสาหกรรมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคม ตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) ขององค์การสหประชาชาติ และตามมาตรฐานสากล (I.S.O.) เพื่อรักษาตลาดสินค้าของประเทศในตลาดสากล
ข้อเสนอแนะกรณีศึกษาเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
5.1 จัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
ให้จัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเพื่อเป็นเจ้าภาพ ในการดูแลการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีอำนาจในการบริหารจัดการพัฒนาในพื้นที่ได้อย่างมีเอกภาพ
5.2 เพิ่มบทบาทและอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบ CEO และการแก้ไขปัญหา
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้รับผิดชอบมีอำนาจในการบังคับบัญชา รับทราบข้อมูล และใช้งบประมาณของหน่วยงานกรม กอง ต่างๆ ในพื้นที่ ในการแก้ปัญหาอันเกิดจากระบบอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ตน รับผิดชอบ เช่น การรักษาพยาบาล การบำบัดของเสีย การควบคุมโรงงาน ฯลฯและเร่งรัดดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่จังหวัดระยอง ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2540 (11 ข้อ)
5.3 ด้านทรัพยากรดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน
1) รัฐควรเร่งอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เพื่อลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน
ในพื้นที่สูง เช่น จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายบริเวณต้นน้ำลำธารและพื้นที่กันชน และเร่งฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำทุกแห่ง เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืดธรรมชาติ เพื่อใช้ในการพัฒนาจังหวัดระยองโดยรวม และให้มีการปรับปรุงบำรุงรักษาดิน ระมัดระวังการปลูกพืชตามแนวระดับหรือขวางความลาดเทและควรหลีกเลี่ยงทำ กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชันสูงเกิน 35 % ขึ้นไป เพื่อลดอัตราการเกิดดินถล่ม
2) จัดให้มีมาตรการควบคุมป้องกันการปล่อยสารพิษลงสู่พื้นดินอย่างเพียงพอ
3) ทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพของดินที่มีปัญหาต่างๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้
(1) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพดินเปรี้ยว ให้แก้ไขด้วยการลดความเป็นกรดของดินลง โดยการเลือกใส่ปูนต่างๆ ลงไปในดิน เช่น ปูนมาร์ล และหินปูนบด ในปริมาณที่เหมาะสม
(2) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพของดินทราย ให้แก้ไขโดยปลูกหญ้าหรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน เช่น ข้าวไร่ ปอแก้ว ถั่วลิสง อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มะม่วง มะม่วงหินพานต์ นุ่น
(3) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพของดินตื้นและดินปนกรวด ให้แก้ไขโดยปลูกพืชไม้ท้องถิ่นปรับปรุงภูมิทัศน์และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับและปุ๋ยเคมี เลือกพืชปลูกให้เหมาะสมกับสภาพดิน ได้แก่ ข้าวไร่ สัปปะรด หรือ การทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
(4) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพของดินเค็ม ให้แก้ไขโดยปรับปรุงพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก เช่น สร้างคันดินกั้นน้ำทะเลและกักเก็บน้ำจืด ขุดคลองระบายน้ำทำการล้างดินเค็มด้วยระบบชลประทานน้ำจืด การปลูกพืชทนเค็มบนร่อง เช่น มะพร้าว ละมุด พุทรา ฝรั่ง มะขามเทศ สะเดา สน ยูคาลิปตัส แค หูกวาง เป็นต้น หรือปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำนากุ้ง การทำป่าชายเลน นาเกลือ
4) รัฐต้องวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างรอบคอบในการนำไปใช้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรป่าไม้หรือทรัพยากรอื่น เช่น แร่ ต้องมีการสำรวจขั้นรายละเอียดและทำการควบคุมวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่
5) รัฐควรให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกและความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องกับการอนุรักษ์แหล่งน้ำ
5.4 ด้านทรัพยากรน้ำและมลพิษทางน้ำ
1) รัฐควรควบคุมและจำกัดการอนุญาตให้มีนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการถ่ายทิ้งน้ำเสียสูงเกินขีดความสามารถของแหล่งน้ำที่จะรับได้และหากจำเป็นจะต้องก่อสร้างโรงงาน ต้องอนุญาตให้สร้างอยู่ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้วให้เต็มศักยภาพก่อน รวมทั้ง ควรจัดระเบียบโรงงานอุตสาหกรรมที่ปะปนกับชุมชนให้เข้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม
2) รัฐต้องควบคุมภาคอุตสาหกรรมให้จัดการสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งมาตรการลดผลกระทบ มาตรการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
3) รัฐควรสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งนำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาใช้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด และส่งเสริมนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณน้ำทิ้ง
4) รัฐควรพัฒนาการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดทั้งจากอุตสาหกรรมและการเกษตร และจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ ด้วยระบบ GIS เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษมิให้ระบายน้ำทิ้งที่มีค่าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดตลอดเวลา
5) รัฐควรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
6) รัฐควรควบคุมการกำจัดน้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ให้เข้มงวด โดยเฉพาะในรัศมี ๑ กิโลเมตร จากแหล่งน้ำสาธารณะ
7) รัฐควรควบคุมครัวเรือนทุกแห่ง ให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย เช่น บ่อเกรอะ/บ่อซึม และสนับสนุนให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง มีศักยภาพจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน
5.5 ด้านมลพิษทางอากาศ
1) รัฐควรห้ามสร้างนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือโรงงาน
อุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงกับชุมชน และควบคุมการขยายตัวของชุมชนรอบพื้นที่อุตสาหกรรม ให้มีระยะห่างเพียงพอต่อการป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ และกำหนดสร้างพื้นที่แนวกันชนให้ชัดเจนระหว่างเขตอุตสาหกรรมกับชุมชน
2) การอนุญาตก่อสร้างเพิ่มจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมหรือขยายกำลังการผลิตให้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับจากสถาบันการศึกษาประกอบการพิจารณา เพื่อควบคุมจัดสรรการระบายมลพิษทางอากาศไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ
3) รัฐควรเร่งพัฒนาระบบ Continuous Emission Monitoring เพื่อตรวจสอบควบคุมการระบายอากาศเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
4) รัฐควรกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศพื้นที่เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกให้เหมาะสมกับสถานการณ์
5) รัฐต้องมีมาตรการเข้มงวดควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีการระบายสารเบนซีน ไซลีน ไอกรด ซัลฟูริกและอะครีโลไนตริล หรือสารเคมีชนิดอื่นๆ ที่สามารถก่อให้เกิดกลิ่นรบกวน
6) รัฐควรเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตามมาตรการลดผลกระทบตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและควรมีระบบเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
7) รัฐไม่ควรอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า เตาเผามูลฝอย ใกล้บริเวณพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนและจัดเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษในสภาวะฉุกเฉินอย่างเพียงพอ
8) รัฐควรวางมาตรการควบคุมไม่ให้ทำการเผามูลฝอย วัชพืช พืชไร่ จากภาคประชาชน
9) รัฐควรเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ บริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อการรองรับสารประกอบอินทรีย์ระเหยในกลุ่มสารพิษอันตรายทางอากาศ
10) รัฐควรพัฒนาระบบเตือนภัยและเครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อบ่งชี้สถานการณ์ของสารประกอบอินทรีย์ระเหยในกลุ่มสารพิษอันตรายทางอากาศในชุมชนได้ตลอดเวลา
5.6 ด้านมลพิษจากกากของเสียอันตราย
1) รัฐควรเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม
2) รัฐควรผลักดันให้โรงงานต่างๆ นำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) ตามมาตรฐาน ISO ๑๔๐๐๑ หรือหลักการเทคโนโลยีสะอาด (CT) หรือ การลดขยะให้เหลือน้อยที่สุด (Waste Minimization) หรือการลดขยะมีพิษ (Toxic Waste Reduce) มาใช้
3) รัฐควรนำระบบการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment หรือ LCA) มาบังคับใช้กับโรงงานในกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเกิดกากของเสียอันตรายจากการผลิต
4) รัฐควรจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำกากของเสียอันตรายส่งกำจัดยังบริษัทที่รับกำจัดกากของเสียอันตรายทั้งหมด เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการส่งกากของเสียอันตรายไปกำจัด การอนุญาตให้มีบริษัทผู้รับกำจัดของเสียอันตรายอย่างถูกต้องมากขึ้น หรือการนำมาตรการลดหย่อนทางภาษีมาใช้
5) รัฐควรมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้เข้าใจ และมีจิตสำนึกที่ดีในการนำกากของเสียอันตรายมากำจัดอย่างถูกต้อง
6) รัฐควรจัดการสำรวจและสอบสวนในพื้นที่คาดว่ามีการลักลอบกำจัดกาก
อุตสาหกรรมอย่างไม่ถูกกฎหมายและทำการฟื้นฟูพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
7) รัฐต้องไม่อนุญาตให้สร้างโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษที่ไม่สามารถกำจัดหรือบำบัดให้อยู่ภายในมาตรฐานกฎหมายสากลได้ด้วยเทคโนโลยีของโรงงานหรือเทคโนโลยีของส่วนราชการไทย
5.7 ด้านทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
1) รัฐควรปรับปรุงกฎหมายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ถูกทำลาย เพื่อการอนุรักษ์บำรุงรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518 พ.ร.บ. พัฒนาที่ดิน พ.ศ.2526 เป็นต้น
2) รัฐควรจัดให้มีมาตรการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูบริเวณชายหาดที่ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจากการพัฒนาก่อสร้างท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เช่น กรณีหาดแสงจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นต้น
3) รัฐควรแก้ปัญหาเพื่อป้องกันการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินป่าชายเลนให้กับเอกชนและดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนให้ได้ผลอย่างแท้จริง
4) รัฐต้องรณรงค์ไม่ให้มีการทิ้งขยะมูลฝอยลงทะเลหรือในแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง
5) รัฐควรสร้างเครือข่ายเรียนรู้ระหว่างชุมชน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งข่าวสารแก่ทางราชการ
6) การถมทะเลในบริเวณภาคตะวันออก ต้องผ่านกระบวนการเวทีสาธารณะระดับจังหวัดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและลงมติ พร้อมทั้งให้ภาคประชาชนเป็นผู้จัดหาบริษัทศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยรัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ