เวียดนามลดภาษีสินค้า 36 รายการ..ชดเชยเบี้ยวภาษีจักรยานยนต์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2004 15:20 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้คณะเจรจาขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชะลอการลดภาษีสินค้าจักรยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม  ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กรมการค้าต่างประเทศ  กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  กรมศุลกากร  โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธาน เร่งเจรจากับเวียดนามเพื่อขอชดเชยความเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้  คณะเจรจาฯได้เจรจากับเวียดนามรวม 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2547 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เวียดนามตกลงที่จะชดเชยความเสียหายให้แก่ฝ่ายไทย โดยการลดภาษีสินค้าจำนวน 36 รายการ ระยะเวลา 3 ปี โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2548 — 31 ธันวาคม 2550 ซึ่งผลประโยชน์เบื้องต้นที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการชดเชยความเสียหายครั้งนี้ ได้แก่ มูลค่าภาษีนำเข้าที่เสียน้อยลงประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าของไทยมีอำนาจการแข่งขันทางการตลาดสูงขึ้นด้วย โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้รับการชดเชย ได้แก่ อาหารสัตว์ จากอัตราปกติร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 0 ปูนซีเมนต์จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 เครื่องปรับอากาศจากร้อยละ 5-20 เหลือร้อยละ 0-10 ตู้เย็นจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เครื่องซักผ้าจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ของอาเซียน ซึ่งตามข้อผูกพันการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากัน เวียดนามจะต้องนำรายการสินค้าจักยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์จำนวน 14 รายการ เข้ามาลดภาษี 0-5 % ภายในปี 2546 แต่เวียดนามขอชะลอการลดภาษีสินค้าดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เวียดนามจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการจราจรภายในประเทสอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการไทยในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ในสินค้า 8 รายการได้รับผลกระทบโดยตรง ไทยจึงมีสิทธิ์ในการขอเจรจาเพื่อชดเชยความเสียหายจากเวียดนามดังกล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ