สศอ.เผยดัชนีอุตฯ มิ.ย ทรงตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 8, 2005 15:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          ชี้ อุตฯใหญ่ยังขยายตามแรงหนุนการส่งออก กลุ่มผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศชะลอเล็กน้อยตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งให้ดัชนี มิ.ย.ปรับลด แต่ยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 
นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้จัดทำรายงานดัชนีอุตสาหกรรม ประจำเดือนมิถุนายน 2548 จากการประมวลผลทั้งสิ้น 2,000 โรงงาน ครอบคลุม 50 กลุ่มอุตสาหกรรม 203 ผลิตภัณฑ์ ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดย ดัชนีอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 133.94 ลดลงร้อยละ 2.39 จากเดือนก่อนที่ระดับ 137.23 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากระดับ 130.57 โดยภาพรวมตัวเลขดัชนีชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น
ดัชนีอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ประกอบด้วย ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 152.21 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.05 จากระดับ 144.90 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 142.74 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.04 จากระดับ 139.88 และดัชนีแรงงานภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 108.70 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 2.12 ที่ระดับ 106.55 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.85
ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมที่มีการปรับระดับลดลงจากเดือนก่อน ประกอบด้วยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ 162.25 ลดลงร้อยละ 7.03 จากระดับ 174.51 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ 154.66 ลดลงร้อยละ 0.68 จากระดับ 155.72 และดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ 144.54 ทรงตัวโดยลดลงร้อยละ 0.02 จากระดับ 144.58
นางชุตาภรณ์ กล่าวว่า รายงานดัชนีอุตสาหกรรมประจำเดือนมิ.ย. ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีตลาดส่งออกชัดเจนยังขยายตัวได้ดี ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศมีการปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงคือ การผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ ที่ภาวะการผลิตลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษา ที่มีการรณรงค์การงดเหล้าเข้าพรรษา ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่ปิดปรับปรุงเครื่องจักรบางส่วนการผลิตจึงชะลอตัวลงในช่วง 1 - 2 เดือนนี้ เช่นเดียวกับภาวะการจำหน่าย เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายสั่งสินค้าลดลงในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษา
ในส่วนของการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ เหล็กทรงยาว ประเภทเหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย รวมทั้งเหล็กลวด มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อน สินค้าในสต๊อกมีปริมาณมาก เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัวตาม อีกทั้งยังเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง นอกจากนี้สินค้าเหล็กทรงแบน ประเภทเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบ มีการปรับลดลงทั้งการผลิตและการจำหน่าย เนื่องจากประสบปัญหาด้านราคาสินค้าซึ่งราคาเหล็กในตลาดโลกได้ปรับลดลงต่อเนื่องอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีผลจากการที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดบริโภคเหล็กชะลอตัว
นอกจากนี้ นางชุตาภรณ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตยานยนต์ เนื่องมาจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และต้องเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าที่สั่งจองจากงานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นปี รวมถึงการส่งออกก็มีปริมาณมากขึ้น ทางค่ายรถยนต์ต่างๆ จึงเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ยังคงมีการขยายตัว ส่งผลให้ภาวะการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน โดยรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800 cc. ผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 9.38 จำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.53 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.31 ส่วนรถปิกอัพ 1 ตัน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 6.76 การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.52 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.26
การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ มีการผลิตปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบด เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีคำสั่งซื้อมาก และผู้ผลิตสามารถหาวัตถุดิบได้ง่าย ในปริมาณมาก ส่งผลให้มีการผลิตเพื่อเก็บสต๊อกสินค้าไว้ ส่วนภาวะการจำหน่ายของปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบดปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจาก บางบริษัทได้ลูกค้าใหม่จากญี่ปุ่น จึงมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากหลังจากที่ชะลอคำสั่งซื้อมาหลายเดือน รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในแถบยุโรปปรับลดภาษีขาเข้าลง ในลักษณะคล้ายช่วงส่งเสริมการขาย ทำให้สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับ การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากแนวโน้มธุรกิจที่เริ่มดีขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ