(ต่อ1) การจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรม กรณีศึกษา ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2004 15:27 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

               5.8   ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชน  
1) รัฐควรเร่งจัดวางผังเมืองทุกเมือง เพื่อควบคุมความหนาแน่นของเมือง เขตพื้นที่
อุตสาหกรรม เขตพื้นที่กันชน พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์แหล่งน้ำโดยต้องควบคุมการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามผังที่วางไว้
2) รัฐต้องจัดให้มีมาตรการคุ้มครองบริเวณที่มีคุณค่าต่อมรดกวัฒนธรรมอันดีงามของเมืองไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามของเมือง
3) รัฐต้องป้องกันและแก้ไขการรุกล้ำที่สาธารณะจากกิจกรรมของชุมชนหรือ
อุตสาหกรรม
4) ให้แก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยด้านสุขภาพต่ำกว่าประชากรทั้งประเทศให้กลับมาสู่ค่าเฉลี่ยด้านสุขภาพของประเทศโดยเร็ว โดยเฉพาะต้องมีงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจากสาเหตุอุตสาหกรรม (เพิ่มเติมจากงบประมาณปกติ งบ 30 บาทรักษาทุกโรค)ให้พอเพียงต่อการดำเนินการ
5) จัดให้มีระบบการจราจรเพื่อควบคุมการขนส่งวัตถุอันตรายที่ปลอดภัย เช่น
การควบคุมความเร็วรถขนส่งวัตถุอันตรายให้ไม่สามารถวิ่งได้เกิน ๖๐ กม./ชม.ในทางหลวงระหว่างเมืองหรือเกิน 30 กม./ชม.ในชุมชน
5.9 ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวและศิลปกรรม
1) รัฐควรศึกษาประเมินขีดความสามารถของระบบนิเวศ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมของ พื้นที่ในการรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของแหล่งท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2) รัฐควรมีมาตรการแผนงานชัดเจน เพื่อคุ้มครองและดูแลรักษาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ และศิลปกรรม โดยสนับสนุนให้ประชาชนของท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม
3) รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความเข้าใจและตระหนักถึงศักยภาพความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่
4) รัฐควรจัดระบบฐานข้อมูลทรัพยากรการท่องเที่ยว เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์
การเปลี่ยนแปลงของสภาพทรัพยากรการท่องเที่ยวและการวางแผนในอนาคต
5) รัฐต้องควบคุมกิจกรรมทุกประเภทที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการถูกทำลาย
5.10 ด้านทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า
1) รัฐต้องสำรวจจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า เพื่อวางมาตรการป้องกันและอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิผล
2) รัฐต้องจัดให้มีการลาดตะเวน หาข่าวและจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายด้านป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
3) รัฐควรเร่งฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมรูปแบบต่างๆ เช่น ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และห้ามทำการออกเอกสารสิทธิ์ต่างๆ ในเขตป่าเสื่อมโทรม
5.11 การจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่ออนุรักษ์และป้องกันปัญหาทรัพยากรในพื้นที่
รัฐควรสนับสนุนให้จัดตั้ง “คณะกรรมการไตรภาคี” ประกอบด้วยตัวแทนประชาชนผู้ประกอบการในชุมชน หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค และมีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีองค์ประกอบสัดส่วนจำนวนสมาชิกคณะกรรมการ จากตัวแทนภาคประชาชนมากกว่าตัวแทนผู้ประกอบการและส่วนราชการ โดยให้มีบทบาท ดังต่อไปนี้
1) กำหนดมาตรฐานและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัย และปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน
2) ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพอนามัย โดยกำหนดให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในชุมชนและโรงงาน เช่น มีการติดตั้งเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีการตรวจเยี่ยมโรงงานทุก ๖ เดือน เป็นต้น พร้อมทั้งสรุปผลการเฝ้าระวังให้ทุกฝ่ายรับทราบ
3) การจัดทำบัญชีรายชื่อ/ข้อมูลการใช้สารเคมี สารวัตถุอันตราย สารมลพิษแยกตามกลุ่มหรือประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสารมลพิษ
4) กำกับให้อุตสาหกรรมรายงานปริมาณความเข้มข้นของสารมลพิษ ที่ปล่อยออกมาแหล่งกำเนิด (ปล่องระบาย) ที่ได้รับการควบคุมให้มีการบำบัดก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
5) ร่วมติดตามตรวจสอบการฟุ้งกระจายของสารมลพิษ ที่ถูกปล่อยจากแหล่งกำเนิดสิ่งแวดล้อม (Ambient Air) โดยการตรวจวัด หรือการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์
6) ร่วมตรวจติดตามการได้รับสัมผัสสารมลพิษของชุมชนโดยรอบ โดยใช้เครื่องมือวัดติดตัวบุคคล (Personal measurement) และ/หรือการตรวจวัดตัวอย่างทางชีวภาพ (Biomarker) รวมถึงการตรวจติดตามผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย
7) ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในลักษณะประสานงานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
8) ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้กับชุมชนได้รับทราบสถานการณ์เป็นระยะ
9) รัฐต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ วิชาการและเทคโนโลยีในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ