กรมการประกันภัยได้ปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1 ประเภท 2 และประเภท 3) เสร็จเรียบร้อย สาระสำคัญของอัตราเบี้ยประกันภัยที่ปรับปรุงใหม่จะเน้นให้ประโยชน์แก่ ผู้ขับขี่รถดีมากขึ้น มีการกำหนดจำนวนเงินความคุ้มครองขั้นต่ำกรณีเสียชีวิตสำหรับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนเงินแน่นอน อัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับอุบัติเหตุส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาลและประกันตัวผู้ขับขี่ เปลี่ยนจากอัตราคงที่เป็นให้คิดต่ำกว่าอัตราเดิมได้ ทำให้สามารถกำหนดเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมให้แก่ ผู้เอาประกันภัยได้เป็นต้น โดยได้ออกเป็นคำสั่งนายทะเบียนที่ 6/2548 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า กรมการประกันภัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาวางระบบจัดเก็บข้อมูลและปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมประกันวินาศภัยและกรมการประกันภัย ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยและเงื่อนไขการประกันภัยรถยนต์ โดยยึดหลักวิชาการและความสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงในตลาดปัจจุบัน สรุปสาระสำคัญของการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และอัตราเบี้ยประกันภัย ดังนี้
1. ข้อดี
1.1 กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตสำหรับบุคคลภายนอก รายละ 100,000 บาท
1.2 กำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกให้ชัดเจน กรณีรถคันเอา ประกันภัยเสียหายจากการกระทำของบุคคลภายนอก ซึ่งบริษัทประกันภัยรู้ตัวผู้ต้องรับผิดตามกฎหมายและสามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยคืนได้ ให้บริษัทประกันภัยชดใช้ ค่าเสียหายทั้งจำนวนแก่ผู้เอาประกันภัย
1.3 เพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครอง สำหรับการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้าย ร.ย.01 กรณีสูญเสียอวัยวะที่เป็นมือหนึ่งข้าง เท้าหนึ่งข้าง หรือตาหนึ่งข้าง จากเดิมกำหนดไว้ 50% เป็น 60% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
1.4 กำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยสำหรับรถใหม่ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี แก่รถยนต์นั่งและรถโดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง ซึ่งมีลักษณะการใช้ส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้ลดได้ไม่เกิน 15% ของเบี้ยประกันภัยสุทธิ
1.5 ปรับปรุงส่วนลดเบี้ยประกันภัยตามค่าของปัจจัยความเสี่ยงภัยด้านอายุผู้ขับขี่ กรณีประกันภัยระบุชื่อผู้ขับขี่ โดยผู้ขับขี่รถยนต์นั่ง และรถโดยสารที่ทำประกันภัยประเภท 1 และประกันภัยประเภท 2 ที่มีอายุเกิน 50 ปี ได้รับส่วนลดมากที่สุด คือจากเดิมลดในอัตรา 15% เป็น 20%
1.6 เพิ่มลักษณะการใช้ “รับจ้างสาธารณะ” สำหรับรถจักรยานยนต์โดยใช้อัตราเบี้ย ประกันภัยเดียวกับลักษณะการใช้เพื่อการพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงประเภทรถพระราชบัญญัติ รถยนต์ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2547 ของกรมการขนส่งทางบกที่ได้มีการกำหนดให้รถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นรถอีกประเภทหนึ่งแยกออกจากรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
1.7 ปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับเอกสารแนบท้าย 3 ประเภท คือ การ ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ร.ย.01) การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล (ร.ย.02) และการประกันภัยตัวผู้ขับขี่ (ร.ย.03) จากเดิมกำหนดเป็นอัตราเบี้ยประกันภัยคงที่ ให้เป็นอัตราเบี้ยประกันภัยขั้นสูง ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับประโยชน์มากขึ้น
1.8 เพิ่มช่วงกว้างของเบี้ยประกันภัยพื้นฐานขั้นต่ำและขั้นสูงให้มากขึ้น เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถใช้ดุลยพินิจในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยได้เพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมหากจะมีการปล่อยเสรีในด้านอัตราเบี้ยประกันภัยในอนาคต
2. ข้อเสีย
2.1 รถบางกลุ่มที่มีสถิติความเสียหายสูงในรอบ 3 ปี อาจจะมีโอกาสขึ้นเบี้ยประกันภัยได้แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 25% ยกเว้นรถลากจูงและรถพ่วง
2.2 ผู้ขับขี่ที่มีอายุระหว่าง 36-50 ปี ได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยน้อยลงจาก 20% เป็น 15%
นางสาวพจนีย์ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกันภัยรถภาคสมัครใจ เป็นความคุ้มครองเพิ่มเติมจากการประกันภัยรถภาคบังคับ ผู้เอาประกันภัยที่ต้องการจะได้รับการคุ้มครองชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือบุคคลภายนอก ก็ควรที่จะซื้อการประกันภัยรถภาคสมัครใจไว้ด้วย โดยสามารถสอบถามไปยังบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มครอง อัตราเบี้ยประกันภัย ที่สำคัญที่สุดคือควรพิจารณาบริษัทประกันภัยที่มีการบริการดี รวดเร็ว ให้ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องกับผู้เอาประกันภัย การปรับเพิ่มลดเบี้ยประกันภัยในครั้งนี้ จะเป็นการจูงใจให้ผู้ขับขี่ปรับพฤติกรรมการขับขี่ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการเป็นผู้ขับขี่รถที่ดี จะมีผลให้จ่ายเบี้ยประกันภัยที่ถูกลงได้ และในทางกลับกัน ผู้ขับขี่รถที่ขาดความระมัดระวังก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูง ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นเช่นกัน
หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกันภัยรถ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมการประกันภัย โทร.02-547-4524 หรือสายด่วนประกันภัย 1186 กลุ่มคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขตทุกเขตและสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด
ที่มา: http://www.doi.go.th