นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุบัติภัยร้ายแรงจากแผ่นดินไหวทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำส่งผลทำให้เกิดความเสียหายขึ้นใน อาณาบริเวณหลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล ตรัง และระนอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย รวมทั้งทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากนั้น ได้สั่งการให้สำนักงานประกันภัยจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้ประสบภัยและจังหวัดใกล้เคียงระดมกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยและให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาครัฐที่กำลังให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งสำรวจความเสียหายหากมีการทำ ประกันภัยไว้และรายงานให้ทราบโดยด่วน และให้ประสานงานกับบริษัทประกันภัยที่อยู่ในท้องที่ให้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ในขณะเดียวกันกรมการประกันภัยได้ประสานกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัย เร่งให้บริษัทสมาชิกที่รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็วเช่นกัน
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นอุบัติภัย ร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียและเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชน แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ประสบภัยรายใดได้มีการทำประกันภัยไว้ก็จะได้รับความคุ้มครอง ตามประเภทการประกันภัย ดังนี้
1. การประกันชีวิต ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต และทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวรจาก การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยเนื่องจากภัยธรรมชาติดังกล่าว และหากมีการซื้อ
2. การประกันภัยอุบัติเหตุเอื้ออาทร คุ้มครองการเสียชีวิต และ ทุพพลภาพถาวร ในวงเงิน 300,000 บาท
3. การประกันภัยอุบัติเหตุ คุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร และค่ารักษาพยาบาล
4. การประกันภัยอุบัติเหตุเดินทาง ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ต้องจัดทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวคุ้มครองสำหรับการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ในจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ต่อคนและค่ารักษาพยาบาล ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อคน นอกจากนี้ในกรณีที่นักท่องเที่ยวได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุเหตุการเดินทางของ ตนเองไว้ จะได้รับค่าทดแทนด้วยอีกเช่นกัน ตามความคุ้มครองที่ได้ซื้อไว้ เช่น การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ การทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงความ สูญเสียของทรัพย์สินส่วนตัวด้วย
5. การประกันภัยผู้โดยสารเรือโดยสารรับจ้าง ซึ่งเป็นการประกันภัยที่ผู้ประกอบการเดินเรือเป็นผู้จัดทำให้แก่ผู้โดยสาร โดยคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และสายตา ทุพพลภาพถาวร ในวงเงิน 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลต่อ อุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 10,000 บาท
6. การประกันภัยรถ หากเป็นการประกันภัยประเภท 1 จะให้ความคุ้มครอง การเสียชีวิต ความบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งความเสียหายต่อตัวรถ จากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ส่วนการประกันภัยประเภท 2 และประเภท 3 จะให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิต ความบาดเจ็บ และค่ารักษาพยาบาลเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประสบภัยทุกคนที่อยู่ในรถยนต์จะได้รับความคุ้มครองสำหรับความบาดเจ็บ เสียชีวิต และค่าอนามัยตามความเหมะสม จากการประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาทต่อราย กรณีบาดเจ็บจ่ายตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย
7. การประกันภัยอัคคีภัย โดยทั่วไปจะให้ความคุ้มครองถึงไฟไหม้ ฟ้าผ่า และ การระเบิดของแก๊สเพื่อการอยู่อาศัย แต่หากผู้เอาประกันภัยซื้อความคุ้มครอง เพิ่มเติมถึงภัยแผ่นดินไหว ก็จะได้รับความคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายจากภัย ดังกล่าว สำหรับบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย หากซื้อกรมธรรม์ประกัน อัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไว้โดยทั่วไปให้ความคุ้มครองเฉพาะ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิดทุกชนิด ภัยทางอากาศ ภัยยวดยานพาหนะ และภัยเนื่องจากน้ำ แต่หาก ผู้เอาประกันภัยได้ซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงภัยแผ่นดินไหวไว้ด้วยจึงจะได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยดังกล่าว
8. การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risks : IAR) ให้ความ คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจาก ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ลมพายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย เช่น รีสอร์ท โรงแรม ที่ได้มีการทำประกันภัยดังกล่าวไว้ก็จะได้รับความคุ้มครองจาก เหตุการณ์ดังกล่าว
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการประกันภัยขอแสดงความเสียใจ อย่างสุดซึ้งต่อญาติพี่น้องของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต และขอแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บ กรมการประกันภัยยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่ผู้ประสบภัยได้มีการทำประกันภัยไว้ โดยจะ เร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทหรือผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมยุติธรรม ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยโดยเร็วต่อไป ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ใน ระดับหนึ่ง หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ โทร. 0-2547-4548 หรือ สายด่วนกรมการประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th