แนวทางการพัฒนางานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นขององค์กรภาคประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2004 11:12 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนางานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นขององค์กรภาคประชาชน
1. ที่มา
สืบเนื่องจากการจัดทำความเห็นและข้อเสนอ เรื่อง การอนุรักษ์ การเผยแพร่ และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นของคณะทำงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งพบว่าการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชนในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ เพราะขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการดำเนินการ ในขณะเดียวกันการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นในบางด้าน รัฐได้เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ส่งผลให้แนวทางการพัฒนามีลักษณะเป็นแนวทางกว้าง ขาดความเจาะจง และเหมาะสมกับบริบทในแต่ละชุมชน ฉะนั้นการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยมีความเข้มแข็ง
สิ่งนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนทำหน้าที่ในการพิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของ ท้องถิ่น อาทิ มาตรา 46 กำหนดให้ “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ” มาตรา 69 “บุคคลมีหน้าที่... สืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น ...” และมาตรา 81 “รัฐต้องส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ”
ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งในด้านการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น และการสนับสนุนบทบาทหน้าที่ทางด้านวัฒนธรรมขององค์กรภาคประชาชน ในที่นี้ องค์กรภาคประชาชน หมายถึง องค์กรที่ไม่ได้สังกัดรัฐบาล อาทิ องค์กรสาธารณะประโยชน์เอกชน องค์กรชุมชน องค์กรวิชาการ องค์กรศาสนาต่างๆ คณะทำงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้กำหนดโครงการศึกษาเรื่อง “แนวทางพัฒนาการดำเนินงาน ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นขององค์กรภาคประชาชน” โดยศึกษา สำรวจ และรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากประเด็นดังกล่าว ประกอบกับการพิจารณาให้ความเห็นของคณะทำงานฯ และสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลำดับต่อไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ
การดำเนินการศึกษาในโครงการนี้ ประกอบด้วย
2.1 การสำรวจวรรณกรรม (review literature) โดยการประมวล วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการดำเนินการงานด้านวัฒนธรรมในระดับชุมชน สังเคราะห์ความรู้และข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นขององค์กรภาคประชาชนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อาทิ เอกสารวิชาการ งานวิจัย บทความ บทสัมภาษณ์ ฯลฯ
2.2 การสัมมนาประชาปรึกษา เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น
2.3 การจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในประเด็น “แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นขององค์กรภาคประชาชน”
3. ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคขององค์กรภาคประชาชนในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคขององค์กรภาคประชาชนในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังต่อไปนี้
3.1 องค์กรภาคประชาชนขาดแรงสนับสนุนในการดำเนินงานจากภาครัฐ
องค์กรภาคประชาชนขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการดำเนินงาน อาทิ ขาดบุคลากรหรือนักวิชาการที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรม ขาดงบประมาณในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม อาทิ งบประมาณในการจัดงานประเพณีเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ขาดการเชิดชูบทบาทผู้นำหรือตัวแทนทางวัฒนธรรมของชุมชน เช่น ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความชำนาญในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้ขาดการสืบทอดและยอมรับของคนรุ่นต่อๆ ไป
3.2 หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรมขาดการประสานระหว่างกัน
การดำเนินงานด้านวัฒนธรรมในบางพื้นที่มีปัญหาการดำเนินงาน มีการวางแผนและดำเนินการด้านวัฒนธรรมอย่างแยกส่วนกัน ต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมต่อระหว่างภาคราชการ องค์กรภาคประชาชน และองค์กรวัฒนธรรม เช่น สำนักงานวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรม เทศบาล หรือองค์กรอื่น ต่างมีวาระและแผนงานของตนที่ไม่ได้มีการประสานกัน อีกทั้งประชาชนในชุมชนไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
3.3 ขาดการใช้มิติทางวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
แม้ว่าภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่บทบาทการดำเนินการด้านวัฒนธรรม ยังมีลักษณะเป็นการรับนโยบายหรือแนวทางการดำเนินการพัฒนาวัฒนธรรมจากส่วนกลาง และยังไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้มิติทางวัฒนธรรมอย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิต อีกทั้ง การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา คนในชุมชนผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมไม่มีอำนาจที่จะอนุรักษ์หรือสร้างคุณค่าให้แก่วัฒนธรรมของตนเอง เพราะมีผู้นำที่เป็นผู้กำหนด “วิธีการ” หรือ “วิธีคิด” ในการปฏิบัติ ผู้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการวัฒนธรรมยังขาดความมั่นใจ ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ขาดทักษะและการมองเห็นประโยชน์ที่แท้จริงในการดำเนินการ อีกทั้งหน่วยงานของรัฐ ชุมชน และองค์กรภาคประชาชนต่างคนต่างมีข้อมูลแต่ไม่มีทิศทางร่วมกัน ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้คนในชุมชนสับสนและตัดสินใจไม่ได้ว่าจะรับแนวทางจากผู้นำแล้วนำมา ผสมผสานกับความเป็นชุมชนของตนได้อย่างไร
3.4 ในอดีตชุมชนบางแห่งมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลักละเลยคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น
เนื่องจากการพัฒนาประเทศไทยตามกระแสหลัก มุ่งสร้างความทันสมัยและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในระยะเกือบ 4 ศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ละเลยวัฒนธรรมท้องถิ่น ขาดการบันทึกทางประวัติศาสตร์ ทำให้ไม่เห็นคุณค่าและประชาชนไม่ทราบว่าวัฒนธรรมของตนมีความเป็นมาอย่างไร การไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างประเทศ จากสื่อมวลชน โฆษณา และสินค้าต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงทุกครัวเรือน ส่งผลให้เกิดการเผยแพร่กระจายวัฒนธรรมสากล ค่านิยมยกย่องวัฒนธรรมต่างประเทศ ส่งผลให้ประชาชนขาดความภาคภูมิใจ การเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตน ขาดแรงจูงใจในการรักษาวัฒนธรรมเดิม จึงมีส่วนทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นให้สูญสลายไป
4. ข้อเสนอแนวทางการพัฒนางานด้านวัฒนธรรมขององค์กรภาคประชาชน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนางานด้านวัฒนธรรมขององค์กรภาคประชาชน ดังต่อไปนี้
4.1 ปรับบทบาทสภาวัฒนธรรมตำบลในการดำเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรมให้ครอบคลุม
เนื่องจาก สภาวัฒนธรรมตำบลมีความใกล้ชิดกับชุมชน และมีโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน ควรสนับสนุนเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มเครือข่ายด้านวัฒนธรรมกลุ่มต่างๆ ในระดับชุมชน เช่น โรงเรียน ศาสนสถาน ชุมชนหมู่บ้าน และกลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในชุมชน โดยมีการแบ่งกลุ่มงานเพิ่ม เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม อันได้แก่
1) การวิจัยและพัฒนาวัฒนธรรม
2) การอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม
3) การถ่ายทอด เผยแพร่ แลกเปลี่ยนและส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4) การเสริมสร้างความเป็นเลิศทางวัฒนธรรม
ผ่านการจัดคณะทำงานในกลุ่มต่างๆ ทำหน้าที่ในการคิดหาแนวทาง วางแผน จัดทำข้อเสนอ และดำเนินงานวัฒนธรรมท้องถิ่นในงานแต่ละด้าน อันจะส่งผลให้การทำงานด้านวัฒนธรรมเกิดการพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งขยายตัวและขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยตัวอย่าง คณะทำงานแต่ละกลุ่ม ควรมีหน้าดำเนินงาน ดังนี้
1) คณะทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาวัฒนธรรม ทำหน้าที่ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของชุมชน ประสานงานกับองค์กรวิชาการ อาทิ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ ในการทำวิจัยวัฒนธรรมด้านต่างๆ ประจำชุมชน ประสานงานตำบลอื่นๆ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และทำหน้าที่วางแผนริเริ่มสร้างสรรค์ ในการส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมประจำชุมชน เพื่อสร้างทุนทางวัฒนธรรมและสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน เช่น ส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมสมัย ส่งเสริมการบูรณาการวัฒนธรรมที่หลากหลายภายในชุมชน การพัฒนาสินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรมประจำชุมชนนำเสนอแนวทางในการปรับวัฒนธรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
2) คณะทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม ทำหน้าที่คัดสรรวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จำเป็นและควรค่าแก่การอนุรักษ์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนอนุรักษ์ วัฒนธรรม ส่งเสริมการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมตามประเพณีและเทศกาลต่างๆ วางแผนส่งเสริม การสร้างจิตสำนึกในการเห็นคุณค่าวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์แก่ประชาชน รณรงค์ประชาชนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงทำหน้าที่ค้นหาวัฒนธรรมที่สูญหายหรือเสื่อมสลายไปของชุมชนหรือคัดสรรวัฒนธรรมที่ต้องการฟื้นฟูให้เกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์ภายในชุมชน โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม ค่านิยม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วางแผนฟื้นฟูและ แนวทางดำเนินการ เพื่อทำให้วัฒนธรรมนั้นมีคุณค่าและความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต
3) คณะทำงานด้านการถ่ายทอด เผยแพร่ แลกเปลี่ยน และส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำหนดวัฒนธรรมที่ควรถ่ายทอดแก่ประชาชนภายในชุมชน วางแผนถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่ เด็ก เยาวชน และประชาชนภายในชุมชน เพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่า เกิดความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมเดียวกัน ประสานงานกับเครือข่ายโรงเรียน ชุมชน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมเหล่านี้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ และถ่ายทอดแก่ประชาชนในชุมชนต่อไป และวางแผนเผยแพร่และแลกเปลี่ยน วัฒนธรรมระหว่างชุมชนต่างๆ วางแผนประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมและกิจกรรมในชุมชน ประสานงานสื่อมวลชนในการให้ช่วยเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริม ประชาชน กลุ่มต่างๆ ภายในชุมชนจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งกิจกรรมตามประเพณีและเทศกาลต่างๆ ให้มีตลอดทั้งปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนแสดงออกและเผยแพร่วัฒนธรรมของตน อำนวยความสะดวกในการจัดหา สถานที่ และช่วยประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กิจกรรมดังกล่าว
4) คณะทำงานด้านการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งเสริมการ พัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน และผู้ดำเนินงานวัฒนธรรมให้มีโอกาสแสดงศักยภาพทาง วัฒนธรรมและพัฒนาความรู้ความสามารถทางวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ จัดให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ
หากคณะทำงานสามารถเกิดได้จริง และร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง ย่อมส่งผลให้การทำงานด้านวัฒนธรรมได้รับการพัฒนาอย่างครอบคลุมทุกด้าน สามารถขยายตัวและขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
4.2 ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้มแข็ง
การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างเป็นองค์รวม โดยลดการพึ่งพิงรัฐ ปรากฏภาพที่ชัดเจนขึ้นจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งได้รื้อฟื้นแนวความคิดในการพัฒนาชุมชน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง และพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคมและวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนระยะยาว การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งบนฐานของการจัดการปกครองตนเอง เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในระยะยาว ซึ่งรวมถึงความเข้มแข็งในวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย
กลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและดำเนินการด้านวัฒนธรรม จึงควรเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายขึ้น อันได้แก่ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มชุมชน กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่รวมกลุ่มเล็กๆ ในแต่ละหมู่บ้าน กลุ่มเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองได้มากขึ้น โดยให้ประชาชนในชุมชน ผู้นำชุมชนดำเนินการพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยให้มีการวางแผนพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างสมดุล ซึ่งการดำเนินการด้านวัฒนธรรมจะเชื่อมโยงอยู่ภายใต้การพัฒนาชุมชนในลักษณะองค์รวม และการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมจะให้คุณค่าแก่วัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นที่มี ความหลากหลาย มากกว่าการนำเข้าและปรับเปลี่ยนตามวัฒนธรรมต่างชาติ
4.3 รัฐทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของชุมชนให้เพียงพอ
รัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนมากกว่าสั่งการในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ เพื่อให้แต่ละชุมชนรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและช่วยให้คนในชุมชนรักหวงแหนและรู้จักอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น การสนับสนุนด้านต่างๆ ของรัฐ อาทิ
- สนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร ความรู้แก่ชุมชนในด้านวิชาการ บริหารจัดการและงบประมาณ
- สนับสนุนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการวัฒนธรรม เพื่อช่วยเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากร และประชาชนในชุมชน ให้มีความรู้ความสามารถจัดการวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ด้วยตัวเอง
- สนับสนุนด้านการจัดสรรงบประมาณ เครื่องมือ และอุปกรณ์อย่างเพียงพอแก่องค์กรด้านวัฒนธรรมในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดการวัฒนธรรมแก่ชุมชน
- สนับสนุนด้านการประสานงาน การอำนวยความสะดวก การประชาสัมพันธ์
4.4 ส่งเสริมแกนนำที่เข้มแข็งในการพัฒนาวัฒนธรรมของชุมชน
ในการดำเนินงานพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ควรส่งเสริมบทบาทกลุ่มแกนนำต่างๆ ในชุมชนที่มีพลังในการขับเคลื่อนงานทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นให้พัฒนาต่อไปได้ อาทิ
1) สถาบันอุดมศึกษาในชุมชนเป็นแกนนำในการวิจัยศึกษาและจัดทำแบบเรียน ทุกชุมชนควรมีแบบเรียนของตนเอง เรียนรู้ประวัติศาสตร์และชุมชนของตน โดยมหาวิทยาลัยในชุมชนร่วมกับโรงเรียน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรศาสนา และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน ร่วมกันคิดค้นคว้าและกำหนดเป็นหลักสูตร จัดทำแบบเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนในโรงเรียนทุกๆ แห่งในชุมชนนั้น อันจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่า เกิดความรักและหวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและกิจกรรมปฏิบัติการทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานอาจเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานด้านการวิจัยวัฒนธรรม โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่างๆ อาทิ จัดทำตำราเรียนทุกระดับให้มีเนื้อหาสาระครอบคลุม ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดโครงการฝึกอบรมคณาจารย์สอนวิชาวัฒนธรรมศึกษาแก่โรงเรียนในชุมชน การจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ค่าตอบแทนคณาจารย์สอนวิชาวัฒนธรรมศึกษาและมอบประกาศนียบัตรแก่คณาจารย์ที่สำเร็จการฝึกอบรม เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ
2) โรงเรียนเป็นแกนนำในการปลูกฝังการเห็นคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่น ครู อาจารย์ ผู้นำศาสนา เป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้และจิตสำนึกที่ดีในวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่เด็กและเยาวชน ผ่านหลักสูตรการสอน และการให้เด็กได้ทำกิจกรรมในภาคปฏิบัติจริง โดยการสอดแทรกเนื้อหาและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมลงในหลักสูตรการเรียนการสอน มุ่งเน้นการให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม และให้สถานศึกษาในแต่ละชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น การนำครูภูมิปัญญามาให้ความรู้กับนักเรียน การนำผลงานของศิลปินไปแสดงในสถานศึกษา การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับนักเรียน และการจัดแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมในชุมชน
3) ผู้นำชุมชนเป็นแกนนำในการสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่น เผยแพร่วิถีชีวิต ค่านิยม ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นส่วนสำคัญของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยร่วมมือกับประชาชนในชุมชน จัดทำแผนพัฒนาชุมชนครบทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มุ่งพัฒนาคนในชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและดำรงรักษาวิถีชีวิตที่ดีงาม ยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรมรากฐาน ไม่หลงไปกับวัฒนธรรมภายนอกที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เป็นหนี้บริโภค ไม่ติดอบายมุข เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนกลุ่มต่างๆ ในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน แนวทางการดำเนินการดังกล่าว อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและ ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
4.5 สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาวัฒนธรรมของท้องถิ่นและวัฒนธรรมต่างชาติ
1) จดบันทึก “มรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่น”
มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ ควรได้รับการจดบันทึกและรวบรวมอยู่ในฐานข้อมูลที่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า อนุรักษ์ และเผยแพร่วัฒนธรรมของท้องถิ่น การจดบันทึกยังสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของคนในชุมชนนั้นๆ เนื่องจากคนรุ่นหลังสามารถเข้าไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความรู้และภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง
การจดบันทึกยังเป็นการปกป้อง รักษา และฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น จากการเปลี่ยนแปลงหรือครอบงำทางวัฒนธรรม เช่น กรณีที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นกับชุมชน หรือการโยกย้ายชุมชน เนื่องจากโครงการพัฒนาของรัฐ การจดบันทึกจะทำให้ชุมชนนั้นสามารถฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นกลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
การจดบันทึกสามารถป้องกันการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมในทางที่ไม่เหมาะสม ดังกรณีของการย้ายกระเหรี่ยงคอยาวจากแม่ฮ่องสอนมายังเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การจดบันทึกยังทำให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์ หากมีการนำวัฒนธรรมของชุมชนไปใช้แสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยผู้ที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่นใดไปสร้างรายได้ควรได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในชุมชนนั้นเสียก่อน และจะต้องจ่ายผลตอบแทนคืนให้กับชุมชนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น รวมทั้งต้องมีการอ้างอิงที่มาของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นด้วย
2) ขึ้นทะเบียน “มรดกวัฒนธรรมของชาติ”
รัฐควรประกาศขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมท้องถิ่นบางแห่ง ให้เป็นมรดกของชาติ (เช่นเดียวกับแนวคิด “มรดกโลก”) โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายไป และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และวัฒนธรรมที่เป็นของหลายชุมชนร่วมกัน มรดกวัฒนธรรมของชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษในด้านต่างๆ เพื่อรักษาวัฒนธรรมนั้นให้คงอยู่ ต่อไปได้
3) ให้การสนับสนุนแก่วัฒนธรรมของทุกกลุ่มคนอย่างเท่าเทียมกัน
รัฐควรให้การสนับสนุนด้านวัฒนธรรมแก่คนส่วนน้อยของประเทศเท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ เช่น การสนับสนุนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแก่คนส่วนน้อยบริเวณชายแดนของประเทศ เช่นเดียวกับการศึกษาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ การให้สิทธิความเป็นคนไทย แก่ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในอาณาเขตของประเทศไทย เป็นต้น
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความมุ่งหวังว่าข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการการพัฒนางานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นขององค์กรภาคประชาชน หากได้มีการนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ