กรุงเทพ--1 ส.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ช่วงระหว่างและภายหลังการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ครั้งที่ 12 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต้อนรับติมอร์เลสเตเป็นสมาชิก ARF รายล่าสุด และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายสากล ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามโลกปัจจุบันนี้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการแยกแยะระหว่างแนวทางของกลุ่มหัวรุนแรงผู้ที่ได้แอบอ้างศาสนาเป็นข้ออ้างในการใช้กำลังก่อการร้าย กับหลักการแท้จริงของศาสนาอิสลามที่รักสันติและมิได้สนับสนุนความรุนแรง และเห็นว่ากลุ่มมุสลิมสายกลางควรได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งเห็นว่าประเทศสมาชิก ARF ควรมีบทบาทในการป้องกันปัญหานี้และควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ยุทธศาสตร์ และข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อสกัดกั้นการดำเนินการของผู้ก่อการร้ายด้วย ซึ่งที่ประชุม ARF ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน และตกลงกันที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลข่าวสาร และข่าวกรองกันต่อไป
2. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับการความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญยิ่งต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด และไทยมีความเห็นว่า นอกจากบรรดารัฐชายฝั่ง (Littoral States) ของช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยในช่องแคบตามกฏหมายระหว่างประเทศแล้ว ประเทศผู้ใช้เส้นทางเดินเรือในช่องแคบก็ควรจะเข้ามามีบทบาทช่วยรัฐชายฝั่งในการรักษาความปลอดภัยในช่องแคบจากภัยโจรสลัดและการก่อการร้ายด้วย ซึ่งไทยเอง ในฐานะประเทศผู้ใช้ช่องแคบ ก็พร้อมที่จะเข้ามามีบทบาท เช่น ในด้านการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น และจะได้หารือกับบรรดารัฐชายฝั่งต่อไปในเรื่องนี้
สำหรับกระแสข่าวที่ว่า ได้มีการเสนอความเห็นว่าไทยควรมีสถานะเป็นรัฐชายฝั่งของช่องแคบมะละกาด้วยนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า จะต้องมีการศึกษาในประเด็นข้อกฏหมายระหว่างประเทศและประเด็นทางภูมิศาสตร์ก่อน
ทั้งนี้ ที่ประชุม ARF ได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในการตรวจตราและลาดตระเวนในช่องแคบมากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการลาดตระเวนทางอากาศเหนือช่องแคบมะละกา
3. ที่ประชุม ARF ได้หารือกันเกี่ยวกับบทบาทของ ARF ในการประสานความร่วมมือกันเพื่อเตรียมการรับภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่ผ่านมา และตกลงกันที่จะประสานความร่วมมือในการติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างประเทศสมาชิก และการเตรียมความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากร เพื่อให้ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศต่างๆ สามารถทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
4. ผู้เข้าร่วมประชุม ARF ต่างยินดีที่การประชุม 6 ฝ่ายเกี่ยวกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีสามารถเริ่มขึ้นใหม่ได้ และยังดำเนินอยู่จนถึงขณะนี้ และแสดงความหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะสามารถดำเนินต่อไปจนประสบความสำเร็จ เพื่อความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี
5. ที่ประชุม ARF ได้หารือกันเกี่ยวกับปรับตัวของเวที ARF ในสถานการณ์ความมั่นคงในโลกปัจจุบันที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้หารือกันเพื่อพัฒนายกระดับกลไก ARF จากที่เป็นเวทีการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อเป็นมาตรการในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (Confidence-Building Measures - CBMs) ขึ้นมาเป็นกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และสามารถเป็นกลไกป้องกันความขัดแย้งได้ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นจริง ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเพิ่มบทบาทของประธาน ARF เพื่อให้สามารถดำเนินการหรือมีท่าทีต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสมัยประชุมได้ เพื่อให้ ARF ไม่เป็นเพียงเวทีการประชุมปีละครั้ง แต่สามารถแสดงท่าทีและบทบาทต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย และมีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งกลุ่ม “มิตรของประธาน” (Friends of the Chair) และระบบการให้ประเทศประธานทำงานร่วมกับประเทศอดีตประธานและประเทศที่จะเข้ารับตำแหน่งประธาน (Troika system) แต่ยังไม่มีความชัดเจน และประเทศสมาชิก ARF จะต้องหารือรายละเอียดกันอีกต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ช่วงระหว่างและภายหลังการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ครั้งที่ 12 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต้อนรับติมอร์เลสเตเป็นสมาชิก ARF รายล่าสุด และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายสากล ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามโลกปัจจุบันนี้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการแยกแยะระหว่างแนวทางของกลุ่มหัวรุนแรงผู้ที่ได้แอบอ้างศาสนาเป็นข้ออ้างในการใช้กำลังก่อการร้าย กับหลักการแท้จริงของศาสนาอิสลามที่รักสันติและมิได้สนับสนุนความรุนแรง และเห็นว่ากลุ่มมุสลิมสายกลางควรได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งเห็นว่าประเทศสมาชิก ARF ควรมีบทบาทในการป้องกันปัญหานี้และควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ยุทธศาสตร์ และข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อสกัดกั้นการดำเนินการของผู้ก่อการร้ายด้วย ซึ่งที่ประชุม ARF ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน และตกลงกันที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลข่าวสาร และข่าวกรองกันต่อไป
2. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับการความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญยิ่งต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด และไทยมีความเห็นว่า นอกจากบรรดารัฐชายฝั่ง (Littoral States) ของช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยในช่องแคบตามกฏหมายระหว่างประเทศแล้ว ประเทศผู้ใช้เส้นทางเดินเรือในช่องแคบก็ควรจะเข้ามามีบทบาทช่วยรัฐชายฝั่งในการรักษาความปลอดภัยในช่องแคบจากภัยโจรสลัดและการก่อการร้ายด้วย ซึ่งไทยเอง ในฐานะประเทศผู้ใช้ช่องแคบ ก็พร้อมที่จะเข้ามามีบทบาท เช่น ในด้านการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น และจะได้หารือกับบรรดารัฐชายฝั่งต่อไปในเรื่องนี้
สำหรับกระแสข่าวที่ว่า ได้มีการเสนอความเห็นว่าไทยควรมีสถานะเป็นรัฐชายฝั่งของช่องแคบมะละกาด้วยนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า จะต้องมีการศึกษาในประเด็นข้อกฏหมายระหว่างประเทศและประเด็นทางภูมิศาสตร์ก่อน
ทั้งนี้ ที่ประชุม ARF ได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในการตรวจตราและลาดตระเวนในช่องแคบมากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการลาดตระเวนทางอากาศเหนือช่องแคบมะละกา
3. ที่ประชุม ARF ได้หารือกันเกี่ยวกับบทบาทของ ARF ในการประสานความร่วมมือกันเพื่อเตรียมการรับภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่ผ่านมา และตกลงกันที่จะประสานความร่วมมือในการติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างประเทศสมาชิก และการเตรียมความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากร เพื่อให้ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศต่างๆ สามารถทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
4. ผู้เข้าร่วมประชุม ARF ต่างยินดีที่การประชุม 6 ฝ่ายเกี่ยวกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีสามารถเริ่มขึ้นใหม่ได้ และยังดำเนินอยู่จนถึงขณะนี้ และแสดงความหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะสามารถดำเนินต่อไปจนประสบความสำเร็จ เพื่อความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี
5. ที่ประชุม ARF ได้หารือกันเกี่ยวกับปรับตัวของเวที ARF ในสถานการณ์ความมั่นคงในโลกปัจจุบันที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้หารือกันเพื่อพัฒนายกระดับกลไก ARF จากที่เป็นเวทีการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อเป็นมาตรการในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (Confidence-Building Measures - CBMs) ขึ้นมาเป็นกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และสามารถเป็นกลไกป้องกันความขัดแย้งได้ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นจริง ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเพิ่มบทบาทของประธาน ARF เพื่อให้สามารถดำเนินการหรือมีท่าทีต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสมัยประชุมได้ เพื่อให้ ARF ไม่เป็นเพียงเวทีการประชุมปีละครั้ง แต่สามารถแสดงท่าทีและบทบาทต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย และมีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งกลุ่ม “มิตรของประธาน” (Friends of the Chair) และระบบการให้ประเทศประธานทำงานร่วมกับประเทศอดีตประธานและประเทศที่จะเข้ารับตำแหน่งประธาน (Troika system) แต่ยังไม่มีความชัดเจน และประเทศสมาชิก ARF จะต้องหารือรายละเอียดกันอีกต่อไป
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-