บทบาทสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับสุจริตชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2004 14:25 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ 
เกี่ยวกับบทบาทสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับสุจริตชน
1. หลักการและเหตุผล
คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนจากนักธุรกิจจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการยึด อายัดทรัพย์สินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( สำนักงาน ปปง. ) คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อสุจริตชน เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงได้ดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าว ทั้งจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จากการจัดการประชุมสัมมนาร่วมกับนักธุรกิจ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกตรวจสอบธุรกรรม นักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้แทนธนาคารพาณิชย์และผู้แทนสำนักงาน ปปง.
2. วิธีการศึกษา
2.1 การศึกษา รวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการของหน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ
2.2 การประชุมหารือ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยแบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ดังนี้
2.2.1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 ประชุมร่วมกับนักธุรกิจเอกชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกตรวจสอบการทำธุรกรรมและการยึด อายัดทรัพย์สิน
2.2.2 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 ประชุมร่วมกับนักธุรกิจเอกชน ผู้แทนธนาคารพาณิชย์ และนักวิชาการ
2.2.3 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ประชุมร่วมกับอัยการ นักกฎหมาย และสภาทนายความ และผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกตรวจสอบการทำธุรกรรม
2.2.4 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ประชุมร่วมกับนักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และสภาทนายความ
3. ข้อเท็จจริงและสภาพปัญหา
3.1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตราขึ้นด้วยเหตุผล
เพื่อต้องการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบอาชญากรรมในปัจจุบัน ได้กระทำการในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปอีก อันทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเหล่านั้น และกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้
3.2 การฟอกเงิน คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงเงินที่ได้รับมา โดยไม่ถูกกฎหมาย หรือไม่สุจริต ให้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในระยะที่ผ่านมากระบวนการฟอกเงินได้มีการขยายตัวและมีเครือข่ายโยงใยทั่วโลก และกลายเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายในการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
3.3 การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หมายถึง
3.3.1 การโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนหรือหลังการกระทำความผิดมิให้ ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
3.3.2 การกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
3.4 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 40 ให้จัดตั้ง
สำนักงาน ปปง. เป็นหน่วยงานธุรการอยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บทบาทของสำนักงาน ปปง. ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในการดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินที่ได้จากการฟอกเงินให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ในบางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. อาจทำให้สุจริตชนได้รับผลกระทบจากการถูกตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติยศ
3.5 สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติงานธุรการให้กับคณะกรรมการ ปปง. และปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2545 กล่าวคือ การเสนอแนะนโยบายและมาตรการ วิเคราะห์ ตรวจสอบรายงานธุรกรรมทางการเงิน ทางธุรกิจและทรัพย์สิน รวมทั้ง การดำเนินการยึด และอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน โดยมีเลขาธิการ ปปง. ควบคุมดูแลการทำงาน ของสำนักงาน
3.6 หน้าที่ของเลขาธิการ ปปง. และคณะกรรมการธุรกรรม ได้แก่ การตรวจสอบธุรกรรม ยับยั้งการทำธุรกรรม และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อำนาจหน้าที่ดังกล่าวถูกกำกับโดยคณะกรรมการ ปปง. จำนวน 25 คน ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการ ประกอบด้วย หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ จำนวน 16 คน และ
ผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 9 คน
3.7 ความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
มาตรา 3 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ 8 มูลฐาน ได้แก่
3.7.1 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
3.7.2 ความผิดเกี่ยวกับเพศ เฉพาะเกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไป เพื่อการอนาจารหญิงและเด็ก เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ การค้าหญิงและเด็กหรือ การค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี หรือความผิดเกี่ยวกับกิจการค้าประเวณี
3.7.3 ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
3.7.4 ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
3.7.5 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
3.7.6 ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร
3.7.7 ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร
3.7.8 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
3.8 การดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมี 4 แนวทางหลัก คือ
3.8.1 การรับรายงานธุรกรรม และรวบรวม ติดตาม ตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์รายงาน และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรม
3.8.2 การยับยั้งการทำธุรกรรมตามมาตรา 35 และมาตรา 36
3.8.3 การดำเนินการตามมาตรา 48 (การยึด อายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว)
3.8.4 การบริหารจัดการทรัพย์สินที่ยึดและอายัด
3.9 สำนักงาน ปปง. รับข้อมูลธุรกรรมและตรวจสอบธุรกรรมจากแหล่งข้อมูล ดังนี้
3.9.1 จากรายงานธุรกรรมของสถาบันการเงิน สำนักงานที่ดิน
3.9.2 จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3.9.3 สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบเอง
3.9.4 จากหนังสือร้องเรียนและการรายงานของสายลับของสำนักงาน ปปง.
3.10 อำนาจในการติดตามการฟอกเงินของกรรมการธุรกรรม เลขาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่
3.10.1 มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้สถาบันการเงิน ส่วนราชการ องค์การ หรือ
หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจแล้วแต่กรณี ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใดๆ มาตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
3.10.2 มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดๆ มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
3.10.3 เข้าไปในเคหสถาน สถานที่หรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุสงสัยว่ามีการซุกซ่อนหรือเก็บรักษาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพื่อตรวจค้นหรือเพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบหรือยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือพยาน หลักฐาน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะนำหมายค้นมาได้ ทรัพย์สินหรือพยานหลักฐานดังกล่าวจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลายหรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
3.11 ประเด็นปัญหาและผลกระทบต่อสุจริตชน
3.11.1 ประเด็นข้อกฎหมาย
1) มาตรา 35 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมนั้นไว้ก่อน ภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกินสามวันทำการ
2) มาตรา 36 ในกรณีที่มีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำ
ธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว ภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกินสิบวันทำการ
3) มาตรา 48 การจะดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สิน นั้น จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจจะมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ้อนเร้นทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หากไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะกระทำการดังกล่าว ก็ไม่สามารถจะยึด อายัดทรัพย์สินได้
4) มาตรา 49 ในกรณีที่ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณา เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว
กรณีมีเหตุอันควรสงสัย กรณีมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า และ กรณีปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า เป็นถ้อยคำที่อาจจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และการใช้อำนาจในทางที่ผิดก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชน เนื่องจากพระราชบัญญัตินี้มีลักษณะให้ความไว้วางใจอย่างมากแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีสมมุติฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐสุจริตถูกต้อง ในขณะที่ประชาชนไม่น่าไว้ใจในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วได้กำหนดคำว่า “สุจริตชน” อย่างมีมาตรฐานที่สูง และจะไม่ถูกจับกุมหรือยึดทรัพย์สินก่อนแล้วจึงหาหลักฐานภายหลัง ดังนั้น การรักษาความเป็นอิสระขององค์กรและการรักษาความลับ เป็นหน้าที่สำคัญของสำนักงาน ปปง. อีกทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง การตีความและการใช้อำนาจ จึงต้องเคร่งครัดกับถ้อยคำและหลักการให้มากกว่าปกติ
5 ) อายุความในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงิน พ.ศ.2542 ยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีข้อยุติว่าควรจะมีกำหนดสิ้นสุดเมื่อใด
3.11.2 ผลกระทบในด้านอื่นๆ ต่อสุจริตชน
1) ชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ต้องสงสัยและผู้เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานบางครั้งต้องตรวจสอบไปถึงญาติ พี่น้องของผู้ต้องสงสัยด้วย เพราะเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน ปัญหาอาจเกิดจากการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่บางกรณีเกิดจากความเร่งด่วนในการดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว นอกจากนี้ มาตรา 49 วรรคท้าย กำหนดให้ประกาศชื่อผู้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น อย่างน้อย 2 วันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ อาจมีผลกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติยศและความน่าเชื่อในการประกอบธุรกิจ
2) ขั้นตอนการยับยั้งการทำธุรกรรม และการยึดอายัดทรัพย์สินขั้นตอนการยบยั้งธุรกรรมที่ควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับ การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ภายใน 3 วัน หรือ 10 วัน หรือ การยึด อายัดทรัพย์สิน 90 วันเหล่านี้ มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสุจริตชนได้
3) ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาสำนวนคดีต่างๆ ของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 49 วรรคสอง กำหนดว่าหากพนักงานอัยการเห็นว่าเรื่องยังไม่สมบูรณ์พอจะยื่นคำร้องต่อศาล ให้รีบแจ้งเลขาธิการ ปปง. แต่มาตรา 49 วรรค 3 กำหนดว่า ถ้ากรรมการ ปปง. วินิจฉัยชี้ขาดอย่างไร ให้พนักงานอัยการปฏิบัติตามนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติคณะกรรมการ ปปง. อาจจะไม่มีเวลาพิจารณาสำนวนคดีต่างๆ ในรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
4) ภาระค่าใช้จ่ายและความยากลำบากในการต่อสู้คดี
มาตรา 59 กำหนดให้การดำเนินการในศาล ให้ยื่นต่อศาลแพ่ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ทำให้เป็นภาระและเสียค่าใช้จ่ายของผู้ถูกยึด อายัดทรัพย์สินในการเดินทางมากรุงเทพฯ นอกจากนี้กระบวนการในศาลเป็นเรื่องต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ และปัญหาอื่นๆ ในชีวิตประจำวันแก่ทั้งผู้ต้องสงสัยและผู้เกี่ยวข้อง
5) การประกาศว่าจะดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมและการได้มาซึ่ง ทรัพย์สินใดๆ เป็นการข่มขู่เจ้าของทรัพย์สินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัย
6) สำนักงาน ปปง. มีแนวทางที่จะเพิ่มเติมความผิดมูลฐานมากขึ้น แต่หากยังไม่มีการตรวจสอบการถ่วงดุลอำนาจ ปัญหาการใช้อำนาจจะมีมากขึ้น
4. ข้อเสนอแนะ
4.1 โครงสร้างและการบริหาร
4.1.1 สำนักงาน ปปง. ควรเป็นองค์กรอิสระ สังกัดรัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อให้ปลอดจากอำนาจของฝ่ายบริหาร และให้มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่น FinCEN ในสหรัฐอเมริกา หรือ AUSTRAC ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เพียงรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมเท่านั้น โดยไม่มีอำนาจสืบสวน สอบสวน เข้าตรวจค้น หรือยึด อายัดทรัพย์สิน นอกจากนี้ควรเป็นองค์กรที่ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งหรือสรรหาของภาคประชาชน มิใช่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากอำนาจของนักการเมือง
4.1.2 การคัดเลือกหรือสรรหา กรรมการ อนุกรรมการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันระบบพรรคพวก ควรมีการพิจารณาความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ ประวัติการทำงานและประวัติ
ส่วนตัว ความซื่อสัตย์ สุจริต กระบวนการพิจารณาคัดเลือกควรมีความโปร่งใส
4.1.3 การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ควรแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการประจำข้าราชการการเมือง หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกรรมการที่มาจากข้าราชการประจำจะมีผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปที่มีอำนาจบังคับบัญชา
4.1.4 เลขาธิการ ปปง. ซึ่งมีอำนาจมาก จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ มาจากการกลั่นกรองและสรรหาจากผู้ที่มีความเป็นกลางทางสังคม
4.2 การบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
4.2.1 กระบวนการทำงานของสำนักงาน ปปง. ควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชน โดยการปรับกระบวนการให้มีกติกาและวิธีการที่ชัดเจน และให้ความเป็นธรรม ใช้เวลาในการตรวจสอบที่แน่นอนและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายแก่ธุรกิจ และครอบครัวของสุจริตชน นอกจากนี้ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ควรตั้งอยู่บนรากฐานความสุจริต เป็นธรรม และสร้างความเข้าใจอันดีแก่ประชาชน การใช้อำนาจหรือดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้
4.2.2 การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าว ควรมีมาตรฐานเดียว และไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อ ไม่ให้เกิดความสับสน และใช้เป็นช่องทางกลั่นแกล้งหรือเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ
4.2.3 กรรมการธุรกรรมและเลขาธิการ ปปง.หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ก่อน
จะดำเนินการใช้อำนาจตามมาตรา 38 ต้องรวบรวมพยานหลักฐานที่เพียงพอและเป็นมูลฐานความผิดที่ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการ ส่งมอบให้คณะกรรมการปปง. ก่อนออกคำสั่งหรือปฏิบัติการ โดยคณะกรรมการ ปปง. จะนำมาพิจารณาในคราวประชุมครั้งต่อไป หากคณะกรรมการ ปปง. เห็นว่าการกระทำไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม สามารถมีคำสั่งให้ยกเลิกหรือเพิกถอนได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการดำเนินการขอเอกสารหลักฐานหรือตรวจสอบไปก่อนแล้วจึงมาหาเหตุผลสนับสนุนภายหลัง
4.2.4 คณะกรรมการธุรกรรม ต้องนำเสนอพยานหลักฐานตามองค์ประกอบของกฎหมาย
ส่งมอบแก่คณะกรรมการ ปปง. ก่อนออกคำสั่งตามมาตรา 48 เพื่อให้คณะกรรมการ ปปง. นำเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งหากคณะกรรมการ ปปง. มีความเห็นว่าการใช้ดุลยพินิจไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดได้ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต้องพิสูจน์ การได้มาของทรัพย์สิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ดุลยพินิจและเหตุผล รวมทั้งพยาน หลักฐานในภายหลังจากการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว
4.2.5 การบังคับใช้กฎหมายฟอกเงิน ควรมีอายุความที่ชัดเจนแน่นอน เนื่องจากอายุความเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงบ และเป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลมาก
4.2.6 ควรงดการให้สินบนรางวัล แก่เลขาธิการ กรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นเหตุจูงใจให้กระทำการโดยไม่สุจริตได้ เหตุเพราะการจับกุม การกล่าวหา การยึดอายัด การขาย การได้รับรางวัล กฎหมายไม่ควรบัญญัติให้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรเดียวกัน
4.3 การตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ
4.3.1 ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนรวมในการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ในด้านการบริหารและการตรวจสอบ ประเมินผลการทำงาน มิใช่เป็นเพียงผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินเพียงอย่างเดียว
4.3.2 ควรแยกอำนาจการยึด อายัด และขายทรัพย์สินให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ เช่น ควรเป็นอำนาจของศาลที่มีการไต่สวนคดีและพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความโปร่งใสและปราศจากอคติ
4.3.3 กรรมการ อนุกรรมการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน
ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ปปช.
4.3.4 ภาครัฐควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้ถูกต้อง และเข้าใจกระบวนการทำงานของสำนักงาน ปปง. มากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและการปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ