บันทึกแนวทางดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 1998 17:15 —กระทรวงการคลัง

                                                แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ
กรุงเทพมหานคร
26 พฤษภาคม 2541
นายคองเดอซู
กรรมการจัดการ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
1. การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมีความคืบหน้ามาก หลังจากการทบทวนโครงการครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาความเชื่อมั่นในตลาดได้เริ่มกลับคืนมา อัตราแลกเปลี่ยนมีค่าแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 35 นับแต่ต้นปี และเริ่มมีเสถียรภาพตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง จากการที่ภาวะตลาดดีขึ้นดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถปรับฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ได้มีการเตรียมการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดต่างประเทศในเร็วๆ นี้ เป็นครั้งแรกนับแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงิน
2. การปรับตัวที่ดีขึ้นดังกล่าวนี้เป็นผลจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัด โดยประเทศไทยสามารถดำเนินการตามเกณฑ์ปฏิบัติ สำหรับงวดเดือนมีนาคม 2541 ได้ทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและด้านการปรับโครงสร้างภาคการเงิน
3. ทางการให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างภาคการเงิน โดยเพิ่มความเข้มงวดในการจัดชั้นสินทรัพย์ และการกันสำรอง ซึ่งจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนจนได้มาตรฐานสากลภายใน 2 ปี สำหรับการเพิ่มทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้นมีความก้าวหน้าเป็นอันมาก โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ประสบผลสำเร็จในการจำหน่ายหุ้นในต่างประเทศ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อีก 2 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมทุนกับธนาคารต่างชาติ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเพิ่มความเข้มงวดในการจัดชั้นสินทรัพย์ และการกันสำรองเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนต่อการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ อนึ่ง เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างภาคการเงิน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการออกพระราชกำหนด 5 ฉบับ ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาในการประชุมสมัยวิสามัญไปแล้ว จำนวน 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ส่วนอีก 1 ฉบับ จะพิจารณาในการประชุมสมัยวิสามัญดังกล่าวในเร็ววัน
4. แม้ว่าการดำเนินการในภาคการเงินจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ แต่สถานการณ์ในภาคเศรษฐกิจจริงได้เสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 เศรษฐกิจหดตัวลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยบางส่วนเป็นผลกระทบโดยตรงของวิกฤตการณ์ในภูมิภาคที่ต่อเนื่อง และปัจจัยภายในประเทศ จากการบริโภคภาคเอกชน และความต้องการลงทุนที่ลดลงมาก รวมทั้งภาวะขาดแคลนสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ต้องมีการปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจใหม่
5. การที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ปรับตัวดีขึ้นมาก แผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้จึงให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการดูแลเศรษฐกิจมิให้ถดถอยมากไปกว่านี้ และเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งดูแลให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเด็นนโยบายในครั้งนี้จึงให้ความสำคัญต่อการจัดระบบเศรษฐกิจมหภาค เสริมสร้างความเข้มแข็งของนโยบายด้านโครงสร้าง และจัดให้มีโครงการบรรเทาผลกระทบทางสังคมอย่างเพียงพอ
6. นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการปรับปรุง ตามรายละเอียดในเอกสารแนบ ในการนี้ทางการให้ความสำคัญในนโยบายหลัก 6 ด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในภาคเศรษฐกิจ เร่งรัดกระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ คุ้มครองดูแลผู้ด้อยโอกาสและเตรียมการเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น
ประการแรก ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ทางการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างระมัดระวัง และดูแลให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความต้องการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น การบิดเบือนในตลาดเงินซึ่งเกิดจากการระดมทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะลดลง โดยการระดมทุนระยะยาวมากขึ้นแทนการกู้ยืมเงินระยะสั้น ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้สภาพคล่องปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทางการจะนำเงินที่ระดมได้จากการออกพันธบัตรรัฐบาลในต่างประเทศมาใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันเหล่านี้ในการสนองความต้องการสินเชื่อของภาคเศรษฐกิจสำคัญ ในการนี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกรอบนโยบายการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย
ประการที่สอง เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นจึงสามารถปรับเป้าหมายทางการคลัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจได้โดยตรง ดังนั้น ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ จึงมีการปรับเป้าหมายรวมของภาครัฐบาล สำหรับปีงบประมาณ 2540/41 จากการขาดดุลร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ประการที่สาม ทางการได้ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของโครงการบรรเทาผลกระทบทางสังคม และเพิ่มโครงการสาธารณูปโภคที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยได้จัดสรรงบประมาณสำหรับปี 2540/41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้
ประการที่สี่ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชน จึงได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนที่สำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกรอบกฎหมายและโครงสร้างสถาบัน เพื่อให้เอื้อต่อกระบวนการดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ โดยการปฏิรูปกฎหมายล้มละลาย กระบวนการบังคับหลักประกัน และกฎหมายอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเสรีและลดข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับกระบวนการปรับโครงสร้าง ประการที่ห้า การปฏิรูปภาคการเงิน ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มทุนของระบบธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยอิงหลักเกณฑ์การกันสำรองสินทรัพย์จัดชั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานปฏิบัติสากลดีที่สุดซึ่งได้ประกาศใช้แล้ว โดยจะมีประกาศแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติมภายในกลางปีนี้ ประการที่หก องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) กำหนดการประมูลขายทรัพย์สินหลักในเร็ววันนี้ ทางการจะกำหนดกลยุทธเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบบริษัทเงินทุน รวมทั้งจะกำหนดแนวทางสำหรับการแปรสภาพของธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งที่ทางการเข้าไปแทรกแซง มาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความจำเป็นที่สถาบันการเงินต้องพึ่งพาทางการเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ ในอนาคต
7. แม้ว่าทางการจะพอใจกับฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น แต่สถานการณ์ตึงเครียดอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคทำให้ทางการยังคงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ดังนั้น ทางการจะติดตามและทบทวนการสนับสนุนทางการเงินตามแผนฟื้นฟูฯ นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าแผนฟื้นฟูฯ จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อสถานการณ์
8. แม้ว่าช่วงเวลาข้างหน้าจะยังคงเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่ประเทศไทยก็อยู่ในฐานะดีขึ้นที่จะเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่ ตลอดจนเตรียมการสำหรับการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ และหากมีแรงกดดันใหม่เกิดขึ้น ทางการก็พร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมที่จำเป็นเพื่อให้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยประสบผลสำเร็จโดยจะปรึกษากับกองทุนการเงินฯ เช่นที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ต่อไป
ขอแสดงวามนับถือ
นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นายมิเชล คองเดอซู
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
วอชิงตัน ดีซี 20431
สหรัฐอเมริกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ