(ต่อ2) ส่วนที่ 1 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ กับผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 4, 1999 13:59 —สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

          3.1 ด้านการจัดหาพลังงาน
(1) การพิจารณาทบทวนปรับแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2540-2548) ของ ปตท. จำนวน 12 โครงการ วงเงินลงทุน 78,052 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) และจัดทำแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541-2549) จำนวน 12 โครงการ วงเงินลงทุน 78,078 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับกรอบ การลงทุนของรัฐ โดยมีประเด็นหลักในการปรับปรุง ดังนี้
ดำเนินการโครงการติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันก๊าซฯ ในทะเล (Midline Compressor) ควบคู่ไปกับการวางท่อส่งก๊าซฯ บนบกจากจังหวัดระยองไปโรงไฟฟ้าบางปะกงเส้นที่ 3 และการวางท่อส่งก๊าซฯ จาก JDA ไปยังแท่นชุมทางเอราวัณ 2 (JDA - ERP2) ทดแทนการวางท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 3 ในทะเลจาก JDA ไปราชบุรี ซึ่งการดำเนินการนี้จะต้องเชื่อมท่อส่งก๊าซฯ สายประธานระยะที่ 1 และท่อคู่ขนานในทะเลด้วย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 มีขีดความสามารถจัดส่งก๊าซฯ ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับระบบท่อเดิมแล้วจะทำให้ความสามารถของระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลเพิ่มขึ้นเป็น 2,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเพียงพอในการบริการจัดส่งก๊าซฯ ในช่วง ระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
ลดขนาดท่อราชบุรี-วังน้อย จากเดิมเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว และเครื่องเพิ่มความดันต้นทางและปลายทาง เป็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 นิ้ว โดยชะลอการลงทุนติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันก๊าซฯ ออกไปจนกว่าจะเห็นว่ามีความจำเป็น
(2) ชะลอการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนาทูน่า ประเทศอินโดนีเซีย และการรับซื้อ LNG จากประเทศโอมาน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้
(3) การพิจารณาปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจากชุดกรณีต่ำมาก (Very Low Case) เป็นการจัดทำค่าพยากรณ์ออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวปานกลาง และกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความต้องการไฟฟ้าที่ชะลอตัวลง และได้พิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พ.ศ. 2542-2554 (PDP 99-01 ฉบับปรับปรุง) ให้สอดคล้องกับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ปรับใหม่ โดยมีแนวทางการปรับแผนฯ ดังนี้
ในระหว่างปี 2542 - 2554 จะมีกำลังผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นสุทธิ จำนวน 21,216.4 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับกำลังผลิตติดตั้งในปัจจุบัน จำนวน 18,174.5 เมกะวัตต์ แล้วจะทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งเมื่อสิ้นปี 2554 รวมทั้งสิ้น จำนวน 39,390.9 เมกะวัตต์
ชะลอโครงการของ กฟผ. ที่ได้รับอนุมัติแต่ยังไม่ผูกพันการก่อสร้างออกไป
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ให้เจรจาผ่อนปรนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าให้ช้าออกไป 6-48 เดือน รวม 5 โครงการ
โครงการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ให้เจรจาผ่อนปรนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าให้ช้าออกไปได้ 2-36 เดือน
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา สามารถเลื่อนวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ออกไปเป็นเดือนธันวาคม 2549 จำนวน 1,600 เมกะวัตต์ และเดือนมีนาคม 2551 จำนวน 1,700 เมกะวัตต์
เงินลงทุนในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (ปี 2540-2544) รวม 207,900 ล้านบาท และในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (ปี 2545-2549) รวม 213,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนในช่วงแผนฯ 8-9 จำนวน 420,900 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากแผนเดิม (PDP 97-02) เป็นจำนวน 175,000 ล้านบาท
กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำสุดของ PDP 99-01 ฉบับปรับปรุง (กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัว ปานกลาง : กรณีฐาน) ในช่วงปี 2543-2546 ยังคงมีค่าสูง โดยมีค่าอยู่ระหว่างร้อยละ 33.5-52.1 และจะลดลงเหลือในระดับร้อยละ 25 ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป นอกจากนี้ กฟผ. ได้จัดทำ "กรณีศึกษา" เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว (RER) และกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า (LER) โดยทำการศึกษากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ของระบบเพิ่มเติมอีก 2 กรณี พบว่า ในกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว จะแก้ไข โดยเลื่อนโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548 ให้เร็วขึ้น เพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง อยู่ในระดับร้อยละ 25 แต่ถ้าเป็นกรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะสูงมาก กฟผ. จะต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ โดยพิจารณาเลื่อนโครงการต่างๆ ออกไป และตัดบางโครงการจากแผนฯ
(4) การอนุมัติให้ กฟผ. จัดหาเงินกู้ด้วยการออกพันธบัตรในตลาดทุนต่างประเทศ ในวงเงิน รวมทั้งสิ้น 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีธนาคารโลกค้ำประกันเงินต้น และกระทรวงการคลังค้ำประกันดอกเบี้ย เพื่อให้ กฟผ. สามารถจัดหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ มาใช้ในโครงการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า และระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. จำนวน 7 โครงการ คือ
หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐ
(1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมวังน้อย ระยะที่ 2 (600 เมกะวัตต์) 26.94
(2) โครงการโรงไฟฟ้าราชบุรี 105.83
(3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ เครื่องที่ 1 และ 2 (2 x 300 เมกะวัตต์) 22.77
(4) โครงการระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย ระยะที่ 2 12.91
(5) โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 9 62.07
(6) โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 57.49
(7) โครงการเงินกู้เงินบาทสมทบโครงการเงินกู้จากต่างประเทศ 11.99
รวม 300.00
(5) การติดตามทบทวนแผนการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด โดยให้มีการจัดทำทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่แท้จริงมากที่สุด และให้มีการปรับปรุงสูตรการจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าให้เหมาะสม โดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
(6) การลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ โดยมีการเจรจาขยายระยะเวลาการรับซื้อจากเดิมภายในปี พ.ศ. 2558 เป็นปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ได้มีการเจรจาขยายความร่วมมือในการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน เชื่อมต่อจากประเทศไทย ผ่าน สปป.ลาว ขึ้นไปยังมณฑลยูนนาน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และการขยายความร่วมมือ ในการสร้างเครือสายส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ
(7) การลดอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงจากอัตราเดิมลง เพื่อช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป และช่วยลดต้นทุนการสำรองของโรงกลั่นน้ำมัน รวมทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องของระบบการเงินของประเทศ โดย สพช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องติดตามภาวะการค้าน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภาวะไม่ปกติ ในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในขณะนี้ สพช. มีแผนงานที่จะศึกษาปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และการสำรองน้ำมันโดยรัฐ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน
3.2 ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
(1) การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อให้ราคาสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยได้มีการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้เปลี่ยนแปลงตามกลไกราคาในตลาดโลกเป็นระยะๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการปรับราคารวม 4 ครั้ง ดังนี้
สรุปการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในช่วงที่ผ่านมา
การปรับราคา ราคาขายส่ง (บาท/กก.) ราคาขายปลีก b>ราคาขายปลีกถัง 15 กก.
ไม่รวม VAT รวม VAT (บาท/กก.) (บาท)
ครั้งที่ 1: ตั้งแต่วันที่ 9.825 10.81 13.4 201
9 ต.ค. 2540 เป็นต้นไป
ครั้งที่ 2: ตั้งแต่วันที่ 9.825 10.81 13.4 201
8 ธ.ค. 2540 เป็นต้นไป
ครั้งที่ 3: ตั้งแต่วันที่ 8.253 9.077 12 180
2 ก.ค. 2541 เป็นต้นไป
ครั้งที่ 4: ตั้งแต่วันที่ 7.343 7.8574* 10.70* 161*
30 มี.ค. 2542 เป็นต้นไป
หมายเหตุ * เป็นราคาที่มีการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 7% และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป
(2) การพิจารณาปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการเติมสารเติมแต่งที่ไม่จำเป็น การผลิตน้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงกว่ามาตรฐาน และการใช้น้ำมันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยการยกเลิกการเติมสารเคลือบบ่าวาล์ว และสารทำความสะอาดหัวฉีดและลิ้นไอดี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันในประเทศลง ประมาณ 192 ล้านบาท/ปี และให้ลดค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินพิเศษ จากออกเทน 97 ลดเป็น 95 และ เพิ่มน้ำมันเบนซินพิเศษชนิดออกเทน 91 ซึ่งหากผู้ค้าน้ำมันทุกราย ร่วมมือกันลดค่าออกเทนลง ไม่ให้สูงกว่ามาตรฐาน จะช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันในประเทศลงประมาณ 1,777 ล้านบาท/ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป
(3) การศึกษาเรื่องโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อเสนอโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง ปรับปรุงสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษา โดยคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2542
(4) การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนให้แก่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้มีการพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ให้ชำระภายใน 30 วัน ขยายเป็น 60 วัน นับจากวันแจ้งหนี้ รวมทั้ง ได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าลงได้ ตามระดับการผลิตที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาการขาดสภาพคล่อง ให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
(5) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติชุดใหม่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 โดยให้มีผู้แทนจากภาคเอกชนและนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาปรับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
(6) การปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และผลจากการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับค่า Ft หลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนและราคาเชื้อเพลิงที่เป็นจริง สรุปได้ดังนี้
สรุปการปรับค่า Ft (ไม่รวม VAT) ในช่วงที่ผ่านมา
หน่วย : สตางค์/หน่วย
2540 เฉลี่ย 27.93
2541 มกราคม - มีนาคม 42.4
เมษายน - กรกฎาคม 50.45
สิงหาคม - พฤศจิกายน 55.77
ธันวาคม 2541 - มีนาคม 2542 50.71
2542 เมษายน - กรกฎาคม 32.61
สิงหาคม-พฤศจิกายน 37.92
(7) การพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจและ อุตสาหกรรม ซึ่งมีลักษณะการใช้ไฟฟ้าเป็นฤดูกาล ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ทางด้านค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าวในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ ได้กำหนดให้คำนวณจากค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเดือน ที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Month) คือ ระหว่างเดือนมีนาคม - มิถุนายน และให้ผ่อนผันหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ เป็นการชั่วคราวจากร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เหลือเพียงร้อยละ 0 ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป และถ้าต่อไปในอนาคตกำลังการผลิตสำรอง ลดต่ำกว่าระดับมาตรฐานให้พิจารณาเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
(8) การรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงานระดับชาติที่มุ่งให้เกิดการตื่นตัวต่อการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยการเสนอแนะวิธีการประหยัดพลังงานที่ปฏิบัติได้ง่ายในชีวิตประจำวันและเรียกร้องความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทุกระดับทั่วประเทศ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกแขนง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปร่วมใจกันประหยัดพลังงาน
3.3 ด้านการส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการพลังงาน
(1) การจัดทำแนวทางและขั้นตอนการยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และแนวทางการปรับปรุงระบบการค้า และมาตรฐานความปลอดภัยก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อให้นำไปสู่การลอยตัวของราคา ก๊าซปิโตรเลียมเหลวโดยสมบูรณ์ รวมทั้ง ได้มีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2542 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2542 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไข และป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นคำสั่งหลักในการแก้ไขและกำหนดกฎเกณฑ์ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับปรุงระบบการค้าให้เป็นธรรมและมีมาตรฐาน ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
(2) การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจยางมะตอยในปัจจุบัน ซึ่งยังขาดการแข่งขันอย่างเสรีบนพื้นฐานความเป็นธรรม โดยได้พิจารณาให้มีการปรับปรุงแก้ไข ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2539 ข้อ 16 (5) เพื่อไม่ให้เกิดสภาพการผูกขาด และได้ยกเลิกกฎระเบียบปฏิบัติของกรมทางหลวง และหน่วยงานของรัฐที่กำหนดให้ผู้รับเหมาที่ประมูลงานของรัฐ หรือ ผู้จำหน่ายยางมะตอยให้กับรัฐ ต้องมีใบรับรองผลคุณภาพยางมะตอยของกรมทางหลวง และคำสั่งกรมทางหลวง ที่ 45/2539 ซึ่งกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพยางมะตอยที่โรงงาน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นการอำนวยประโยชน์ในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม
(3) การสนับสนุนแผนการจัดตั้งบริษัทตัวกลาง เพื่อบริหารงานของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) และบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง ทางการเงินและเพื่อเพิ่มผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 บริษัท โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาให้การสนับสนุนการรวมโรงกลั่นดังกล่าว
(4) การจัดทำข้อเสนอมาตรการส่งเสริมคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปสำหรับเก็บน้ำมัน (คสน.) ในด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการคลังน้ำมันโดยให้คลังสินค้าทัณฑ์บนสามารถรับฝากน้ำมันที่ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศหรือผู้นำเข้ามาเพื่อรอการส่งออกได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการสามารถดำเนินการได้
(5) การดำเนินการขายหุ้นของรัฐที่ดำเนินการได้เร็ว ในส่วนที่ได้ดำเนินการขายหุ้นไปแล้ว คือ การ ขายหุ้นของ ปตท. ใน ปตท.สผ. และการขายหุ้นของ กฟผ. ในบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด
(6) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงานมีความคืบหน้าไปมาก โดยหลังจากที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เมื่อเดือนกันยายน 2541 ในส่วนของสาขาพลังงานได้มีการจัดทำรายละเอียดใน 2 เรื่องคือ การให้เอกชนเข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้าราชบุรี ภายในสิ้นปี 2542 และการปรับ โครงสร้างอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเพื่อให้มีการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นไป
(7) การแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน เป็นระบบลอยตัว โดยได้มีการพิจารณาปรับสูตรราคาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ การแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการพิจารณาเลื่อนวันเริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า เข้าระบบเป็นรายๆ ไปตามความเหมาะสม เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตามการแก้ไขปัญหาการคัดค้าน การก่อสร้างโครงการของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 2 ราย ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ โครงการของบริษัท ยูเนียน พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และของบริษัท กัลฟ์ อีเลคทริค จำกัด โดยจัดทำ ข้อมูลชี้แจงประเด็นคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และร่วมประชุมประชาพิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้า ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลต่อไป
3.4 ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
(1) การติดตามแก้ไขปัญหาการพิจารณารายงานการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (โครงการ BLCP) ในบริเวณมาบตาพุด เนื่องจากติดปัญหาคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่มาบตาพุด จึงต้องมีการประเมินผลกระทบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และศักยภาพการรองรับมลพิษ ในบริเวณดังกล่าวให้ได้ข้อยุติ ก่อนที่จะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งในขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว และคาดว่าการพิจารณารายงานการศึกษาของโครงการ สามารถดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม โครงการ BLCP อยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือก ที่จะเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน มาเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งพิจารณาเปลี่ยนสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงที่จะใช้ต่อไป
(2) การติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ซึ่งได้รับการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์ ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว และโครงการสามารถดำเนินการ ต่อไปได้ โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 ประเทศไทยเริ่มรับก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาเข้าระบบเป็นครั้งแรก ซึ่งในช่วง 3-4 เดือนแรกมีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ประมาณ 5-10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
(3) การผ่อนปรนแนวทางและมาตรการการใช้เชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมาตรการหนึ่ง ได้กำหนดให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ใช้น้ำมันเตากำมะถันไม่เกิน 1% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2541 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากน้ำมันเตากำมะถันไม่เกิน 1% หายาก โดยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง ประกอบกับ รัฐมีนโยบายให้ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงได้ขอความร่วมมือให้โรงกลั่นบางจากจัดหาน้ำมันเตากำมะถัน 1.4% ให้ทดลองใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และให้มีการวัดผลการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ว่าจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการระบาย ของกรมควบคุมมลพิษหรือไม่ หากเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะได้พิจารณาปรับปรุงมาตรการต่อไป
การพิจารณาปรับปรุงแผนงาน/โครงการลงทุนด้านพลังงาน ที่ชะลอหรือเลื่อนออกไปดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับ ปริมาณความต้องการพลังงาน ของประเทศที่ลดลง และสอดคล้องกับฐานะการเงินของประเทศ รวมทั้ง การพิจารณาให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน ในเรื่องภาระต้นทุนด้านพลังงาน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่างๆ ก็ได้คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน และความสามารถในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ ต่อความต้องการในอนาคต ที่อาจเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวด้วย
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ