รุก-รับ...ปรับ-สู้ เอฟทีเออาเซียน-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2005 16:45 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          การเปิดประตูการค้าระหว่างจีน กับอาเซียน ใกล้เปิดฉากอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า  สินค้าล็อตใหญ่ระลอกที่สองกว่า 5,000 รายการ จะถูกทลายกำแพงภาษีลงตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. เป็นต้นไป หนทางเบื้องหลังสำหรับผู้ประกอบการไทย บนกติกาการค้า'แบบใหม่'มีทั้ง'โอกาส'ให้ไล่ล่า และ'ภัยคุกคาม'ที่ต้องเผชิญ
'รอบฉายจริง' ของการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน กับจีน จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป หลังจากก่อนหน้านี้ อาเซียนกับจีนได้เริ่มต้นนำร่องลดภาษีสินค้าบางส่วนประมาณ 300 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรในพิกัดศุลกากรตอนที่ 01-08 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 ขณะที่คู่ไทย กับจีน เริ่มลดภาษีผักและผลไม้เหลือ 0% ไปตั้งแต่ 1 ต.ค. 2546
ความเคลื่อนไหวของพญามังกร เพื่อรุกคืบบุกเบิกเส้นทางยกทัพสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยผ่านประเทศไทย ปรากฏให้เห็นเป็นลำดับ โดยวิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายฟาร์อีสต์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายและเศรษฐกิจให้กับหลายหน่วยงานของจีน ถ่ายทอดผ่านเวทีงานสัมมนา 'รุก-รับ ปรับ-สู้ เปิดประตูอาเซียน-จีน' โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการวางยุทธศาสตร์ และมองภาพการเปิดประตูการค้าสู่อาเซียนอย่างชัดเจน ทั้งนโยบายที่ชู มณฑลกว่างสี ให้เป็นเมืองหน้าด่าน เปิดไปสู่อาเซียน และชูมณฑลยูนนาน เป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ ที่ผุดขึ้นมามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการเปิดประตูการค้าอาเซียนกับจีนหลังเอฟทีเอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาพัฒนาเปิดเส้นทางแม่น้ำโขง โครงการเปิดเส้นทางจากคุนหมิงสู่กรุงเทพฯ โดยผ่านลาว รวมไปถึงการที่คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติจีน อนุมัติงบประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อเข้ามาตั้งฮับ หรือฐานการผลิต และการกระจายสินค้าจีน ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีแผนเคลื่อนย้ายโรงงานไฮเทคจากจีน 53 เขตเข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อใช้แหล่งกำเนิดสินค้าในไทย ส่งไปขายสู่ตลาดในอาเซียนก่อนล่วงหน้า ในระหว่างที่สินค้าบางรายการยังไม่ได้ลดภาษีลง
ไม่เพียงเท่านี้จีนยังมีแผนตั้งศูนย์ขายส่ง และกระจายสินค้าจากจีนไปยังอาเซียน โดยอาศัยไทยเป็นฮับ นอกจากนี้ จะมีการตั้งศูนย์โลจิสติกส์ในภูมิภาค ซึ่งในอนาคตจะมาตั้งทางตอนเหนือของไทย รวมไปถึงศูนย์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการเข้ามาท่องเที่ยว โดยใช้ทรัพยากรของพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
'จีนมองภาพของการรุกเข้ามาหลังเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนไว้หมดแล้ว ทั้งระบบการขนส่งโลจิสติกส์ แม้แต่การผลิตสินค้า ที่จีนตกลงเข้าไปทำสัมปทานที่ดินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงจากรัฐบาลลาว 99 ปี เพื่อใช้เป็นศูนย์วิจัยด้านการเกษตร และเป็นพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตร ซึ่งในอนาคตอาจเข้ามาแข่งกับสินค้าของไทยได้
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบแน่ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าของพื้นที่ เราต้องศึกษาและปรับตัว เวลานี้เท่ากับไทยถูกใช้เป็นฮับไปแล้วโดยปริยาย โอกาสที่จะไหลผ่านเข้ามา หากไทยไม่หาทางจับให้มั่น ก็จะผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนมาแล้ว ก่อนหน้านี้ที่เพียงแค่จีนเคลื่อนไหวเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น ก็ยังมีผลกระทบกระเทือนมาถึงไทย จากสินค้าจีนที่ใช้แรงงาน และมีต้นทุนถูกเข้ามาตีตลาดในหลายประเทศ '
จากความเคลื่อนไหว ของจีน ที่เตรียมจ่อทัพสินค้าเข้ามารอประชิดติดขอบประตูรั้วอาเซียน รอเวลาทลายกำแพงภาษี หากมองในแง่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเอฟทีเออาเซียน-จีนมากที่สุด ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า การนำยุทธศาสตร์แบบซุนวู ที่ว่า 'รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง' ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด
สินค้าใดที่ไทยมีจุดแข็ง ควรรุกเข้าไปสู่ตลาดจีน และสินค้าใดที่ไทยควรเป็นฝ่ายตั้งรับ และรับแบบไหน คือสิ่งที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจและวางยุทธศาสตร์กันอย่างลึกซึ้ง
โอกาสที่น่าสนใจสำหรับไทย คือ ทำอย่างไรไทยถึงจะเป็น Service Provider หรือคนกลางผู้ให้บริการรองรับด้านต่างๆ รวมถึงการเป็นฐานสำหรับการตั้งโรงงาน และเปิดประตูการค้าของจีน เข้าสู่อาเซียน เหมือนกับที่ฮ่องกง เป็นสะพานเข้าไปสู่จีน ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับไทยในอนาคต มากกว่าการผลิตสินค้าแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีน
นอกจากนี้อีกโอกาสที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีโอกาสขยายตัวตามมา
'ผมคิดว่า เราควรมองปลาใหญ่ว่าโอกาสคืออะไร เราควรส่งอะไรขายไปได้ และควรส่งผ่านจุดไหน ซึ่งมองว่า 4 ช่องทางจำหน่ายหลักๆ ที่ควรเข้าไป คือ ช่องทางผ่านฮ่องกง กวางตุ้งบริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง และยูนนาน '
ขณะที่ท่ามกลางกระแสแห่งความท้าทาย ภายใต้ประตูการค้าที่จะยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น และภาษีที่ถูกลดลงมา มีโจทย์ใหญ่ๆ 2 ด้านที่รออยู่เบื้องหน้า โจทย์แรก คือ สินค้าไทยจะมีโอกาสรุกส่งออกไปยังตลาดจีนได้มากขึ้นขนาดไหน เมื่อเจอกับคู่แข่งอาเซียนซึ่งผลิตสินค้าคล้ายๆ กัน
โจทย์ที่สองที่ต้องคิดหนักกว่าเก่า คือ เมื่อจีนจะก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ สินค้าไทยจะถูกตีตลาด จนเสียตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกเดิมที่เคยส่งไปขายในอาเซียนหรือไม่
ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ในบรรดาสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกที่ไทยส่งไปจีน พบว่ามีสินค้าเพียง 4 รายการ ที่ไทยมีจุดแข็งเหนือกว่า และมีโอกาสขยายตลาดได้ไกลในจีน ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, ยางธรรมชาติ, พลาสติกและเคมีภัณฑ์, มันสำปะหลัง
ในขณะที่เมื่อศึกษาในมุมความเสี่ยงจากภัยคุกคามของสินค้าจีน ที่จะเข้ามาเบียดส่วนแบ่งตลาดส่งออกในอาเซียน ในบรรดาสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกที่ไทยส่งไปอาเซียน มีสินค้า 4 รายการเช่นกัน ที่ไทยพอจะมีโอกาสสู้แข่งกับสินค้าจีนได้ นั่นคือ รถยนต์ ยางธรรมชาติ เคมีภัณฑ์ และน้ำตาล
อย่างไรก็ตาม พบว่า หลายสินค้าของไทย ที่มีศักยภาพสูงส่งออกไปจีน อย่างเช่น ยางธรรมชาติ รถยนต์ กลับเป็นสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหว หรือ Sensitive products ซึ่งยังไม่พร้อมจะลดภาษีลงมาทันที ซึ่งกว่าจะลดภาษีใช้เวลาอีกยาวไกล ทำให้ขณะนี้ อาจยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่
' เราคงต้องกลับมาคิดว่า จะรุกรับปรับสู้จากเอฟทีเออาเซียน-จีนอย่างไร ซึ่งการป้องกันผลกระทบจากสินค้าจีน ไทยสามารถทำได้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยออกมาตรฐานสินค้ารองรับ รวมไปถึงการทำ Import Licensing สินค้านำเข้า เหมือนกับที่ประเทศจีนได้ทำ ซึ่งจะทำให้สามารถทราบข้อมูลของสินค้าที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย โดยต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า '
ชวลิต นิ่มละออ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานเศรษฐกิจระหว่างประเทศ บอกว่า เอกชนไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวรับการแข่งขัน โดยสินค้าบางรายการพบว่า ไทยยังมีความได้เปรียบจีน เช่น พลาสติก ไทยส่งออกไปทั่วโลก 8 พิกัด แต่ยังได้เปรียบการแข่งขันกับจีนอยู่ 6 พิกัด หรือยางพารา ส่งออกไป 8 พิกัด มี 5 พิกัดที่ได้เปรียบ สินค้าอัญมณีส่งออกไป 8 พิกัด แต่ยังมีความสามารถเชิงแข่งขันกับจีนอยู่ใน 6 พิกัดสินค้า เป็นต้น
' หลังเปิดเอฟทีเอ แน่นอนว่าสินค้าจากจีนหลายตัวคงเข้ามาตีตลาดในไทย โดยจีนมองว่า ไทยน่าจะเป็นฐานในการกระจายสินค้าไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ในมุมกลับ ความสัมพันธ์ที่ไทยมีความใกล้ชิดกับจีน ธุรกิจไทยเองก็ควรมองว่า จะอาศัยประโยชน์เจาะตลาดย้อนศรขึ้นไปด้านบนเข้าสู่จีนได้อย่างไร
สินค้าบางตัวที่ใช้แรงงาน และมีต้นทุนที่แข่งขันไม่ได้ น่าจะมองโอกาสของการเข้าไปตั้งฐาน และใช้แหล่งแรงงานในยูนนาน ซึ่งมีคน 8-9 แสนคน และสามารถพูดภาษาไทยได้ จะได้หรือเสียประโยชน์จากการเปิดเสรี ขึ้นกับว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวในเชิงแข่งขันได้หรือไม่ ต้องรู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งอยู่ที่ไหน แล้วพยายามหาทางสู้แนวใหม่ หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่ที่ได้เปรียบ ไม่ใช่ว่าตัวไหนเสียเปรียบคู่แข่ง ก็ยังทำอยู่อย่างนั้น ซึ่งในที่สุดก็จะสู้ไม่ได้'
บัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะทำงานติดตามผลการเจรจาเอฟทีเอ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การเปิดตลาดจากเอฟทีเออาเซียน-จีน ครั้งนี้ สินค้าหลักๆ ของไทย ที่จะได้รับประโยชน์ คือ ยางพารา ซึ่งจีนมีความต้องการใช้ถึง 1 ล้านตัน แต่ผลิตเองได้ 5 แสนตัน ทำให้ต้องนำเข้าจากไทย นอกจากนี้ ยังมีข้าวไทย มันสำปะหลัง ผลไม้ และสินค้าไฟเบอร์บอร์ด ฯลฯ ขณะที่สินค้าที่ไทยแข่งขันสู้จีนไม่ได้ และจะได้รับผลกระทบ อาทิ ผักผลไม้ ปากกา รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ
' สิ่งที่เรากลัวในการเปิดเอฟทีเอกับจีน จากที่เคยมีบทเรียนมาแล้วคือ จีนจะเปิดเฉพาะในส่วนที่ส่งออกมายังอาเซียน แต่มีมาตรการปกป้องนำเข้า ทำให้เกิดการค้าเสรีแบบไม่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาการค้าระหว่างไทยไปจีน ซึ่งได้รับรายงานยังมีหลายปัญหา เช่น การออกมาตรฐาน CCC ขึ้นมาบังคับใช้ของจีน กฎระเบียบท้องถิ่นของจีน ที่มีความแตกต่างไปจากที่รัฐบาลกลาง กระบวนการนำเข้า ที่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลกลางก่อน 30 วัน มาตรฐานการตรวจสอบสารตกค้าง ปัญหาการขนส่งที่มีปัญหา เช่น ในแม่น้ำโขง ที่แห้งในฤดูแล้ง ความไม่พร้อมของหน่วยงานราชการในการออกใบรับรอง เป็นต้น'บัณฑูรกล่าว
ลดภาษีสินค้า 5,000 รายการ
หลังจากเอฟทีเออาเซียน-จีนเริ่มต้นชิมลาง ลดภาษีระลอกแรก โดยเปิดเสรีสินค้าเกษตรในพิกัดศุลกากร ตอนที่ 01-08 ไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2547
ในวันที่ 20 ก.ค. นี้ กลุ่มสินค้าที่เหลือ อีกประมาณ 5,000 รายการ จะเป็นระลอกที่สอง ที่ถูกปรับลดภาษีตามมาแบบขั้นบันได โดยเหลือเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 20% เช่น อัตราภาษีนาฬิกาข้อมือส่งเข้าไปจีน เดิมเคยอยู่ที่ 25% จะถูกลดเหลือ 20% พลาสติก ภาษีนำเข้าจากเคยอยู่ที่ 11.6% จะลดเหลือ 10% ทันที ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป
สินค้าที่เข้าข่าย 5,000 รายการเหล่านี้จะทยอยลดเหลือ 0% ทุกรายการภายในปี 2553 ยกเว้นสินค้าในกลุ่มรายการสินค้าอ่อนไหว ซึ่งจะชะลอการเปิดเสรีไว้ทีหลัง โดยสินค้าอ่อนไหวจะต้องทยอยลดเพดานภาษีเหลือ 20% ภายในปี 2555 และเหลือ 0-5% ในปี 2551
ส่วนสินค้าที่เป็นสินค้าอ่อนไหวสูง จะต้องทยอยลดกำแพงภาษีเหลือ 50% ภายในปี 2558
ยกตัวอย่าง สินค้าที่จีน จัดให้เป็นสินค้าอ่อนไหวสูง 100 รายการ ซึ่งยังขอสงวนไว้ไม่มีการลดภาษีนำเข้าให้ในขณะนี้ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าว น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ยางธรรมชาติ ไฟเบอร์บอร์ด กระดาษและกระดาษแข็ง รถยนต์นั่ง
ขณะที่สินค้าอ่อนไหวสูงของไทย ซึ่งยังไม่พร้อมเปิดเสรีนำเข้าจากจีนในทันที เช่น สินค้าเกษตร 23 รายการ (นมและครีม มันฝรั่ง กระเทียม กาแฟ ฯลฯ) หินปูพื้น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ฯลฯ
สำหรับสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ และมีโอกาสส่งออกโดยอาศัยประตูการค้าอาเซียน-จีน ที่เปิดมากขึ้น คือ สินค้าในกลุ่มที่จีนผลิตไม่ด้ และมีความต้องการนำเข้า สินค้าวัตถุดิบ สินค้าที่เจาะตลาดคนรุ่นใหม่และมีอำนาจซื้อสูง เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์และสินค้าประดับยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางธรรมชาติ อาหารสำเร็จรูป อุปกรณ์และเครื่องใช้ทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่จะได้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน จะต้องมีแหล่งกำเนิดสินค้าตามข้อกำหนด เช่น สินค้าเกษตรต้องใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ขณะที่สินค้าสำเร็จรูป หรือสินค้าอุตสาหกรรม ต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (นับรวมอาเซียนและจีน) ไม่ต่ำกว่า 40% เป็นต้น
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ