ธนาคารแห่งประเทศไทย
ฉบับที่ 50 /2542
นางธัญญา ศิริเวทิน รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมาท่านผู้ว่าการได้ชี้แจงให้คณะกรรมการธนาคารทราบเกี่ยวกับการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเพื่อเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ ตามที่กรรมการธนาคารได้อนุมัติก่อนหน้าแล้ว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ก.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ณ 1 ตุลาคม 2542
1. เปลี่ยนชื่อโครงสร้างส่วนงานและชื่อตำแหน่งงานใหม่ ดังนี้
โครงสร้างส่วนงานใหม่
โครงสร้างส่วนงาน ระดับชั้น
สาย 8-10
ฝ่าย 8-9
ส่วน 7-8
กลุ่ม/ทีม 5-7
ชื่อตำแหน่งงานใหม่
ระดับชั้น ชื่อตำแหน่งงาน
10 ผู้ช่วยผู้ว่าการ
(Assistant Governor)
9 ผู้อำนวยการอาวุโส
(Senior Director)
8 ผู้อำนวยการ (Director)
7 ผู้จัดการอาวุโส (Senior Manager)
6 ผู้จัดการ (Manager)
2. โครงสร้างองค์กรใหม่ของธนาคาร (ระดับบน) แบ่งออกตามธุรกิจหลักของธนาคาร 5 ด้าน ดังนี้
2.1 ด้านเสถียรภาพการเงิน มีรองผู้ว่าการ (จะแต่งตั้งตัวบุคคลภายหลัง) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการกำหนดและดำเนินการนโยบายการเงิน ประกอบด้วย
1)สายนโยบายการเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล)
2)สายตลาดเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายเชษฐทวี เจริญพิทักษ์) และ 3) สายการต่างประเทศ
2.2 ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน มีรองผู้ว่าการ (นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล)เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการกำกับและดูแลนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน
ประกอบด้วย 1) สายนโยบายภาคสถาบันการเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นางธาริษา วัฒนเกส) 2) สายกำกับสถาบันการเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายเกียรติศักดิ์ มี้เจริญ) และด้านกฎหมาย ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายรัฐกรณ์ นิ่มวัฒนา)ซึ่งดูแลสายกฎหมายและสายคดี
2.3 ด้านบริหาร มีรองผู้ว่าการ (นางธัญญา ศิริเวทิน) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในด้านการบริหารงานของระบบปฏิบัติการและงานสนับสนุนทั้งหมด
ประกอบด้วย 1) ด้านปฎิบัติการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายเตชะพิทย์ แสงสิงแก้ว) ช่วยดูแลสายระบบการชำระเงิน สายเงินฝากและพันธบัตรสายออกบัตรธนาคาร สำนักงานภาคเหนือ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานภาคใต้ และ 2) งานสนับสนุนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความดูแลของรองผู้ว่าการ (บริหาร) โดยตรง คือ โรงพิมพ์ธนบัตรสายการบัญชี สายเทคโนโลยีสารสนเทศ สายฐานข้อมูล สายธุรการ สายรักษาความปลอดภัย
2.4 ด้านฟื้นฟูสถาบันการเงิน กลุ่มงานด้านนี้จะเสนองานโดยตรงต่อผู้ว่าการ รับผิดชอบงานช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา ประกอบด้วย 1) สายจัดการกองทุน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (นายจักรทิพย์ นิติพน) และ 2) สายส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยงานด้านนี้จะมีที่ปรึกษาผู้ว่าการ (นายศิวะพร ทรรทรานนท์) ช่วยให้คำแนะนำด้วย
2.5 ด้านวางแผน มีผู้ช่วยผู้ว่าการ (วางแผน) (จะแต่งตั้งตัวบุคคลภายหลัง) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในงานของสำนักงานโครงการปรับองค์กรงานบริหารความเสี่ยง การวางแผนกลยุทธ์ งานสำคัญเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ งานงบประมาณ งานหอสมุดและศูนย์สารสนเทศ และงานด้านบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล
2.6 งานสำคัญ อีก 2 สายงานที่ขึ้นตรงต่อผู้ว่าการ คือ สายประชาสัมพันธ์ (รวมงานสำนักผู้ว่าการและพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย) และสายตรวจสอบกิจการภายใน (งานด้านนี้จะรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ส่วนงานด้านบริหารภายในจะรายงานต่อผู้ว่าการ)
3. รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ โครงสร้างองค์กรใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542แต่เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดขั้นตอนการโอนหรือเปลี่ยนแปลงงานในบางสายงานหรือบางตำแหน่งงานจึงจะมีผลบังคับใช้แตกต่างกัน เช่น
3.1 ตำแหน่งรองผู้ว่าการและผู้ช่วยผู้ว่าการที่จะเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งละ 1 อัตรา จะยังไม่มีการบรรจุตัวบุคคลในขณะนี้ โดยจะมีการสรรหารองผู้ว่าการทั้งจากภายในและภายนอกธนาคารเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมในการดูแลนโยบายด้านการเงิน ท่านผู้ว่าการจึงต้องรับผิดชอบงานนี้เป็นการชั่วคราวไปก่อน สำหรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการที่จะดูแลทางด้านวางแผนก็ยังคงว่างไว้ก่อนเช่นกัน โดยให้สายทรัพยากรบุคคลและสายวางแผน รายงานต่อท่านรองผู้ว่าการ (คุณธัญญา ศิริเวทิน) ก่อนเป็นการชั่วคราว
3.2 ผู้ช่วยผู้ว่าการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าสายงานจะร่วมกับสำนักงานโครงการปรับองค์กรพิจารณาออกแบบโครงสร้างและสายการบังคับบัญชาในสายนั้น ๆ ซึ่งในช่วงเดือนกันยายน 2542 นี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการแต่ละท่านจะยังคงรับผิดชอบดูแลสายงานเดิมไปด้วย
ข. การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในระยะต่อไปภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรแล้ว ธนาคารมีแผนงานที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่างๆ กว่า 60 โครงการโดยในช่วงระยะเดือนกันยายน 2542 - มกราคม 2543 ธนาคารจะปรับกระบวนการทำงานพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบการทำงาน จำนวน 7 โครงการ ไปก่อน ดังนี้
1. โครงการพัฒนากลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นโครงการที่สำคัญในการกำหนดนโยบายใหม่ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อให้การบริหารบุคคลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักวิสัยทัศน์และค่านิยมใหม่ของธนาคาร ซึ่งจะเป็นการพลิกบทบาทการทำงานด้านนี้สู่ความเป็นสากลมากขึ้น
2. โครงการปรับปรุงระบบการจัดการข้อมูลและจัดตั้งสายฐานข้อมูล โครงการนี้จะเน้นการวิเคราะห์ระบบจัดการข้อมูลที่สำคัญในธนาคาร โดยจะรวมงานฐานข้อมูลของส่วนงานต่าง ๆ เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการต่างประเทศ ฝ่ายการธนาคาร ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน ฝ่ายตรวจสอบและกำกับ 1-2 และจะดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานให้รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น
3.โครงการปรับปรุงระบบการมอบอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจภายในธนาคาร โครงการนี้มุ่งเน้นที่จะให้กระบวนการตัดสินใจในธนาคารมีความรวดเร็วฉับไวและทันต่อเหตุการณ์ จึงจะมีการศึกษาวิเคราะห์และเสนอระบบการมอบหมายอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะได้เสนอหลักการที่สำคัญเพื่อยึดเป็นแนวทางเพื่อการปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ในธนาคาร
4. โครงการปรับปรุงองค์กรตามโครงสร้างใหม่ โครงการนี้จะบริหารให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นไปตามขั้นตอนที่เหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้
5. โครงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร
โครงการนี้จะมุ่งเน้นให้พนักงานมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์หลักของธนาคาร โดยจะสร้างหลักสูตรการอบรม สร้างระบบการให้การยอมรับและชมเชยแก่พนักงานที่ทำได้ตามหลักการที่วางไว้ ซึ่งจะมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กับพนักงานเป็นระยะ ๆ
6. โครงการส่งเสริมการใช้บริการระบบบาทเนต โครงการนี้จะสนับสนุนให้ผู้โอนเงินรายใหญ่หันมาใช้บริการโอนเงินโดยระบบบาทเนตมากขึ้น
7. โครงการจัดตั้งหน่วยงานบริหารโครงการ โครงการนี้จะบริหาร ติดตามและรายงานความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ทั้งหมดที่ธนาคารกำลังดำเนินการ เพื่อให้โครงการต่าง ๆ มีทิศทางที่สอดคล้องกันและจะทำหน้าที่สื่อสารแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายนอกและภายในธนาคาร เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
สำหรับผลการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ธนาคารจะรายงานให้ทราบในระยะต่อไป
ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 สิงหาคม 2542