คำกล่าวของ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2005 10:07 —กระทรวงการคลัง

                                    คำกล่าวของ
นายทนง พิทยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในการประชุมรับมอบนโยบาย
ณ ห้องประชุม ชั้น 7 กรมบัญชีกลาง
23 สิงหาคม 2548
____________________
ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ท่านที่ปรึกษา ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรี ท่านปลัดกระทรวงการคลัง ท่านผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังทุกท่าน CEO ของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง และพี่น้องสื่อมวลชนที่รักที่เคารพทุกท่าน
วันนี้ผมก็ถือว่าเป็นวันที่ผมขอรายงานตัวกับทุกท่านว่าได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงการคลัง ส่วนใหญ่ก็คงจะได้พบหน้าค่าตากันมาแล้ว ได้เคยร่วมทำงานกันมาบ้าง ถึงแม้จะเป็นระยะสั้นๆ ก็ขอบคุณมากที่กรุณาเดินทางมาจากต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อมาร่วมรับฟังการมอบนโยบายในวันนี้
ผมขอเริ่มต้นง่ายๆ เลยว่าการที่จะมอบนโยบาย ก่อนอื่นผมคงจะต้องยึดหลักของนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจ และส่วนที่กระทรวงการคลังจะต้องเกี่ยวข้อง คงจำได้ดีว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายในสมัยที่ผ่านมาโดยสิ่งที่เรียกว่า Dual Track Economic Policy อีกด้านหนึ่งก็คือเพื่อที่จะขจัดความยากจน อีกด้านหนึ่งก็เป็นนโยบายที่จะเสริมสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศ ในสมัยนี้เรื่องของการขจัดความยากจนเริ่มต้นใน 4 ปีที่แล้ว มีรูปธรรมมีตัวอย่าง ในสมัยนี้อยู่ที่ทำอย่างไรเราจะทำให้การเริ่มต้นนั้นมีผลสัมฤทธิ์ให้ได้ถึงขั้นการขจัดความยากจนอย่างแท้จริง อีกด้านหนึ่งก็หมายถึงการที่ทำอย่างไร เราจะเริ่มสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งเพื่อที่จะสู้กับโลกได้ต่อไป 4 ปีที่ผ่านมาเป็นการซ่อมธุรกิจต่างๆ ให้สามารถจะกลับยืนขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง คิดว่าผลงานของรัฐบาลค่อนข้างจะชัดเจนว่าทำให้ผลประกอบการค่อนข้างจะดี เศรษฐกิจจึงมีการเติบโต สมัยนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย อันนั้นเป็นนโยบายหลักของรัฐ ซึ่งก็มีรายละเอียดอยู่ในการแถลงนโยบายของรัฐสภาที่รัฐบาลแถลงต่อสภาไปแล้ว
วันนี้ผมก็อยากจะพูดในแง่ของกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะพูดถึงแง่กระทรวงการคลังก็มีนิดเดียวที่อยากจะเรียนเลยว่าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดนี้จะเป็นทีมซึ่งมีการผนึกกำลังค่อนข้างที่จะเข้มแข็ง เป็นทีมที่ชัดเจน สมัยผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคราวที่แล้ว จำได้เลยว่าทั้ง ครม. คนที่จะรู้เรื่องการเงินการคลัง หรือเศรษฐกิจนั้นมีน้อยมากๆ จาก 49 คน นับนิ้วได้หนึ่งฝ่ามือไม่ถึง คนที่จะเข้าใจเรื่อง IMF ก็ยังน้อยมากๆ ตอนนั้นประชุมพอเสนอคณะรัฐมนตรีว่าจะต้องไปกู้เงิน IMF มา พอมารายงานว่าเงิน IMF เข้ามาได้แล้ว หลังจากประมาณ 3 สัปดาห์ รัฐมนตรีทุกคนถามว่าเงินอยู่ไหนเขาจะได้ขอใช้ ซึ่งอันนี้ก็แสดงถึงความที่ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างจะน้อยในครม. ในสมัยนั้น
แต่ครม.สมัยนี้ เป็นทีมที่ค่อนข้างจะยิ่งใหญ่เพราะนายกรัฐมนตรีท่านจะเป็นโค้ชให้แก่คณะรัฐมนตรีตลอดเวลาทุกสัปดาห์ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านอ่านหนังสือเยอะมากทั้งด้านของการจัดการ กลยุทธ์ เศรษฐกิจ ซึ่งพวกเราก็ได้เรียนรู้เยอะ แต่หัวใจสำคัญคืออย่างน้อยโค้ชท่านนี้ผลักดันให้รัฐมนตรีทุกท่านเริ่มคิดไปในแนวทางเดียวกันและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะสร้างทีมของรัฐมนตรีให้เข้าใจถึงกระแสโลกาภิวัตน์ ให้เข้าใจถึงระบบเศรษฐกิจเข้าใจระบบการบริหาร ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งที่ท่านพยายามนำมาพูดคุยในครม. มันก็เป็นจุดที่ทำให้รัฐมนตรีทุกคนพยายามเรียนรู้ อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ได้อ่านตาม ได้เข้าใจในปรัชญาของการบริหารบ้านเมืองที่ท่านต้องการจะทำ ฉะนั้นทีมเศรษฐกิจชุดนี้เป็นทีมที่ค่อนข้างที่จะมีความสมานฉันท์ ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมคิดกับผม ถึงจะสลับตำแหน่งกันก็เหมือนกับทำงานเหมือนเดิม คือส่วนมากแล้วเราสองคนจะแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่ตลอดเวลา ท่านเคยเป็นลูกศิษย์ผมสมัยที่ผมเป็นอาจารย์ ตอนนี้ท่านเป็นอาจารย์ผมในสมัยที่ท่านเป็นนักการเมืองอาวุโสกว่า ก็ผลัดกัน ผมก็มีความรู้สึกภูมิใจที่มีลูกศิษย์เก่งกว่าอาจารย์ และก็เป็นความฝันของอาจารย์ทุกคนที่อยากจะเห็น ฉะนั้นการที่ท่านกับผมสลับตำแหน่งกัน นโยบายหลักๆ มันคงไม่เปลี่ยน ความคิดของท่านเป็นความคิดที่ค่อนข้างโปร่งใส และความคิดของผมเองก็ค่อนข้างจะโปร่งใส ฉะนั้นในเมื่อหลักการและเหตุผลคล้ายคลึงกัน การเปลี่ยนแปลงคงจะไม่มีอะไรที่เป็นจุดสำคัญในแง่ของนโยบาย
วันนี้ผมก็คงจะพยายามตอกย้ำว่าผมเองในเมื่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวาระที่ 2 ก็อยากจะเน้นถึงความซื่อสัตย์ ความโปร่งใสของการทำงาน และก็ความยุติธรรมที่จะต้องให้แก่ผู้บังคับบัญชาและลูกน้อง นั้นเป็นเรื่องที่ผมจะถือมากๆ อยู่ในวงการธนาคารมานาน อยู่ในวงการอาจารย์สอนหนังสือมาตลอด ผมเชื่อว่าผมอยู่ในวงการซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ปั้นให้ผมมีความสะอาดพอสมควร คือละอายที่จะทำบาป ละอายที่จะทำในสิ่งที่สกปรก ผมเชื่อว่าอันนั้นคือพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผมอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ แน่นอนมันก็มีการครหานินทาเยอะแยะไปหมดแต่ว่าผมไม่คิดอะไรในสิ่งเหล่านั้น เพราะผมคิดว่าในสิ่งที่ได้ทำไปนั้นทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และก็ไม่เคยมีผลประโยชน์อะไรกับใคร
ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็คิดว่าอยากจะให้ท่านเข้าใจผมว่าจะทำอะไร จะร่วมงานกันกับผมนี้ง่ายมากๆ และผมก็เป็นคนรับฟัง รับฟังความคิดเห็นทุกคน แต่การรับฟังความคิดเห็นขอร้องเพียงอย่างเดียวว่าในเมื่อมันมีมติอะไรออกไปแล้ว ทุกท่านจะต้องลืมสิ่งที่ท่านไม่เห็นด้วย และเดินหน้าออกไป ผมเองมักก็จะลืมในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย ในสิ่งที่ผมค้าน เมื่อมีมติออกมาอย่างไรก็ตามแล้วนั่นก็คือการกลั่นกรองของสมองของทุกๆ ท่าน และเห็นว่าสิ่งนั้นคือสิ่งสำคัญ แล้วมตินั้นเป็นการตัดสินใจของผมก็ต้องรับผิดชอบ เป็นการตัดสินใจของทีม ผมก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน ฉะนั้นไม่ต้องห่วงในสิ่งนี้ แต่ผมไม่อยากจะให้ท่านต้องคอยสงสัยว่าผมจะคิดอย่างไร หรืออะไร อย่างไร อยากให้ท่านเข้ามาคุยกับผมได้ตลอดเวลา เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเราจะคิดอะไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักก็คือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อะไรก็ตามที่ทำแล้วมันเสริมสร้างในสิ่งเหล่านั้น ก็คงจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
ผมขอต่อไปว่าแล้วกลยุทธ์ประเทศไทยมันเป็นอะไรกันแน่? เรากำลังจะทำอะไรกันดี ประเทศไทยที่เราคุยกันมาตลอดไม่ว่าตอนที่ผมอยู่กระทรวงพาณิชย์ หรืออยู่ที่ไหนก็ตาม คุยถึงจุดประสงค์มาตลอด มันชัดเจนมากที่เราพยายามสร้างคณะกรรมการการเงินทางด้านเศรษฐกิจ Competitiveness Committee ขึ้นมา เพราะเรามองว่า 4 ปีซ่อมเราใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่ พลังแฝงที่เหลืออยู่ กำลังผลิตที่เหลืออยู่ทุกๆ อย่างใช้ไปค่อนข้างที่จะมากและเกือบจะหมดแล้ว ถึง 4 ปี สร้างมันต้องคิดใหม่ มันต้องคิดว่าจะชนะโลก จะชนะคู่แข่งได้อย่างไรบ้าง ถ้าเราจะมาอิงด้วย Macro instrument อยู่นี้จะยาก ตรงนั้นคือแนวทางของการวางกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจทางรัฐบาลชุดนี้ คำถามที่ผมชอบถามง่ายๆ ก็คือว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในอาเซียนได้หรือไม่? และถ้าจะเป็นหนึ่งในอาเซียนจะต้องดำเนินกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร? คำถามแบบนี้เป็นคำถามซึ่งน่าจะถามมากสำหรับพวกเราทุกคน เพราะว่าศักยภาพของไทยไม่ใช่ทำไม่ได้ ถามถึงศักยภาพของประเทศไทยสามารถจะเป็นหนึ่งในอาเซียนได้ง่ายมากๆ แต่สิ่งที่เราถามต่อว่าทำไมเรายังเป็นไม่ได้? จุดอ่อนเราอยู่ที่ไหน? จุดแข็งเราอยู่ที่ไหน? โอกาสมีทำไมใช้ไม่เป็น? จุด Treats ของเราอยู่ที่ไหนที่ทำให้เราเป็นหนึ่งในอาเซียนไม่ได้? มันก็จะมีปัญหาเยอะมาก เวลาถามว่าทำไมถึงเป็นไม่ได้ คนจะตอบปัญหาได้สารพัดเป็นร้อยๆ อย่าง แต่ถามว่าแล้วเราจะเป็นหนึ่งเราจะต้องทำอย่างไร? ตอนนี้คือสิ่งที่จะเริ่มตอบคำถามได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
เราก็ได้ระดมสมองกันมากพอสมควร ท่านสมคิดกับผมกับทีม ถ้าเราจะเป็นหนึ่งในอาเซียนเราจะต้องทำอะไรบ้าง เราก็ดูถึงแม้กระทั่งโลกจะเปลี่ยนไปทางไหนบ้าง โลกของการค้าเสรีจะมีอิทธิพลอย่างไรกับเราบ้าง โลกของ AFTA มีอิทธิพลกับเราอย่างไรบ้าง โลกของ FTA ที่เป็น Bilateral มีอิทธิพลอย่างไรกับเราบ้าง มันก็มีหลายๆ อย่างที่ต้องคิด แต่อยากให้ทราบว่านี่คือแนวทาง Step ที่ 1 คือเป็นหนึ่งในอาเซียน Step ที่ 2 คือ เป็นหนึ่งในเอเชีย และ Step สุดท้ายคือเป็นหนึ่งในโลก ซึ่งตรงนั้นไม่ทราบว่าอีกกี่สิบปี แต่เป็นหนึ่งในอาเซียนสามารถจะทำได้ถ้าเราเข้าใจองค์กรการค้า การเงิน การคลังของโลกว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ เปลี่ยนแปลงไปในทางไหน และ AFTA เองกับเรานั้นเราจะใช้โอกาสจากการลดภาษี AFTA ด้วยกันได้อย่างไร แล้วสร้างสมรรถนะการแข่งขันทางเศรษฐกิจแห่งประเทศ มีการบ้านทำเยอะแค่นี้
ที่ผมบอกว่าแค่นี้ก็มีการบ้านทำเยอะแล้วเพราะว่ากระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่มีศักยภาพสูงมากๆ ข้าราชการเก่ง แต่ผมเชื่อว่าข้าราชการมีงานหนักแล้วก็ทำงานกันค่อนข้างจะหามรุ่งหามค่ำ ทำงานกันหนัก ผมเห็นการบ้านกระทรวงการคลังที่ผม List ไว้ ท่านนริศ (ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ส่งมาให้ผม 19 ข้อ ผม List ไว้อีก 10 ข้อ 29—30 เรื่อง ผมก็มานั่งถามตัวเองว่าแต่ละเรื่องนี้จะจบเมื่อไหร่ อย่างไร 30 เรื่องหนักๆ ทั้งนั้น ฉะนั้นท่านเองก็ต้องรับเรื่องอีกเยอะแยะมากซึ่งผมไม่ได้เห็น ไม่ได้รับ งานมันหนัก แต่พอเวลางานหนักมากๆ สมองเราอาจจะไม่ได้คิดถึงอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์พอ คือเราทำงานวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี แต่ถ้าถามว่าระบบการคลังของประเทศอีก 20 ปีควรจะเป็นอย่างไร? ผมไม่แน่ใจว่าเคยมีการศึกษาและมีคำตอบแค่ไหน พูดง่ายๆ ว่าเกิดอีก 20 ปีขึ้นมา WTO บอกว่า Tariff เป็นศูนย์ อธิบดีกรมศุลกากรจะไม่มีเป้าอีกแล้ว เก็บอะไรไม่ได้นอกจากค่าปรับ แล้วระบบการคลังของประเทศจะทำอย่างไร งบประมาณจะทำอย่างไร ภาษีจะทำอย่างไร นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เป็นเรื่องที่มันมา แล้ว 20 ปีไม่ได้ยาว ไม่ได้ยาว !
แล้วถ้าอีก 10 ปี Maximum tariff ของรถยนต์มันจะเหลือแค่ประมาณ 20% ผมเชื่อว่าไม่เกิน 20% เพราะสินค้าอุตสาหกรรมเขาจะพยายามให้ถึงศูนย์ให้ได้ภายใน 20 ปี อีก 10 ปีข้างหน้าได้ 10% ก็อาจจะเก่งแล้ว เพราะ AFTA มันเหลือศูนย์ด้วยกันอยู่แล้ว นึกภาพท่านอธิบดีกรมศุลกากรเก็บ Tariff รถยนต์ได้เท่าไหร่ มันจะเหลือเท่าไหร่ มันจะเหลือน้อยมากๆ Tariff peak ของเราตอนนี้ไปถึง 80% การนำเข้า สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ถ้ามันเหลือ 20% แบบมาเลเซียประกาศไปแล้ว ตอนนี้ประเทศใน AFTA ประกาศไปแล้ว แล้วมาเลเซียก็ประกาศลดเหลือ 20% คำถามแล้วเราจะปรับตัวหรือไม่? ถ้าเราไม่ปรับตัว การสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันจะเป็นอย่างไร? อันนี้เป็นเพียงแค่ดูรอบบ้าน ว่าเราจะรักษา Tariff rate แบบนี้ไปได้อีกกี่ปี มาเลเซียเองประกาศลดไปเหลือ 20% เสร็จแล้วก็ไปเพิ่ม Excise tax ไปเป็น 200% เขาก็ได้เหมือนเดิม แต่รายได้ไม่ได้ลดลง
ผมถึงมองว่าในแง่ของกลยุทธ์ระยะยาว Vision ระยะยาวมันจะบังคับให้เราต้องศึกษาอะไรเยอะมากๆ สำหรับ 10, 15 ถึง 20 ปีข้างหน้า ได้ขอให้ทาง สศค. กับสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ช่วยระดมสมองมาเปรียบเทียบ Tariff system , Excise tax system กับเพื่อนบ้านใน AFTA ก่อน ตรงนั้นจะเป็นหัวใจเลยถ้าเราจะรักษาให้คนมาลงทุนบ้านเรา ให้เรามีความเข้มแข็ง ระบบโครงสร้างภาษีจะต้อง Comparative หรือสู้กับเขาได้ ตรงนั้นก็เป็นแนวที่ต้องเริ่มคิดต่อ คิดต่อไปเรื่อยๆ ก็อยากจะฝากให้เห็นว่าการคลัง Static ไม่ได้แล้ว ตอนนี้เราเริ่มโดน Pressure คือเรา Reactive โดน Pressure ไปเรื่อยๆ ต้องคอยลดภาษี ต้องคอยเพิ่มภาษี แต่ตาม Pressure คือตามปัญหาระยะสั้น เรื่องพลังงานก็มองชัดเจนว่าปัญหาระยะสั้นก็ต้องยอม แต่ระยะยาวยังไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรกับมัน ระยะปานกลางก็ไม่ได้คิดมากพอ นี่เป็นการบ้านที่ยิ่งใหญ่ของกระทรวงการคลัง ทางด้าน Public finance การรักษาวินัยทางการเงินการคลังนี้แน่นอนเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าประเทศที่จะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่ประเทศที่จะใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ใช้จ่ายแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ใครสั่งก็จ่ายก็ใช้ มันทำไม่ได้ สิ่งนี้ก็จะพูดต่อไปในเกมของ Mega Projects ว่าเราจะต้องดูแลมันอย่างไร
เรื่องถัดมาที่จำเป็นต้องทำนอกจากระบบ Finance จริงๆ คือการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อสร้างสมรรถนะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ Serious มากๆ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแล้วว่าให้มีการศึกษาอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีต่อ 4 ด้านด้วยกัน
ด้านที่ 1 เรื่องของการเคลื่อนย้ายทุน ที่เรียก Free flow of capital การขยายทุนเสรีข้ามพรหมแดนของโลก โลกมันเริ่มไม่มีพรหมแดน อิทธิพลของมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง วิธีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และเราจะต้องสู้กับมันอย่างไร
เรื่องที่ 2 เรื่อง Trade and investment ซึ่งผมได้ทำตอนที่อยู่กระทรวงพาณิชย์ ก็เกือบจะไปถึง Final draft อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของการค้าและการลงทุนของโลก ในเมื่อมีการค้าเสรีขึ้นมา การเคลื่อนย้ายทุนที่เป็นเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ กับการนำเข้าส่งออก มันจะมีผลอย่างไรบ้าง จะมีผลกระทบให้เราต้องเปลี่ยนนโยบายอย่างไรบ้าง
เรื่องที่ 3 คือเรื่องของ IT เป็นเรื่องของการศึกษาการใช้ Information Technology สารสนเทศต่างๆ เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน เราใช้มันเป็นหรือยัง เห็นอิทธิพลของ Digitalization หรือยัง ถ้ายังไม่เห็นผมเรียนเลยว่าเราจะแพ้ตลอดเวลา
ผมโชคดีที่ได้อยู่กับนายกรัฐมนตรี 2 ปีตอนอยู่ชินวัตร ตอนนั้นเราไปประมูลโครงการดาวเทียม 2 ดวงแรกเราให้รัฐบาลผลตอบแทน 1,400 ล้าน ในช่วงสัมปทานคิดว่า 30 ปี ทุกคนหัวเราะเยาะหมดบอกเจ๊งแน่ๆ ดาวเทียม 2 ดวง เงื่อนไข TOR รัดกุมมาก ดวงหนึ่งต้องมีอย่างน้อย 8 ช่องสัญญาณ ดวงเดียว 16 ช่องก็ไม่ได้ เพราะต้องมี Backup อีกตัวหนึ่ง เราต้องมีดาวเทียม 2 ดวง ดวงละ 8 ช่อง ซึ่งเป็นดวงเล็กนิดเดียว แต่ความต้องการตอนนั้นที่เรามีแค่ 1 หรือ 2 ช่องเท่านั้นเองที่การสื่อสารฯ ใช้อยู่ แค่นั้นก็เหลือใช้แล้ว ทุกคนก็หัวเราะเยาะท่านนายกทักษิณว่าไม่เต็ม ขาดทุนแน่ เจ๊งแน่ ตรงนั้นคือความไม่เข้าใจ Digitalization ของประชาชนและนักวิชาการ แม้แต่รัฐบาลในสมัยนั้นทุกคนคิดว่า 8 ช่องสัญญาณ 2 ดวงรวม 16 ช่องสัญญาณ อย่างมากก็ได้สถานีทีวี 16 ช่อง ฉะนั้น 1,400 ล้านทำอย่างไรก็ไม่คืน
นี่คือความไร้เดียงสาในแง่ของความไม่เข้าใจใน Digital Age ที่กำลังจะมา พวกเรานั่งหัวเราะ เวลาผมทำ Cash flow เราว่าไม่เป็นไรรัฐบาลคิดอย่างนั้นเราก็ทำ Cash flow ตามนั้น ก็ดูแบบว่าไม่ต้องกำไรเยอะ แต่ความเป็นจริงคือหนึ่งช่องสัญญาณนั้น ด้วย Digitalization system ซึ่งกำลังจะมีภายใน 2 ปีข้างหน้า 1 ช่องสัญญาณมันสามารถจะเพิ่มได้เป็น 2 ช่องทีวี และเพิ่มเป็น 4 ช่องทีวี เพิ่มเป็น 8 ช่องทีวี เพิ่มเป็น 16 ช่องทีวี เพิ่มเป็น 32 ช่องทีวี เพิ่มเป็น 64 ช่องทีวีได้ ตรงนี้คนไม่เข้าใจ ต้นทุนมันหายไปหนึ่ง เหลือ 1 ต่อ 64 อีก 10 ข้างหน้า Digitalization มันสมบูรณ์ ตอนนี้เรายังใช้อยู่ประมาณ 4 หรือ 8 ช่อง แต่ต้นทุนมันก็หายไป 1 ใน 4 นี่คืออิทธิพลของ IT มันเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันมหาศาล นอกเหนือจากการเป็นตัวสร้าง Networking system ที่ Efficient มันถูก มันทำได้ดี มันทำได้แพร่หลาย ตรงนี้ถึงเป็นจุดที่ต้องการให้ท่านศึกษาว่า อิทธิพลของ IT จะมีในอนาคตต่อการบริหารบ้านเมืองและการปกครอง มันจะเป็นอย่างไร
เราถามคำถามตัวเองทำอย่างไร B to B (Business to Business) ในประเทศไทยจะไปได้ถึง 80% 90% เหมือนในเกาหลีใต้ นึกไม่ออก เพราะแบงก์เองก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ประชาชนก็ยังไร้เดียงสาต่อ Digitalization ยังไม่เข้าใจ Power ของ Networking ระบบอินเตอร์เน็ต ยังใช้เป็นของเล่น ยังไม่ได้ใช้เป็นของเพื่อที่จะสร้างสมรรถนะในการแข่งขัน ตรงนี้ก็คือสิ่งที่ต้องรีบทำ นี่คือด้านที่ 3
ด้านที่ 4 คือด้านHuman : Human resource development, Free flow of human capital อีกหน่อยโลกเสรีคนย้ายไปย้ายมาได้ตลอด ข้ามแดนได้ ตรงนี้เป็นอนาคตที่แข็งมากของประเทศไทย ที่จะสามารถใช้ปัญญาชนในจุดที่เราขาดได้ มีอะไรทำเยอะแยะเลย นี้คือคร่าวๆ
คราวนี้มาถึงกระทรวงการคลัง กลับมาใหม่ หลังจากเดินออกไป กลับมาใหม่ เพื่อเปรียบเทียบประเทศคิดอย่างไร รัฐบาลคิดอย่างไร โลกเป็นอย่างไร กระทรวงการคลังหน้าที่ของเราทำอะไรบ้าง เราก็ต้องมานั่งคิดว่านอกจากเรื่อง Free flow of capital แล้วเราควรจะทำอะไรต่อ แน่นอนเราจำเป็นจะต้องนำวิสัยทัศน์เหล่านี้มาเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมของกระทรวงการคลัง ให้แตกต่างเสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันและการขจัดความยากจนของประชาชนให้ได้ ฉะนั้นแนวทางยังทำได้อีกเยอะ แต่จุดที่ยากกว่านั้นคือ แล้วจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกลยุทธ์ได้อย่างไร การปฏิบัติสมัยใหม่มัน Efficient ด้วยระบบ IT มันจะประหยัดมากๆ
กระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่อยู่กับโลกของ Abstract โลกของกระดาษ และก็สมอง อย่างอื่นไม่มีอะไรจับต้อง มีแต่กระดาษ และสมอง กระดาษคือ Bank note สัญญาต่างๆ กับสมอง เราไม่ได้ต้องไปสร้างเขื่อน ไม่ต้องไปทำอะไรกับใครเลย เราอยู่กับกระดาษกับสมอง เครื่องมือเราคือกระดาษ คอมพิวเตอร์ และสมอง ก็อยู่แค่นั้น เราไม่ได้อยู่กับอะไรมากไปกว่านั้น สังเกตดีๆ มีแค่นั้น เราจะทำอย่างไรจะใช้เครื่องมือของเราเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น เอาสมองกับคอมพิวเตอร์รวมกันให้ได้มากขึ้น
ผมก็อยากจะพูดถึงนโยบายและสิ่งที่กระทรวงการคลังควรจะต้องดูแลอย่างชัดๆ ผมขอใช้ในแง่ของกลยุทธ์ ใช้คำว่า “รุก รับ ปรับ สู้” ก็แล้วกัน กลยุทธ์ที่จะรุกคืออะไรบ้าง? กลยุทธ์ที่จะรับคืออะไรบ้าง? กลยุทธ์ที่จะปรับคืออะไรบ้าง? กลยุทธ์ที่จะสู้ต่อไปกับโลกคืออะไรบ้าง?
แต่ก่อนอื่นที่จะไปถึงจุดนั้นขอให้เข้าใจนิดหนึ่งว่าเศรษฐกิจประเทศไทยมันไม่ได้แย่ มันดีมากๆ ถ้าไม่ดี ท่านคงมีปัญหาเก็บภาษีไม่เข้าเป้าเยอะ เกินเป้าตั้ง 50,000 กว่าล้าน มันเป็นตัวสะท้อน แต่บางครั้งตัวเลขบางตัวมันเห็นถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจเนื่องจากปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ตัวเลขกรกฎาคมออกมาแล้วชัดเจน ผมเดินออกมาปลายเดือนกรกฎาคม ผมก็บอกแล้วเดือนกรกฎาคมมันจะดีมากๆ และวันนี้ก็ได้เข้า ครม. ไปแล้ว ดุลการค้าเดือนกรกฎาคมขาดดุลเพียง 80 กว่าล้านเหรียญ ก็น่าจะเชื่อถือได้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดคงเป็นบวกแน่ๆ ในเดือนกรกฎาคม ยังประมาณการกันอยู่ว่าจะบวกสักเท่าไหร่ แล้วเดือนสิงหาคม และกันยายน จะเป็นเดือนที่ดีกว่าเดือนกรกฎาคมอีก เท่าที่ผมประมาณการจาก Export demand ที่มีจากโลก และก็ Import ซึ่งเริ่มลดลงเนื่องจากมีการกักตุนพอสมควรตอนค่าเงินบาทแข็ง ก็น่าจะดี สิงหาคม กันยายน และตุลาคม อาจจะไปจนถึงพฤศจิกายน เพราะตอนนั้นผลผลิตภาคการเกษตรก็เริ่มออกอีก ฉะนั้นภาพในครึ่งปีหลังมันจะดีกว่าในครึ่งปีแรกมากๆ ก็น่าสนใจว่าในที่สุดแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลสักเท่าไหร่ อย่างไร หรือไม่ขาดดุล ตรงนั้นผมเชื่อว่าถ้าตัวเลขเดือนสิงหาคม กันยายนออกมา จะเริ่มประมาณการได้ชัดเจนขึ้น แต่เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายเลย
การประมาณการตอนนี้ผมเริ่มมั่นใจ เพราะกรกฎาคม เริ่มเป็นไปตามที่เราคาด ยังไงก็เกิน 4% แล้วใครที่บอกว่า 3% กว่า ไม่ต้องไปเชื่ออีกแล้ว เกิน 4% แน่ๆ เศรษฐกิจจะเกินไปมากแค่ไหนก็อยู่ที่ผลงานในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่จะเป็นตัวบอก จะปรับเลย 4.5 ได้หรือไม่ ฉะนั้นผมจึงค่อนข้างที่จะมีความรู้สึกที่ค่อนข้างจะดีกับเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ฉะนั้นถึงแม้เราจะเจอปัญหาไม่ว่าจะเป็นสึนามิ ภัยแล้ง ไข้หวัดนก ปัญหาภาคใต้ สารพัด ผมเชื่อรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมัน รัฐบาลนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ค่อนข้างจะรวดเร็ว มีวิธีการที่ค่อนข้างจะรวดเร็วในการตัดสินใจและแก้ปัญหา
คราวนี้มาถึงแนวทางรุกของรัฐบาลชุดนี้ที่จะทำ จะเห็นว่าเรามีสิ่งโครงการต่างๆ ที่รวมกันที่เราเรียกว่า “Mega Projects” ก็อยากให้ทุกท่านเข้าใจและอธิบายประชาชน หรือผู้สื่อข่าวหรือใครก็แล้วแต่ที่ถามว่า รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนถึง 1.7 ล้านล้าน มาทำ Mega Projects Mega Projects คืออะไร ตรงนั้นคงจะมีรายละเอียดเยอะมาก และก็คงขอจาก สศค. ได้ ถ้าข้าราชการท่านใดอยากจะเห็นภาพ ได้มีการ Present ได้มีการเสนอไปในหน่วยงาน ผมก็จะไม่พูดมาก ถามว่าทำได้หรือไม่ มีเงินให้หรือไม่ เป็นคำถามซึ่งผมมองว่าเป็นคำถามของผู้ที่ผมอยากจะเรียกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะปัญหาของการหาเงิน 1.7 ล้านล้านสำหรับประเทศไทย ไม่ใช่ปัญหาที่อยากเย็นเข็ญใจ ปัญหาที่ง่ายมากๆ ปัญหาที่น่าเป็นห่วงกลับกลายเป็นปัญหาว่าจะใช้เงินได้ทันหรือไม่ 1.7 ล้านล้าน เพราะถ้าจะทำให้ทันใน 5—8 ปีข้างหน้าตามโครงการ ต้องวิ่งกันเร็วมากๆ ทุกหน่วยงานเลย ต้องวิ่งเร็วมากๆ แล้วจะไปเฉื่อยแฉะ วิพากษ์วิจารณ์กันไปกันมาแบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว จะทำแบบหนองงูเห่าใช้เวลา 30 กว่าปีนั้น เมื่อไหร่มันก็ใช้ไม่หมดเงิน 1.7 ล้านล้าน ถ้าจะสร้างรถไฟลอยฟ้าแบบสมัยก่อนก็กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลา 20 กว่าปีตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่จำได้สมัยวีระ มุสิกพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วย มันก็ไม่มีวันหมด 1.7 ล้านล้าน มันจะไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ แล้วเรามีอีก 7 สายต้องใช้เราจะทำแบบรถใต้ดินก็ Delay มาหลายปีกว่าจะเสร็จ
ฉะนั้น Mega Projects ของรัฐบาลอยากให้ทุกท่านเข้าใจเพื่อที่จะได้ชี้แจงสาธารณะชนให้ทราบ ไม่ใช่ปัญหาว่าไม่มีเงิน เป็นปัญหาว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แล้วทำอย่างไรจะทำให้ได้ นี่คือความท้าทายของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารใหม่ทั้งหมดให้ทุกอย่างนั้นเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต่อเมื่อทำได้นั้นแหละเศรษฐกิจไทยถึงจะเติบโตได้อย่างที่เราปรารถนา แต่ถ้าทำไม่ได้ก็คือมีเงินแล้วไม่ได้ใช้มันมันก็ไม่เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ แล้วมันจะกลายเป็นตัวชะลอการเติบโตเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ผมคิดว่าแนวความคิดของผมไม่ผิดหรอก มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ดังนั้นอยู่ที่เราจะร่วมกัน Manage Projects เหล่านี้ให้ทันการณ์ได้อย่างไร
คำสั่งตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว สมัยก่อนสภาพัฒน์ต้องวางแผน Mega Projects ก่อนแล้วก็วิ่งไปให้กระทรวงต่างๆ Conceive ขึ้นมาตั้งไข่ก่อน แล้วค่อยมาฟักออกมาเป็นลูกไก่ มาให้ลูกไก่เป็นตัว ตอนนี้บอกทำพร้อมๆ กันให้หมด กระทรวงการคลังก็มีหน้าที่คิดพร้อมๆ กันไปด้วย ถึงแม้ตอนนี้ตัวเลขยังหยาบอยู่ ผมว่ารัฐบาลชุดนี้พอเริ่มคิดพร้อมๆ กัน แล้วถ้าตั้งไข่จนกระทั่งกลายเป็นไก่ไข่อีกที มันเริ่มมีความพร้อมเริ่มมี Teamwork แต่ก็ต้องการการบริหารที่ค่อนข้างจะแน่นมากๆ คงจะต้องมีการตั้งทีมขึ้นมาทั้ง 7 สาขา มีถึง 7 สาขาด้วยกัน รวมกัน 1.7 ล้านล้าน มีคำถามตามมาอีกตัวเลข 1.7 ล้านล้าน จริงไม่จริงอีก มากไปน้อยไปหรือเปล่า ผมก็เรียนอีกทีว่า 1.7 ล้านล้าน คือ 1.7 ล้านล้าน เวลาปฏิบัติถ้าเราประหยัดเงินได้เราก็เพิ่ม Project อื่นเข้าไปได้อีก เพราะมัน 5—8 ปี แผนการเงินเรา 1.7 ล้านล้าน ก็คือเรามั่นใจเราจัดการเงินได้ เราหาเงินได้ Leverage ฐานะของประเทศได้ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้เงิน หน้าที่เราก็คือถ้าประหยัดตรงไหนได้ก็ต้องเริ่มหา Project ใหม่มา Fill ให้มันได้ 1.7 ล้านล้านอีก ไม่ได้ง่ายเท่าไหร่ แต่ต้องทำ ฉะนั้น ก็อยากจะเรียนว่าไม่ใช่เพื่อที่จะตั้ง Value ไว้แล้วอย่างไรก็ต้องใช้แค่นี้ แล้วรวมกันแล้ว 1.7 ล้านล้าน มันไม่ใช่ มันเป็นตัวเลขที่ต้องการจะบอกว่านี่คือแผนการใช้เงินเพื่อ Mega projects ฉะนั้นหัวใจมาอยู่ 2 ด้าน
ด้านหนึ่งคือแผนการใช้เงิน 5—8 ปี 1.7 ล้านล้านเพื่อโครงการที่ควรจะทำตั้งแต่ในอดีตแล้วไม่ได้ทำ ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการศึกษา ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องสาธารณสุข ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการจราจร ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการคมนาคม ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่อง Logistics ของประเทศ สารพัดสิ่งที่เป็นปัญหาสะสมของประเทศไทยมา ฉะนั้นประเทศไทยโชคดีขณะมีปัญหาสะสมแบบนี้ก็ยังโตได้เลย ถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร มันก็ต้องเป็นหนึ่งในอาเซียนได้ ผมก็คิดแบบนี้ ผมเชื่อ อยาก Clear ให้ทุกท่านทราบ การที่เป็น Mega projects เรียก Mega projects อาจจะมีความรู้สึกว่า Mislead แต่มันไม่ได้ Mislead เท่าไหร่หรอก Idea ก็คือพยายามเอา Projects ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่กระทรวงไหนรวมกันแล้วมี Projects เกิน 1,000 ล้าน นับเข้ามาเป็น Mega projects รวมกันแล้วมันก็เลยดูตัวเลขใหญ่ 1.7 ล้านล้าน แต่สมมุติไม่เรียก Mega projects มันก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้าน คือไม่มีอะไรใหม่ๆ มากมาย เกิดความจำเป็นที่ต้องใช้อยู่มีประมาณนั้น 8 แสนถึง 1 ล้านล้าน แต่ระบบมันไม่พอ ความจำเป็นที่ต้องมีกับสิ่งที่ควรจะมีเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ตัวเลขเดียวกัน เราต้องมี Vision ต้องมีอนาคต เป็นตัวเลขคร่าวๆ ผมก็เดาไปเรื่อยๆ แต่ผมมองว่าความสำคัญของมัน ก็คือว่ามันเป็นที่รวมของ Projects ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้สามารถกำกับดูแล และบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคณะรัฐบาล หัวใจมีอยู่ตรงนั้นต่างหาก
1. ทำอย่างไรบริหารเงินให้หมด 5—8 ปี 1.7 ล้านล้าน
2. บริหารอย่างไร วิธีการบริหารอย่างไร ก็ต้องเอามารวมกันแล้วมีคณะกรรมการที่จะจัดดูแล ครม. ดูแล ก็เป็นสิ่งเดียวที่จะทำแบบนั้น ต้องมีทั้ง Economic management และ Financial management ต้องพร้อมกันไป
รุกที่ 2 ก็คือเรื่อง Privatization อันนี้มี 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 ก็คือที่กำลังเริ่ม Comment วิพากษ์วิจารณ์กัน เรื่องบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ