ภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2541 และแนวโน้มปี 2542

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 18, 1999 14:47 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

        ในช่วงปี 2541 ที่ผ่านมา  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (International Monetary Fund : IMF) ได้ปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจโลกถึง 3 ครั้ง คือ  ในเดือนพฤษภาคม เดือนตุลาคมและล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2541 โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 2.2  ในปี 2541-2542 เทียบกับร้อยละ 4.2  ในปี 2540 แต่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2543
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ เยอรมนี พอสรุปได้ดังนี้
สหรัฐอเมริกา คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2541 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 3.9 ในปี 2540 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวสูง ท่ามกลางวิกฤตการณ์ค่าเงินในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่
* แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อาทิ การปรับลดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yields) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (Fed Fund Rate) ถึง 3 ครั้งในรอบปี 2541 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ตลาดฯ หุ้นในสหรัฐฯ คึกคักขึ้น
* พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของชาวอเมริกัน ยังคงเน้นหนักไปที่การบริโภคมากกว่าการออมและการที่ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ได้รับผลดีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นและมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นด้วย
* รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย โดยในช่วงปลายปี 2541 ได้เพิ่มการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ราวร้อยละ 0.25-1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะซบเซา
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่
* ภาวะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าคงทนต่างๆ ทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์หนักลดต่ำลง
* ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการไปยังตลาดเกิดใหม่ ทั้งในเอเชียและยุโรปตะวันออกลดลง ในขณะที่การปรับลดค่าเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเหล่านี้ ส่งผลให้มูลค่านำเข้าสินค้าและบริการของสหรัฐฯ จากประเทศดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น จึงคาดว่าสหรัฐฯ จะมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มสูงขึ้นจาก 155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2540 เป็น 231 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2541
ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 1.8 ในปี 2542 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของชาวอเมริกัน ที่เน้นการบริโภคมากกว่าการออม ส่งผลเสียต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและภาระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลง ราคาสินค้าและบริการที่สหรัฐฯ นำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนต้นทุนการนำเข้าเงินทุนจากต่างชาติจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ขาดดุลมากยิ่งขึ้น
ญี่ปุ่น ในช่วงปี 2541 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวลงถึงร้อยละ 2.8 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2540 โดยปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้แก่
* ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศชะงักงัน เนื่องจากภาคเอกชนญี่ปุ่นขาดความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาระบบธนาคารที่เผชิญกับปัญหาหนี้เสียสูง จึงชะลอการจับจ่ายใช้สอยเงินลง
* ภาวะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ทำให้การลงทุนเพื่อขยายการผลิตสินค้าลดลง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มระมัดระวังในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถิติการล้มละลายของภาคธุรกิจและการว่างงานในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
* รายได้จากการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดส่งผลให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักต่างๆ ในตลาดโลก นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 ทำให้ความสามารถในการส่งออกของญี่ปุ่นลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียประสบภาวะวิกฤติ จึงมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นลดต่ำลง
สำหรับในช่วงปี 2542 นั้น IMF คาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยอัตราการหดตัวของระบบเศรษฐกิจจะลดลงเหลือร้อยละ 0.5 เนื่องจากในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2541 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2542 (เริ่มเดือนเมษายน 2542) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเพิ่มยอดขาดดุลงบประมาณเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รวมทั้งกำหนดแผนการแก้ไขปัญหาระบบธนาคารของญี่ปุ่นที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของญี่ปุ่น และความมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาระบบธนาคารของญี่ปุ่นเอง
เยอรนี ในช่วงปี 2541 คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนี จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2541 เทียบกับร้อยละ 2.2 ปี ในปี 2540 โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนเกื้อหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้แก่
* ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการของชาวเยอรมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2541 เนื่องจากชาวเยอรมันคาดว่าจะมีการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 ในช่วงเดือนเมษายน 2541 จากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 16 ทำให้ชาวเยอรมันเร่งจับจ่ายใช้สอยเงินเพื่อซื้อสินค้าคงทนเพิ่มมากขึ้น
* ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการรวมเยอรมนีเป็นประเทศเดียว เนื่องจากเยอรมนีมียอดเกินดุลบริการสูงมากในปี 2541 ในขณะที่ยอดเกินดุลการค้าก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไปประเทศในกลุ่มเอเชียจะชะลอตัวลงก็ตาม
สำหรับในช่วงปี 2542 นั้นคาดว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ2.0 เนื่องจากวิกฤตการณ์ค่าเงินที่ลุกลามจากภูมิภาคเอเชียไปยังรัสเซียและบราซิล ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน และบั่นทอนความต้องการใช้จ่ายเงินของชาวเยอรมัน นอกจากนี้ค่าเงินสกุลยูโรที่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ (ในทางบัญชี) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 ค่อนข้างแข็งเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังบั่นทอนศักยภาพ ในการส่งออกของเยอรมนีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2542 นี้ IMF คาดว่าเยอรมนีจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่องจากปี 2541บทสรุป
สำหรับในช่วงปี 2542 IMF คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวราวร้อยละ 2.2 เท่ากับปี 2541 เนื่องจากหลายประเทศในเอเชีย ที่เผชิญกับวิกฤตการณ์ค่าเงินเริ่มมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าในปี 2542 เศรษฐกิจเอเชียจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 2.6 ในปี 2541 เนื่องจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้และไทยจะปรับตัวไปในทิศทางที่ขึ้น ภายหลังจากรัฐบาลได้ยื่นมือเข้าแก้ไขปัญหาในภาคการเงิน เพื่อดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา รวมทั้งการปฏิรูปธุรกิจแบบแชโบลในเกาหลีใต้ ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะไม่เด่นชัดนัก เนื่องจากค่าเงินรูเปียเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนภาระหนี้ต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่ออินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียซึ่งปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือจาก IMF และประกาศควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ณ 3.8 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 จะยังคงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวต่อไปในปี 2542 เนื่องจากคาดว่าจะมีการยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวในราวกลางปี 2542 อันจะส่งผลให้ค่าเงินริงกิตอ่อนตัวลง และเกิดการไหลออกของเงินทุน เนื่องจากนักลงทุนจากต่างชาติขาดความมั่นใจ ที่จะเข้าลงทุนในมาเลเซีย สำหรับฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และ สิงคโปร์ จะยังคงมีภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับดี แม้ว่าจะยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สูงเท่ากับจีน เนื่องจากภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าฟิลิปปินส์จะส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ไต้หวันและสิงคโปร์สามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม IMF ได้สรุปปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ได้แก่ ความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกประเทศของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทั้งในเอเชีย ยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา ความตั้งใจจริงของรัฐบาลญี่ปุ่นในการแก้ปัญหาวิกฤตในภาคธนาคาร รูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาคต่าง และการแก้ไขปัญหาทางการเงินของรัฐบาลบราซิล
อนึ่ง การประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของ IMF ข้างต้นนี้ เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลท้องถิ่นของบราซิลชื่อ Minas Gerais ซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่อันดับ 3 ของบราซิลจะประกาศพักชำระหนี้มูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อรัฐบาลกลางบราซิล เป็นเวลา 90 วัน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2542 และก่อนที่รัฐบาลกลางบราซิลประกาศให้ค่าเงิน Real ลอยตัว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2542

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ